วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > PR News > ม.เกษตร-มจพ.-สกสว.มอบหน้ากากป้องกันสารพิษ สู้โควิดแก่บุคลากรทางการแพทย์จังหวัดชายแดนใต้

ม.เกษตร-มจพ.-สกสว.มอบหน้ากากป้องกันสารพิษ สู้โควิดแก่บุคลากรทางการแพทย์จังหวัดชายแดนใต้

ผู้บริหารม.เกษตรศาสตร์ มจพ. และ สกสว. พร้อมด้วยทีมวิจัย ร่วมกันส่งมอบหน้ากากป้องกันสารพิษทางทหารเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในการป้องกันโควิด-19 จำนวน 30 ชุด แก่ศูนย์อำนวยการแพทย์ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้านรพ.รามาธิบดีจ่อคิวรับมอบอีก 500 ชุดหลังทำเรื่องขอครอบครองจากกรมอุตสาหกรรมทหารเรียบร้อยแล้ว

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดพิธีการรับมอบการบริจาคหน้ากากป้องกันสารพิษทางทหารพร้อมไส้กรองมาตรฐานสูงระดับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO จำนวน 30 ชุด แก่คณะผู้บริหารศูนย์อำนวยการแพทย์ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อใช้เป็นสาธารณะประโยชน์ทางการแพทย์ ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

พันเอก (พิเศษ) นพ.โชคชัย ขวัญพิชิต ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแพทย์ จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากเชื้อดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ศูนย์อำนวยการแพทย์ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า มีหน้าที่ในการอำนวยการ ประสาน และปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานภาคสาธารณสุข ในด้านการแพทย์ฉุกเฉินและการบรรเทาสาธารณภัย ทั้งนี้ ได้รับพระราชทานรถพยาบาลเพื่อปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารร่วมกันกับโรงพยาบาลสาธารณสุขนจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ในการป้องกันการติดเชื้อจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์การป้องกันการติดเชื้อ สารพิษ ในขณะที่มีการปฏิบัติทางการแพทย์ฉุกเฉิน กู้ชีพ บรรเทาสาธารณภัยทั้งนอกโรงพยาบาลและในโรงพยาบาล

เพื่อให้การปฏิบัติงานของบุคลากรได้รับการป้องกันอันตราย ศูนย์อำนวยการแพทย์ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงขอความอนุเคราะห์หน้ากากป้องกันสารพิษทางทหาร ซึ่งมีรองศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย “การพัฒนาหน้ากากป้องกันสารเคมี-ชีวะสำหรับพลประจำรถถัง เพื่อใช้ในประเทศ” ภายใต้การสนับสนุนของชุดโครงการยางพารา ฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า สกสว. และสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก (สวพ.ทบ.) “ผมรู้สึกซาบซึ้งในความห่วงใยที่ทุกคนมีให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราประสบความสำเร็จในการจัดการโรคอุบัติใหม่และการจัดการสาธารณสุข ทั้งนี้ จะนำชุดหน้ากากที่ได้รับมอบไปจัดสรรแก่โรงพยาบาลทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดการใช้งานเพื่อประโยชน์สูงสุด”

ด้าน พ.ญ.ฐิติกาญจน์ วังอาภากุล แพทย์ประจำโรงพยาบาลยะลา ระบุว่า ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงวิกฤตในการรับมือกับโควิด-19 อุปกรณ์ในการป้องกันเชื้อโรคขาดแคลนอย่างมาก และมีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อด้วยแต่ขณะนี้อาการดีขึ้นแล้ว ขอขอบคุณที่หน่วยงานต่าง ๆ ช่วยบริจาคและพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้งานง่าย สามารถผลิตได้เองในประเทศ พร้อมกับยืนยันว่าจะนำชุดหน้ากากป้องกันสารพิษไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยอย่างดีที่สุด

ขณะที่ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการภารกิจการจัดทำแผนงบประมาณ สกสว. เผยว่า หน้ากากป้องกันสารพิษเป็นงานวิจัยที่สำคัญและทรงคุณค่า จากงานวิจัยพื้นฐานที่ก้าวไปสู่มาตรฐานสากล นับว่าคุ้มค่ากับเม็ดเงินวิจัยกว่า 10 ล้านบาทที่ลงทุนไปแต่ประเมินมูลค่าได้มหาศาลในการทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ตนยังรู้สึกภาคภูมิใจที่นักวิจัยของเราได้ร่วมมือกันใช้ยางพาราเป็นวัสดุสำคัญของอุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาด้านราคายางพาราตกต่ำ

รองศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย ระบุว่า ตนได้ร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครเหนือ ในการออกแบบและพัฒนาหน้ากากจากยางพาราเพื่อเป็นยุทธภัณฑ์ทางทหารที่มีคุณภาพเทียบเท่า Powered Air Purifying Respirators (PAPR) สามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผ่านการทดสอบมาตรฐาน NATO จากสาธารณรัฐเช็กเป็นที่เรียบร้อยแล้ว น้ำหนักประมาณ 300 กรัม นอกจากการส่งมอบแก่ศูนย์อำนวยการแพทย์ จังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาจากผู้ที่เดินทางกลับจากตะวันออกกลางแล้ว ล่าสุดโรงพยาบาลรามาธิบดีได้ประสานทำเรื่องขอครอบครองหน้ากากป้องกันสารพิษพร้อมไส้กรองจากกรมอุตสาหกรรมทหารเป็นที่เรียบร้อยแล้วจำนวน 500 ชุด ทั้งนี้ หากเอกชนรายใดมีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคเพื่อจัดทำหน้ากากป้องกันสารพิษเพื่อใช้ทางการแพทย์เพิ่มเติมเนื่องจากยังมีความต้องการอีกมาก โดยหน้ากากดังกล่าวมีมูลค่าชุดละ 8,000 บาท ขณะที่การนำเข้าจากต่างประเทศมูลค่ากว่า 30,000 บาท ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โทร. 084-1772662

ใส่ความเห็น