วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > New&Trend > “ซีอาร์จี” รีเซ็ตธุรกิจรับ New Normal มั่นใจตลาด 4.4 แสนล้านพลิกฟื้น

“ซีอาร์จี” รีเซ็ตธุรกิจรับ New Normal มั่นใจตลาด 4.4 แสนล้านพลิกฟื้น

“ซีอาร์จี” (CRG) พร้อมเดินหน้าธุรกิจหลังรัฐคลายล็อก รีเซ็ตกลยุทธ์ขนานใหญ่รับบรรทัดฐานรูปแบบใหม่ในการใช้ชีวิต หรือ New Normal ดันรูปแบบธุรกิจใหม่ (New Business) เร่งขยาย “คลาวด์ คิทเช่น” (Cloud Kitchen) เป็นตัวหลักกระตุ้นรายได้ เตรียมจับมือพันธมิตรผุดเพิ่ม 3 – 4 แห่ง รุกช่องทางเดลิเวอรี่ (Delivery) เต็มสูบ คุมเข้มมาตรฐาน “ความสะอาด” สุขอนามัยเป็นอันดับ 1 ทุกขั้นตอน ปลุกความมั่นใจลูกค้า เน้นระบบไร้สัมผัส (Contactless) ด้วยดิจิตอล เมนู (Digital Menu) พร้อมปรับเมนูอาหารรับเศรษฐกิจยุคโควิด ผูกปิ่นโต ข้าวกล่อง เผยสัดส่วนรายได้ช่องทางเดลิเวอรี่แนวโน้มพุ่ง 30% ย้ำแนวคิด “Greater Together Stronger Together” เน้นผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นเดินหน้าผนึกพันธมิตรฝ่ามรสุม มั่นใจตลาด 4.4 แสนล้านพลิกฟื้น ยันดูแลพนักงานทุกคน

ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (Central Restaurants Group) หรือ “ซีอาร์จี” เปิดเผยว่าบริษัทเร่งเดินหน้าธุรกิจร้านอาหารในเครือ หลังศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ (ศบค.) ประกาศมาตรการผ่อนปรนคลายล็อกธุรกิจ 6 ประเภท ซึ่งรวมถึงธุรกิจร้านอาหารให้สามารถเปิดกิจการได้ตั้งแต่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยสั่งรีเซ็ตแผนงานทั้งหมด เน้นรูปแบบธุรกิจใหม่ สร้าง “คลาวด์ คิทเช่น” ครัวกลางที่รวบรวมร้านอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ เพื่อรุกขยายช่องทางเดลิเวอรี่ส่งตรงถึงกลุ่มลูกค้า

รูปแบบดังกล่าวจะเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่เข้ามาเติมเต็มสัดส่วนธุรกิจ ทดแทนช่องทางการเข้ามารับประทานในร้านอาหาร เบื้องต้นตั้งเป้าเปิดคลาวด์ คิทเช่นเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 – 4 แห่ง หลังจากนำร่องร่วมกับ “แกร็บ” (Grab) ภายใต้โครงการแกร็บ คิทเช่นที่สามย่านมิตรทาวน์ในปี 2562 ที่ผ่านมา โดยจะเน้นทำเลใกล้จุดขนส่ง เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มแบรนด์ร้านอาหารต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า ทั้งแบรนด์ในเครือซีอาร์จี และแบรนด์สตรีทฟู้ดชื่อดัง รวมถึงแบรนด์เอสเอ็มอีใหม่ ๆ เข้ามาอยู่รวมกัน นอกจากนี้ จะมีการปรับใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ทั้งออนไลน์, ออเดอร์แอนด์คอลเลคต์ (Order & Collect) และไดรฟ์ธรู (Drive Through)

ในขณะที่บริการรับประทานอาหารในร้านในทุกสาขา ได้เพิ่มความสำคัญกับมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ลดจำนวนที่นั่งต่อสาขา เน้นย้ำสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในเรื่อง “ความสะอาด” สุขอนามัยและความปลอดภัย โดยมีการทำความสะอาดทุกขั้นตอน ทั้งก่อนและหลังให้บริการเพื่อสร้างความมั่นใจให้กลุ่มลูกค้า เสริมสร้างแนวคิดระบบไร้สัมผัส ใช้ระบบสั่งอาหารผ่านดิจิตอล เมนู และระบบการชำระเงินแบบไร้เงินสด (Cashless) ทั้งออนไลน์และ QR Code

ปัจจุบัน ซีอาร์จีมีเครือข่ายร้านอาหารรวม 16 แบรนด์ ได้แก่ มิสเตอร์โดนัท (Mister Donut), เคเอฟซี (KFC), อานตี้ แอนส์ (Auntie Anne’s), เปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch), ชาบูตง (Chabuton), โคล สโตน ครีมเมอรี่ (Cold Stone Creamery), ไทยเทอเรส (Thai Terrace), โยชิโนยะ(Yoshinoya), โอโตยะ (Ootoya), เทนยะ (Tenya), คัตสึยะ(Katsuya), อร่อยดี (Aroi Dee), สุกี้เฮ้าส์ (Suki House), ซอฟท์แอร์(Soft Air), เกาลูน (Kowlune) และสลัดแฟคทอรี่ (Salad Factory) จำนวนสาขารวมกัน 1,048 สาขา

สำหรับรายการอาหารมีการปรับให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ เพิ่มเซ็ตเมนูผูกปิ่นโตกับร้านดังและเซ็ตข้าวกล่องอิ่มสุข ซึ่งลูกค้าสามารถปรับเมนูและทยอยส่งตามวันที่นัดหมายได้ภายใน 3 วัน 5 วัน หรือ 7 วัน รวมทั้งจัดรายการอาหารสุขภาพรองรับเทรนด์ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น หลังสถานการณ์โควิด-19

“ธุรกิจร้านอาหารยุค New Normal จะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เพราะผู้คนส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาปรับตัว จะเน้นซื้ออาหารกลับบ้านและเดลิเวอรี่ โดยคาดการณ์สัดส่วนรายได้ในช่องทางซื้อกลับบ้านจะเป็น 45% จากช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ที่ 46% เดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นเป็น 25% จากช่วงก่อนอยู่ที่ 12% ซึ่งที่ผ่านมาเดลิเวอรี่มีอัตราเติบโตสูงถึง 50% และในอนาคตจะเป็นช่องทางที่สร้างสัดส่วนรายได้สูงถึง 30% เมื่อคลาวด์ คิทเช่นเปิดตัวมากขึ้น ส่วนรับประทานอาหารในร้าน จากเดิมเป็นช่องทางหลักมีสัดส่วน 42% ปีนี้จะลดลงอยู่ที่ 30%”

ณัฐกล่าวอีกว่า ซีอาร์จียังเน้นเรื่องการรักษากระแสเงินสดให้เพียงพอต่อการจ้างพนักงานและดูแลพนักงานทั้งหมดให้มีรายได้ตามสมควร โดยปรับเปลี่ยนพนักงานหน้าร้านบางส่วนเป็นพนักงานเดลิเวอรี่ ให้พนักงานออฟฟิศทำงานจากที่บ้านตามมาตรการ Work from Home ของภาครัฐ รวมทั้งทำประกันภัยโควิด-19 ให้พนักงานทุกคนด้วย

ขณะเดียวกัน การลงทุนในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปีจากนี้ จะหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น (local product) ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการพึ่งพากันในประเทศและมองหาพาร์ตเนอร์ในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเดลิเวอรี่ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ตั้งทีมเฉพาะกิจเร่งขยายความร่วมมือกับพันธมิตรผู้ให้บริการรับส่งอาหาร หรือ “ฟู้ด แอกกริเกเตอร์” (Food Aggregator) ทั้งแกร็บฟู้ด ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า เพื่อเสริมจุดแข็งบริการ CRG Delivery 1312 และ FOODHUNT ของเครือซีอาร์จี

“ปี 2563 ถือเป็นปีที่ประเทศไทยเจอมรสุมลูกใหญ่ แต่เมื่อมรสุมลูกนี้ผ่านไปและสังคมไทยเป็นสังคมโซเชียล ธุรกิจอาหารจะผ่านจุดหนักหนาได้ เพราะจากข้อมูลการคาดการณ์ธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 4.37-4.41 แสนล้านบาท หากสถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้น การใช้จ่ายของลูกค้าจะกลับมา ซึ่งซีอาร์จีตั้งเป้าสร้างพันธมิตรรายใหม่อีกจำนวนมาก เพื่อเสริมความแข็งแกร่งภายใต้แนวคิด Greater Together Stronger Together การเดินไปคนเดียวในธุรกิจร้านอาหารในช่วงจังหวะแบบนี้เป็นเรื่องยาก เราต้องเติบโตไปด้วยกันและปรับตัวตลอดเวลา”

บริษัทยังมีแผนเจรจาร่วมทุนซื้อกิจการแบรนด์ร้านอาหาร เพื่อรองรับลูกค้าเป้าหมายทุกกลุ่มและทุกไลฟ์สไตล์ โดยล่าสุดจับมือกับบริษัท โออาร์ จำกัด(มหาชน) ในเครือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตั้งบริษัทร่วมทุนดำเนินธุรกิจ คาเฟ่ อเมซอน ในประเทศเวียดนาม รวมถึงนำแบรนด์ร้านอาหารของซีอาร์จีอย่างน้อย 2 แบรนด์ไปเจาะตลาดและเปิดคลาวด์ คิทเช่นในเวียดนามด้วย

ด้านผลการดำเนินงานในปี 2563 ตั้งเป้าเติบโตได้กว่า 10,000 ล้านบาท

 

ใส่ความเห็น