สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยดูจะสามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดและได้ผลดีในการยับยั้งโรคอุบัติใหม่ หากแต่ในอีกมิติหนึ่งมาตรการทางการสาธารณสุขที่ได้นำมาใช้ในครั้งนี้กลับส่งผลลบเป็น ยาแรง ที่ทำให้สังคมเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปได้รับผลสั่นสะเทือนและนำไปสู่การที่รัฐต้องออกมาตรการเยียวยาอย่างต่อเนื่อง
การประกาศต่ออายุพระราชกำหนดฉุกเฉินออกไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ในด้านหนึ่งสะท้อนความไม่มั่นใจในศักยภาพการบริหารราชการแผ่นดินด้วยกลไกปกติของรัฐ ขณะเดียวกันมาตรการผ่อนคลายกิจการ กิจกรรมบางประเภท หรือการผ่อนคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ติดเชื้อโรคโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะให้สังคมเศรษฐกิจไทยกลับมาขับเคลื่อนอีกครั้ง หลังจากที่ต้องหยุดชะงักไปพร้อมๆ กับการควบคุมโรค
กระนั้นก็ดี การผ่อนคลายซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคมดังกล่าวจะมีการประเมินผลอีกครั้งใน 14 วัน บนฐานความคิดที่ว่าหากมีตัวเลขคงที่ของการติดเชื้อแสดงให้เห็นถึงการร่วมมือ รู้วิธีการจัดการตัวเองและกิจกรรมของตัวเอง การผ่อนคลายก็อาจจะเลื่อนลำดับในกิจกรรมที่ผ่อนคลายได้มากขึ้น แต่หากในช่วง 14 วัน มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ก็อาจจะต้องถอยหลังกลับมาเข้มงวดในมาตรการต่างๆ ในกิจกรรมและกิจการใหม่ทั้งหมด
การผ่อนคลายมาตรการของรัฐเพื่อให้ผู้ประกอบการบางส่วนสามารถดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจได้ต่อและประชาชนสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขมากขึ้นนี้ ในด้านหนึ่งได้นำไปสู่ข้อกังวลในขีดความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ของรัฐ เพราะภายใต้แนวความคิดว่าด้วย ชีวิตวิถีใหม่ หรือ new normal ที่กำลังโหมประโคมให้เป็นสำนึกใหม่ของสังคมไทยนั้น ดูเหมือนว่ากลไกภาครัฐยังย่ำเดินอยู่บนวิถีเดิมว่าด้วยการออกมาตรการควบคุมและขู่บังคับ มากกว่าการเอื้ออำนวยให้เกิดความเข้าใจในสถานการณ์ที่ดำเนินไป
ทัศนะคิดที่ประเมินว่าประชาชนรวมถึงผู้ประกอบการอาจอาศัยมาตรการผ่อนคลายดังกล่าวกระทำการที่ไร้ความรับผิดชอบ หรือขาดวินัย เป็นทัศนะล้าหลัง ที่นำเสนอในมิติของความปรารถนาดีที่ไร้เหตุผลและในทางกลับกันทัศนะที่ว่านี้ยังมีลักษณะดูแคลนสติปัญญาของผู้คนในสังคมอย่างไร้ความรับผิดชอบที่สุด
ความสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ภายใต้สถานการณ์ที่ยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันโรค ดำเนินอยู่ในทุกวินาทีและมีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สิ่งที่กลไกรัฐและผู้บริหารนโยบายด้านการสาธารณสุขควรให้ความสำคัญและบริหารจัดการจึงควรอยู่ที่การขยายขีดความสามารถและศักยภาพในการรองรับผู้ป่วย ควบคู่กับการเปิดเผยข้อเท็จจริงว่าปัจจุบันมีเตียงหรือกลไกในการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อทั่วประเทศได้มากน้อยเพียงใด
ความตื่นตัวในการป้องกันและหลีกเลี่ยงที่จะเป็นกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อของผู้คนในสังคมไทยดำเนินไปอย่างกว้างขวางมาตลอดช่วงเวลาเดือนเศษของการแพร่ระบาดโควิด-19 แล้ว ความวิตกกังวลว่าการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์อาจนำไปสู่การแพร่ระบาดครั้งใหม่ในลักษณะของ second wave เป็นสิ่งที่ทุกคนพึงตระหนัก แต่ไม่ควรดำเนินไปด้วยทัศนะที่บ่งชี้กล่าวโทษว่าด้วยความไร้วินัย ฉวยโอกาสแตกแถว เพราะสาเหตุใหญ่ที่ทำให้โควิด-19 ระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศไทย เกิดขึ้นจากความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ยังไม่นับรวมถึงความไร้สำนึกรับผิดชอบของบุคลากรในกลไกภาครัฐซึ่งปรากฏเป็นหลักฐานให้ได้ประจักษ์ชัดแล้วจากการสืบสวนโรคในช่วงที่ผ่านมา
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจจากรายงานของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยโรคติดเชื้อและนโยบายประจำมหาวิทยาลัยมินนิโซตาของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า มีแนวโน้มที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะยืดเยื้อต่อไปอีก 2 ปี และจะไม่สามารถควบคุมได้จนกว่าประชากรราว 2 ใน 3 ของทั้งโลกจะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคระบาดดังกล่าว
เนื่องจากความสามารถในการแพร่ระบาดผ่านผู้เป็นพาหะที่ไม่แสดงอาการ ทำให้เชื้อไวรัสโควิด-19 ควบคุมได้ยากกว่าไข้หวัดใหญ่ด้วย โดยผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 จริงๆ แล้วอาจแพร่เชื้อได้มากที่สุดก่อนที่จะมีอาการรายงานยังระบุด้วยว่า ในช่วงที่เกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่ระหว่างปี 2009 ถึง 2010 กว่าที่วัคซีนจะถูกพัฒนาและมีใช้แพร่หลาย ก็หลังจากที่การระบาดได้ผ่านพ้นจุดเลวร้ายที่สุดไปแล้วในสหรัฐอเมริกา
แม้ว่าผลการศึกษาในสหรัฐอเมริกาจะประเมินว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็ช่วยป้องกันและรักษาผู้ป่วยได้มากถึง 1,500,000 คน และช่วยให้ช่วยชีวิตคนได้ 500 คน แต่นั่นก็เป็นเพียงตัวเลขในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว
ข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ แม้ปัจจุบันจะมีผู้ติดเชื้อ โควิด-19 มากถึง 3.2 ล้านคน แต่หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อให้ผู้คนในแต่ละสังคมกลับไปใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้ง โดยทางการจีนอนุญาตให้เปิดพระราชวังต้องห้าม ในกรุงปักกิ่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปท่องเที่ยวได้ตามปกติแล้ว หลังปิดให้เข้าชมมานานกว่า 3 เดือน ซึ่งเป็นสัญญาณล่าสุดว่าจีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แล้ว ล่าสุดจีนมีผู้ติดเชื้อสะสม 82,874 คน และมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ หายป่วยแล้ว
ขณะที่มาเลเซียพร้อมประกาศการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในสัปดาห์นี้ โดยจะอนุญาตให้ร้านค้าและธุรกิจส่วนใหญ่กลับมาเปิดบริการได้ แต่พนักงานจะต้องปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกัน จะยังไม่มีการเปิดการเรียนการสอนในโรงเรียน และธุรกิจที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างผู้คน อาทิ โรงภาพยนตร์ จะยังคงปิดบริการต่อไปอีก
ส่วนที่แอฟริกาใต้ เริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเบื้องต้นจะอนุญาตให้โรงงานสิ่งทอและบรรจุภัณฑ์เปิดสายการผลิตได้ ร้านอาหารเปิดบริการเฉพาะแบบซื้อกลับบ้าน และอนุญาตให้ประชาชนออกกำลังกายนอกบ้าน โดยประชาชนต้องปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่าง และใส่หน้ากากอนามัย
เช่นเดียวกับสถานการณ์ในหลายประเทศในยุโรปที่พบผู้ติดเชื้อลดลง และทำให้รัฐบาลของชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) เริ่มผ่อนคลายมาตรการเพื่อต่อสู้กับการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 และหันมากระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันการผ่อนคลายมาตรการเหล่านี้ ก็ดำเนินอย่างมีขั้นตอน เพราะตระหนักว่าหากเกิดความผิดพลาดก็จะนำไปสู่ความเสี่ยงของการแพร่ระบาดครั้งใหม่ ที่อาจสร้างความเสียหายได้มากกว่าเดิม
ผู้บริหารของสหภาพยุโรปซึ่งไม่มีอำนาจในการตัดสินใจด้านสาธารณสุขได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิก ใช้วิธีการกำหนดนโยบายร่วมกันมากกว่าการตัดสินใจแบบตัวใครตัวมัน จากความพยายามที่จะกำหนดกลยุทธ์ในระดับยุโรป คณะกรรมาธิการยุโรปจึงได้มีคำแนะนำสำหรับประเทศสมาชิกทุกประเทศร่วมกัน โดยเสนอแนะว่า มาตรการผ่อนคลายการกักกันหรือล็อกดาวน์ ควรจะเริ่มก็ต่อเมื่อการชะลอตัวของการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างมีนัยสำคัญที่ชัดเจน และโรงพยาบาลสามารถรองรับการแพร่กระจายเชื้อไวรัสจากผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้เพียงพอ
การปลดล็อกดาวน์ในหลายประเทศเกิดจากแรงกดดันทั้งภาครัฐบาลและเอกชนที่กระตุ้นให้เริ่มฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเร็วที่สุด เพราะในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์พยายามฉายภาพความรุนแรงของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในลักษณะที่เห็นเชื้อโรคแต่ไม่เห็นคนนั้น ความสูญเสียจากการที่ต้องเยียวยาและการออกมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจภายหลังการควบคุมโรคดูจะมีมูลค่ามากกว่าอย่างเทียบไม่ได้
ทางแพร่งของการผ่อนคลายล็อกดาวน์จึงไม่ได้เกิดขึ้นบนพื้นฐานปัจจัยว่าด้วยการระบาดซ้ำของโรคเท่านั้น หากแต่อยู่ที่มาตรการที่นำเสนอโดยรัฐนับจากนี้จะมีประสิทธิภาพและบริหารจัดการได้อย่างมีระบบ และมีผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติหรือไม่ต่างหาก