การดำเนินไปของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้สร้างความเสียหายต่อมวลมนุษยชาติอย่างกว้างขวางและในหลากหลายมิติ ไม่ได้จำกัดเฉพาะอยู่ที่ประเด็นสุขภาพและการสาธารณสุขเท่านั้น หากแต่ยังมีประเด็นว่าด้วยพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมที่กระทบต่อความเป็นไปและการดำเนินชีวิตของประชาชนอีกด้วย
ดัชนีชี้วัดความสำเร็จหรือล้มเหลวของการควบคุมโรค COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา จึงไม่ควรพิจารณาจากจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อเท่านั้น หากยังต้องพิจารณาและประเมินด้วยว่า ภายใต้มาตรการที่นำเสนอออกมาโดยกลไกภาครัฐนั้น ได้นำไปสู่หรือสร้างผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปอย่างไรบ้าง และกลไกรัฐมีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับหรือเยียวยาต่อผลกระทบดังกล่าวอย่างไรหรือไม่
ประเด็นที่น่าสนใจจากกรณีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระดับนานาชาติอยู่ที่นอกจากจะมีการกล่าวถึงจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต และประเด็นว่าด้วยมาตรการการรับมือและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคแล้ว ยังให้ความสำคัญต่อประเด็นอื่นๆ ควบคู่ไปด้วยทั้งสภาพความถดถอยทางเศรษฐกิจ ปัญหาคนว่างงานและความอดอยาก หรือแม้กระทั่งผลกระทบต่อเยาวชนโดยเฉพาะในเรื่องของการจัดการศึกษา หากแต่สำหรับสังคมไทย ดูเหมือนว่าศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. จะมุ่งเน้นไปที่การแพร่ระบาดของโรค โดยละเลยที่จะพิจารณาประเด็นและผลกระทบแวดล้อมว่าด้วยเศรษฐกิจ แรงงาน และการศึกษา ที่ทำให้ขาดมิติในเชิงบูรณาการ และมีแนวโน้มที่จะต้องย้อนกลับมาแก้ไขปัญหาอื่นๆ ด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นไปโดยปริยาย
ผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ทำให้หลายธุรกิจต้องปิดหรือหยุดกิจการลงส่งผลให้มีคนตกงานรวมกว่า 10 ล้านคน และมีผู้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือเยียวยาจากมาตรการของรัฐรวมกว่า 28 ล้านคน ท่ามกลางความล่าช้าและขาดความชัดเจนของการดำเนินการภาครัฐ ซึ่งทำให้ประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนจำนวนมากไม่ได้รับความช่วยเหลือ และต้องดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางการขาดรายได้มานับเดือน
ข้อน่าสังเกตประการหนึ่งนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรค COVID-19 อยู่ที่การกล่าวถึงบุคลากรทางการแพทย์ในฐานะที่เป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญต่อการต่อสู้กับโรคระบาดครั้งนี้ ทั้งในมิติของการรักษาพยาบาล และการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งควรได้รับกำลังใจและความชื่นชม หากแต่สังคมไทยอาจมองข้ามความสำคัญจำเป็นของการพัฒนาบุคลากรด้านการสาธารณสุข ที่มีทัศนะของการวางแผนและบริหารจัดการที่มีความเชื่อมโยงกับมิติทางสังคมอื่นๆ เพื่อรองรับกับวิกฤตทางสาธารณสุขที่อาจเกิดมีขึ้นอีกในอนาคต
ภาพของการขอรับบริจาคหรือแม้กระทั่งข้อเท็จจริงที่ว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์จำนวนมากขาดแคลนในสถานการณ์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยไม่ได้มีการประเมินสถานการณ์หรือเตรียมการเพื่อรองรับต่อการระบาดของโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก ซึ่งหากมีการเตรียมการดีพอสังคมไทยอาจใช้เงินงบประมาณในการบริหารงานด้านสาธารณสุขนี้ในจำนวนไม่ถึง 5.000-10.000 ล้านบาท หากแต่ในปัจจุบันภายใต้มาตรการที่ขาดการวางแผนอย่างมีบูรณาการ สังคมไทยต้องลงทุนเพื่อกระตุ้นและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมหาศาลรวมมากกว่าล้านล้านบาท และยังไม่แน่ชัดว่าจะฉุดรั้งไม่ให้ความเสียหายหนักหน่วงไปกว่านี้อีกหรือไม่
ข้อเสนอที่น่าสนใจจากนักวิชาการด้านการสาธารณสุขและและคณบดีคณะแพทยศาสตร์จากสถาบันชั้นนำของสังคมไทย ระบุว่าแม้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์ที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบันมีส่วนสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศไทยโดยเฉพาะในจังหวัดที่มีสถานการณ์รุนแรง แต่การใช้มาตรการนี้โดยครอบคลุมทุกจังหวัดทั้งประเทศมีต้นทุนสูงทางเศรษฐกิจและสังคมควรดำเนินการเพียงชั่วคราวในระยะเวลาจำกัดเท่าที่เป็นประโยชน์
เพราะหากดำเนินมาตรการนี้เนิ่นนานโดยไม่จำเป็นจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชากรที่มีรายได้น้อย มีหนี้สินครัวเรือนสูงทำให้เกิดการตกงานมากถึง 5-7 ล้านคน สร้างความกดดันทางจิตใจและอาจกระทบกับเสถียรภาพของครอบครัวชุมชนและสังคมโดยรวม รัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณสูงมากในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งก็คือ หลายประเทศที่กำลังใช้มาตรการล็อกดาวน์ในการแก้ไขวิกฤต COVID-19 ต่างเริ่มหาทางออกที่จะดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ต่อไปอย่างได้ผลพร้อมกับการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและผ่อนคลายความตึงเครียดในสังคมโดยตระหนักว่าการแพร่เชื้อจะยังไม่ยุติโดยสิ้นเชิง ยังมีโอกาสจะเกิดการติดเชื้อต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรคมาใช้อย่างเพียงพอ ซึ่งอาจใช้เวลานานนับปีจากนี้
นักวิชาการและบุคลากรทางสาธารณสุขกลุ่มนี้ยังประเมินสถานการณ์และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าการทำให้ประเทศปลอดจากเชื้อ COVID-19 โดยการปิดเมืองหรือล็อกดาวน์เป็นระยะยาว เช่น สองหรือสามเดือน และทำการค้นหาผู้ติดเชื้อทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการแบบเคาะประตูบ้านมาแยกรักษา แต่การทำแบบนี้ได้ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลและต้องใช้บริบททางสังคมการเมืองที่สามารถบังคับใช้กฎระเบียบอย่างเข้มแข็งได้
ขณะเดียวกันก็จะมีต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจที่สูงมาก ทางเลือกนี้ไม่เหมาะที่จะทำทั้งประเทศ แต่อาจนำมาใช้ในพื้นที่หรือชุมชนเล็กๆ ที่มีการติดเชื้อสูง ดังนั้นความคิดที่ว่าคนไทยทั้งประเทศควรยอมทนเจ็บครั้งเดียวเป็นเวลาสักสามเดือนให้จบปัญหา COVID-19 แล้วกลับไปมีชีวิตปกติจึงไม่อาจเป็นจริงได้
ทางเลือกที่สอง คือการยอมรับว่าเราไม่สามารถหยุดการแพร่ของเชื้อ COVID-19 ได้ แต่เราสามารถควบคุมให้มีการแพร่ในระดับที่ต่ำ (low transmission) มีการสูญเสียชีวิตน้อย เพราะโรงพยาบาลรองรับได้ทัน ในขณะเดียวกันก็เริ่มเปิดให้ผู้คนทำมาหาเลี้ยงชีพ ทำธุรกิจทำการผลิต นักเรียนได้เรียนหนังสือ คนได้ทำงาน และสังคมไม่หยุดนิ่ง มีการพัฒนาที่สมดุล ทั้งการควบคุมโรคและการประกอบกิจการและกิจกรรมต่างๆ เป็นการกลับสู่ชีวิตปกติแต่ด้วยวิถีแบบใหม่ (New Normal) ซึ่งทางเลือกนี้จะสามารถทำให้เป็นจริงและเกิดขึ้นได้โดยอาศัยองค์ประกอบที่สำคัญ 5 ประการเป็นปัจจัยประกอบ
เริ่มจากเพิ่มความเข้มข้นในมาตรการทางสาธารณสุขและการแพทย์ ประกอบด้วยการขยายการตรวจให้ครอบคลุมทุกจังหวัด มีการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็ว แยกรักษา เฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในบางกลุ่มประชากรที่เสี่ยงต่อการระบาด ควบคู่กับการทำให้ทุกคนทุกสังคมและทุกพื้นที่เข้าใจและปฏิบัติตามมาตรการสุขลักษณะ ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน การมีระยะห่างทางกาย งดการชุมนุม งดงานสังคมที่จัดใหญ่โตมีคนมากๆ เปลี่ยนเป็นงานขนาดเล็กภายในหมู่ญาติสนิทและครอบครัว
ขณะเดียวกันเปิดให้ธุรกิจเริ่มเดินหน้า โดยมีการประเมินความเสี่ยงของการดำเนินงานโดยองค์กรธุรกิจอุตสาหกรรม หากมีความเสี่ยงต้องปรับให้เข้ามาสู่ความเสี่ยงต่ำที่จัดการได้ เช่น ใช้มาตรการตรวจวัดไข้ เว้นระยะห่างทางกาย ลดการใช้เสียง เพิ่มการระบายอากาศ ลดจำนวนผู้คนที่มาติดต่อใช้บริการ และการใช้เทคโนโลยีให้ทำงานประชุมติดต่อ บริการโดยไม่ต้องมีการพบปะกันมากๆ
การปิดแหล่งแพร่โรคที่สำคัญ บริการหรือกิจการที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งถูกสอบสวนพบว่าเป็นแหล่งแพร่ระบาดให้เกิดผู้ติดเชื้อมากๆ อันได้แก่ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบริการทางเพศทั้งตรงและแฝง สนามการพนันในรูปแบบต่างๆ ต้องปิดในระยะยาวสำหรับการปิดกิจการอื่นๆ ในอนาคตควรใช้วิธีปิดแบบจำเพาะ Selective measures แทนการปิดแบบครอบจักรวาล
และสุดท้ายคือมีระบบเฝ้าระวังตรวจจับและคาดการณ์ความรวดเร็วของการแพร่ระบาดในระดับพื้นที่และระดับประเทศเพื่อเป็นการจัดระดับสถานการณ์เป็นการเตือนและเพิ่มมาตรการหรือผ่อนคลายมาตรการตามบริบทของแต่ละจังหวัด หรือหากเป็นไปได้ย่อยลงไประดับอำเภอ และมีการเฝ้าระวังโดยภาคประชาชน
ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านจากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ไปสู่มาตรการสร้างเสถียรภาพควรต้องเตรียมตัวและให้มั่นใจว่ามาตรการที่สำคัญยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนผ่านแบบรวดเร็ว ควรดำเนินการโดยเริ่มจากจังหวัดกลุ่มแรกที่ไม่พบผู้ป่วยในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา และสามารถเริ่มได้ในต้นเดือนพฤษภาคมหรืออาจนำร่องทดลองปลายเดือนเมษายนในบางจังหวัด หลังจากนั้นจึงเริ่มในกลุ่มที่สอง คือจังหวัดที่พบผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่แบบประปราย ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม
ขณะที่ในกลุ่มจังหวัดที่ยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่องเป็นกลุ่มก้อน หากจังหวัดเหล่านี้สามารถลดการระบาดลงมาได้ในระดับต่ำตามเกณฑ์และไม่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ก็ควรให้เริ่มเปลี่ยนผ่านได้ในต้นเดือนมิถุนายนหรืออาจเริ่มก่อนหน้านั้นได้ หากควบคุมสถานการณ์ได้ดี
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากข้อเสนอและทางเลือกเหล่านี้ก็คือ ก่อนจะถึงเวลาที่มีวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ประเทศไทยจะสามารถควบคุมให้มีการติดเชื้อ COVID-19 ในระดับต่ำมีผู้เสียชีวิตจำนวนไม่มาก ในขณะที่ประชาชนสามารถเริ่มทำงานประกอบอาชีพได้ ประเทศไทยมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม และประชาชนเกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบใหม่
เป็นข้อเสนอในเชิงนโยบายด้านการสาธารณสุขที่เชื่อมโยงกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยทั่วไป ที่มีความก้าวหน้าและฉายภาพที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบมากกว่ามาตรการของรัฐที่มีมาก่อนหน้านี้ และชัดเจนหนักแน่นกว่าการแถลงรายวันของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. อย่างมาก
ความท้าทายของสังคมไทยนับจากนี้จึงอยู่ที่ว่าทิศทางของรัฐไทยในยุคหลังของการแพร่ระบาด COVID-19 นี้จะถูกกำหนดให้มีขึ้นด้วยสติปัญญาและความรับผิดชอบของใคร