วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > 2558 ปีทองธุรกิจอาหาร? ทุกแนวรบพร้อมแข่งเดือด

2558 ปีทองธุรกิจอาหาร? ทุกแนวรบพร้อมแข่งเดือด

 
ปี 2558 หรือปีแพะนี้ ถือได้ว่าเป็นปีที่ท้าทายสำหรับธุรกิจอาหารในประเทศไทย ท่ามกลางกระแสการแข่งขันอย่างรุนแรงของผู้ประกอบการน้อยใหญ่ ทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่พาเหรดเข้ามาในสมรภูมิอาหาร ในขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามูลค่าของร้านอาหารในปีนี้จะมีมูลค่าตลาดประมาณ 267,000-275,000 ล้านบาท เติบโตอยู่ในอัตราร้อยละ 2.9-5.9 จากในปี 2557 และหากครอบคลุมถึงเชนร้านอาหารและร้านอาหารทั่วไป น่าจะมีมูลค่าตลาดอยู่ในระดับ375,000-385,000 ล้านบาท เติบโตอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 4.0-6.8 นับว่าส่งผลให้การแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารเป็นไปอย่างรุนแรงขึ้น
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ากลยุทธ์การขยายสาขาของเชนร้านอาหารในปี 2558 จะเปลี่ยนแปลงไปจากปี 2557 กล่าวคือจากการให้ความสำคัญกับการขยายสาขาจำนวนมากในทำเลที่ตั้งที่เป็นห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ และคอมมูนิตี้มอลล์ต่างๆ เพื่อให้แบรนด์ร้านอาหารมีความโดดเด่น และสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างครอบคลุมได้มากกว่าคู่แข่งขันมาสู่การให้ความสำคัญกับการคัดเลือกทำเลที่ตั้งที่จะขยายสาขามากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้อย่างเฉพาะเจาะจง     
 
อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการนำเสนอรูปแบบอาหารที่แปลกใหม่และสอดคล้องกับรูปแบบการรับประทานอาหารนอกบ้านของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอีกด้วย ไม่ว่าจะด้านรสชาติอาหาร ความแตกต่างและความหลากหลายของอาหาร การตกแต่งร้าน การให้บริการนอกเหนือจากการจัดโปรโมชั่น การรับส่วนลดได้ ล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกร้านอาหารไม่น้อยไปกว่าปัจจัยด้านราคาอย่างเดียว
 
ในขณะที่ธุรกิจร้านอาหารถ้าจะแบ่งคร่าวๆ โดยทั่วๆ ไป อาจแบ่งได้ 4 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้คือ (1) ร้านอาหารต่างชาติ เช่น ร้านอาหารญี่ปุ่น อาทิ เซนหรือฟูจิ ร้านอาหารอิตาเลียน (2) ร้านอาหารพวกฟาสต์ฟู้ดจานด่วน เช่น ร้านแมคโดนัลด์ เคเอฟซี และศูนย์อาหารตามห้างสรรพสินค้า (3) ร้านอาหารแนวฟิวชั่นฟู้ดที่ผสมผสานระหว่างอาหาร 2 สัญชาติ และ (4) ร้านอาหารแนวสุขภาพ ซึ่งจะเน้นเมนูพวกสลัดผักและผลไม้ที่ปราศจากยาฆ่าแมลง 
 
การเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารรายใหม่ ส่งผลให้การแข่งขันเป็นไปอย่างรุนแรงขึ้น การเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารรายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่ เช่น ธุรกิจเครื่องดื่ม ธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจผลิตอาหาร ที่ต่างก็หันมารุกในธุรกิจร้านอาหารมากขึ้น โดยผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่ดังกล่าวสามารถใช้ประโยชน์จากชื่อเสียงของแบรนด์ ฐานลูกค้า ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงองค์ความรู้ด้านการประกอบธุรกิจมาใช้ต่อยอดในการขยายเข้าสู่ธุรกิจร้านอาหารได้
 
ค่ายเบียร์สิงห์ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนรายหนึ่งที่ขยับเข้ามารุกธุรกิจอาหารโดยตั้งบริษัท ไฟน์ ฟู้ด แคปปิตอล จำกัด ดูแลร้านอาหาร “พาคาต้า” (Pacata) โดยมีสาขาทั้งในไทยและต่างประเทศ จะเป็นสินค้าอาหารพร้อมรับประทาน ภายใต้แบรนด์ “สตาร์เชฟส์” (Star Chefs) และ “แด็ด เอเชีย” (That’s Asia) โดยสตาร์เชฟส์ เป็นแบรนด์อาหารพร้อมรับประทาน เริ่มขายในประเทศไทยและแถบอินโดจีน และยังได้ดำเนินธุรกิจผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายเข้าไปในธุรกิจอาหาร (Food Service) ภายใต้แบรนด์ “ไฟน์ ฟู้ด แคปปิตอล” ซึ่งมีทั้งอาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและวัตถุดิบเพื่อประกอบอาหาร
 
ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าในปี 2558 จะมีรายได้ที่ประมาณ 500 ล้านบาท พร้อมกับแผนที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำอาหารไทยและเอเชียใน 5 ปีในตลาดเอเชีย และในอนาคตต้องการจะเป็นผู้นำอาหารไทยและเอเชียในระดับโลก  
ขณะที่ยักษ์ใหญ่ด้านวงการอาหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ก็ประสบผลสำเร็จกับการเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปแช่แข็งพร้อมรับประทาน ที่บริษัทเร่งรุกทำตลาดเต็มสูบ เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่เพิ่มกับเป้าหมายของบริษัทต้องการก้าวสู่ 1 ใน 5 ผู้นำระดับโลก
 
พร้อมกับกลยุทธ์การลงทุน 2 แนวทาง คือด้านกระบวนการผลิต พัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาดต่อเนื่อง และลงทุนสร้างแบรนด์สู่โกลบอลแบรนด์ ภายใต้ชื่อ “ซีพี” ในแผนการสร้างแบรนด์เพื่อก้าวสู่เป้าหมาย “ครัวโลก” ด้วยการทำกิจกรรมการตลาดผ่านผลิตภัณฑ์ของบริษัท 
 
เป้าหมายสำคัญของซีพีไม่ใช่การยึดครองตลาดเมืองไทย ตลาดอาเซียน หรือเอเชีย แต่ขยายกว้างขวางออกไปทั่วโลก ล่าสุดได้จัดโครงสร้างในเครือเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มร้านอาหาร (restaurant) ได้แก่ เชสเตอร์กริลล์ ธุรกิจห้าดาว ร้านอาหารจานด่วน “ซีพีคิทเช่น” ร้านเดอะกริลล์ ร้านสเต๊กหมูคูโรบูตะ สเต๊กปลา ร้านสแน็กทูโก และอีกกลุ่ม คือค้าปลีกอาหาร (Food Retail) ได้แก่ ร้านซีพีเฟรชมาร์ท ซึ่งรวมถึงตู้เย็นชุมชน ร้านซีพีฟู้ดมาร์เก็ต และซีพีฟู้ดเวิลด์ 
 
สำหรับโมเดล “ซีพีฟู้ดมาร์เก็ต” เน้นจุดขาย 3 คอนวีเนียน คือ “คอนวีเนียนทูบาย” มีสินค้าจำหน่ายเหมือนร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น “คอนวีเนียนทูคุ้ก” มีผลิตภัณฑ์แช่แข็งเหมือนร้านซีพีเฟรชมาร์ท และ “คอนวีเนียนทูอีท” มีรายการอาหารเหมือนร้านอาหารจานด่วน โดยเจาะพื้นที่เป้าหมายใน 3 ทำเลหลัก คือชุมชนที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงานและถนนสายหลัก
 
ส่วน “ซีพีฟู้ดเวิลด์” ซึ่งเป็นโมเดลใหม่ที่เกิดขึ้นแบบสายฟ้าแลบ ลักษณะกึ่งฟู้ดเซอร์วิสและใช้วิธีย่อขนาดร้านในเครือซีพี เช่น เชสเตอร์กริลล์ ร้านเดอะกริลล์ ร้านสเต๊กหมูคูโรโบตะ สเต๊กปลา ร้านอีซี่สแน็คส์ ร้านซีพีคิทเช่น เสริมด้วยร้านอาหารชื่อดังนอกเครือเข้ามาให้บริการ
 
ถือเป็นการพยายามรุกต่างประเทศแบบครอบคลุมลูกค้าทุกระดับ ทุกพื้นที่ เช่นเดียวกับการทำการตลาดในไทย 
 
ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ต้องการส่งออกร้านค้าปลีกทุกแบรนด์ของซีพีไปปักธงในตลาดโลก การบุกตลาดต่างประเทศของค่ายซีพีได้มีการดำเนินการมาต่อเนื่องหลายปีแล้ว และซีพีเอฟก็ทุ่มงบไม่น้อยเพื่อสร้างแบรนด์ให้เกิดขึ้น ด้วยวิสัยทัศน์ในการสร้างแบรนด์ซีพีเป็น “ครัวของโลก” หรือ “Kitchen of the World” และทำให้ซีพีเป็นแบรนด์ top of mind คืออยู่ในใจผู้บริโภคเป็นอันดับแรก ซึ่งซีพีเอฟเชื่อว่าการก้าวไปเป็นครัวโลกได้ต้องมุ่งไปที่สินค้าสำเร็จรูปและการสร้างแบรนด์ และอาหารสำเร็จรูปติดแบรนด์คือกลยุทธ์หลักในการบุกตลาด 
 
อีกค่ายหนึ่งที่รุกด้านอาหารญี่ปุ่น คือ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี  ที่เดินหน้าทำธุรกิจเชิงรุกอย่างต่อเนื่องด้วยการเข้าซื้อกิจการและการร่วมทุนธุรกิจอาหาร เพื่อผลักดันรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย บริษัทจะเน้นขยายสาขาร้านอาหารในทุกประเภทที่มีศักยภาพและแนวโน้มเติบโตดี เช่น อาหารญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 รองจากอาหารไทย บริษัทมีอาหารญี่ปุ่นในเครือ 7 แบรนด์ จากทั้งหมด 12 แบรนด์ เป็นไลเซนส์จากญี่ปุ่นและของบริษัทเอง นอกจากนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อขยายธุรกิจร้านอาหารในเครือที่เป็นแฟรนไชส์ไปยังต่างประเทศ 
 
โดยเฉพาะในอาเซียนและเอเชียที่มีศักยภาพ เน้น 4 แบรนด์หลัก คือ “โอโตยะ”, “เดอะเทอเรซ”, “มิสเตอร์โดนัท” และ “เทนยะ” ที่ล่าสุดบริษัทได้ซื้อไลเซนส์แฟรนไชส์ร้านเทนยะ ของบริษัท เทน คอร์ปอเรชั่น จำกัด จากญี่ปุ่น เพื่อเปิดร้านเทนยะ ในกลุ่มข้าวหน้าเทมปุระ เข้ามาทำตลาดในไทยและเอเชีย โดยไทยเป็นประเทศแรกที่เทนยะขยายสาขานอกญี่ปุ่น ซึ่งมอบสิทธิ์ให้บริษัท 20 ปี
 
ล่าสุดอีกหนึ่งธุรกิจอาหารที่เป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจไทยได้ดี คือ บะหมี่สำเร็จรูป  “มาม่า” ได้เตรียมแตกไลน์  เปิดธุรกิจใหม่ ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม ต่อยอดธุรกิจบะหมี่สำเร็จรูป หลังตลาดเติบโตต่ำ  
 
พิพัฒ พะเนียงเวทย์ รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแผนดำเนินงานในปีนี้ว่า บริษัทมีแนวทางขยายธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อต่อยอดธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ภายใต้เครื่องหมายการค้ามาม่า ซึ่งธุรกิจเริ่มมีแนวโน้มอิ่มตัว เห็นได้จากการเติบโตของตลาดที่อยู่ในระดับต่ำ หลังจากเมื่อปีที่แล้วตลาดรวมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเติบโตเพียง 1.4%
 
ส่วนโมเดลธุรกิจร้านอาหาร เบื้องต้นเป็นไปได้ที่จะยกรูปแบบร้านอาหารญี่ปุ่นเข้ามาทำตลาดในไทย และเมนูอาหารจะต้องมาจากบะหมี่            
 
การขยายธุรกิจใหม่ถือเป็นความท้าทายมากที่สุดสำหรับปีนี้ของมาม่า เพราะเป็นสิ่งที่บริษัทยังไม่เคยทำมาก่อน แต่เนื่องจากตลาดบะหมี่สำเร็จรูปในประเทศอิ่มตัวจึงต้องหาอะไรที่เพิ่มมูลค่าเข้าไปในสินค้าเดิมมากขึ้น
 
ธุรกิจร้านอาหารนับเป็นธุรกิจที่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนจากพฤติกรรมของผู้บริโภค ทั้งนี้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค อีกทั้งปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารมีแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรง จากมีผู้ประกอบการรายใหม่ทยอยเข้ามาในตลาด และผู้ประกอบการรายเก่าที่ต้องหากลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าเพื่อช่วงชิงตลาดที่มีมูลค่าหลายแสนล้านนี้