วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ธปท. สั่งหั่นค่าธรรมเนียม ทำธนาคารรายได้-กำไรลด

ธปท. สั่งหั่นค่าธรรมเนียม ทำธนาคารรายได้-กำไรลด

ข่าวการเตรียมปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมครั้งใหญ่ด้วยการออกประกาศแนวปฏิบัติ การคำนวณอัตราค่าธรรมเนียมของสถาบันการเงินทั้งระบบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใต้แนวความคิดที่ว่าเพื่อเป็นแนวทางให้สถาบันการเงินใช้ในการกำหนดค่าธรรมเนียมอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค กำลังส่งผลสั่นคลอนรายได้และกำไรของธนาคารพาณิชย์อย่างยากปฏิเสธ

ภายใต้แนวปฏิบัติของ ธปท. ดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ภายในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ จะครอบคลุมค่าธรรมเนียมในผลิตภัณฑ์ทางการเงินทุกประเภทรวมกว่า 200-300 ประเภท ในทุกกลุ่มธุรกิจทั้งธุรกิจลูกค้ารายใหญ่ ลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ตลอดจนลูกค้ารายย่อย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ธปท. ได้สั่งให้สถาบันการเงินปรับลดค่าธรรมเนียมไปแล้ว 3-4 รายการ ซึ่งถือเป็นการนำร่องก่อนการประกาศใช้แนวทางการคิดค่าธรรมเนียมทั้งระบบของ ธปท.

การประกาศใช้แนวทางการคิดค่าธรรมเนียมของ ธปท. ครั้งใหม่นี้ แม้จะสร้างความเป็นธรรมให้กับลูกค้าและสร้างมาตรฐานให้กับสถาบันการเงินทั้งระบบ หากในอีกทางหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ของธนาคาร ซึ่งการให้ธนาคารปรับลดค่าธรรมเนียมไปในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เป็นประหนึ่งการนำร่องก่อนที่จะนำไปสู่การครอบคลุมทุกประเภท ซึ่งน่าจะมีส่วนกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหรือรายได้ของธนาคาร แต่จะเป็นไปในระดับใด ยังเป็นกรณีที่ต้องประเมินข้อมูลอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ ธปท. ได้เรียกขอข้อมูลต้นทุนค่าธรรมเนียมแต่ละบริการของธนาคาร เพื่อพิจารณาว่าค่าธรรมเนียมแต่ละรายการดำเนินไปอย่างสมเหตุสมผล สอดรับกับทั้งระบบหรือไม่ เพื่อใช้กำหนดค่าธรรมเนียมให้สอดคล้องกับต้นทุนมากขึ้น ซึ่งในมุมมองของนายธนาคารหลายแห่งเชื่อว่าการเก็บค่าธรรมเนียมของแต่ละธนาคารในปัจจุบัน ถือว่าสมเหตุสมผลอยู่แล้ว เพราะหากธนาคารแห่งใดเก็บค่าธรรมเนียมเกินควร ไม่สอดคล้องกับต้นทุนก็จะต้องเผชิญกับกลไกตลาด ที่มีการแข่งขันเรื่องค่าธรรมเนียมซึ่งส่งผลให้ค่าธรรมเนียมธุรกรรมทางการเงินของแต่ละธนาคารมีแนวโน้มปรับลดลงอยู่แล้ว

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ตัวเลขค่าธรรมเนียมของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2562 ที่ผ่านมา พบว่ามีสัดส่วนถึงร้อยละ 29 หรือประมาณ 1.91 แสนล้านบาท ขณะที่รายได้จากดอกเบี้ยอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 71 หรือประมาณ 4.8 แสนล้านบาท และเมื่อพิจารณารายได้ค่าธรรมเนียมตามหมวดหมู่พบว่าร้อยละ 20.5 เป็นค่าธรรมเนียมจากการขายประกันกองทุน ส่วนอีกร้อยละ 20 เป็นค่าธรรมเนียมในส่วนของบัตรเครดิต ขณะที่อีกร้อยละ 18.4 เป็นค่าธรรมเนียมการให้สินเชื่อและทวงหนี้ โดยร้อยละ18.3 เป็นค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต ส่วนค่าบริการโอนเงิน จ่ายบิลคิดเป็นร้อยละ 10.3 ของรายได้ในส่วนนี้

ความเป็นไปเรื่องค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทย 5 แห่งพบว่า ธนาคารกสิกรไทยมีรายได้จากค่าธรรมเนียมมากที่สุดในระดับ 5 หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 33 ของรายได้ทั้งหมด รองลงมาเป็นธนาคารกรุงเทพที่ร้อยละ 30 หรือ 3.9 หมื่นล้านบาท โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นอันดับสามที่ร้อยละ 28 หรือ 3.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีรายได้จากค่าธรรมเนียมคิดเป็นร้อยละ 28 หรือ 2.9 หมื่นล้านบาท และธนาคารกรุงไทยร้อยละ 25 หรือ 2.9 หมื่นล้านบาท

ผลพวงจากการเตรียมประกาศปรับค่าธรรมเนียมธนาคารของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้มีการประเมินว่าจะเป็นแรงกดดันการดำเนินงานของสถาบันการเงินและประมาณการรายได้กำไรของธนาคารแต่ละแห่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการปรับลดประมาณการกำไรของกลุ่มธนาคารพาณิชย์มาแล้วครั้งหนึ่งจากผลกระทบของการปรับลดดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารให้สอดคล้องกับการลดดอกเบี้ยนโยบาย

ทั้งนี้มีการประเมินว่ารายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลงทุกๆ ร้อยละ 1 จะกระทบให้กำไรสุทธิลดลงร้อยละ 0.7 ซึ่งการปรับลดดังกล่าวทำให้ประมาณการที่คาดว่าธนาคารพาณิชย์จะมีกำไรในปี 2563 อยู่ที่ระดับ 186,412 ล้านบาท โดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปี 2562 มีรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยที่ร้อยละ 20 ของรายได้รวม ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะค่าธรรมเนียมบริการบัตรและบริการอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก พบว่าธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มีสัดส่วนร้อยละ 23 ของรายได้รวม รองลงมาเป็นธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีสัดส่วนร้อยละ 21 ของรายได้รวม ธนาคารกรุงไทย (KTB) มีสัดส่วนร้อยละ 18.5 ของรายได้รวม และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีสัดส่วนร้อยละ 18 ของรายได้รวม

ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับธนาคารพาณิชย์ที่เน้นสินเชื่อเช่าซื้อ ได้รับการประเมินว่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า เพราะหากพิจารณาโครงสร้างค่าธรรมเนียมส่วนใหญ่เป็น Bancassurance และค่าธรรมเนียมในการบริหารกองทุน

ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้สั่งการให้สถาบันการเงินปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใน 3 เรื่อง เพื่อลดภาระของประชาชนและ SME โดยปรับปรุงให้การดำเนินการเรื่องนี้เป็นธรรมมากขึ้น ประกอบด้วยค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (prepayment) สำหรับสินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด ซึ่งเดิมผู้ประกอบการบางรายคิดค่าปรับจากฐานวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน เกณฑ์ใหม่ให้คิดค่าปรับบนยอดเงินต้นคงเหลือ รวมทั้งให้กำหนดช่วงระยะเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอน ความสำคัญของเรื่องนี้คือ ค่าปรับที่ไม่สูงจะช่วยให้ประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกผู้ประกอบการที่ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุดและช่วยเพิ่มการแข่งขันในระบบ รวมทั้งทำให้ตลาด refinancing เกิดขึ้นในประเทศไทย

ขณะเดียวกันยังปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด เดิมการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะคิดบนฐานของเงินต้นคงเหลือ เกณฑ์ใหม่ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวด (installment) ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น ทั้งนี้ หากผู้ให้บริการมีลูกหนี้เดิมที่อยู่ระหว่างการเรียกเก็บดอกเบี้ยตามวิธีเดิม ขอให้ผู้ให้บริการพิจารณาปรับลดหรือยกเว้นดอกเบี้ยตามสมควร

นอกจากนี้ ให้สถาบันการเงินกำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (grace period) ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด และให้แจงรายละเอียดของยอดหนี้ค้างชำระ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ ให้ลูกหนี้ทราบอย่างชัดเจน ซึ่งการปรับปรุงดังกล่าว นอกจากจะทำให้เป็นธรรมมากขึ้นแล้ว จะช่วยลดโอกาสที่ลูกหนี้จะไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ (affordability risk)

สุดท้าย เป็นเรื่องค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร เดิมไม่มีการคืนส่วนต่างหรือคืนเมื่อร้องขอเท่านั้น เกณฑ์ใหม่ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรแก่ผู้ใช้บริการโดยไม่ต้องให้ผู้ใช้บริการร้องขอ และกรณีต้องออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน เดิมจะเรียกเก็บทุกกรณี เกณฑ์ใหม่ให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน แต่หากกรณีที่ออกบัตรหรือรหัสทดแทนมีต้นทุนสูงอาจพิจารณาจัดเก็บได้ตามความเหมาะสม

กรณีดังกล่าวเป็นประหนึ่งการนำร่องมาตรการของ ธปท. ที่ได้ขอให้ผู้ให้บริการนำหลักการคิดดอกเบี้ยและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใน 4 เรื่องดังต่อไปนี้มาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ ด้วย กล่าวคือต้องสะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินสมควรและคำนึงถึงความสามารถในการชำระของผู้ใช้บริการ ต้องไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน และสุดท้ายต้องเปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ ธปท. จะจัดให้มีการเปรียบเทียบข้อมูลอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ ของผู้ให้บริการแต่ละรายเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ใช้บริการและเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เหมาะสมมากขึ้นด้วย ภายใต้ความเชื่อที่ว่าการปรับปรุงดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการต่อระบบการเงินของไทยและสนับสนุนให้ผู้ให้บริการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีต่อการคิดคำนวณค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ จะส่งผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินไทยอย่างไรเป็นกรณีที่น่าสนใจติดตามอย่างยิ่ง

ใส่ความเห็น