วันพุธ, ธันวาคม 4, 2024
Home > On Globalization > ภาษีผ้าอนามัย

ภาษีผ้าอนามัย

Column: Women in wonderland

ช่วงปลายปี 2019 ที่ผ่านมา มีข่าวลือเรื่องการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งได้รับการยืนยันแล้วว่าไม่เป็นความจริง ในประเทศไทยนั้นผ้าอนามัยถูกจัดให้เป็นสินค้าควบคุมราคา หมายความว่าหากต้องการปรับราคา จะต้องแจ้งต่อกรมการค้าภายในล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน ผ้าอนามัยเป็นสินค้าควบคุมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 และยังจัดเก็บภาษีในอัตราปกติคือ 7% เหมือนสินค้าประเภทอื่นๆ

ในตอนแรกที่มีข่าวว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราการเก็บภาษีผ้าอนามัย ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในสังคมอย่างมากว่าผ้าอนามัยจะกลายเป็นภาระหนักของผู้หญิง และบางคนอาจจะไม่สามารถหาซื้อผ้าอนามัยมาใช้ได้ หากว่ามีการปรับราคาขึ้นจริง

BBC ไทยรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ผ้าอนามัยว่า เพื่อสุขอนามัยที่ดีจะต้องเปลี่ยนทุก 2-3 ชั่วโมง เฉลี่ยวันละประมาณ 7 แผ่น ประจำเดือนจะมาประมาณ 4-7 วัน ดังนั้นแต่ละเดือนจะใช้ผ้าอนามัยประมาณ 30 กว่าแผ่น คิดเป็นรายจ่ายประมาณ 2,160 บาทต่อปี

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าผู้หญิงทุกคนมีค่าใช้จ่ายในการใช้ผ้าอนามัยเป็นจำนวนไม่น้อยเลย ดังนั้น ภาครัฐจึงควรทำให้ผ้าอนามัยมีราคาถูกและทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ปัญหาการเข้าถึงผ้าอนามัยของผู้หญิงและเด็กหญิงนั้นเป็นปัญหาใหญ่ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาด้วย เพราะประเทศเหล่านี้เก็บภาษีผ้าอนามัยเท่ากับภาษีแอลกอฮอล์และบุหรี่ และบางประเทศยังจัดผ้าอนามัยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ทำให้มีราคาสูงมาก ผู้หญิงและเด็กหญิงหลายคนจึงไม่มีเงินเพียงพอที่จะหาซื้อผ้าอนามัยมาใช้ได้

ยกตัวอย่างประเทศอินเดีย ผ้าอนามัยถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย จัดเก็บภาษีในอัตรา 12% ทำให้ผู้หญิงและเด็กหญิง 4 ใน 5 ไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยใช้ได้ การที่ไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยมาใช้ได้ ทำให้ต้องลาออกจากโรงเรียน เพราะเมื่อประจำเดือนมาพวกเธอจะต้องอยู่แต่ในบ้าน หรือเด็กหญิงและผู้หญิงบางส่วนก็ใช้เศษผ้า ทราย แกลบ ใบไม้แห้ง พลาสติก หรือกระดาษหนังสือพิมพ์มาใช้แทนผ้าอนามัย ซึ่งหากไม่สะอาดเพียงพออาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ เป็นเหตุให้ในเดือนกรกฎาคม 2017 มีประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงรัฐบาลให้ยกเลิกเก็บภาษีผ้าอนามัย และในเดือนกรกฎาคม 2018 รัฐบาลอินเดียก็ประกาศยกเลิกเก็บภาษีผ้าอนามัย

ผู้หญิงในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ก็ต้องการให้รัฐบาลปรับลดอัตราภาษีผ้าอนามัยลงหรือยกเลิกไปเลย อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา มี 33 รัฐที่จัดเก็บภาษีผ้าอนามัย ใน 33 รัฐนี้มีอยู่ 22 รัฐที่กำลังพิจารณาว่าจะยกเลิกจัดเก็บภาษีผ้าอนามัย มีเพียง 15 รัฐเท่านั้นที่ไม่มีการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัย

หรืออย่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปก็มีปัญหานี้เช่นกัน ในปี 2007 สหภาพยุโรปประกาศให้ประเทศสมาชิกสามารถปรับแก้อัตราภาษีผ้าอนามัยได้ แต่ต้องจัดเก็บภาษีไม่น้อยกว่า 5% ซึ่งประเทศที่มีการจัดเก็บอัตราภาษีผ้าอนามัยสูงที่สุดคือ ฮังการี เก็บภาษี 27% รองลงมาคือโครเอเชีย สวีเดน และเดนมาร์ก 25% และอันดับที่สามคือฟินแลนด์ 24% ประเทศที่จัดเก็บอัตราภาษีผ้าอนามัยน้อยที่สุดคือ ลักเซมเบิร์ก 3% (ดูแผนภูมิประกอบ) ส่วนไอร์แลนด์ เป็นประเทศเดียวในสหภาพยุโรปที่ยกเลิกจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยไปก่อนที่สหภาพยุโรปจะประกาศใช้กฎหมายนี้

จากแผนภูมิจะเห็นว่าอัตราภาษีผ้าอนามัยของประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปนั้นค่อนข้างสูง บางประเทศเก็บสูงกว่าอัตราภาษีโรงแรมด้วยซ้ำ ตั้งแต่ประกาศให้ปรับลดการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยในปี 2007 หลายประเทศก็ลดอัตราภาษีลงมา แต่ก็ยังสูงกว่าประเทศอื่น

เช่น เยอรมนีที่เพิ่งประกาศปรับลดอัตราภาษีผ้าอนามัยล่าสุด ก่อนหน้านี้เยอรมนีจัดเก็บภาษี 19% เพราะผ้าอนามัยถูกจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย โดยปกติแล้วสินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันจะถูกจัดเก็บภาษี 7% แสดงว่าในเยอรมนีนั้นราคาของดอกไม้ สัตว์เลี้ยงอย่างปลาทอง และงานศิลปะ จ่ายภาษีอัตรา 7% ในขณะที่ผ้าอนามัยซึ่งเป็นของจำเป็นสำหรับผู้หญิงกลับต้องจ่ายภาษีถึง 19% เรื่องนี้ทำให้ประชาชนลงชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมาย ซึ่งใช้เวลาถึงสองปีจึงได้รายชื่อครบเพื่อยื่นขอแก้ไขกฎหมาย และในวันที่ 1 มกราคม 2020 เยอรมนีปรับลดภาษีผ้าอนามัยมาอยู่ที่ 7%

หรืออย่างสหราชอาณาจักรก็เริ่มพูดถึงการยกเลิกการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยในปี 2015 เมื่อรัฐสภาอังกฤษต้องการที่จะยกเลิกการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัย แต่รัฐบาลอังกฤษไม่สามารถทำได้ เนื่องจากต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของสหภาพยุโรป ทำให้ฝ่ายสนับสนุน Brexit มีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นหนึ่งในเหตุผลที่สหราชอาณาจักรควรจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เมื่อรัฐบาลอังกฤษไม่สามารถยกเลิกภาษีผ้าอนามัยได้ จึงตัดสินใจให้เงินสนับสนุนองค์กรต่างๆ ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้หญิงเป็นพิเศษ ซึ่งในปี 2017 รัฐบาลอังกฤษได้มอบเงินให้กับองค์กรต่างๆ มากกว่า 70 องค์กร เป็นเงินประมาณ 12 ล้านปอนด์ ในขณะที่สกอตแลนด์ รัฐบาลแจกผ้าอนามัยให้กับผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยฟรี เป็นการลดจำนวนผู้หญิงและเด็กหญิงที่ไม่มีเงินพอซื้อผ้าอนามัย

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีการเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราสูง ทำให้ผู้หญิงและเด็กหญิงหลาย คนไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยใช้ได้ ประเทศแรกที่ประกาศยกเลิกภาษีผ้าอนามัยคือเคนยา ตั้งแต่ปี 2004 เนื่องจากมีผู้หญิงและเด็กหญิงในประเทศมากกว่า 1 ล้านคนไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยมาใช้ได้ รัฐบาลจึงตัดสินใจยกเลิกภาษีผ้าอนามัย ในปีต่อมาแคนาดาจึงประกาศยกเลิกภาษีผ้าอนามัยด้วยเป็นประเทศที่สอง

หลังจากปี 2005 ก็ไม่มีประเทศไหนยกเลิกอีกจนกระทั่งปี 2018 จึงมีอีก 6 ประเทศคือ ออสเตรเลีย อินเดีย มาเลเซีย อูกันดา แทนซาเนีย และนิการากัว

เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และรัฐบาลส่วนใหญ่ก็ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ กลับมองเป็นเรื่องปกติที่ผู้หญิงจะต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อผ้าอนามัยในราคาสูง และมีผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถซื้อใช้ได้ ในขณะที่กระดาษชำระกลับถูกจัดให้เป็นสินค้าจำเป็นในเกือบทุกประเทศ และเรามักจะเห็นห้องน้ำสาธารณะในเกือบทุกประเทศมีกระดาษชำระฟรีบริการไว้ให้ในห้องน้ำ แต่ไม่เคยเห็นที่ไหนแจกผ้าอนามัยฟรีเลย

ภาษีผ้าอนามัยแสดงให้เห็นการเลือกปฏิบัติกับผู้หญิงได้ชัดเจน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้ที่ผ่านกฎหมายของแต่ละประเทศคือสมาชิกของรัฐสภาซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย จึงไม่เคยตระหนักถึงค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ และไม่รู้ว่าผ้าอนามัยนั้นมีความจำเป็น นี่อาจเป็นโอกาสดีให้หลายประเทศหันมาพิจารณาเรื่องภาษีผ้าอนามัยอย่างจริงจัง เพราะประเทศที่ยกเลิกเก็บภาษีผ้าอนามัยไปแล้วนั้นส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา

Photo Credit: https://www.freepik.com/free-photos-vectors/calendar

ใส่ความเห็น