Column: Well – Being
ถ้าพูดถึงบทสนทนาเกี่ยวกับน้ำหนักตัว การออกกำลังกาย และอาหาร ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเสี่ยงต่อความรู้สึกพอๆ กับการหลับตาเดินไต่เชือกที่อันตรายยิ่ง แค่พูดผิดเพียงประโยคเดียว อาจทำให้คุณถึงกับเสียหลักไปสู่ภาวะกระอักกระอ่วนใจและกลายเป็นการดูแคลนคู่สนทนาได้ แม้คำชมเชยที่เต็มไปด้วยความปรารถนาดีที่สุด หรือการตั้งคำถามที่ไม่ถูกกาลเทศะ ก็สามารถทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว เหนืออื่นใด สัมพันธภาพของเรากับสรีระของเราเป็นเรื่องซับซ้อน และผ่านการถักทอด้วยประสบการณ์ทั้งที่ดีและเลวมาแล้วมากมายเป็นเวลานานหลายปี
คราวต่อไปถ้าคุณต้องพูดคุยกับใครสักคนที่อยู่ในระหว่างการลดน้ำหนักให้หลีกเลี่ยงคำพูดและคำถามที่จะนำเสนอต่อไปนี้ และทำตามคำแนะนำของนักจิตวิทยาเกี่ยวกับสิ่งที่คุณจะพูดออกไปดังที่นำเสนอโดยนิตยสาร Prevention
(1) “แค่กินให้น้อยลงและออกกำลังกายมากขึ้น”
“ก่อนอื่นเลย ใครก็ตามที่กำลังพยายามลดน้ำหนักเคยได้ยินประโยคนี้มาแล้ว” ดร.จิม เคลเลอร์ นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและจิตวิทยาการลดความอ้วนอธิบาย แม้ว่าคุณจะมีเจตนาดี แต่คุณจำเป็นต้องวางตัวให้ดีอยู่เสมอ
ไม่เคยเพียงแค่นั้น ประโยคนี้ดูเหมือนจะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายเกินไป ซึ่งจริงๆ แล้วสำหรับคนอีกมากมายที่ต้องการลดน้ำหนัก ถือเป็นงานหินอย่างแท้จริง เคลเลอร์เพิ่มเติมว่า “แน่นอน การกินให้ดีและเคลื่อนไหวมากขึ้นล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการลดน้ำหนัก แต่ผู้ที่ควบคุมอาหารส่วนใหญ่ต่างประสบปัญหาหิวมากขึ้นและระบบเผาผลาญทำงานช้าลง”
ควรพูดอย่างไร “ประการแรก ให้ยอมรับความยากของสิ่งที่คนที่คุณรักตั้งเป้าหมายในการลดน้ำหนัก” เคลเลอร์แนะนำ จากนั้นให้กำลังใจพวกเขา บอกพวกเขาว่าคุณภูมิใจในตัวพวกเขาที่ตัดสินใจเริ่มเดินบนเส้นทางนี้
(2) “ยังเหลือน้ำหนักอีกเท่าไรที่เธอต้องลดให้ได้”
ดูเหมือนคำถามนี้จะไม่มีพิษสงอะไร เพราะเน้นไปที่ตัวเลขบนตาชั่งเป็นหลัก ซึ่งมักทำให้คนที่คุณรักรู้สึกเหมือนประสบความล้มเหลว “ความสำเร็จในตัวเลขบนตาชั่งไม่เพียงเป็นความสำเร็จของคนที่พยายามลดน้ำหนักใฝ่หา เราจึงไม่ต้องการให้เน้นที่เรื่องนี้เพียงอย่างเดียว” เคลเลอร์อธิบาย
ถ้าคุณมีวิถีชีวิตที่แข็งแกร่ง คุณอาจรู้สึกดีขึ้นแม้ตัวเลขบนตาชั่งจะไม่กระดิก อย่างไรก็ตาม ถ้าตัวเลขบนตาชั่งคือบทสรุปสุดท้ายของคุณ คุณจะไม่รู้สึกดีใจกับความสำเร็จด้านอื่นๆ เลย
ควรพูดอย่างไร “ให้เน้นความสำเร็จที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเลขบนตาชั่ง” เคลเลอร์กล่าว บอกคนที่คุณรักว่า น่าประทับใจแค่ไหนที่พวกเขาเลิกดื่มโซดา หรือเริ่มนิสัยเดินออกกำลังกายหลังอาหารเที่ยง ถ้าคุณอยากถามว่าการลดน้ำหนักไปถึงไหนแล้ว ให้ถามว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรแทน พวกเขาจะตื่นเต้นที่ได้แบ่งปันว่า ตอนนี้พวกเขาไม่รู้สึกอ่อนล้า หรือสามารถวิ่งไล่ตามลูกๆ ได้แล้ว
(3) “เธอจะกินอาหารนั้นจริงหรือ”
การทำตัวเป็น “ตำรวจควบคุมอาหาร” กับคนที่พยายามลดน้ำหนักไม่ว่ารูปแบบใดถือว่าไม่ได้ผลทั้งนั้น เพราะวิธีนี้ไม่เพียงทำให้ผู้ควบคุมอาหารรู้สึกว่าถูกพิพากษา แต่ยังทำให้พวกเขามีข้ออ้างที่จะต่อต้าน ซึ่งเคลเลอร์ให้ความเห็นว่า อาจกระตุ้นให้พวกเขากินมากขึ้น (พฤติกรรมนี้เรียกว่า “กินประท้วง” ซึ่งเคลเลอร์เล่าว่า เขาได้เห็นพฤติกรรมนี้ตลอดเวลาในคอร์สของเขา) ที่สำคัญคุณจะกลายเป็นวายร้าย และมันจะยิ่งเป็นโทษต่อความพยายามของผู้ต้องการลดน้ำหนักด้วย
ควรพูดอย่างไร แม้มีใครบางคนขอให้คุณช่วยเป็นตำรวจควบคุมอาหารให้พวกเขา เคลเลอร์แนะนำให้ปฏิเสธ “วิธีที่ดีที่สุดในการสนับสนุนคนที่คุณรักคือ การมีส่วนร่วม” ให้เสนอตัวเป็นคู่หูเดินออกกำลังกายด้วยกัน หรือตั้งใจลดการเติมน้ำตาลลงในอาหารร่วมกับพวกเขา ที่ควรจำให้แม่นคือ แค่รูดซิปปากเมื่อคนที่คุณรักเลือกกินอาหารที่คุณคิดว่าเป็นโทษ
(4) “เธอจะดูดีมากเมื่อลดน้ำหนักตัวได้”
ใช่แล้ว คนมักให้ความเห็นนี้กับเพื่อนๆ และสมาชิกในครอบครัวที่พยายามลดน้ำหนักตลอดเวลา “การแกล้งพูดชมแต่จริงๆ แล้วหลอกด่าในลักษณะนี้ เป็นเพียงการสะท้อนถึงอคติอันน่าเกลียดเกี่ยวกับน้ำหนักตัวในสังคมของเรา” เคลเลอร์กล่าว
สิ่งที่พวกเขาประสบความสำเร็จคือ ทำให้คนที่ได้ฟังความเห็นนั้นรู้สึกละอายในรูปลักษณ์ทางกายและปมด้อยของตน “ทั้งยังเป็นการลดความนับถือตนเอง และรู้สึกล้มเหลวกับคำพูดที่รังแต่จะผลักดันให้คนยิ่งกินตามอารมณ์” เคลเลอร์เสริม
ควรพูดอย่างไร ลักษณะคล้ายกับการที่คุณควรหลีกเลี่ยงการพูดคุยเกี่ยวกับตัวเลขบนตาชั่ง รวมทั้งพูดเน้นเกี่ยวกับความสวยงามทั่วไปให้น้อยลง แล้วหันไปเน้นความคืบหน้าเกี่ยวกับสุขภาพและประเด็นเกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยการพูดชมใครบางคนว่าดูมีสง่าราศีเพราะสุขภาพแข็งแรง หรือแลดูเป็นคนที่เต็มไปด้วยพลัง
(5) “ว้าว เธอเพรียวลงแล้ว! เยี่ยมไปเลย!”
แม้จะเห็นได้ชัดว่า ใครบางคนมีน้ำหนักตัวลดลง แต่การแสดงความเห็นเกี่ยวรูปลักษณ์ของพวกเขาก็ยังเป็นอันตรายได้ “การแสดงนัยว่า คนคน หนึ่งจำเป็นต้องลดน้ำหนักเพื่อให้เข้ากับมาตรฐานที่ “ดูดี” บางอย่าง และพวกเขาไม่เคยดูดีอย่างนี้มาก่อน” ซารี ไชต์ นักจิตวิทยาพฤติกรรมให้ความเห็น
ควรพูดอย่างไร หลีกเลี่ยงการให้ความเห็นเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของผู้อื่น และแทนที่จะชมเชยพวกเขาว่าแลดูมีชีวิตชีวาแค่ไหน อาหารกลางวันเพื่อสุขภาพของพวกเขาดูน่าอร่อยแค่ไหน หรือคุณประทับใจแค่ไหนที่ได้ยินพวกเขาใช้ชีวิตตามวิถีเพื่อสุขภาพ ให้พูดแค่ว่า “ฉันประจักษ์แล้วว่าเธอทำงานหนักจริงๆ เพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตของเธอ และมันเป็นแรงบันดาลใจมาก” ไชต์อธิบาย
(6) “มาเถอะ เธอจะกินพิซซ่าสักชิ้นก็ได้นะ”
คำพูดข้างต้นที่ตรงข้ามกับการทำตัวเป็นตำรวจควบคุมอาหารนี้ มักสะท้อนความรู้สึกผิดของตัวคุณเองเกี่ยวกับการตามใจปาก “มันทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นเกี่ยวกับการตามใจปาก ถ้าคุณสามารถชักชวนให้พวกเขาทำร่วมกับคุณ” ไชต์ให้ความเห็น อย่างไรก็ตาม การทำอย่างนี้ก่อให้เกิดสถานการณ์น่าอึดอัดต่อผู้ที่ปฏิเสธพิซซ่าซึ่งอาจต่อสู้กับความรู้สึกภายในอยู่แล้วในระดับหนึ่งเพื่อปฏิเสธพิซซ่าชิ้นนั้นเป็นอันดับแรก
ควรพูดอย่างไร ยกเว้นการพูดชมเชยอาหารที่แลดูน่าอร่อย “โดยทั่วไปผมไม่แนะนำให้แสดงความเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่คนอื่นกำลังกิน” ไชต์อธิบาย แล้วให้ยอมรับคำปฏิเสธของพวกเขา “เก็บความคิดเห็นของคุณไว้กับตัวคุณเอง และเพลิดเพลินกับอะไรก็ได้ที่คุณเลือกกิน
(7) “อาหารจานนี้ฉันกินแล้วได้ผล เธอควรลองดูนะ!”
ไชต์อธิบายว่า ประการแรกสุด “คนทั่วไปไม่ค่อยอยากฟังคำแนะนำที่ไม่พึงประสงค์ ตามธรรมชาติเรามีแนวโน้มต่อต้านด้วยซ้ำ” นอกจากนี้ ไม่ว่าใครก็ตามที่คุณกำลังคุยด้วยอาจรู้แล้วว่า พวกเขาต้องการลดน้ำหนัก แต่อาจยังไม่พร้อมที่จะมุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงตนเอง สำคัญที่สุดคือ สิ่งที่ได้ผลดีกับคุณอาจไม่ได้ผลกับพวกเขาก็ได้ ดังนั้น การพยายามกดดันแทคติกของคุณให้พวกเขา อาจเป็นการต้อนพวกเขาให้เข้ามุมอับก็ได้ ซึ่งพวกเขารู้สึกไม่สะดวกใจที่จะพูดคุยด้วย หรือไม่ก็แสดงความต้องการเดินไปบนเส้นทางของตนเอง
ควรพูดอย่างไร ก่อนให้คำแนะนำใดๆ โดยเฉพาะคำแนะนำเกี่ยวกับการลดน้ำหนัก ถามใครก็ได้ที่คุณกำลังคุยด้วยว่า พวกเขาอยากฟังประสบการณ์ของคุณหรือไม่ ถ้าพวกเขาไม่สนใจ ให้ความเชื่อมั่นแก่พวกเขาว่า พวกเขาจะพบวิธีที่ได้ผลสำหรับพวกเขาเองและให้ก้าวเดินต่อไป… ไชต์สรุป