Column: Women in Wonderland
นักบินอวกาศเป็นอาชีพหนึ่งที่หลาย คนใฝ่ฝัน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายต่างก็สามารถเป็นนักบินอวกาศได้ หากสิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริง การจะเป็นนักบินอวกาศจะต้องผ่านการทดสอบมากมาย รวมถึงการทดสอบสมรรถภาพร่างกายให้พร้อมสำหรับการฝึกอย่างหนักในอนาคตเพื่อไปอาศัยอยู่ในอวกาศ ดังนั้น คนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าไปเป็นนักบินอวกาศในแต่ละปีจึงมักจะเป็นผู้ชายมากกว่า
องค์กร National Aeronautics and Space Administration หรือ NASA จะคัดเลือกคนที่จะเข้าไปเป็นนักบินอวกาศจากเกณฑ์เบื้องต้น ดังนี้ (1) ผู้สมัครจะต้องถือสัญชาติอเมริกัน (2) เรียนจบในสาขาวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ชีวภาพ วิทยาศาสตร์กายภาพ หรือคณิตศาสตร์เท่านั้น สาขาอื่นๆ ที่ถือว่าเป็นสาขาใกล้เคียงไม่สามารถสมัครได้ (3) ต้องมีประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับสายงานที่เรียนจบมาอย่างน้อย 3 ปี หรือมีชั่วโมงการบินในเครื่องบินเจ็ตอย่างน้อย 1,000 ชั่วโมง (4) จะต้องมีค่าสายตาปกติ (5) มีค่าความดันไม่เกิน 140/90 และ (6) มีความสูงระหว่าง 157.5-190.5 เซนติเมตร
แม้ NASA จะกำหนดคุณสมบัติไว้มากมาย ก็มีผู้ที่สนใจจะเป็นนักบินอวกาศยื่นใบสมัครเป็นจำนวนมาก NASA จะคัดเลือกใบสมัครที่พิจารณาว่าน่าสนใจให้เข้ามาทดสอบสมรรถภาพร่างกายและการสอบสัมภาษณ์ ดังนั้น ผู้ผ่านการคัดเลือกส่วนใหญ่มักจะเป็นทหารมาก่อน และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมนักบินอวกาศส่วนใหญ่ที่เราเห็นจึงเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
หลังจากผ่านการคัดเลือกแล้ว ไม่ใช่ว่าจะได้เป็นนักบินอวกาศเลยทันที แต่จะต้องไปฝึกฝนตัวเองในด้านต่างๆ ประมาณ 2-3 ปี และสอบให้ผ่านก่อนจึงจะสามารถเป็นนักบินอวกาศได้ โดย NASA จะส่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกไปฝึกที่ Johnson Space Center ให้ร่างกายแข็งแรง ฝึกเอาชีวิตรอดในน้ำ ต้องว่ายน้ำในสระ 25 เมตร ให้ได้ 3 รอบติดต่อกันไม่หยุดพักโดยใส่ชุดนักบินอวกาศและรองเท้าเทนนิส นอกจากนี้ ยังต้องเรียนรู้ข้อมูลสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับการไปอวกาศ
ก่อนสิ้นสุดการอบรม ทุกคนจะต้องผ่านการทดสอบเรื่องระบบต่างๆ ในสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station หรือ ISS) เนื่องจากปัจจุบันนักบินอวกาศจากประเทศต่างๆ จะทำงานร่วมกันที่สถานีอวกาศนานาชาติ มีการสร้างพาหนะใหม่ๆ สร้างยานสำรวจอวกาศ และทำงานวิจัยและทดลองต่างๆ ดังนั้น นักบินอวกาศจึงต้องได้รับการฝึกฝนและมีความรู้เกี่ยวกับระบบต่างๆ ของสถานีอวกาศนานาชาติ นอกจากต้องผ่านการทดสอบความรู้เกี่ยวกับสถานีอวกาศนานาชาติแล้ว ยังต้องทดสอบการทำภารกิจนอกยาน ทักษะการใช้หุ่นยนต์ การใช้ภาษารัสเซีย และความรู้ด้านเครื่องยนต์ต่างๆ ในเครื่องบิน
จากขั้นตอนต่างๆ จะเห็นว่ากระบวนการคัดเลือกและการฝึกอบรมต่างๆ นั้นมีความยาก และคนที่จะผ่านการคัดเลือกให้เป็นนักบินอวกาศต้องเป็นบุคคลที่มีทั้งความรู้และความพร้อมของร่างกายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกส่วนใหญ่มักเคยเป็นทหาร ทำให้กลายเป็นข้อได้เปรียบ
แม้จะต้องฝึกฝนอย่างหนัก และผู้ผ่านการคัดเลือกส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ชาย แต่ก็มีผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จเป็นนักบินอวกาศเช่นกัน แม้อาจจะไม่ค่อยได้เห็นนักบินอวกาศหญิงตามสื่อมากมายนัก
NASA ยืนยันว่าจำนวนนักบินอวกาศหญิงนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อน ซึ่งตอนนี้นักบินอวกาศหญิงใน NASA คิดเป็นร้อยละ 14.7 และสหรัฐอเมริกายังเป็นประเทศที่มีนักบินอวกาศหญิงมากที่สุด ในส่วนของนักบินอวกาศหญิงจากทั่วโลกนั้นคิดเป็นร้อยละ 31.5 นักบินอวกาศหญิงคนแรกของโลกที่ได้ขึ้นไปบนอวกาศคือ นักบินอวกาศหญิง Valentina Tereshkova ซึ่งเป็นนักบินอวกาศหญิงของโซเวียต ขึ้นไปบนอวกาศในปี 1963 นักบินอวกาศหญิงคนแรกของสหรัฐฯ คือ Sally Ride ได้ขึ้นไปปฏิบัติภารกิจในสถานีอวกาศครั้งแรกในปี 1983
ปี 2019 อาจเรียกได้ว่าเป็นปีของผู้หญิงในองค์กร NASA ก็ว่าได้ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ปี 2019 Christina Koch และ Jessica Meir ได้ร่วมกันเดินในอวกาศเพื่อปรับปรุงสถานีอวกาศ นี่ถือเป็นการเดินในอวกาศที่เป็นทีมผู้หญิงล้วนครั้งแรก โดยก่อนหน้านี้ทั้งสองคนมีกำหนดที่จะต้องเดินในอวกาศตั้งแต่เดือนมีนาคม แต่ติดปัญหาเรื่องชุดที่จะสวมใส่มีขนาดไม่พอดี ทำให้ NASA ยกเลิกภารกิจในครั้งนั้น และเลื่อนมาเป็นเดือนตุลาคมแทน หลังจากที่ภารกิจนี้ประสบความสำเร็จ NASA วางแผนจะส่งยานอวกาศไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้ง ซึ่งครั้งแรกเกิดขึ้นระหว่างปี 1969-1972 ครั้งนี้ NASA ใช้ชื่อโครงการว่า Artemis โดยจะส่งนักบินอวกาศผู้ชายและผู้หญิงคนแรกไปยังดวงจันทร์ในปี 2024
Ken Bowersox รองผู้อำนวยการองค์การ NASA ได้พูดเพิ่มเติมเกี่ยวกับภารกิจนี้ว่า NASA คาดหวังว่า ในอนาคตการเดินในอวกาศโดยใช้ทีมผู้หญิงล้วนนั้นควรจะเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันเป็น ก่อนหน้านี้เราใช้นักบินอวกาศชายเดินคู่กับนักบินอวกาศหญิงเพราะความสูงของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ทำให้ผู้ชายได้เปรียบในการทำงานในอวกาศ เพราะสามารถเอื้อมมือไปทำงานได้ง่ายกว่า แม้ว่า NASA จะเห็นว่านักบินอวกาศชายทำงานในอวกาศได้สะดวกและคล่องกว่านักบินอวกาศหญิง แต่ NASA ก็เล็งเห็นว่านักบินอวกาศหญิงสามารถทำงานอื่นๆ ในสถานีอวกาศได้เป็นอย่างดี NASA จึงไม่เคยปิดโอกาสให้นักบินอวกาศหญิงขึ้นมาทำงานบนสถานีอวกาศ
แม้ว่าอาชีพนักบินอวกาศจะดูเหมาะกับผู้ชายมากกว่า เพราะจำนวนผู้ชายที่ผ่านการคัดเลือกเข้าไปเป็นนักบินอวกาศและเจ้าหน้าที่ในส่วนต่าง ๆ แต่ NASA ก็พยายามแก้ไขปัญหานี้ด้วยการคัดเลือกผู้หญิงที่เรียนจบด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเข้ามาทำงานในหน่วยงานต่างๆ มากขึ้น
แน่นอนว่าเมื่อมีผู้ชายจำนวนมาก ทำให้ผู้หญิงหลายคนได้รับการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน รวมถึงการถูกลวนลามด้วย ในอุตสาหกรรมอวกาศมีบางบริษัทที่ผู้บริหารถูกดำเนินคดีเนื่องจากลวนลามทางเพศผู้ใต้บังคับบัญชา และบางบริษัทเมื่อรับรู้ข้อร้องเรียนต่างๆ แต่ไม่สนใจดำเนินการตรวจสอบ ทำให้การลวนลามทางเพศในที่ทำงานยังคงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ในส่วนขององค์การ NASA นั้น มีลูกจ้างที่เป็นผู้หญิงประมาณ 17,000 คน ในปีที่ผ่านมามีคนร้องเรียนเรื่องการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน 27 กรณีจาก 62 กรณีที่มีการร้องเรียน
แต่ผู้หญิงที่ทำงานในอุตสาหกรรมอวกาศมาช่วงเวลาหนึ่ง ต่างยืนยันว่าการปฏิบัติต่อผู้หญิงในที่ทำงานเริ่มดีขึ้น วัฒนธรรมในการทำงานหลายๆ อย่างเริ่มมีการปรับเปลี่ยนและให้เกียรติผู้หญิงมากขึ้น เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปแบบช้าๆ อาจจะทำให้ผู้หญิงที่เข้ามาทำงานใหม่ไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงหรือรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติในแบบที่ควรจะเป็นเหมือนกับอุตสาหกรรมอื่นๆ
การเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมอวกาศให้ความสำคัญเรื่องเพศเช่นกันคือ ในปี 2010 American Institute of Aeronautics and Astronautics (AIAA) ได้มีการพูดคุยกันถึงการใช้คำต่างๆ ในคู่มือและคำแนะนำต่างๆ โดยก่อนหน้านี้มีการใช้คำว่า “manned” เพื่อหมายถึงมนุษย์ แต่มีหลายๆ คนที่รู้สึกว่า คำว่า “manned” นี้เป็นความไม่เท่าเทียม เพราะก็มีผู้หญิงเป็นนักบินอวกาศเช่นกัน จึงไม่ควรใช้คำที่ดูเหมือนระบุเพศในคู่มือต่างๆ สุดท้ายแล้ว AIAA จึงได้เปลี่ยนจากใช้คำว่า “manned” มาเป็น “crewed” หรือ “human” แทน ในคู่มือและในสื่อต่างๆ ที่เกี่ยวกับอวกาศ
จะเห็นได้ว่า แม้อาชีพนักบินอวกาศเป็นอาชีพที่เข้าไปทำงานยาก แต่ก็มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ผ่านการคัดเลือกเข้าไป และสภาพแวดล้อมในการทำงานรวมถึงภารกิจสำคัญต่างๆ ก็เริ่มมีผู้หญิงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจมากขึ้น โดยเฉพาะในองค์การ NASA ที่เริ่มเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมากขึ้น และเล็งเห็นว่าผู้หญิงก็มีศักยภาพในการทำงานเทียบเท่ากับผู้ชาย และสามารถช่วยคิดในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี ดังนั้นในอนาคตน่าจะได้เห็นนักบินอวกาศหญิงผ่านตามสื่อต่างๆ มากขึ้น และสามารถปฏิบัติภารกิจสำคัญได้เหมือนกับผู้ชาย โดยเฉพาะภารกิจเยือนดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2024
Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/astronaut-full-1432989