Column: From Paris
ถนนชองป์เซลีเซส์ (avenue des Champs-Elysées) เป็นสัญลักษณ์ของกรุงปารีสที่ชาวฝรั่งเศสภาคภูมิใจ จุดเด่นอยู่ที่ประตูชัย (Arc de triomphe) ด้านหนึ่ง ซึ่งข้างใต้มีหลุมฝังศพของทหารนิรนาม และมีเพลิงไฟที่จุดอยู่ตลอดเวลา ณ ที่นี้เป็นสถานที่รัฐบาลฝรั่งเศสประกอบพิธีรำลึกที่เกี่ยวกับทหาร นอกจากนั้นชองป์เซลีเซส์ยังเป็นถนนที่ประธานาธิบดีทุกคนที่เมื่อได้รับมอบตำแหน่งแล้วจะนั่งรถยนต์ออกมาพบปะกับประชาชนที่มารอเฝ้าชมโฉมหน้าประธานาธิบดีคนใหม่ ประธานาธิบดีบางคนลงจากรถเพื่อไปสัมผัสมือกับประชาชน สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าแก่หน่วยรักษาความปลอดภัย
เมื่อถึงวันชาติฝรั่งเศส 14 กรกฎาคม จะมีการสวนสนามไปตามถนนชองป์เซลีเซส์ ไปจบสิ้นที่ปลาซ เดอ ลา กงกอร์ด (Place de la Concorde) อันเป็นที่ตั้งปะรำพิธี และเมื่อมีการฉลองที่เป็นความยินดีของชาวฝรั่งเศสทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นวันฉลองปีใหม่ การรวมตัวเพื่อแสดงความยินดีที่ฝรั่งเศสได้เป็นแชมป์บอลโลก หรือการแห่ถ้วยบอลโลกล้วนแต่มาที่ชองป์เซลีเซส์ทั้งสิ้น การแข่งจักรยาน Tour de France จะมาสิ้นสุดที่ชองป์เซลีเซส์ หรือแม้แต่การรวมตัวในวาระต่างๆ
ถนนชองป์เซลีเซส์ก่อสร้างในยุคสมัยของกษัตริย์หลุยส์ 14 ที่ประสงค์จะเดินทางจากพระราชวังตุยเลอรีส์ (Palais des Tuileries) ไปยังแวร์ซายส์ (Versailles) ได้สะดวก เพราะกำลังก่อสร้างปราสาทที่แวร์ซายส์อยู่ ดังนั้น กอลแบรต์ (Colbert) อัครมหาเสนาบดีจึงมอบหมายให้เลอ โนเทรอะ (Le Nôtre) ทำถนน ให้ชื่อว่า ชองป์เซลีเซส์ โดยปลูกต้นไม้สองฟากถนน ต้องใจกษัตริย์และชาวกรุงปารีส
ทว่า งบประมาณแผ่นดินทุ่มไปยังการสร้างปราสาทแวร์ซายส์ จึงไม่มีการสร้างช่วงต่อของชองป์เซลีเซส์ จนสมัยหลุยส์ 15 จึงมีการสร้างต่อไป ชองป์เซลีเซส์ยาว 1910 เมตร เชื่อมระหว่าง Place de la Concorde และ Place Charles de Gaulle ซึ่งแต่เดิมชื่อ Place de l’Etoile และมองเห็นเนินไชโยต์ (Chaillot) จึงให้ปรับเนินลงมา 5 เมตรเพื่อเสมอถนน ต่อมานโปเลอง (Napoléon) ให้สร้างประตูชัยตรง Place de l’Etoile ในศตวรรษที่ 19 พวกขุนนางและชนชั้นกลางสร้างอาคารบ้านเรือนที่ชองป์เซลีเซส์ เมื่อมีการปรับผังเมืองในสมัยนโปเลองที่ 3 (Napoléon III) บารง โอสมานน์ (Baron Haussmann) ได้ตัดถนนเพิ่มเป็น 12 สายตรง Place de l’Etoile พอถึงศตวรรษที่ 20 มีการสร้าง Grande Arche ที่ La Défense ทำให้สามารถมองจากชองป์เซลีเซส์จะเห็น Grande Arche ได้ถ้าอากาศเป็นใจ
แต่เดิมชองป์เซลีเซส์เป็นย่านหรู เต็มไปด้วยแบรนด์เนม หากเศรษฐกิจไม่ดี ประกอบกับค่าเช่าแพง จึงพากันล่าถอย ยี่ห้อระดับล่างเข้ามาแทนที่ ร้านหรูพอให้เห็นบ้างอย่าง Louis Vuitton, Cartier, Mont Blanc, Guerlain เป็นต้น ร้านอาหารก็ปรับเปลี่ยนเป็นขายอาหารเร่งด่วน ประเภทแซนด์วิช เพื่อเอาใจนักท่องเที่ยว ร้านอาหารหรูเหลืออยู่ไม่กี่แห่ง ที่หรูสุดในย่านคือ Le Fouquet’s ก็ถูกพวกเสื้อกั๊กเหลือง-gilets jaunes ทำลายจนต้องปิดตัวไป ไม่ทราบว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใดจึงจะซ่อมเสร็จ
หากนักท่องเที่ยวปลื้มชองป์เซลีเซส์ ชาวฝรั่งเศสกลับไม่ปลื้มด้วยสาเหตุดังกล่าวข้างต้น แทนที่จะเป็นย่านหรูสำหรับชาวฝรั่งเศสมาเดินเล่นพักผ่อน มานั่งดื่มชากาแฟหรือดื่มเหล้า หรือดูภาพยนตร์ ทว่าในปัจจุบันชองป์เซลีเซส์กลับคลาคล่ำด้วยนักท่องเที่ยว พวกยิปซีที่คอยรบกวน พวกวัยรุ่นชานเมืองที่เข้ากรุงมา บางครั้งก่อการวิวาทหรือประกอบอาชญากรรม สำหรับชาวฝรั่งเศส ชองป์เซลีเซส์เป็นย่านนักท่องเที่ยวเกินไป เสียงดังหนวกหู ชีวิตเครียดเกินไป อันตราย ไม่เป็นธรรมชาติ เสน่ห์ของชองป์เซลีเซส์กำลังหายไป ในอดีตชองป์เซลีเซส์เคยเป็นสถานที่ชาวฝรั่งเศสมาเดินเล่น แล้วเดินต่อไปเรื่อยจนถึงพระราชวังลูฟวร์ (Louvre) ผ่านสวนตุยเลอรีส์ (Tuileries) จนถึงประตูชัยการูสเซล (Arc de triomphe du Carrousel) และพระรูปทรงม้าของหลุยส์ 14 ในลานนโปเลอง (cour Napoléon) และหากมองไปอีกด้านหนึ่ง จะเห็นสะพาน Alexandre III, Hôtel des Invalides, Grand Palais และ Petit Palais
เมื่อผู้มีรายได้น้อยต้องการแสดงพลังต่อต้านนโยบายของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) มีการเรียกร้องให้ปิดกั้นทางหลวง และบังคับให้ผู้ขับขี่ลงนามเห็นด้วยกับพวกตน คนที่ร่วมปฏิบัติการในวันนั้นสวมเสื้อกั๊กสีเหลือง เพื่อที่ผู้ขับขี่ จะได้เห็นชัด จึงเรียกกลุ่มประท้วงนี้ว่า gilets jaunes เสื้อกั๊กเหลือง หลังจากนั้นการประท้วงค่อยๆ ขยับสู่ใจกลางเมือง ที่ปารีสมารวมตัวกันที่ชองป์เซลีเซส์ จากผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ เริ่มมีพวกผสมโรง เป็นพวกที่เรียกว่า Casseurs พวกนี้จะผสมโรงทุกครั้งที่มีการชุมนุมใหญ่ๆ ทำลายข้าวของและปล้นสะดมร้านค้า เผารถยนต์ ตามมาด้วยพวกซ้ายจัด Black blocs ที่ใช้ความรุนแรง ร้านหรูย่านถนนมงแตญ (avenue Montaigne) ซึ่งแยกออกไปจากปลายถนนชองป์เซลีเซส์ อย่าง Chanel และ Dior ต่างตกเป็นเหยื่อของการทำลายและปล้น ร้านค้าในย่านชองป์เซลีเซส์ตกเป็นเป้าของการทำลาย
นอกจากผู้มีรายได้น้อย พวก Casseurs และพวก Black blocs เชื่อว่ามีวัยรุ่นที่รักสนุกเฮฮากัน ด้วยว่าเสาร์หนึ่งไปย่านมาดแลน (Madeleine) ในสถานีรถใต้ดิน วัยรุ่นผิวดำ 20-30 คนกรูกันออกมา หลายคนถือโทรโข่ง ท่าทางคึกคัก เกือบเข้าไปถามว่าจะไปเดินขบวนกันที่ไหน ทว่ามองไปฝั่งตรงข้าม เห็นพวกเสื้อกั๊กเหลืองยืนอยู่ จึงได้ตระหนักว่าพวกนี้มาผสมโรงกับพวกเสื้อกั๊กเหลือง และวันนั้นเองที่ชองป์เซลีเซส์ถูก “ทำร้าย ” และทำลายมากที่สุด ทำให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไร้ความสามารถ รัฐบาลจึงเปลี่ยนผู้บัญชาการตำรวจ และปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกสองคนออก พร้อมกับประกาศว่าจะใช้มาตรการรุนแรงในการปราบปราม รัฐบาลให้พวกทหารหน่วย Sentinelle ร่วมปฏิบัติการด้วย
Opération Sentinelle เป็นหน่วยที่กองทัพฝรั่งเศสจัดตั้งขึ้นหลังการก่อการร้ายที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ 7-9 มกราคม 2015 เพื่อรับมือการก่อร้ายและปกป้องจุดที่อ่อนไหว ความรุนแรงที่พวกเสื้อกั๊กเหลืองก่อทำให้ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงแจ้งแก่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2019 ว่าได้ตัดสินใจใช้ทหารเพื่อเผชิญหน้ากับพวกเสื้อกั๊กเหลือง
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 1992 นายกรัฐมนตรีปิแอร์ เบเรโกวัว (Pierre Bérégovoy) ได้สั่งให้ทหารนำรถถังออกเพื่อคลี่คลายปัญหาการบล็อกถนนของพวกรถบรรทุก