Column: Women in Wonderland
การขริบอวัยวะเพศหญิง (Female Genital Mutilation หรือเรียกสั้นๆ ว่า FGM) เป็นขนบที่สืบต่อกันมาเป็นเวลานาน เกิดขึ้นในหลายประเทศในทวีป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย ยกตัวอย่างเช่น คองโก โซมาเลีย แทนซาเนีย เคนยา อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ศรีลังกา ปากีสถาน อิรัก อิหร่าน โอมาน เยเมน ปาเลสไตน์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น
จากการประเมินขององค์การสหประชาชาติเมื่อต้นปี ค.ศ. 2019 พบว่า มีผู้หญิงและเด็กประมาณ 200 ล้านคน หรือ 1 ใน 20 ของผู้หญิงและเด็กจากทั่วโลกตกเป็นเหยื่อการขริบอวัยวะเพศหญิง
องค์การอนามัยโลกแบ่งรูปแบบการขริบอวัยวะเพศออกเป็น 4 ประเภท
1. การตัดปุ่มคลิตอริส
2. การตัดปุ่มคลิตอริสและแคมเล็ก
3. การตัดทั้งแคมใหญ่และแคมเล็ก แล้วเย็บปิดอวัยวะเพศให้เหลือเพียงช่องเล็กๆ เท่านั้น
4. การขริบหรือการกระทำใดๆ ที่เป็นอันตรายหรือทำให้อวัยวะเพศเกิดความพิการ
รูปแบบที่ 1 และ 2 เป็นรูปแบบการขริบอวัยวะเพศหญิงที่พบมากที่สุด และรูปแบบที่ 3 จะพบประมาณ 10% โดยส่วนใหญ่จะพบในประเทศโซมาเลีย และตอนเหนือของประเทศซูดาน
การขริบอวัยวะเพศหญิงไม่ได้เป็นการกระทำทางการแพทย์ เนื่องจากหลังจากขริบแล้วไม่ส่งผลดีใดๆ ต่อร่างกายของผู้ที่ทำ แต่กลับส่งผลร้ายต่อ สุขภาพในระยะยาว
การขริบอวัยวะในเพศหญิงถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายในหลายๆ ประเทศ ดังนั้น ขั้นตอนการทำและกระบวนการที่ทำ หากไม่มีความสะอาดที่เพียงพอ รวมถึงทำแบบถูกวิธี ก็อาจจะทำให้ผู้หญิงหรือเด็กที่ต้องแอบทำอาจจะติดเชื้อจนเสียชีวิตได้ หรือถึงจะทำการขริบอวัยวะเพศหญิงโดยแพทย์และในสถานพยาบาล การขริบอวัยวะเพศหญิงก็ยังคงเป็นอันตรายอยู่ดี นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังได้อธิบายถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขริบอวัยวะเพศหญิงว่า ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อในไต ซีสต์ ปัญหาเรื่องการมีบุตร ความเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ การคลอดบุตร และปัญหาด้านจิตใจ เป็นต้น
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น การขริบเพศหญิงนั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ดังนั้น จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นรูปแบบที่ร้ายแรงที่สุดในการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กหญิง ผู้หญิงและเด็กหญิงที่จะตกเป็นเหยื่อของการขริบอวัยวะเพศหญิงคือ ตั้งแต่เด็กทารกจนถึงอายุ 15 ปี หรือก่อนที่เด็กผู้หญิงจะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เพราะความเชื่อว่าการขริบคือ การป้องกันไม่ให้ผู้หญิงและเด็กหญิงมีความสนใจและต้องการมีเพศสัมพันธ์ หรือในบางประเทศก็เป็นข้อบังคับทางศาสนาที่เด็กหญิงทุกคนจะต้องทำการขริบ
ปัญหาการขริบอวัยวะเพศหญิงถือเป็นปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา ดังนั้นในปี ค.ศ. 2015 ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ อีก 192 ประเทศได้ทำข้อตกลงร่วมกันในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ซึ่งทั้ง 193 ประเทศจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาทั้งหมด 17 เป้าหมาย ภายในระยะเวลา 15 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 2030 โดยในเป้าหมายที่ 5 เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ จุดมุ่งหมายที่ 5.3 คือยุติการขริบอวัยวะเพศหญิงจากทั่วทุกมุมโลก ภายในปี ค.ศ. 2030
ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ จำนวนเด็กหญิงและผู้หญิงที่ถูกขริบมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี ตอนนี้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีการคาดการณ์ว่าจะมีเด็กหญิงและผู้หญิงที่จะถูกขริบอวัยวะเพศประมาณ 513,000 คน และถ้าหากจำนวนคนที่ถูกขริบอวัยวะเพศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการคาดการณ์ว่าจะมีเด็กผู้หญิงถึง 68 ล้านคนจากทั่วโลกที่จะถูกขริบอวัยวะเพศในช่วงระยะเวลา 15 ปี (เริ่มจาก ค.ศ. 2015-ค.ศ. 2030 ตามช่วงเวลาของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน) ในปี ค.ศ. 2019 นี้ มีการคาดการณ์ว่าจะมีเด็กหญิงจากทั่วโลกที่ถูกขริบประมาณ 4.1 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 4.6 ล้านคนในปี ค .ศ. 2030 หากว่า 25 ประเทศที่ยังมีประเพณีการขริบอวัยวะเพศหญิงแบบเปิดเผยยังคงมีการขริบอวัยวะเพศหญิงต่อไป
ในประเทศอังกฤษ แน่นอนว่าการขริบอวัยวะเพศเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 แต่ยังคงมีกลุ่มคนจากประเทศต่างๆ ที่อพยพเข้าไปอยู่ในประเทศอังกฤษ และมารวมกลุ่มกันเนื่องจากย้ายมาจากประเทศเดียวกัน และยังคงมีความเชื่อเรื่องการขริบอวัยวะเพศหญิงอยู่ ทำให้มีเด็กผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษเป็นจำนวนมากที่ถูกขริบอวัยวะเพศ และแน่นอนว่าปัญหาเรื่องการขริบอวัยวะเพศส่งผลมาถึงเรื่องของการคลอดลูกที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงหมอสูตินารีที่จะผ่าตัดคลอดให้ก็ต้องมีความชำนาญมากเช่นกัน นี่ยังไม่รวมถึงปัญหาทางด้านสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นอีกด้วย
กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการทางสังคม ให้ National Health Service หรือ NHS สำรวจจำนวนเด็กหญิงที่อาศัยอยู่ในอังกฤษและถูกขริบอวัยวะเพศ โดย NHS ได้ทำการสำรวจในช่วงเดือน เมษายน ค.ศ. 2018 ถึงมีนาคม ค.ศ. 2019 พบว่ามีเด็กหญิงประมาณ 4,120 คน ที่ถูกขริบและไม่เคยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมาก่อน หมายความว่าในแต่ละปีในอังกฤษยังมีเด็กหญิงที่ย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศอังกฤษจำนวนมากที่รอดชีวิตจากการถูกขริบ และใช้ชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก
NHS จึงมีโครงการจัดตั้ง 8 สถานพยาบาลให้บริการผู้รอดชีวิตจากการถูกขริบ โดยทั้ง 8 สถานพยาบาลนี้จะเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2019 ซึ่งจะให้บริการโดยให้ผู้รอดชีวิตจากการถูกขริบมาขอคำปรึกษาและรักษาอาการต่างๆ จากหมอผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะพยาบาล นักจิตวิทยา และผู้ช่วยทำคลอด ที่ได้รับการอบรมเพิ่มเติมมาเพื่อรักษาอาการที่เกี่ยวกับการขริบ สถานพยาบาลทั้ง 8 แห่งนี้จะตั้งอยู่ในลอนดอน เบอร์มิงแฮม บริสโตล และลีดส์
ปกติแล้ว NHS จะทราบว่ามีผู้หญิงกี่คนที่ผ่านการขริบมาแล้วนั้นจากที่ผู้หญิงเหล่านี้มาฝากครรภ์ แต่จะดีกว่าหากพวกเธอเหล่านี้ได้รับการดูแลและได้รับคำแนะนำในการดูแลตัวเองก่อนตั้งครรภ์ ดังนั้น NHS จึงเชื่อว่าสถานพยาบาลนี้จะช่วยให้ผู้รอดชีวิตจากการถูกขริบสามารถพบจิตแพทย์เพื่อบำบัดความทุกข์และความเจ็บปวดต่างๆ ที่ได้รับ เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่มักถูกพ่อแม่หลอกว่าจะพากลับไปเยี่ยมญาติ แต่ในความเป็นจริงคือพากลับไปขริบอวัยวะเพศ ทำให้เด็กขาดความเชื่อใจและไว้ใจคนที่เป็นผู้ปกครอง และยังเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงที่ผ่านการขริบมีโอกาสในการพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อได้รับคำแนะนำต่างๆ ก่อนมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น
จากการศึกษาของ United Nations Population Fund หรือ UNFPA พบว่า ผู้หญิงที่ผ่านการขริบมีความเสี่ยงต่อชีวิตของแม่และลูกมากกว่าผู้หญิงที่ไม่เคยขริบ เนื่องจากผู้หญิงที่ผ่านการขริบจะสามารถคลอดลูกได้เพียงวิธีเดียวคือ การผ่าคลอด ซึ่งจำเป็นต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การผ่าตัดนี้จะใช้เวลานานกว่าปกติ และวิธีการผ่าคลอดเพื่อเอาเด็กออกอาจไม่สามารถทำได้ตามปกติทั่วไป ทำให้แม่เด็กมีโอกาสสูงในการเสียชีวิตระหว่างผ่าตัด มีโอกาสสูงในการติดเชื้อ หากการผ่าตัดคลอดประสบความสำเร็จก็จะใช้เวลาในการฟื้นตัวหลังจากผ่าคลอดนานกว่าปกติ และจะประสบปัญหาในเรื่องการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนหลังคลอดลูกมากกว่าปกติ ซึ่งองค์การอนามัยโลกและ UNFPA สามารถยืนยันได้ว่า ประเทศที่มีประเพณีการขริบอวัยวะเพศหญิงนั้น มีจำนวนผู้หญิงที่เสียชีวิตระหว่างคลอดลูกสูงเช่นกัน โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่เสียชีวิตจากการคลอดลูก 550 คนต่อการเกิดของเด็ก 100,000 คน
NHS เชื่อว่า สถานพยาบาลทั้ง 8 แห่งนี้จะสามารถช่วยผู้หญิงที่ถูกขริบอวัยวะเพศได้ทุกช่วงวัย เพื่อให้ผู้หญิงเหล่านี้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม และได้รับคำแนะนำก่อนที่ตัวเองจะตั้งครรภ์ เพื่อลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตระหว่างการคลอดลูก NHS ยังคาดการณ์ไว้ว่าจะมีผู้หญิงที่อายุมากกว่า 18 ปี ประมาณ 1,300 คนที่จะได้รับประโยชน์จากสถานพยาบาลแห่งนี้ และ NHS ก็คาดหวังไว้ว่า เมื่อสถานพยาบาลนี้สามารถช่วยเยียวยารักษาจิตใจของผู้ที่ถูกขริบได้ พวกเธอเหล่านี้จะไม่อยากให้ลูกสาวของพวกเธอในอนาคตต้องมีประสบการณ์เลวร้ายแบบเดียวกัน และน่าจะช่วยให้ประเทศอังกฤษสามารถยุติการขริบอวัยวะเพศหญิงลงได้ในปี ค.ศ. 2030 ตามที่ได้ทำข้อตกลงไว้
แม้ว่าในหลายประเทศการขริบอวัยวะเพศหญิงจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปจนถึงตลอดชีวิต และในบางประเทศจะต้องเสียค่าปรับเพิ่มอีกด้วย แต่ก็ยังมีหลายประเทศที่ไม่มีกฎหมายห้ามหรือในบางประเทศมีกฎหมายห้ามแค่บางรัฐ ทำให้กลุ่มคนที่ยึดมั่นในประเพณีและความเชื่อทางศาสนา ที่ย้ายไปอยู่ในประเทศต่างๆ ยังสามารถทำการขริบอวัยวะเพศในประเทศนั้นๆ ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ทำให้จำนวนเด็กหญิงที่ถูกขริบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
หากรัฐบาลในแต่ละประเทศไม่หาทางยุติปัญหาการขริบอวัยวะเพศหญิง และให้ความรู้ถึงผลที่จะตามมา เพื่อให้คนเปลี่ยนความคิดพอถึงปี ค.ศ. 2030 ทั้ง 193 ประเทศก็จะไม่สามารถประสบความสำเร็จในการยุติการขริบอวัยวะเพศหญิงตามที่ได้ตกลงกันไว้ในเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้
Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/tummy-5-1466807