ข่าวการประชุม UN Climate Action Summit 2019 ซึ่งจัดขึ้นโดยสหประชาชาติในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนัก หากไม่ปรากฏภาพและสุนทรพจน์ของนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมสาววัย 16 ปีนาม Greta Thunberg จากสวีเดน ที่สั่นคลอนท่าทีของเหล่าผู้นำโลก และปลุกเร้าความสนใจของผู้คนต่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้จริงจังมากขึ้น
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก่อนการกล่าวสุนทรพจน์ของ Greta Thunberg เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ในด้านหนึ่งอยู่ที่การปลุกเร้าให้เยาวชนทั่วโลกตระหนักถึงภัยร้ายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกระแสสำนึกให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัติ ผ่านการเคลื่อนไหวภายใต้ชื่อ School strike for Climate ซึ่งประกาศให้มีการชุมนุมโดยสงบเมื่อวันที่ 20 กันยายนในฐานะที่เป็น International Global Climate Strikes หรือก่อนหน้าการประชุม UN Climate Action Summit เพียง 3 วัน ควบคู่กับการปลุกสำนึก Earth Strike ที่จัดให้มีขึ้นตลอดช่วงสัปดาห์ระหว่างวันที่ 20-27 กันยายน 2019 หรือที่เรียกขานกันในนาม Global Week for Future โดยมีองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมจัดกิจกรรมนี้รวมมากกว่า 4,500 แห่งกระจายอยู่ใน 150 ประเทศ
จังหวะก้าวของ Greta Thunberg ในช่วงระยะเวลาตลอด 1 ขวบปีนับตั้งแต่การถือป้ายข้อความเรียกร้องให้รัฐบาลสวีเดนแสดงความรับผิดชอบและดำเนินมาตรการต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างจริงจังมากขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2018 กลายเป็นสัญลักษณ์และแรงบันดาลใจให้เยาวชนอีกเป็นจำนวนมากเข้าร่วม และส่งผลให้ความเป็นไปของเธอได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น ก่อนที่จะได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุม 2018 United Nations Climate Change Conference ที่ประเทศโปแลนด์ ในช่วงเดือนธันวาคม 2018
แม้ว่าผลสรุปของการประชุมดังกล่าวจะไม่ได้บรรลุเป้าหมายที่พึงประสงค์ตามที่ตั้งไว้เพราะความแตกต่างระหว่างคู่เจรจา รวมถึงท่าทีและมุมมองหลากหลายของประเทศที่มีส่วนร่วม แต่บทบาทของ Greta Thunberg ในเวทีระดับนานาชาติก็ปรากฏให้เห็นเด่นชัด ซึ่งติดตามมาด้วยจดหมายเปิดผนึกของนักวิชาการจำนวนมากที่ให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของเธอ และร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศให้ความสนใจต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกให้จริงจังมากขึ้น
เสียงเรียกร้องและพลังของเยาวชนที่ดังและแรงขึ้นจากแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหว ของ Greta Thunberg ส่งผลให้ António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติแสดงท่าทีรับรองการชุมนุม School strike for Climate และข้อเรียกร้องของเยาวชน พร้อมกับระบุว่า บุคคลในรุ่นของเขาผิดพลาดและบกพร่องในการรับมือกับความท้าทายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอย่างเหมาะสม และนั่นเป็นสิ่งที่เยาวชนส่วนใหญ่รู้สึกสัมผัส ซึ่งไม่แปลกที่เยาวชนเหล่านี้จะโกรธเคือง
การชุมนุมเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2019 ซึ่งดำเนินไปภายใต้ #FridayForFuture ได้รับการระบุว่าเป็นการชุมนุมเรียกร้องด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้น โดยกลุ่มผู้จัดกิจกรรมครั้งนี้ระบุว่า มีผู้คนเข้าร่วมกิจกรรมทั่วโลกมากถึง 4 ล้านคน เฉพาะในเยอรมนีมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากถึง 1.4 ล้านคน ขณะที่กิจกรรมในลักษณะดังกล่าวทั้งในออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร ก็มีผู้เข้าร่วมมากถึง 3 แสนคนในแต่ละประเทศ
ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การเคลื่อนไหวของเยาวชนเหล่านี้ไม่ได้ขับเคลื่อนไปท่ามกลางอารมณ์ความรู้สึกที่ไร้ฐานของข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน หากอุดมด้วยข้อมูลที่สามารถอ้างอิงและโต้แย้งชี้ให้เห็นอย่างมีรูปธรรม ผ่านเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์มากถึง 2 พันรายใน 40 ประเทศที่ให้ความเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับการขับเคลื่อนกิจกรรมเหล่านี้
สุนทรพจน์ที่ดำเนินผ่านน้ำเสียงที่สะท้อนความอัดแน่นทางความรู้สึก ที่ถูกถ่ายทอดออกมาและเผยแพร่ผ่านสื่อหลากหลายชนิดความว่า “ฉันไม่ควรอยู่ที่นี่ ฉันควรกลับไปเรียนหนังสือในโรงเรียนที่อีกฝั่งของมหาสมุทร แต่พวกคุณยังให้ความหวังกับเยาวชนอยู่ พวกคุณกล้าดียังไง! พวกคุณขโมยความฝันและช่วงเวลาวัยเด็กของฉันด้วยคำพูดกลวงๆ แต่อย่างน้อยฉันเป็นหนึ่งในคนที่โชคดี ยังมีคนอีกมากที่ต้องทรมาน พวกเขากำลังจะตาย ระบบนิเวศกำลังพังทลาย พวกเรากำลังเริ่มการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ พวกคุณเอาแต่พูดเรื่องเงินทอง เล่าเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจอันเป็นนิรันดร์ คุณกล้าดียังไง!” ดูชัดเจนและท้าทายสติปัญญาความรับผิดชอบของเหล่าผู้นำนานาชาติอย่างยิ่ง
ความชื่นชมจากผู้เข้าร่วมรับฟังสุนทรพจน์ของ Greta Thunberg ที่สะท้อนผ่านเสียงปรบมือกึกก้องในด้านหนึ่งเป็นการให้เกียรติและตอบแทนเยาวชนวัย 16 ปีผู้นี้ที่ได้จุดประกายและปลุกจิตสำนึกจากถ้อยคำเปี่ยมพลังที่ได้รังสรรค์และนำเสนอออกมาในที่ประชุม หากแต่คำถามที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นอยู่ที่ข้อเรียกร้องและเสียงสะท้อนที่เธอและเพื่อนเยาวชนได้แสดงออกนี้จะได้รับการตอบสนองจากผู้กำหนดนโยบายในแต่ละประเทศอย่างไร เพราะนอกจากท่าทีกระอักกระอ่วนใจของเหล่าผู้นำประเทศต่อสุนทรพจน์ของ Greta Thunberg แล้ว ดูเหมือนพวกเขาจะไม่ได้อนาทรร้อนใจและยังพร้อมจะย่ำเดินไปบนวิถีปฏิบัติเดิมๆ ที่คุ้นชินมากกว่า
ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนบนเวที UN Climate Action Summit ซึ่งระบุว่า “อาเซียนเน้นย้ำความเชื่อมโยงทางตรงระหว่างการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและกลไกสนับสนุน ทั้งในด้านการเสริมสร้างศักยภาพ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการสนับสนุนทางการเงิน วันนี้ถือเป็นโอกาสสำหรับประเทศพัฒนาแล้วในการดำเนินการตามคำมั่นด้านการสนับสนุนทางการเงิน และเราหวังว่า จะเห็นสัญญาณทางการเมืองที่เข้มแข็งในการเพิ่มเงินทุนสนับสนุนอย่างมั่นคง ประมาณการได้ และยั่งยืน ภายหลังปี 2020 ด้วย” ดูจะเป็นตัวอย่างหนึ่งของคำพูดกลวงๆ ที่ยึดโยงอยู่กับเรื่องเงินทอง การพัฒนาและตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ Greta Thunberg ได้กล่าวถึง
สิ่งหนึ่งที่ Greta Thunberg ในฐานะเยาวชนจากสวีเดนได้ชี้ให้ผู้คนในประเทศอื่นๆ ได้ตระหนักอาจอยู่ที่ถ้อยความที่ระบุว่า “อย่างน้อยฉันเป็นหนึ่งในเยาวชนที่โชคดี ยังมีคนอีกมากที่ต้องทรมาน พวกเขากำลังจะตาย เพราะการถูกปล้นและขโมยอนาคต” ซึ่งดูจะสอดรับกับวิถีและย่างก้าวของสังคมไทยที่กำลังดำเนินผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งในห้วงขณะปัจจุบันยังไม่สามารถให้คำตอบนิยามได้ว่าจะก่อให้เกิดรูปการณ์จิตสำนึกแบบใดให้กับสังคมในอนาคต
อาจจะจริงอย่างที่ประธานอาเซียนได้อ่านแถลงการณ์ในนามของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศบนเวที UN Climate Action Summit 2019 กล่าวแถลงการณ์นี้ในนามของประเทศสมาชิกอาเซียน ที่ระบุว่า “ต้องตระหนักว่าไม่มีประเทศใดที่จะสามารถต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เพียงลำพัง เราจะต้องก้าวไปด้วยกัน”
หากแต่สิ่งสำคัญที่ต้องมีมากกว่านั้นคือความสามารถในการคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ และการนำเสนอนโยบายที่มีผลในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ที่พร้อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อน ซึ่ง Greta Thunberg นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมวัย 16 ปีคนนี้ได้แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว