ความเป็นไปของภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ยังคงดำเนินไปอย่างไร้สัญญาณบวกที่จะส่งผลให้เกิดการกลับตัวทะยานขึ้น หลังจากที่ต้องตกอยู่ในภาวะถดถอยและทรุดตัวต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจเกือบทุกชนิดที่ใช้อ้างอิงก็บ่งชี้ไปในทิศทางที่ไม่ได้เอื้ออำนวยให้เกิดความมั่นใจในการเผชิญหน้ากับอนาคตที่กำลังจะคืบคลานเข้ามา
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในช่วงที่ผ่านมา ได้ปรับตัวลดลงอย่างหนัก โดยในเดือนสิงหาคม 2562 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามเร่งเร้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้มูลค่าของงบประมาณกว่า 3.16 แสนล้านบาท เหตุที่เป็นดังนั้นก็เนื่องเพราะผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้าและกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ประกอบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกเนื่องจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่มีความรุนแรงมากขึ้น
ประเด็นที่น่าสนใจจากตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นที่สะท้อนออกมาครั้งล่าสุดอยู่ที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมซึ่งอยู่ในระดับ 60.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมที่ระดับ 69.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 90.4 ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงในทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนกรกฎาคม ที่อยู่ในระดับ 62.2 70.9 และ 91.9 ตามลำดับ โดยดัชนีความเชื่อมั่นที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก
การปรับตัวลดลงของดัชนีในทุกรายการอย่างต่อเนื่องนี้ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 33เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 เป็นต้นมา จากระดับ 75.0 มาอยู่ที่ระดับ 73.6 ซึ่งการที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก
ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดเผยตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 92.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 93.5 ในเดือนกรกฎาคม และเป็นดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 โดยเป็นการปรับตัวลดลงในองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการปรับตัวลดลงในทุกมิติ
ความกังวลใจของผู้ประกอบการต่อกำลังการซื้อภายในประเทศที่ชะลอตัวลงเกือบทุกภูมิภาค เนื่องจากผู้บริโภคมีความระมัดระวังการใช้จ่าย ผู้ประกอบการมีภาวะการแข่งขันสูง ขณะที่เงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อภาคการส่งออก ประกอบกับปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์พายุฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งยังส่งผลทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในภาคการเกษตรหดหายไปอีก
การปรับลดประมาณการทางเศรษฐกิจของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จากเดิมที่เคยประมาณการไว้ที่ระดับร้อยละ 3.6 ให้ลดลงมาอยู่ในกรอบร้อยละ 2.7-3.2 แม้จะได้รับการระบุว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นลดลง หากแต่ภายใต้สภาพข้อเท็จจริงที่แวดล้อมทั้งภัยแล้งและอุทกภัยที่ได้ส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรและการหารายได้ของประชาชน ย่อมส่งผลให้ผู้บริโภคกังวลว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า และกระจุกตัว ยังไม่นับรวมถึงความกังวลว่าด้วยปัญหาค่าครองชีพสูง รายได้ต่ำไม่สอดคล้องกับรายจ่ายที่ดำเนินอยู่มาเนิ่นนานอีกด้วย
แม้ว่าภาคเอกชนและผู้ประกอบการบางส่วนพยายามประเมินสถานการณ์ไปในเชิงบวก ด้วยการมองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดแล้วหลังจากไตรมาส 2/62 ซึ่งขยายตัวเพียงร้อยละ 2.3 ต่ำสุดในรอบ 5 ปี โดยปัจจัยที่ทำให้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว อยู่ที่ความคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และโครงการประกันรายได้เกษตรกร ที่ภาคเอกชนและประชาชนทุกภูมิภาคคาดว่าจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยได้ หากเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจรวดเร็วมากถึง 100,000-150,000 ล้านบาทภายในปี 2562 จากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งสิ้นกว่า 300,000 ล้านบาท และเงินจากโครงการประกันรายได้ 50,000-60,000 ล้านบาท
ความคาดหวังโครงการประกันรายได้เกษตรกรถือเป็นแสงสว่างริบหรี่ที่ปลายอุโมงค์มืดดำ ที่จะเป็นตัวชี้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นหรือไม่ เพราะเม็ดเงินที่เกษตรกรจะได้รับ จะทำให้ชาวสวนยาง ปาล์มน้ำมัน และชาวนา อาจจะสามารถวางแผนการใช้จ่ายเงินได้ต่างกับช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ที่ไม่มีทั้งโครงการรับจำนำข้าวและประกันรายได้ หรือมาตรการที่ชัดเจนมากพอจากกลไกภาครัฐ และทำให้เกษตรกรเกิดปัญหาความไม่แน่นอนด้านรายได้อย่างเรื้อรังในปัจจุบัน
ประเด็นสำคัญที่ฉุดรั้งพัฒนาการและการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงเวลานับจากนี้ ยังคงผูกพันอยู่กับสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนไทย ที่มีมูลค่าสูงถึง 12.97 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 2 ปีตั้งแต่ช่วงกลางปีของปี 2560
ปัญหาว่าด้วยหนี้ครัวเรือนไทย ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหนี้อุปโภคบริโภคของลูกหนี้รายย่อย หนี้เช่าซื้อรถยนต์ และการสนับสนุนสินเชื่อในลักษณะมีเงินทอน และสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเก็งกำไร ซึ่งพบว่า หนี้บ้าน ซึ่งเป็นหนี้ระยะยาวคิดเป็นร้อยละ 33 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมดเท่านั้น ขณะที่หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้นที่ประกอบด้วยสินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต หนี้รถยนต์ ซึ่งรวมคิดเป็นร้อยละ 40-50 ของหนี้ครัวเรือนทั้งระบบ
ความเป็นไปของหนี้ระยะสั้น กลายเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งพัฒนาการทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นหนี้ที่ลูกหนี้ได้รับความกดดันสูงในภาพรวม จากการก่อหนี้ที่เป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้ และมีผลกระทบต่อการบริโภคของลูกหนี้ โดยการก่อหนี้จะสามารถกระตุ้นการบริโภคได้เฉพาะในช่วงแรกๆ เท่านั้นและจะฉุดรั้งการบริโภคในช่วงหลัง เพราะต้องนำเงินมาผ่อนจ่าย ทำให้เงินเหลือที่จะนำมาจับจ่ายใช้สอยมีน้อยลง
“หนี้ครัวเรือน” เป็นปัญหาที่สะสมมาจากหลายสาเหตุและหลายปัจจัย และได้ก่อให้เกิดความกังวลจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม กลไกภาครัฐกลับไม่ได้วางรากฐาน และกระบวนการการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในเชิงประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรมและมีบูรณาการ หากแต่กลับส่งเสริมให้คนเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบมากขึ้น เปลี่ยนหนี้นอกระบบมาเป็นในระบบ ส่งเสริมสินเชื่อบุคคล สินเชื่อรายย่อย สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ โดยรัฐบาลไม่ได้กำกับดูแลหนี้ครัวเรือนในเชิงการลดหนี้ แต่กลับเป็นการลดภาระหนี้ของประชาชนในหนี้ครัวเรือนมากกว่า
ข้อเสนอถึงรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงมิได้จำกัดอยู่เฉพาะการเน้นเพิ่มจีดีพี สร้างความรู้ความเข้าใจด้านการเงินและสร้างวินัยการเงินให้กับประชาชน หากควรให้ความสำคัญกับการกู้เงินที่จะต้องก่อให้เกิดรายได้ รวมถึงสร้างงาน สร้างอาชีพให้ประชาชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้สหกรณ์ เพื่อลดการก่อหนี้
หนี้ครัวเรือนไทย ในอีกด้านหนึ่งยังสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นว่าด้วยความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของกลุ่มประชาชนไทย ซึ่งทำให้รายได้ประชากรที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ โดยเฉพาะในภาคชนบท ดังนั้น การแก้ปัญหาหนี้ของประชากรในกลุ่มนี้คงต้องรวมไปถึงการเพิ่มรายได้ในลักษณะที่มีความยั่งยืน ทดแทนการเพิ่มรายได้แบบชั่วคราวดังที่เป็นอยู่
แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 หากแต่ข้อเสนอที่น่ารับฟังในห้วงขณะปัจจุบันอยู่ที่การพิจารณาดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะกลางและระยะยาว แทนการอัดฉีดเพื่อกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นดังที่เป็นอยู่ในช่วงเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการลงทุนบริหารจัดการน้ำเพื่อเกษตรกร การจัดโซนนิ่งพืชผลการเกษตร ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติทั้งภัยแล้งและอุทกภัย และช่วยให้ภาคเกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้นระยะยาว
เศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปี 2562 จะกลับตัวหันหัวเข้าสู่แสงสว่างที่เรืองรองตามประสงค์ไม่เฉพาะกับความคาดหวังของรัฐบาลเท่านั้น หากแต่ประชาชนคนไทยทุกคนก็คงปรารถนาไม่ต่างกัน หรือจะถอยหลังดำดิ่งสู่จุดต่ำสุดครั้งใหม่ที่ไม่สิ้นสุดนี้ไปอีกจนกว่าจะล่มสลายไปทั้งสังคม