วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > On Globalization > ความแนบแน่นระหว่างมาครงและซาร์โกซี

ความแนบแน่นระหว่างมาครงและซาร์โกซี

Column: From Paris

เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) เข้าสู่เวทีการเมืองในยุคประธานาธิบดีฟรองซัวส์ โอลลองด์ (François Hollande) ด้วยการแนะนำของฌาคส์ อัตตาลี (Jacques Attali) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของฝ่ายหลัง และเป็นผู้ค้นพบความปราดเปรื่องของฝ่ายแรกเมื่อได้ทำงานด้วยกัน โดยฟรองซัวส์ โอลลองด์แต่งตั้งให้เอ็มมานูเอล มาครงเป็นรองเลขาธิการทำเนียบเอลีเซ (Palais de l’Elysée) อันเป็นทำเนียบประธานาธิบดี และเมื่อตำแหน่งรัฐมนตรีงบประมาณว่างลง ฟรองซัวส์ โอลลองด์ไม่ยอมแต่งตั้งเอ็มมานูเอล มาครงตามความปรารถนาของเจ้าตัว จึงเป็นที่มาของการลาออก หลังจากว่างานอยู่ไม่กี่เดือน ก็ถึงคราวปรับคณะรัฐมนตรี เอ็มมานูเอล มาครงได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจ อันเป็นตำแหน่งที่ใหญ่กว่าที่เคยปรารถนา ฟรองซัวส์ โอลลองด์จึงถือเอ็มมานูเอล มาครงเป็นเด็กสร้างของตน

แต่แล้วเด็กสร้างก็ลาออกไปเพื่อเตรียมตัวลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2017 แรกทีเดียวประธานาธิบดีฟรองซัวส์ โอลลองด์ไม่เชื่อว่าเอ็มมานูเอล มาครงจะทาบรอยเท้า มิไยที่บรรดาคนสนิทจะเตือนก็ตาม และเมื่อเอ็มมานูเอล มาครงประกาศอย่างเป็นทางการจะลงสมัครรับเลือกตั้ง และมีทีท่าว่าจะได้รับการสนับสนุนมาก ประธานาธิบดีในตำแหน่งมักจะลงสมัครเป็นวาระที่สอง ทว่าคนสนิทของฟรองซัวส์ โอลลองด์แนะนำว่าไม่ควรลง เพราะความปราชัยมองเห็นชัด เมื่อคำนึงถึงคะแนนนิยมที่ตกต่ำมาก

เมื่อเอ็มมานูเอล มาครงได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ โอลลองด์ก็ยินดีด้วยอย่างจริงใจ เพราะอย่างน้อยเอ็มมานูเอล มาครงเคยเป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยม และเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลสังคมนิยม วันที่เอ็มมานูเอล มาครงรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ฟรองซัวส์ โอลลองด์ตบหลังไหล่ แสดงความสนิทสนมดุจ “พ่อ” ที่ยินดีกับ “ลูกชาย” ซึ่งเอ็มมานูเอล มาครงไม่ปลื้ม เพราะไม่ต้องการให้คนมองว่าตนเองเป็นเด็กในโอวาทของประธานาธิบดีที่กำลังลงจากตำแหน่ง และแม้เมื่อออกงานคู่กันในฐานะประธานาธิบดีคนใหม่และอดีตที่เพิ่งจากไป ฟรองซัวส์ โอลลองด์ก็ยังแสดงออกเช่นนั้น ยังความหน่ายแหนงของเอ็มมานูเอล มาครง

ตั้งแต่เอ็มมานูเอล มาครงเป็นประธานาธิบดี ไม่เคยเชิญฟรองซัวส์ โอลลองด์กลับไปทำเนียบเอลีเซ กลายเป็นว่านิโกลาส์ ซาร์โกซี (Nicolas Sarkozy) เป็นขาประจำของทำเนียบประธานาธิบดี ทั้งเชิญไปรับประทานอาหารเป็นการส่วนตัว และการเชิญมาปรึกษาหารือ หรือเชิญไปยังงานราชการหลายวาระ โดยไม่มีฟรองซัวส์ โอลลองด์ และแน่นอนความแค้นคงแน่นอก

ในหนังสือชื่อ Passion นิโกลาส์ ซาร์โกซี เขียนชื่นชมเอ็มมานูเอล มาครง และภรรยา บริจิต มาครง (Brigitte Macron) ซึ่งได้เชิญเขาและภรรยา (Carla Sarkozy) ไปรับประทานอาหารค่ำที่ทำเนียบเอลีเซหลังจากที่รับตำแหน่งไม่นาน

ยิ่งกว่านั้น นิโกลาส์ ซาร์โกซียังประทับใจที่ประธานาธิบดีส่งตำรวจมานำขบวนเคลื่อนย้ายศพของมารดาของตน เอ็มมานูเอล มาครงเชิญนิโกลาส์ ซาร์โกซีไปร่วมพิธีรำลึก 75 ปีของการยกพลขึ้นบกในโปรวองซ์ (Provence) หลายรายการด้วยกัน ในการพบกันครั้งหนึ่ง นิโกลาส์ ซาร์โกซีได้บอกกล่าวแก่เอ็มมานูเอล มาครงว่าน่าจะฟื้นฟูมาตรการการทำงานล่วงเวลาที่ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งประธานาธิบดีฟรองซัวส์ โอลลองด์ได้ยกเลิกไป หลังจากนั้นไม่นาน เอ็มมานูเอล มาครงก็กลับมาหามาตรการนี้ ช่วงปลายปี 2018 เอ็มมานูเอล มาครงได้เชิญนิโกลาส์ ซาร์โกซีไปปรึกษาเกี่ยวกับวิกฤตการณ์พวกเสื้อกั๊กเหลือง gilets jaunes นิโกลาส์ ซาร์โกซีกล่าวในที่สาธารณะหลายครั้ง ถึงความเชื่อมั่นของตนที่มีต่อเอ็มมานูเอล มาครง

ความสัมพันธ์ระหว่างเอ็มมานูเอล มาครง กับ นิโกลาส์ ซาร์โกซี เป็นที่จับตามอง เป็นความจริงใจหรือหมากการเมือง บ้างก็ว่าท่านประธานาธิบดีต้องการดึงฝ่ายขวามาเป็นพวก เพราะถึงอย่างไรนิโกลาส์ ซาร์โกซีก็ยังเป็นเสาหลักของฝ่ายขวาที่กำลังระส่ำระสายไม่เป็นขบวนตั้งแต่หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2017

ฟรองซัวส์ โอลลองด์กลับเห็นว่าประธานาธิบดีคนใหม่มักไม่ประทับใจในประธานาธิบดีที่เพิ่งออกจากตำแหน่ง ดังในกรณีของตนที่ไม่อาจทนนิโกลาส์ ซาร์โกซี แต่กลับสนิทสนมกับฌาคส์ ชีรัก เขาคงต้องรอประธานาธิบดีที่จะมารับตำแหน่งต่อจากเอ็มมานูเอล มาครง

ใส่ความเห็น