ก่อนจะถึง AEC
ระยะทางเกือบหนึ่งพันกิโลเมตรที่แม่น้ำโขงไหลผ่านพรมแดนไทย-ลาว จากสามเหลี่ยมทองคำ จ.เชียงราย สู่สามเหลี่ยมมรกต จ.อุบลราชธานี นอกจากจะทำหน้าที่ขีดกั้นเส้นแบ่งพรมแดนแล้ว ยังหล่อเลี้ยงและหล่อหลอมผสานความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรมของผู้คนทั้งสองฝั่งมาช้านาน
ในช่วงฤดูหนาว อากาศที่เย็นยะเยือกอาจจะทำให้ใครหลายคนไม่ยอมลุกขึ้นจากเตียงนอนอันอบอุ่น แต่เกษตรกรชาวไร่ยาสูบบ้านปากมาง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ที่อาศัยตลิ่งริมน้ำโขงเป็นที่เพาะปลูกมานานนับร้อยปี อาจจะใช้ชีวิตแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง
“ช่วงนี้จะได้นอนก็แค่วันละ2-3 ชั่วโมง บางวันก็ไม่ได้นอน เพราะยา (ใบยาสูบ) จะสุกเกินไป เดี๋ยวซอยไม่ทัน” ตุ้ม สาวชาวนาที่มาเป็นสะใภ้ชาวไร่ยาสูบได้ 16 ปี เล่าให้ฟังถึงวิถีประจำวันชาวไร่ยา
ฤดูการเก็บเกี่ยวใบยาสูบจะเริ่มช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่แดดลงจัด ชาวไร่ยาจะเริ่มเก็บใบยาที่แก่และโดนแดดเต็มที่ ตอนประมาณบ่ายสามโมงถึงสี่โมงเย็น ขึ้นอยู่กับจำนวนใบยา จากนั้นจะนำมาบ่มด้วยผ้ายางไว้สักสองสามวันขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ
วิถีชีวิตของชาวไร่ยาสูบขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศเป็นอย่างมาก หากแดดไม่ดี แม้ใบยาจะแก่ก็ยังไม่สามารถเก็บได้ ก่อนหน้านี้สอง-สามอาทิตย์ เกิดฝนหลงฤดู ทำให้กระบวนการเก็บใบยาของชาวไร่ที่นี่ต้องชะงักไป ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ เพราะจะทำให้ใบยาเสียหาย
กระบวนการเก็บเกี่ยวใบยาเริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อบ่มใบยาจนได้ที่แล้ว พวกเขาจะเริ่มงานเวลาประมาณ 02.00 น ต้องฝ่าความหนาวและไอหมอก มานั่งซอยใบยาที่บ่มได้ที่ ให้เป็นเส้นๆ ก่อนที่จะนำไปตากบน “แตะยา” ซึ่งเป็นไม้ไผ่สานขัดแตะ กว้างประมาณ 80 เซนติเมตร ยาวประมาณ 150 เซนติเมตร
“สมัยรุ่นของย่า เด็กๆ ก็ใช้มีดนั้นล่ะ แต่เดี๋ยวนี้ใช้เครื่องกันหมดแล้วทำให้ยาเป็นเส้นสวยและราคาดี” ย่าของตุ้มย้อนอดีตให้ฟัง พร้อมใช้นิ้วมือเรียงยาเส้นสีเขียวสด วางบนแตะยาอย่างชำนาญ กว่าภารกิจนี้จะเสร็จ เวลาอาจจะล่วงจนถึงเก้าโมงเช้า
ยาเส้นหรือยาฉุนจากเมืองท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย มีชื่อเสียงมานานนับร้อยปี ว่ากันว่ายาเส้นที่ปลูกจากที่นี่จะมีรสชาติต่างจากที่อื่นๆ คือจะฉุนมาก ตำนานกล่าวถึง “นายฮ้อยยาสูบเมืองท่าบ่อ” นายฮ้อยที่นี่จะนำใบยาสูบยาเส้นบรรทุกขึ้นเกวียนไปที่จังหวัดอุดรธานี จนถึงจังหวัดนครราชสีมาเรียกว่าเป็นสินค้าโอท็อปในสมัยนั้นก็ว่าได้ ซึ่งแตกต่างจากนายฮ้อยอีสานที่อื่นๆ ซึ่งจะค้าขายวัวควายเป็นส่วนใหญ่
“อาจจะเป็นเพราะปลูกริมน้ำโขงก็ได้ ที่นี่ดินดี ปลูกหอมกระเทียมก็หัวใหญ่มาก ทั้งๆ ที่ตอนเอามาปลูกเล็กนิดเดียว”
ในแต่ละปีแม่น้ำโขงจะเอ่อล้นตลิ่งและได้พัดพาตะกอนต่างๆ มาทับถมจนเป็นปุ๋ยชั้นดี และทำให้ต้นยาสูบที่ปลูกในบริเวณนี้จะมีปริมาณใบต่อต้นถึง 14-15 ใบ ควบคู่กับวิธีตอนยอด เพื่อไม่ให้ต้นยาสูบสูงใหญ่เกินไป แต่มุ่งทำให้ใบโตแทน ในขณะที่ชาวไร่ถิ่นอื่นอาจปลูกยาสูบได้ประมาณ 7-8 ใบต่อต้น ก็ถือว่าเต็มที่แล้ว
เมื่อเสร็จสิ้นจากการเก็บเกี่ยวยาสูบ หรือหมดฤดูการทำไร่ยาสูบแล้ว เกษตรกรที่นี่ก็จะปลูกมะเขือเทศ ข้าวโพด พริก สลับหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ ก่อนที่ฤดูน้ำหลากจะมาอีกครั้ง เรียกได้ว่าเป็นวงจรแห่งชีวิตที่ต้องพึ่งน้ำพึ่งดิน เป็นวัฏจักรที่ดำเนินอยู่ท่ามกลางพืชล้มลุก แต่คงยังไม่ถึงกับต้องคลุกคลาน
ความภาคภูมิใจที่หล่อเลี้ยงเกษตรกรชาวไร่ยาสูบที่นี่ ในด้านหนึ่งก็คือความเข้าใจที่ว่า ผลิตผลที่พวกเขาตรากตรำ ดูแลและเก็บเกี่ยวเหล่านี้จะถูกคัดปรุงเป็นยาเส้น เพื่อส่งออกเป็นสินค้าสู่ตลาดต่างประเทศ ทั้งพม่า กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในระบบการค้าแห่ง AEC กันเลย
แต่จากรายงานของศูนย์วิจัยเเละจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ให้ข้อมูลที่ต่างออกไปเมื่อระบุว่า ผู้บริโภคยาเส้นส่วนใหญ่กลับกลายเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานภายในประเทศ เนื่องจากยาเส้นมวนเองมีราคาถูก และจำหน่ายอย่างแพร่หลายตามชนบท และความเชื่อที่ว่าการสูบยาเส้นมีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ที่บรรจุอยู่ในซอง หรือที่เรียกกันว่ายาซอง
เมื่อกลางปี 2557 มีการสำรวจในสามจังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด พบว่าสมาชิกครัวเรือนร้อยละ 30 เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ โดยจำแนกเป็นผู้สูบทั้งสองชนิด (ยาเส้นและยาซอง) ร้อยละ 10.6, สูบบุหรี่ยาเส้นอย่างเดียว ร้อยละ 9.9 และสูบบุหรี่ยาซองอย่างเดียวร้อยละ 4.8
การสำรวจผู้สูบบุหรี่ยาเส้น จำนวน 969 คน สรุปได้ว่า ผู้สูบยาเส้นเกือบทั้งหมดเป็นเพศชาย มีการศึกษาในระดับประถมศึกษา คือ ร้อยละ 78.9 รองลงมาคือมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 11.1 ร้อยละ 88 มีอาชีพ ทำนา และรับจ้างทั่วไป รายได้ต่อเดือนของผู้สูบบุหรี่ยาเส้นเฉลี่ย 3,597 บาท
“เฮาบ่ดูดยา” ชัย เกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ที่ยึดเป็นอาชีพมากว่าสามสิบปีตอบอย่างรวดเร็ว เมื่อถูกถามถึงเรื่องรสชาติของยาเส้นที่เขาปลูก เขายอมรับว่าเป็นข้อเสียเปรียบที่สูบยาไม่เป็น เพราะเมื่อพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ ในแต่ละครั้งจะต้องมีการชิมยาเพื่อประเมินคุณภาพของยาเส้นแต่ละชุดด้วย ซึ่งมีผลต่อราคาสูงต่ำ เมื่อไม่รู้รสชาติยาก็มีความเป็นไปได้ที่จะถูกกดราคาบ้าง
เมื่อปีที่แล้วยาเส้นชั้นดีมีราคาถึง 300 บาทต่อกิโลกรัม สอดคล้องกับข้อมูลที่กรมสรรพสามิตแสดงรายได้การจัดเก็บภาษียาเส้นในปี 2556 เป็นจำนวนเงิน 83.96 ล้านบาท แตกต่างจากรายได้ปี 2555 ซึ่งมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพียง 20.97 ล้านบาท แต่หากเทียบสัดส่วนกับรายได้ภาษีจากบุหรี่ซิกาแลต ถือว่าต่ำมาก
ทว่า กว่าที่จะได้มาถึงยาเส้นชั้นยอด หรือตามที่ที่นี่เรียกกันว่า ยายอด นั้นต้องอาศัยทั้งดิน ทั้งปุ๋ย น้ำ ความชำนาญ และความรวดเร็ว หากเก็บใบยาไม่ทัน หมายถึงความเสียหายครั้งใหญ่ รวมไปถึงแรงงานที่ชำนาญถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
แรงงานที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นคนลาว นั่งเรือข้ามน้ำโขงมาจาก สปป.ลาว เพราะริมโขงฝั่งโน้นก็มีการปลูกยาสูบเช่นกัน “แต่ไม่เยอะเท่าฝั่งไทย” ใจ สาวลาวบอกด้วยสำเนียงภาษาไทยที่ชัดเจน ด้วยความชำนาญเฉพาะ หากแต่พื้นที่เพาะปลูกมีไม่มาก เมื่อถึงฤดูทำยาเส้น จะเป็นที่รู้กันเองว่า ต้องข้ามฝั่งมาแล้ว และจะพักอาศัยที่บ้านนายจ้างคนไทยเลย
ใจข้ามฝั่งมารับจ้างทำยาเส้นกันทั้งครอบครัวนานหลายสิบปีแล้ว
สายหมอกยามเย็นละเลียดต่ำลง กลิ่นหอมฉุนจากใบยาสูบที่ตากไว้บนแตะยา เมื่อโดนน้ำค้างก็คลุ้งไปทั่วบริเวณริมน้ำโขง “ต้องตากสักสองแดดกับอีกสองสามหมอกพอยานุ่มถึงจะเก็บได้” ตุ้มอธิบายให้ฟังถึงวิธีการตากยาเส้นพร้อมม้วนเก็บอย่างชำนาญ เพื่อนำไปบรรจุในถุงพลาสติกขนาด 20 กิโลกรัมเป็นขั้นตอนต่อไป ท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บ วันนี้โชคดีที่หมอกลงจัดจึงได้เก็บยาตอนสองทุ่ม หากวันไหนโชดร้ายหมอกลงน้อย อาจจะได้เก็บยาเส้นในเวลาเกือบสี่ทุ่ม นั่นหมายถึงเวลาพักก็จะน้อยลง เพราะต้องตื่นมาซอยยากันต่อตอนตีสอง
สายหมอกที่เป็นประโยชน์ต่อใบยาสูบในปีนี้กำลังจะจางไปแล้ว แต่ม่านหมอกแห่งชีวิตของตุ้มและชัย เกษตรกรชาวไร่ยาที่นี่ กลับเพิ่งเริ่มก่อตัวขึ้น
“ไม่รู้ว่าปีหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะต้องเช่าที่เขา ได้ข่าวว่าเจ้าของที่จะมาปลูกบ้านเพราะอยู่ใกล้ริมโขงอากาศดี จากที่ดินราคาไม่กี่แสนบาท ตอนนี้ราคาล้านกว่าบาท” ตุ้มเปรียบเทียบให้ฟังถึงความนิยมของผู้คนที่อยากเข้ามาจับจองพื้นที่ริมโขงเพื่อปลูกบ้านพักอาศัยมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้มีเพียงไร่ยาสูบและนาข้าว
ตอนนี้เริ่มมีร้านกาแฟสดหน้าตาทันสมัยปรากฏขึ้นมาบนเส้นทางหมายเลข 211 ซึ่งเป็นเส้นทางริมน้ำโขงที่ทอดยาวเชื่อมโยงจังหวัดหนองคาย ไปจนถึงอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย แหล่งท่องเที่ยวริมโขงยอดนิยม ที่ช่วงเวลาหนึ่งเคยหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของเกษตรกร หากแต่วันนี้วิถีริมโขงกำลังค่อยๆ เปลี่ยนโฉมหน้าไป
นี่อาจจะเป็นเพียงฉากละครชีวิตฉากหนึ่งในประชาคมอาเซียน ที่กำลังดำเนินหมุนเวียนไปตามกระแสธารของความเจริญ ขณะที่แม่น้ำโขงก็ทำหน้าที่ของ “แม่แห่งมหานที” หล่อเลี้ยงชีวีของผู้คนสองฟากฝั่งเฉกเช่นเดิม