วันพุธ, ธันวาคม 4, 2024
Home > Cover Story > ดิจิตอล เกตเวย์ ประตูสู่สยามสแควร์ของ “เจริญ”

ดิจิตอล เกตเวย์ ประตูสู่สยามสแควร์ของ “เจริญ”

 

ปฐมบทของโครงการ “ดิจิตอล เกตเวย์” เริ่มต้นจากการประมูลพื้นที่โครงการ Center Point เดิม ในช่วงกลางปี 2550 ซึ่งสามารถเรียกความสนใจจากสังคมได้ไม่น้อย

ไม่เพียงพื้นที่ที่ทำการประมูลจะอยู่ในทำเลที่ถือได้ว่าดีที่สุดของสยามสแควร์ เพราะติดกับบันไดทางขึ้นสถานีรถไฟฟ้าสยาม แต่ความน่าสนใจยังเกิดจากกลุ่มผู้เข้าประมูลทั้ง 6 ราย ที่ต่างก็มุ่งมั่นในการชิงกรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนเล็กเพียง 1 ไร่แปลงนี้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ

อันประกอบด้วยกลุ่มพันธุ์ทิพย์ พลาซา ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี, กลุ่มสยามพิวรรธน์ ร่วมกับเอ็มบีเค, กลุ่มธนายง, กลุ่มซีพี, กลุ่มสยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และกลุ่มพรไพลิน ผู้เช่ารายเดิม

สำหรับผู้ชนะการประมูลคือ บริษัท ทิพย์พัฒน อาร์เขต จำกัด ในเครือของบริษัท ที.ซี.ซี. แคปปิตอล แลนด์ ของเจ้าสัวเจริญที่มีจุดขายอยู่ที่ความเป็น “ดิจิตอล ซิตี้” โดยผู้บริหารจุฬาฯ มองว่าเป็นสิ่งที่เข้ากับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่และวิสัยทัศน์ของจุฬาฯ 

ว่ากันว่าการประมูลครั้งนี้ทำให้จุฬาฯ ได้รับผลตอบแทนสูงถึง 1,400 ล้านบาท ในระยะเวลา 15 ปี ขณะที่ผลตอบแทนที่ “กลุ่มเจริญ” จะได้นั้นนอกจากพื้นที่ให้เช่าในย่านทำเลที่ดีที่สุด “แบรนด์ช้าง” ยังได้อยู่ในจุดโฆษณาที่มีสนนราคาแพงที่สุดจุดหนึ่ง ในสยามสแควร์ เพราะมี “ทราฟฟิก (traffic)” เข้าออกบริเวณนี้มหาศาล

หลายคนเชื่อว่า จุฬาฯ ยังมีอีกเหตุผล (ไม่) ลับที่เลือกกลุ่ม เจ้าสัวเจริญ ก็เพราะต้องการหานายทุนหน้าใหม่เข้ามาเพิ่มในย่าน สยามสแควร์ และเป็นการสานสายสัมพันธ์ไว้สำหรับ “พื้นที่” อื่นๆ ที่อยู่ในกรุขุมทรัพย์ของจุฬาฯ  

โครงการ “ดิจิตอล เกตเวย์” เปิดดำเนินการในปี 2552 โดยใช้เงินในการลงทุนก่อสร้างกว่า 500 ล้านบาท ลักษณะเป็นอาคาร พาณิชย์ 4 ชั้น ในรูปทรงอาคารเสมือน “อุโมงค์อวกาศ” ซึ่งมีนัยของการเชื่อมต่อโลกปัจจุบันกับโลกอนาคต โดยบริเวณชั้น 3 มีทางเชื่อมรถไฟฟ้ากับตัวอาคาร