การชุมนุมประท้วงของชาวฮ่องกงที่ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นสัปดาห์ที่ 10-11 และทวีความตึงเครียดขึ้นไปเมื่อมีการบุกรุกเข้าไปยังสนามบินนานาชาติ จนเป็นเหตุให้ต้องมีการยกเลิกเที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออกในช่วงก่อนหน้านี้ โดยที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะก้าวไปสู่บทสรุปสุดท้ายอย่างไร ทำให้หลายฝ่ายเริ่มประเมินถึงผลกระทบจากกรณีดังกล่าวไปในทิศทางที่เป็นลบ และกังวลว่าอาจเป็นฟางอีกเส้นที่ส่งให้เศรษฐกิจในภูมิภาคถดถอยลงกว่าที่เป็นอยู่
เนื่องเพราะการชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อในฮ่องกงส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจนำเงินเข้าไปลงทุนในฮ่องกงของบรรดานักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนชาวฮ่องกงโดยตรง ขณะที่การชุมนุมประท้วงที่ส่งสัญญาณความรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะนำไปสู่การปิดสนามบินในช่วงกลางเดือน นับเป็นการท้าทายต่ออำนาจของทางการและรัฐบาลจีนในกรุงปักกิ่งอย่างไม่อาจเลี่ยง
การชุมนุมที่มีจุดเริ่มต้นจากการคัดค้านการที่คณะผู้ปกครองฮ่องกงเตรียมนำเสนอและผ่านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากฮ่องกงไปจีน ก่อนที่จะยกระดับไปสู่การชุมนุมที่สนามบินจนเป็นเหตุให้ต้องปิดการจราจรทางอากาศ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในฮ่องกง กลายเป็นการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สหราชอาณาจักรส่งมอบอธิปไตยของฮ่องกงคืนให้กับจีนเมื่อปี 2540
เค้าลางแห่งความไม่พึงพอใจจนนำไปสู่การชุมนุมประท้วงยืดเยื้อ ในด้านหนึ่งเป็นผลพวงมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า สถานะของฮ่องกงหลังการส่งมอบคืนจีนเมื่อปี 2540 นั้น ดำเนินไปภายใต้ข้อตกลงพิเศษระหว่างจีนและสหราชอาณาจักร ที่ทำให้แม้ฮ่องกงจะเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่ก็ยังมีสิทธิปกครองตนเอง แบบ “1 ประเทศ 2 ระบบ” โดยสิทธิพิเศษและเสรีภาพที่ฮ่องกงได้รับนี้จะสิ้นสุดลงในปี 2590 ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนไม่ต้องการรอจนถึงเวลานั้น ขณะที่ประชาชนชาวฮ่องกงจำนวนไม่น้อยก็เริ่มกังวลใจต่ออนาคตที่กำลังคืบคลานใกล้เข้ามา
ความพยายามที่จะประท้วง คัดค้าน และแสดงออกซึ่งเสรีภาพทางการเมืองของชาวฮ่องกง เป็นกรณีที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่เมื่อปี 2546 โดยชาวฮ่องกงจำนวนหลายแสนคนประสบความสำเร็จในการประท้วงและสามารถล้มร่างกฎหมายที่ห้ามวิจารณ์จีนได้สำเร็จ และต่อมาเมื่อปี 2557 ชาวฮ่องกงหลายหมื่นคนก็ปักหลักชุมนุมยืดเยื้อหลายสัปดาห์ เพื่อต่อต้านจีน ที่ใช้อิทธิพลต่อการเลือกตั้งของฮ่องกง ซึ่งประชาชนจำนวนมากใช้ร่มเป็นอุปกรณ์ป้องกันฤทธิ์ของแก๊สน้ำตา จนถูกขนานนามว่า “การเคลื่อนไหวร่ม” (Umbrella Movement)
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจและเกิดขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษหลังจากที่ฮ่องกงกลับคืนสู่อ้อมอกของจีนอยู่ที่คนหนุ่มสาวชาวฮ่องกงเริ่มตระหนักและตื่นตัวเรื่องการเมืองเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยอัตราการลงทะเบียนเลือกตั้งของคนอายุ 18-35 ปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 58 ในปี 2000 มาอยู่ที่ร้อยละ 70 ในปี 2016 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเด็นว่าด้วยอนาคตทางการเมืองของฮ่องกงเป็นกรณีที่อ่อนไหวต่อคนหนุ่มสาวชาวฮ่องกงไม่น้อยเลย
ข้อตกลงที่มอบสถานะพิเศษให้กับฮ่องกงซึ่งจะหมดอายุและสิ้นสุดลงในปี 2590 นับเป็นเงื่อนเวลาที่ไม่ไกลเลยสำหรับคนหนุ่มสาวชาวฮ่องกงในปัจจุบัน และพวกเขาจะต้องแบกหนักกับอนาคตที่ไม่แน่นอนและยังไม่มีผู้ใดล่วงรู้ว่าจะมีหน้าตาอย่างไร หากแต่รู้สึกได้อย่างไม่ยากว่ารัฐบาลกลางจากจีนแผ่นดินใหญ่กำลังเคลื่อนใกล้เข้ามาทุกขณะ และกลายเป็นภาพหลอนที่พร้อมจะถูกขับเน้นท่ามกลางความกังวลกับฉากชีวิตที่จะเกิดมีขึ้นในอนาคต
แต่การชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อ รวมถึงการปิดสนามบิน ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารมากมาย หากยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล โดยบรรษัทชั้นนำของฮ่องกง ซึ่งมีรายชื่ออยู่ในบัญชี 500 บริษัทชั้นนำระดับโลก ต่างแสดงความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งผลกระทบที่ว่านี้่จะลามไปถึงผลประกอบการ ต่อเนื่องไปยังห่วงโซ่อุปทาน และการลงทุนโดยรวม
ข้อมูลที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ สนามบินฮ่องกงรองรับผู้โดยสารมากถึง 74 ล้านคน และมีเที่ยวบินจำนวนกว่า 1,000 เที่ยวทั้งเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า ไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ 200 จุดหมายทั่วโลก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งการปิดสนามบินจะสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่านับหลายสิบล้านเหรียญ และถึงแม้จะกลับมาเปิดสนามบินฮ่องกงได้ตามปกติ แต่ความเสียหายยังส่งผลต่อเนื่องไปอีกหลายเดือนข้างหน้าจากการยกเลิกและการจองตั๋วโดยสารใหม่
ขณะเดียวกัน สิ่งที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักเศรษฐศาสตร์วิตกกังวลคือ การชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อมานานกว่า 11 สัปดาห์ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจ การค้า การลงทุนในฮ่องกงโดยตรง และทำให้เศรษฐกิจของฮ่องกงจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะสั้น ขณะที่ในระยะยาวฮ่องกงจะสูญเสียชื่อเสียงในฐานะเป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาคที่มีความน่าเชื่อถือในสายตาบรรดานักลงทุนต่างชาติไปอย่างยากจะเลี่ยงและฟื้นคืน
เหตุผลที่นักวิเคราะห์เหล่านี้วิตกว่าเศรษฐกิจของฮ่องกงจะเข้าสู่ภาวะถดถอย สอดรับกับข้อเท็จจริงที่ว่า การชุมนุมประท้วงในฮ่องกงครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐฯ และจีนกำลังทำสงครามการค้าระหว่างกัน ทำให้ยอดส่งออกสินค้าของฮ่องกงปรับตัวลดลง ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของฮ่องกงตลอดทั้งปีปรับตัวลดลง
ความกังวลเหล่านี้ได้รับการตอกย้ำด้วยตัวเลขของธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฮ่องกงปรับตัวลดลงร้อยละ 6.7 ในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และมีแนวโน้มลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่ยอดขายของบริษัทค้าปลีกในฮ่องกงปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 50-70 นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมียอดขายต่ำกว่า 300 ดอลลาร์ฮ่องกง แต่มีภาระค่าเช่าต่อเดือนที่มากถึง 2 หมื่นดอลลาร์ฮ่องกงต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงแต่ธุรกิจค้าปลีกจะย่ำแย่ลงแล้ว กระแสเงินลงทุนในตลาดหุ้นของฮ่องกงที่มีมูลค่ารวม 4.9 ล้านล้านดอลลาร์ก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ไม่ต่างจากยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงที่ปรับตัวลง
ความเสียหายต่อเศรษฐกิจในระยะยาวของฮ่องกงจากผลของการชุมนุมในครั้งนี้ อาจรุนแรงกว่าวิกฤตในปี 2546 ที่ฮ่องกงต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของ SARS และ 2551 จากวิกฤตการเงินโลก ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวกลับคืนมาได้ ขณะที่นักวิเคราะห์เตือนว่า มีโอกาสเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรง หากวิกฤตการเมืองในฮ่องกงยังคงยืดเยื้อต่อไป และในระยะยาว เมื่อบรรดาบริษัทข้ามชาติที่คิดจะเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ในฮ่องกงแล้ว พวกเขาอาจคิดที่จะย้ายสำนักงานใหญ่ไปที่อื่น ทั้งสิงคโปร์ ไต้หวัน หรือกรุงโตเกียว ซึ่งทำให้ฮ่องกงหมดมนต์ขลังไปได้ไม่ยาก
ความยืดเยื้อของสถานการณ์ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจนำเงินเข้าไปลงทุนในฮ่องกงของบรรดานักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนชาวฮ่องกงโดยตรง ซึ่งไม่ได้จำกัดจำเพาะเพียงการย้ายฐานออกไปของนักลงทุนจากต่างประเทศเท่านั้น หากแต่ชาวฮ่องกงบางส่วนเองก็ดูเหมือนจะพยายามโยกย้ายเงินออก และพยายามนำพาตัวเองออกจากฮ่องกงด้วย ซึ่งยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของฮ่องกงใกล้จะเข้าสู่ภาวะถดถอย และคาดว่าเศรษฐกิจของฮ่องกงในไตรมาส 3 จะหดตัวไปโดยปริยาย
จริงอยู่ที่ว่าการเกิดย่อมเจ็บปวด มีราคาและบทเรียนให้ได้เก็บรับมากมาย หากแต่สำหรับชาวฮ่องกงที่กำลังเรียกร้องเพื่อกำหนดอนาคตที่พวกเขาพึงมี ราคาที่ต้องจ่ายทางเศรษฐกิจอาจเล็กน้อยกว่าคุณค่าของความเป็นเสรีชน เป็นการเรียกร้องต่อสู้เพื่อการก้าวเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่การแช่แข็ง หยุดประเทศไว้กับอดีตเหมือนที่ได้เกิดขึ้นกับบางประเทศที่เคยสร้างตัวอย่างมา โดยปราศจากการทบทวนบทเรียนอีกด้วย