เปิดผลงาน 2 นักวิจัยสตรีหญิงไทย ตอบโจทย์การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2562 พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ ผ่านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการวิเคราะห์ปะการัง และวิเคราะห์เกล็ดเลือดเพื่อรักษาผู้ป่วยเกล็ดเลือดพร่อง
วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ กำลังจะกลับมาอีกครั้งในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ควบคู่ไปกับเผยแพร่ผลงานวิจัยและพัฒนาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในประเทศและนานาชาติ โดยหนึ่งในกิจกรรมสำคัญคือ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติขึ้น โดยในปีนี้จัดขึ้น ภายใต้แนวคิด “จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม” มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเน้นย้ำประเด็นการเปลี่ยนแปลงของวิกฤตโลก ซึ่งรวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพและวิทยาศาสตร์สุขภาพ
ลอรีอัลนับเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากโครงการ “ทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” โดย บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด และการสนับสนุนของสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จึงเป็นโครงการที่มุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนานักวิจัยสตรีไทยสู่ระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่องกว่า 17 ปี
ภายใต้แนวคิดหลักของสัปดาห์วิทยาศาสตร์ในปีนี้ที่มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับผลงานของนักวิจัยสตรีทั้ง 2 ท่าน ที่จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการเข้ามาช่วยพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคมได้ดียิ่งขึ้น ได้แก่ ดร. วิรัลดา ภูตะคาม จากห้องปฏิบัติการวิจัยจีโนม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และ ดร. จันทร์เจ้า ล้อทองพานิชย์ จากศูนย์ความเป็นเลิศทางงานวิจัยสเต็มเซลล์ของศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยสตรีไทยผู้พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ทั้งสองท่านได้รับทุนวิจัยจาก โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ปีที่ 16 ประจำปี 2561
ดร. วิรัลดา ภูตะคาม เจ้าของผลงานวิจัยหัวข้อ “การศึกษากระบวนการตอบสนองของปะการังต่อการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเลและการประเมิน ความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังในน่านน้ำไทยเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ ใต้ท้องทะเลอย่างยั่งยืน” กล่าวถึงงานวิจัยว่า “การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศโลกโดยเฉพาะการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเลนั้น ถือเป็นปัจจัยคุกคามที่ทำลายแนวปะการังหลายแห่งซึ่งเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญทั้งทางธรรมชาติและทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ การศึกษากระบวนการตอบสนองของปะการังต่อการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเลและการประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังในน่านน้ำไทย เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศใต้ท้องทะเลอย่างยั่งยืน จะช่วยทำนายโอกาสในการอยู่รอดของแนวปะการังไทยเมื่อสภาวะแวดล้อมเกิดการแปรปรวนในอนาคตได้ โดยล่าสุดได้ขยายการศึกษาปะการังเพิ่มเติม 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ปะการังดอกกะหล่ำ (Pocillopora) ปะการังลายดอกไม้ (Pavona) ปะการังหินสมอง (Platygyra) และ ปะการังผิวเกล็ดน้ำแข็ง (Montipora) รวมทั้งศึกษายีนของปะการังเพิ่มเติม เพื่อตรวจหายีนที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการตอบสนองของน้ำทะเล และศึกษารายละเอียดเครื่องหมายโมเลกุลที่จะสามารถนำมาช่วยทำนายลักษณะการทนร้อนของปะการังได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ด้าน ดร. จันทร์เจ้า ล้อทองพานิชย์ กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การเพิ่มอัตราการผลิตเกล็ดเลือดจากเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อประโยชน์ทางการรักษาผู้ป่วยเกล็ดเลือดพร่อง” กล่าวถึงผลงานตัวเองว่า “เกล็ดเลือดคือส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยทำให้เลือดแข็งตัวเมื่อมีบาดแผล ช่วยอุดรอยฉีกขาดของเส้นเลือด ในปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ต้องได้รับเกล็ดเลือดเพื่อการรักษาไขกระดูกรวมถึงผู้ป่วยที่สูญเสียเกล็ดเลือดจากการเสียเลือดจากการผ่าตัดและอุบัติเหตุ การวิจัยการเพิ่มอัตราการผลิตเกล็ดเลือดจากเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อประโยชน์ทางการรักษาผู้ป่วยเกล็ดเลือดพร่อง จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาสภาวะเลือดคงคลังของโรงพยาบาลรวมทั้งสภากาชาดไทยที่มีอยู่จำกัด โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของไข้เลือดออกหรือช่วงเทศกาลที่มีการเดินทางที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ”
หลังได้รับทุนวิจัยจาก โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ (For Women in Science) ปีที่ 16 ดร. จันทร์เจ้า สามารถกระตุ้นสเต็มเซลล์ที่เหนี่ยวนำมาจากเซลล์ผิวหนังให้กลายเป็นสเต็มเซลล์เม็ดเลือดได้ และกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาหาวิธีกระตุ้นให้สเต็มเซลล์เม็ดเลือดให้เจริญไปเป็นเซลล์ที่มีหน้าที่ผลิตเกล็ดเลือด (เซลล์เมกะคารีโอไซท์) และเกล็ดเลือดจำนวนมากต่อไป โดยการผลิตเกล็ดเลือดจากสเต็มเซลล์ชนิดเหนี่ยวนำนี้ ถ้าประสบความสำเร็จจะช่วยให้การผลิตเกล็ดเลือดปริมาณมากในอนาคตมีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันนักวิจัยสตรีทั้งสองท่านยังคงเดินหน้าทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป้าหมายสูงสุดในการสร้างความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศผ่านผลงานด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ให้ยั่งยืนมากที่สุด
นางอินเนส คาลไดรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวสรุปว่า “ด้วยความเชื่อของ มร.ยูชีน ชูแลร์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้งลอรีอัล ที่ว่าการค้นคว้าวิจัยจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลอรีอัลมุ่งให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์และงานวิจัยเสมอมา เรารู้สึกยินดีและภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาศักยภาพนักวิจัยสตรีหญิงในประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 17 ปี โดยลอรีอัลเชื่อว่า ผลงานวิจัยของนักวิจัยสตรีหญิงทั้ง 2 ท่าน จะสามารถต่อยอดพัฒนาประเทศ ตอกย้ำความตั้งใจของสัปดาห์วิทยาศาสตร์ที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงของวิกฤตโลก ตอบโจทย์แนวคิดหลัก จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม ได้อย่างเป็นรูปธรรม”
ดร. วิรัลดา ภูตะคาม เจ้าของผลงานวิจัยหัวข้อ “การศึกษากระบวนการตอบสนองของปะการังต่อการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเลและการประเมิน ความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังในน่านน้ำไทยเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ ใต้ท้องทะเลอย่างยั่งยืน”
ดร. วิรัลดา ภูตะคาม เจ้าของผลงานวิจัยหัวข้อ “การศึกษากระบวนการตอบสนองของปะการังต่อการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเลและการประเมิน ความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังในน่านน้ำไทยเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ ใต้ท้องทะเลอย่างยั่งยืน”
อินเนส คาลไดรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด