วันอังคาร, ธันวาคม 3, 2024
Home > Cover Story > ทางแพร่งขึ้นค่าแรง บนความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย

ทางแพร่งขึ้นค่าแรง บนความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย

ความเป็นไปของเศรษฐกิจสังคมการเมืองไทยในห้วงสัปดาห์ที่กำลังจะมาถึงนี้ ดูจะมีความน่าสนใจติดตามไม่น้อย เพราะนอกจากรัฐบาลใหม่ในนามประยุทธ์ 2 จะมีกำหนดการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ซึ่งเป็นประหนึ่งพิธีการก่อนเริ่มบริหารราชการบ้านเมืองอย่างเป็นทางการแล้ว

กรณีดังกล่าวยังเป็นเสมือนการบ่งชี้ทิศทางการพัฒนาของประเทศไทยในระยะเวลานับจากนี้ และมีสถานะเป็นสัญญาประชาคมที่ย่อมมีนัยความหมายมากกว่าคำมั่นสัญญาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยให้ไว้ก่อนหน้านี้

แม้ว่านโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภาจะมีหลากหลายด้าน ทั้งนโยบายว่าด้วยการดูแลราคาสินค้าเกษตรที่กำลังตกต่ำในทุกผลิตภัณฑ์ การแก้ปัญหาการส่งออกตกต่ำ นโยบายด้านการพลังงาน หรือแม้กระทั่งนโยบายที่เกี่ยวข้องกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ รวมถึงนโยบายที่เกี่ยวเนื่องด้วยความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม และการแก้ปัญหาเรื่องค่าครองชีพของประชาชนในระดับครัวเรือน

หากแต่นโยบายที่ดูเหมือนว่าจะได้รับความสนใจและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่ยังไม่มีการแถลงนโยบายอย่างเป็นทางการกลับอยู่ที่นโยบายว่าด้วยการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน ที่สร้างความกังวลใจให้กับผู้ประกอบการในหลากหลายอุตสาหกรรม และนำไปสู่การแสดงออกซึ่งท่าทีคัดค้านในการเร่งรัดผลักดันนโยบายดังกล่าว ในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้

ในมุมมองของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม แม้ว่านโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท จะดำเนินไปภายใต้ผลของการรณรงค์หาเสียงในช่วงก่อนการเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นๆ หากแต่ภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังตกต่ำและไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวโดยง่ายนี้ การปรับขึ้นค่าแรงในห้วงเวลาขณะนี้ย่อมต้องส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อย่างยากที่จะเลี่ยง

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ การปรับขึ้นค่าแรงที่ผ่านมาดำเนินการผ่านคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคี ขณะที่ค่าจ้างแรงงานในแต่ละพื้นที่มีอัตราไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสภาพทางเศรษฐกิจและค่าครองชีพของพื้นที่นั้นๆ อีกด้วย

ประเด็นที่ภาคเอกชนได้สะท้อนออกมาต่อกรณีการขึ้นค่าจ้างแรงงานครั้งใหม่นี้ อยู่ที่การเรียกร้องให้ภาครัฐเน้นความสำคัญของการปรับเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้แรงงานมีโอกาสได้รับรายได้มากขึ้น โดยไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้อย่างแน่นอน

เพราะผู้ประกอบการเอกชนกลุ่มนี้เชื่อว่า ภายใต้การปรับขึ้นค่าแรงตามนโยบายของรัฐบาลใหม่นี้ ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จะเป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าวมากกว่าแรงงานไทย ซึ่งจะทำให้ไทยต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียผลประโยชน์มากถึงพันล้านหรือมากถึงหมื่นล้านบาท โดยค่าแรงส่วนนี้ไม่ได้หมุนกลับมาเป็นแรงกระตุ้นระบบเศรษฐกิจภายในประเทศมากนัก ขณะที่แรงงานคนไทยส่วนใหญ่ได้รับอัตราค่าแรงในอัตราที่ดีขึ้นอยู่แล้ว ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่การมุ่งปรับทักษะฝีมือแรงงานของแรงงานไทยให้สูงขึ้นสำหรับรองรับพัฒนาการทางการผลิตในอนาคต

ความกังวลใจในกรณีการปรับขึ้นค่าแรงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการเท่านั้น หากแต่ในกลุ่มของผู้ใช้แรงงานจำนวนไม่น้อยก็ได้สะท้อนความกังวลใจต่อเรื่องดังกล่าว เพราะนอกจากจะมีความเสี่ยงต่อการที่นักลงทุนจากต่างประเทศจะย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศอื่นๆ ที่มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่า ซึ่งทำให้แรงงานจำนวนไม่น้อยอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะตกงาน ทั้งจากการเลิกจ้างเพราะการย้ายฐาน หรือเลิกจ้างเพราะจ้างต่อไม่ไหวอีกด้วย

นอกจากนี้ การขึ้นค่าแรงยังส่งผลต่อค่าครองชีพโดยรวม ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา เพราะทันทีที่ปรากฏข่าวว่าจะมีการขึ้นค่าแรง ค่าสินค้าอุปโภคบริโภคก็ปรับขึ้นไปรอก่อนแล้ว เรียกได้ว่าค่าแรงปรับขึ้นไม่ทันค่าครองชีพไปโดยปริยาย และนั่นทำให้ประเด็นว่าด้วยการปรับค่าจ้างแรงงานเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนทั้งในมิติของมาตรการและงบประมาณสนับสนุน และต้องดำเนินควบคู่ไปกับการพยุงค่าครองชีพระดับครัวเรือนเพื่อลดภาระของประชาชนไปพร้อมกัน

สิ่งที่ควรให้ความสำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การปรับขึ้นค่าแรงในด้านหนึ่งต้องดำเนินไปอย่างสอดรับกับข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งภายใต้สภาพการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะชะลอตัวซบเซา การที่จะให้เศรษฐกิจดี จึงไม่ได้อยู่ที่การไปกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ หากแต่อยู่ที่การดำเนินมาตรการของรัฐในการกระตุ้นให้เศรษฐกิจภายในประเทศดีขึ้น มีการจ้างงานที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการปรับค่าแรงให้สูงขึ้นเอง การประกาศขึ้นค่าแรงท่ามกลางสภาวะเช่นนี้ แม้จะได้เสียงตอบรับเชิงบวกว่าได้ทำตามที่หาเสียงไว้ แต่ในทางตรงข้ามกลับยิ่งซ้ำเติมให้กลไกเศรษฐกิจโดยรวมทรุดหนักกว่าเดิมได้ไม่ยาก

รัฐบาลต้องหันไปให้ความสนใจต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมและการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อให้องคาพยพต่างๆ ปรับตัวเข้าสู่กระบวนการผลิตสมัยใหม่ มากกว่าที่จะเน้นย้ำเรื่องการขึ้นค่าแรงเพื่อหวังผลด้านคะแนนนิยมระยะสั้น แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาในระยะยาวให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผู้ส่งออก หรือแม้แต่เกษตรกรที่ต้องแบกรับค่าจ้างที่สูงขึ้นขณะที่ราคาผลผลิตยังไม่ได้รับการแก้ไข ยังไม่นับรวมกำลังซื้อที่พร้อมจะหดหายไปอีกในระยะยาว

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอีกด้านหนึ่งอยู่ที่การเตรียมยื่นข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร. : สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย) เพื่อผลักดันนโยบายสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการเร่งด่วนให้เป็นรูปธรรม ทั้งการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ การเดินหน้าดำเนินโครงการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ต่อไป

การผลักดันการส่งออกในช่วงที่มีวิกฤตสงครามการค้าและผลกระทบจากปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่า โดยจะมีการผลักดันให้สกุลเงินบาทเป็นสกุลเงินหลักในการค้าขายในภูมิภาค โดยเริ่มจากกลุ่ม CLMV ก่อน นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเร่งเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าสำคัญทั้งสหรัฐฯ-สหภาพยุโรป ความตกลง CPTPP เพื่อช่วยให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน และนโยบายการผลักดันการท่องเที่ยว

แม้ว่าสิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันอยู่ที่การเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน โดยเฉพาะการยกระดับราคาสินค้าเกษตร ซึ่งเกี่ยวโยงถึงเรื่องปากท้องและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งการทำงานโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่มาจากรัฐบาลผสมหลายพรรค จะมีการบูรณาการการทำงานกันหรือไม่ ระยะเวลาไม่นานนับจากนี้ก็น่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ไม่ยาก

ความคาดหวังในระดับสาธารณะ นอกจากจะอยู่ที่การมีรัฐบาลที่มีมาตรการทางเศรษฐกิจสังคมบนพื้นฐานของยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ที่สามารถนำพาสู่รูปธรรมในทางปฏิบัติแล้ว ยังประกอบส่วนด้วยความชัดเจนและต่อเนื่องในเชิงนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้ทั้งประชาชนทั่วไปและภาคเอกชนผู้ประกอบการสามารถคาดการณ์และวางแผนในการประกอบอาชีพได้อย่างเสมอภาคในโอกาส ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่สังคมประชาธิปไตยพึงจะมีในมิติทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

ใส่ความเห็น