Column: Women in Wonderland
ช่องว่างของรายได้หรือ Gender Pay Gap เป็นปัญหาที่ผู้หญิงทำงานในทุกประเทศ ทุกวัยต้องพบเจอ เป็นการเลือกปฏิบัติที่เห็นได้ชัดเจน และไม่มีแนวโน้มว่าจะแก้ไขได้ ผู้เขียนเคยเขียนเรื่องนี้มาหลายครั้ง รวมถึงวิธีแก้ปัญหาที่แต่ละประเทศพยายามนำมาใช้เพื่อลดช่องว่างของรายได้ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากประเทศไอซ์แลนด์ที่ผู้เขียนเคยเล่าไปเมื่อไม่นานนี้
เมื่อไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ช่องว่างระหว่างรายได้จึงกลายเป็นเรื่องที่ผู้หญิงรุ่นใหม่ หรือคนที่เพิ่งเรียนจบไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหา แต่มองว่ามันคือเรื่องปกติ เมื่อเริ่มทำงานจะได้รับเงินเดือนน้อยกว่าเพื่อนผู้ชายที่เริ่มทำงานพร้อมกัน ทำงานในลักษณะเดียวกัน และรับผิดชอบงานเหมือนกันในบริษัทเดียวกัน
หลายประเทศรู้ว่าปัญหาการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานเป็นปัญหาที่มีมายาวนาน แต่ก็ยังไม่มีการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ดังนั้น ในบทความนี้จะพูดถึงเหตุผลหลักๆ ที่อยู่เบื้องหลังของปัญหานี้ว่า ทำไมปัญหาการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานและความเท่าเทียมกันทางเพศในที่ทำงานจึงไม่สามารถทำได้
อย่างที่ทราบกันดีว่า เมื่อผู้หญิงที่เรียนจบระดับปริญญาตรีและทำงานในบริษัทต่างๆ นั้นมีน้อย ผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีวุฒิการศึกษาน้อยกว่าผู้ชาย จึงไม่แปลกหากจะมีจำนวนผู้ชายในที่ทำงานมากกว่าและได้รับเงินเดือนมากกว่า
นอกจากนี้ ในอดีตผู้หญิงส่วนใหญ่มักจะทำงานไม่นาน เมื่อแต่งงานก็จะลาออกไปอยู่บ้านดูแลลูกและสามี ทำให้บริษัทต่างๆ มองไม่เห็นความสำคัญในการจ้างงานผู้หญิงด้วยค่าจ้างที่สูง เพราะสุดท้ายผู้หญิงก็จะลาออก ดังนั้น แทนที่จะจ้างงานผู้หญิงก็จ้างงานผู้ชาย รวมถึงนำเงินค่าจ้างสูงๆ ไปจ่ายให้ผู้ชาย เพื่อให้ผู้ชายอยู่ทำงานที่บริษัทนานๆ ดีกว่าการจ่ายเงินจ้างผู้หญิงที่มีแนวโน้มจะลาออกสูง
แต่ในปัจจุบันเหตุการณ์ที่กล่าวมาแทบจะไม่เกิดขึ้นแล้ว ผู้หญิงส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า Pew Research Global ได้เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ในสหรัฐอเมริกามีผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไปจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี 29.5 ล้านคน ในขณะที่มีผู้ชาย 29.3 ล้านคนที่จบปริญญาตรี ซึ่งหมายความว่า สหรัฐอเมริกาควรจะเป็นประเทศแรกที่มีความเท่าเทียมกันทางเพศ เมื่อผู้หญิงสามารถเรียนจบในระดับอุดมศึกษามากกว่าผู้ชาย และผู้หญิงที่เรียนจบเหล่านี้ก็สามารถหางานทำได้
แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ถึงแม้จำนวนผู้หญิงที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามากกว่าผู้ชาย และพวกเธอมีงานทำ แต่เมื่อเริ่มทำงานก็ยังเจอปัญหาเลือกปฏิบัติ การได้รับเงินเดือนไม่เท่ากัน และการเลื่อนตำแหน่งไปทำงานในระดับผู้บริหาร เป็นต้น
จากรายงานล่าสุดของ World Economic Forum (WEF) พบว่า มีผู้หญิงเพียง 9% เท่านั้นที่ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูง และยังคงมีงานในหลายๆ ภาคส่วนที่ส่วนใหญ่ถูกมองว่าเป็นงานของผู้ชายและรับผู้หญิงเข้าไปทำงานไม่มาก รวมถึงผู้หญิงที่ได้เข้าไปทำงานได้รับเงินเดือนน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างเช่น งานที่เกี่ยวกับการเงิน เทคโนโลยี สื่อ และวงการบันเทิง เป็นต้น งานในภาคส่วนเหล่านี้ มีผู้หญิงที่ได้เข้าไปทำงานประมาณ 30%
แน่นอนว่างานในภาคส่วนไหนที่มีผู้หญิงทำงานน้อย ผู้หญิงจะเจอปัญหาในที่ทำงานมากกว่าผู้หญิงที่ทำงานในสายงานอื่น โดยเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ควรได้รับ เพราะผู้บริหารที่เป็นผู้ชายไม่ให้ความสำคัญและมองไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ
ยกตัวอย่างเช่น กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร Harriet Harman ของสหราชอาณาจักร เล่าว่า เธอได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 1982 ซึ่งขณะนั้นมีผู้หญิงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง 19 คน จาก 650 คน (ประมาณ 3%) และจากตอนนั้นจนถึงปัจจุบันสหราชอาณาจักรเพิ่งมีกฎหมายอนุญาตให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้หญิงสามารถลาคลอดได้ และแม้ว่าในปัจจุบันทุกบริษัทจะอนุญาตให้ผู้หญิงลาคลอดได้ แต่ผู้หญิงก็ยังรู้สึกได้ว่า พวกเธอจะเสียผลประโยชน์บางอย่างจากการลาคลอด
นี่เป็นเพียงปัญหาหนึ่งของการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในที่ทำงานที่ผู้หญิงส่วนใหญ่พบเจอหากต้องไปทำงานในสายงานที่ส่วนใหญ่มีแต่ผู้ชาย
หากมองกลับมาที่ช่องว่างระหว่างรายได้ ปัญหานี้ก็เป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้หญิงที่ทำงานในสายงานที่ส่วนใหญ่มีแต่ผู้ชายเช่นกัน อย่างกรณี Karen Martin บรรณาธิการของสำนักข่าว BBC ที่ได้รับข้อเสนอให้เป็นผู้ประกาศข่าว แต่ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจปฏิเสธข้อเสนองาน หลังจากรู้ว่ามีผู้ชายอีกคนที่ได้รับข้อเสนอแต่ได้รับข้อเสนอเงินเดือนมากกว่า ทั้งๆ ที่หน้าที่และความรับผิดชอบเหมือนกัน แต่เธอกลับได้ข้อเสนอเงินเดือนน้อยกว่าถึงปีละ 12,000 ปอนด์ (ประมาณ 460,000 บาท) ซึ่งเรื่องนี้ถูกเปิดเผยที่งาน 71st World News Media Congress 2019 / 3rd Women in News Summit / 26th World Editors Forum ที่เมือง Glasgow สหราชอาณาจักร หลังจากเรื่องนี้ได้รับการเปิดเผย Karen Martin ได้รับข้อความสนับสนุนและให้กำลังใจเธอเป็นจำนวนมาก
Karen Martin ได้พูดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินเดือนที่จะได้รับ แต่อยู่ที่ความเท่าเทียมในการจ่ายเงินเดือน ถ้าหากเรื่องช่องว่างระหว่างได้ยังไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง ความแตกต่างของรายได้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
Carin Anderson ซึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับปัญหาเรื่องเพศในที่ทำงานมามากกว่า 10 ปี ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ความแตกต่างของรายได้ในวงการสื่อนั้นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งการจ่ายเงินเดือนให้ผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเหมือนเป็นวัฒนธรรมที่ปฏิบัติกันมานานในวงการสื่อ การจะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ต้องใช้เวลา ทุกวันนี้ในวงการสื่อก็มีการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นแบบช้าๆ ค่อยๆ เปลี่ยน
ปี 2014 Carin Anderson เคยทำงานอยู่ในส่วนของข่าวกีฬาของ MittMedia ประเทศสวีเดน โดยตอนนั้นเธอพยายามที่จะทำให้ที่ทำงานของเธอมีความสมดุลในเรื่องเพศ (Gender Balance in the workplace) เพราะตอนนั้นในส่วนของข่าวกีฬา มีนักเขียนทั้งหมด 54 คน และทั้ง 54 คนนี้ก็เป็นผู้ชายล้วน ดังนั้น Carin Anderson จึงเสนอให้มีการรับนักเขียนผู้หญิงเพื่อให้คนอ่านรับรู้ได้ถึงมุมมองที่หลากหลายและแตกต่าง
2 ปีครึ่งผ่านไป ในส่วนของข่าวกีฬา มีผู้หญิงทำงานในฝ่ายนี้ทั้งหมด 17 คน โดยที่ส่วนใหญ่ทำงานได้แค่ครึ่งปีก็ลาออก สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้พวกเธอลาออก คือการถูกลวนลามทางเพศในที่ทำงาน Carin Anderson ได้สัมภาษณ์พนักงานหญิงของ MittMedia ที่ตัดสินใจลาออก และพบว่าการที่รัฐบาลจะส่งเสริมเรื่องความสมดุลทางเพศในที่ทำงานนั้นไม่ใช่เพียงแค่เพิ่มจำนวนผู้หญิงในที่ทำงาน แต่ยังต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมในการทำงานด้วย
Carin Anderson อธิบายคำว่าความสมดุลทางเพศในที่ทำงาน คือ การรู้จักเคารพบุคคลอื่น การให้โอกาสและสิทธิต่างๆ ที่เท่าเทียม วิธีที่จะทำให้คนที่ทำงานเข้าใจเรื่องความสมดุลทางเพศคือ ฝึกอบรมหัวหน้างานและผู้บริหารให้เข้าใจและมองเห็นความสำคัญเรื่องนี้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการเคารพสิทธิของผู้อื่น
Carin Anderson จึงสรุปว่า ความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงานเป็นเรื่องสำคัญ การที่จะมีความเท่าเทียมกันได้ ไม่ใช่เพียงแค่เพิ่มจำนวนผู้หญิงในที่ทำงาน แต่จำเป็นที่จะต้องให้คนที่ทำงานรู้จักเคารพสิทธิของคนอื่น โดยเฉพาะงานที่คนทำงานส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย
การรู้จักเคารพสิทธิของคนอื่นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และควรจะเป็นเรื่องที่ถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก เพราะมันจะกลายเป็นความเชื่อและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสังคม ดังนั้น หากไม่สามารถเปลี่ยนวัฒนธรรมความคิดการเคารพสิทธิของผู้อื่น การให้สิทธิต่างๆ ที่เท่าเทียมกัน และการจ่ายเงินเดือนที่เท่าเทียมกัน ในที่ทำงานก็จะไม่เกิดขึ้นเลย เพราะถึงแม้จะมีจำนวนผู้หญิงในที่ทำงานเพิ่มขึ้น แต่ถ้าหากได้รับการเลือกปฏิบัติ ผู้หญิงก็จะไม่สามารถทำงานที่นั่นได้และเลือกที่จะลาออกในที่สุด และก็จะวนกลับสู่วงจรเดิมคือ มีผู้ชายมากกว่าผู้หญิงในที่ทำงาน หัวหน้าให้ความสำคัญกับผู้ชายมากกว่า และผู้ชายได้เงินเดือนมากกว่า
Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/hands-family-1263185