Column: Women in wonderland
ปัญหาช่องว่างระหว่างรายได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ รวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้ว คำว่า ช่องว่างระหว่างรายได้ของผู้หญิงผู้ชาย หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Gender Pay Gap” นั้นหมายถึง การที่ผู้หญิงผู้ชายเข้าทำงานในเวลาพร้อมกัน มีคุณสมบัติเหมือนกัน รับผิดชอบหน้าที่เหมือนกัน แต่กลับได้รับรายได้ไม่เท่ากันเพียงเพราะ “เพศ” แตกต่างกัน
ปัญหาที่ดูเหมือนจะได้รับการแก้ไขและได้รับความสนใจจากรัฐบาลประเทศต่างๆ มีการผ่านกฎหมาย Equal Pay Act ในหลายๆ ประเทศ เช่น อเมริกา อังกฤษ และสหภาพยุโรป เป็นต้น และยังมีการกำหนดวัน Equal Pay Day ซึ่งจะมีประชาชนและนักเรียกร้องสิทธิออกมาเดินบนถนนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสนใจ ซึ่งวัน Equal Pay Day นี้ในแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน อย่างที่เยอรมนี เป็นวันที่ 18 มีนาคม ขณะที่อังกฤษคือวันที่ 10 พฤศจิกายน อย่างในปีนี้ เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา ในเมืองเบอร์ลินประกาศลดค่าโดยสารรถไฟ รถเมล์ และรถแทรมลง 21% ให้ผู้หญิงทุกคน สาเหตุก็เพราะช่องว่างระหว่างรายได้ของเยอรมนีอยู่ที่ 21% ซึ่งมีช่องว่างระหว่างรายได้มากที่สุดในสหภาพยุโรป ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของช่องว่างของรายได้ของประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 16%
องค์การขนส่งมวลชนของของเมืองเบอร์ลินอธิบายเพิ่มเติมว่า การที่ค่าโดยสารลดลง 21% นั้น เทียบเท่ากับการทำงานของผู้หญิง 77 วันต่อปี และถ้าผู้หญิงต้องการมีรายได้ที่เท่ากับผู้ชาย นั่นเท่ากับว่าผู้หญิงจะต้องทำงานมากกว่าผู้ชายประมาณ 442 วัน เพื่อให้มีเงินเดือนที่เท่ากัน และการที่องค์การขนส่งมวลชนทำแบบนี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า องค์การขนส่งมวลชนสนับสนุนให้รัฐบาลหาทางแก้ไขปัญหาช่องว่างระหว่างรายได้อย่างจริงจัง
ถึงแม้ว่ารัฐบาลในหลายๆ ประเทศจะผ่าน Equal Pay Act เพื่อเป็นการแก้ปัญหาให้ผู้หญิงและผู้ชายได้รับเงินเดือนที่เท่ากัน แต่กฎหมายนี้ก็ไม่สามารถช่วยลดช่องว่างระหว่างรายได้ลง กฎหมายเหล่านี้จะรับประกันว่า ผู้หญิงและผู้ชายที่ทำงานเหมือนกันในที่ทำงานเดียวกันจะได้รับเงินเดือนเท่ากัน แต่ในความเป็นจริง ผู้หญิงที่ทำงานเนื้องานเดียวกันกับผู้ชายก็ยังคงได้รายได้น้อยกว่าอยู่ดี เห็นได้ชัดเจนจากการที่ช่องว่างรายได้นั้นเพิ่มมากขึ้นทุกปี
หรือในบางประเทศไม่มีกฎหมายชัดเจนว่าให้ผู้ชายและผู้หญิงได้รับเงินเดือนที่เท่ากันเมื่อทำงานในรูปแบบเดียวกัน มีเพียงแค่ผู้นำประเทศประกาศว่าจะสนับสนุนการจ่ายเงินเดือนให้เท่ากันอย่างประเทศจีน แน่นอนว่าเมื่อไม่มีกฎหมายบังคับหลายบริษัทก็ยังหลบเลี่ยงได้ ทำให้ช่องว่างระหว่างรายได้ของประเทศจีนเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่แล้วถึง 8.7%
ในประเทศจีน ผู้หญิงจะได้รับเงินเดือนประมาณ 78.2% ของเงินเดือนผู้ชาย ถึงแม้ว่าในช่วง 2–3 ปีหลังๆ มานี้ จะมีผู้หญิงหลายคนได้ขึ้นเป็นผู้บริหารของบริษัท แต่เงินเดือนของผู้หญิงที่เป็นผู้บริหารเหล่านี้ก็ยังน้อยกว่าเงินเดือนผู้ชายที่ทำงานเป็นผู้บริหารเหมือนกัน
นอกจากนี้ ปัญหาช่องว่างระหว่างรายได้ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ส่งผลให้นักศึกษาหญิงที่เพิ่งเรียนจบรับรู้ว่าจะได้รับเงินเดือนเริ่มต้นน้อยกว่าผู้ชาย จากการเก็บข้อมูลของ Trade Union Congress หรือ TUC กับ Bright Network องค์กรจัดหางานของประเทศอังกฤษ พบว่า จากการสำรวจนักศึกษามหาลัยทั้งหมด 5,058 คน นักศึกษาหญิงที่เรียนจบมหาวิทยาลัยคาดหวังว่าจะได้รับเงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 25,900 ปอนด์ต่อปี ในขณะที่นักศึกษาชายคาดหวังว่าจะได้รับเงินเดือนเริ่มต้นที่ประมาณ 29,700 ปอนด์ต่อปี
แน่นอนว่าเมื่อความคาดหวังเกี่ยวกับเงินเดือนเริ่มต้นไม่เท่ากัน ย่อมส่งผลถึงเงินเดือนในอนาคตเมื่อทำงานไประยะหนึ่ง จากการสำรวจพบว่า หลังจากที่ทำงานไป 5 ปี และมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานจนได้เลื่อนเป็นหัวหน้างาน นักศึกษาหญิงคาดหวังว่าจะได้รับเงินเดือนอยู่ที่ประมาณ 42,400 ปอนด์ต่อปี ในขณะที่ผู้ชายคาดหวังว่าจะได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 54,200 ปอนด์ต่อปี
การที่นักศึกษาจบใหม่ทราบปัญหาช่องว่างระหว่างรายได้ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ และเริ่มที่จะยอมรับเงินเดือนเริ่มต้นทำงานไม่เท่ากันจะส่งผลถึงอนาคต เพราะจะทำให้ช่องว่างรายได้เพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อผู้หญิงเริ่มยอมรับได้ว่าจะได้รับเงินเดือนน้อยกว่าผู้ชาย และบริษัทก็อาจจะเล็งเห็นเรื่องนี้และลดรายได้ของผู้ที่จบใหม่ที่เป็นผู้หญิงลงอีก และนำเงินส่วนต่างไปให้ผู้ชาย เพื่อให้ผู้ชายยังต้องการทำงานที่บริษัทนี้ไปอีก จนที่สุดช่องว่างระหว่างรายได้ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันอังกฤษมีช่องว่างรายได้ของผู้หญิงและผู้ชายอยู่ที่ประมาณ 17.9%
เมื่อวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้นำรับปากว่าจะแก้ไข การเรียกร้องให้รัฐบาลสนใจ รวมถึงการออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้หลายประเทศเริ่มมองหาวิธีการแก้ไขในรูปแบบอื่น
เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562 ประเทศไอซ์แลนด์ได้ประกาศบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่ว่า บริษัทที่มีพนักงานตั้งแต่ 25 คนขึ้นไปจะต้องจ่ายเงินพนักงานผู้ชายและผู้หญิงเท่ากัน ถ้าหากบริษัทใดจ่ายเงินให้ผู้ชายมากกว่าถือว่าทำผิดกฎหมาย โดยทุกบริษัทจะต้องยื่นเงินเดือนของพนักงานให้กับรัฐ เพื่อให้รัฐออกใบรับรองว่ามีการจ่ายเงินเดือนที่เท่าเทียมกัน และหากบริษัทใดไม่สามารถทำได้จะต้องชำระค่าปรับ ซึ่งกฎหมายนี้บังคับใช้ทั้งภาครัฐและเอกชน
หลังจากที่ไอซ์แลนด์ประกาศใช้กฎหมายนี้ หลายประเทศสนับสนุนและยกย่องไอซ์แลนด์ เพราะเชื่อมั่นว่ากฎหมายฉบับนี้น่าจะช่วยยุติช่องว่างระหว่างรายได้ลงได้
ไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความเท่าเทียมทางเพศมากที่สุดในโลกมาเป็นเวลา 9 ปีแล้ว World Economic Forum ได้จัดให้ไอซ์แลนด์ได้รับอันดับที่ 1 โดยเป็นประเทศที่มีความเท่าเทียมกันทางเพศมากที่สุดในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การเมือง และการทำงาน ไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่มีนายกรัฐมนตรีหญิง Katrín Jakobsdóttir เป็นผู้นำรัฐบาล และประเทศที่มีสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้หญิงสูงที่สุดในโลกถึง 38% ไอซ์แลนด์ให้ความสำคัญในการกำจัดความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ และตั้งเป้าหมายที่จะยุติช่องว่างระหว่างรายได้ลงภายในปี 2022
นักวิชาการและนักเรียกร้องสิทธิด้านความเท่าเทียมกันทางเพศหวังเป็นอย่างมากว่า หลายประเทศจะเริ่มออกกฎหมายและทำตามไอซ์แลนด์ เพื่อยุติปัญหาช่องว่างระหว่างรายได้ลง World Economic Forum 2018 ซึ่งได้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเมื่อเดือนธันวาคม 2018 ได้กล่าวว่า ช่องว่างระหว่างรายได้ของผู้ชายและผู้หญิงทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 58% และได้คาดเดาว่า ผู้หญิงจะต้องรอไปอีก 217 ปี ถึงจะได้รับรายได้ที่เท่าเทียมกับผู้ชาย ดังนั้นถ้าหลายประเทศเริ่มใช้กฎหมายเดียวกับไอซ์แลนด์ ผู้หญิงก็ไม่น่าจะต้องรอถึง 217 ปี
หลังจากที่ไอซ์แลนด์ประกาศใช้กฎหมายนี้ วุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกา นาย Bernie Sanders ได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ทำตาม เพื่อยุติปัญหาช่องว่างระหว่างรายได้ในสหรัฐอเมริกา แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ให้ความเห็นใดๆ กับเรื่องนี้
นอกจากไอซ์แลนด์แล้ว สหภาพยุโรปเองก็พยายามหาทางแก้ไข โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอแผนการปิดช่องว่างทางเพศภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างรายได้ก็เป็นหนึ่งในนั้น คณะกรรมาธิการยุโรปมีการตกลงกันว่า บริษัทใดที่ไม่มีการแก้ไขปัญหาช่องว่างระหว่างรายได้จะถูกลงโทษ ซึ่งโทษสูงสุดรวมไปถึงการคว่ำบาตรบริษัทนั้น และในขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการก็จะติดตามนโยบายต่างๆ ของบริษัทชั้นนำว่าให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหานี้แบบจริงจังหรือไม่
ถ้าหากแผนการของคณะกรรมาธิการยุโรปสำเร็จจะทำให้ความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นในประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้หญิงในยุโรปส่วนใหญ่ดีขึ้น และดีกว่าผู้หญิงในอีกหลายประเทศเลยทีเดียว
หากรัฐบาลของทุกประเทศใส่ใจการแก้ไขปัญหาความเท่าเทียมทางเพศอย่างจริงจังเหมือนไอซ์แลนด์ ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้หญิงไม่ต้องรอถึง 217 ปี ถึงจะได้รับเงินเดือนเท่ากับผู้ชายที่ทำงานแบบเดียวกัน
Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/many-euros-texture-1632762