วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Life > โรคสมองเสื่อมทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้น …อย่างไร?

โรคสมองเสื่อมทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้น …อย่างไร?

Column: well-being

ไม่มีใครปฏิเสธว่า ภาวะสมองเสื่อมเป็นโรคที่แสนโหด แต่รายงานใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขว่า ในระยะไม่ถึงสองทศวรรษ การเสียชีวิตจากโรคสมองเสื่อมในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงกว่า 2 เท่า

ศูนย์สถิติสุขภาพแห่งชาติระบุรายละเอียดว่า ปี 2000 โรคสมองเสื่อมเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 30.5 คนต่อแสนประชากร และพุ่งพรวดขึ้นเป็น 66.7 คนต่อแสนประชากรในปี 2017 โดยโรคอัลไซเมอร์เป็นภาวะสมองเสื่อมชนิดที่พบได้มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 46 ของการเสียชีวิตด้วยโรคสมองเสื่อมปี 2017

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ระบุว่า ภาวะสมองเสื่อมเป็นคำที่ใช้อธิบายกลุ่มของเงื่อนไขที่ส่งผลกระทบต่อความคิด ความทรงจำ และพฤติกรรมได้มากพอที่จะรบกวนชีวิตประจำวันของคนคนหนึ่ง สถาบันชราศาสตร์แห่งชาติระบุเงื่อนไขดังกล่าวรวมถึงโรคอัลไซเมอร์ โรคสมองเสื่อมจากลิววี่ บอดี้ โรคสมองส่วนหน้าเสื่อม และโรคสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือด

ทำไมจึงมีผู้เสียชีวิตจากโรคสมองเสื่อมมากขึ้น
ความเห็นของ นพ.เดวิด เอ. เมอร์ริลล์ นักประสาทวิทยาและจิตแพทย์ผู้สูงอายุแห่งศูนย์สุขภาพประจำโพรวิเดนซ์ เซนต์ จอห์น เมืองซานตา โมนิก้า รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่กล่าวว่า เป็นเพราะหลายปัจจัยร่วมกัน “มันเป็นสึนามิสีเงิน” เขาอธิบาย “คนมีอายุยืนยาวขึ้นและก้าวเข้าสู่วัยชรา และเราก็รู้ว่าอายุเป็นปัจจัยเสี่ยงเดียวที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ที่สำคัญที่สุดของโรคสมองเสื่อม”

นอกจากนี้ เขาเพิ่มเติมว่า “ชุมชนการแพทย์และคนทั่วไปยังตระหนักถึงโรคนี้มากขึ้นด้วย แม้วิธีวินิจฉัยโรคสมองเสื่อมจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ตาม” ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของตัวเลขผู้เสียชีวิตนั่นเอง

โรคสมองเสื่อมคร่าชีวิตคุณได้อย่างไร
สถาบันชราศาสตร์แห่งชาติอธิบายว่า เมื่อโรคสมองเสื่อมมีพัฒนาการมากขึ้น เนื้อเยื่อสมองของคนไข้จะหดตัวลง และพวกเขาไม่สามารถดูแลตนเอง หรือแม้แต่สื่อสารได้ เมื่อผ่านไปนานเข้า สามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ถึงแก่ชีวิตได้

โรคติดเชื้อ
นพ.เมอร์ริลล์อธิบายต่อไปว่า คนไข้โรคสมองเสื่อมจำนวนมากมีปัญหาการกิน โดยเฉพาะการกลืนอาหาร เมื่อคนคนหนึ่งไม่สามารถกลืนได้อย่างถูกวิธี ไม่ว่าอาหารหรือเครื่องดื่มย่อมสามารถหลุดลงไปในปอดได้ ทำให้เป็นสาเหตุของโรคปอดบวม เมื่อไม่มีการรักษาเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้ปอดบวม เชื้อสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย และมีศักยภาพนำไปสู่ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันขั้นรุนแรงที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ เหนือสิ่งอื่นใด คนไข้อาจมีภาวะขาดน้ำหรือทุพโภชนาการ อันสืบเนื่องจากไม่สามารถกลืนอาหารได้

ความเจ็บป่วยที่ไม่ตรวจพบในทันที
นพ.เมอร์ริลล์ให้ข้อมูลต่อไปว่า ความเจ็บป่วยรุนแรงอื่น ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ สามารถนำไปสู่การเสียชีวิตในคนไข้โรคสมองเสื่อมได้ ถ้าโรคพัฒนาจนรุนแรงมากพอ “คนไข้โรคสมองเสื่อมขั้นรุนแรงจะไม่สามารถแสดงออกด้วยภาษาพูดเพื่อบอกข้อเท็จจริงว่า พวกเขารู้สึกกำลังป่วย จึงทำให้ตรวจพบความเจ็บป่วยล่าช้า เมื่อวินิจฉัยอาการป่วยได้ในที่สุด โรคอาจพัฒนาตัวเองไปไกล และกระจายไปทั่วร่างกายถึงขนาด ถ้าคนไข้ไม่ได้เป็นโรคสมองเสื่อมก็จะมีอาการป่วยไม่รุนแรงถึงขนาดนั้นได้”

หกล้มอาจถึงตาย
การหกล้มสามารถเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคสมองเสื่อม “คนไข้โรคสมองเสื่อมมีแนวโน้มสูญเสียความเข้าใจเกี่ยวกับข้อจำกัดของตนเอง และอาจทำอะไรเสี่ยงๆ ชนิดที่ว่าในอดีตพวกเขาจะไม่ทำแน่ เช่น ลืมไปว่าพวกเขาไม่สามารถเดินเองได้โดยปราศจากความช่วยเหลือ” นพ.เมอร์ริลล์อธิบาย “และการหกล้มมาพร้อมกับความเสี่ยงของอาการบาดเจ็บร้ายแรงและเสียชีวิต”

ซีดีซีเปิดเผยว่า การหกล้มเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจในผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป

สัญญาณเริ่มแรกของโรคสมองเสื่อม
นพ.อมิต ชาชเดฟ นักประสาทวิทยาและผู้อำนวยการแผนกเวชศาสตร์ประสาทและกล้ามเนื้อ แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่เราอาจลืมนั่นลืมนี่บ้าง โดยเฉพาะเมื่อคุณแก่ตัวลง “ขณะที่สมองมีอายุมากขึ้น มันจะหดตัวและเชื่องช้าลง คนส่วนใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นกับความทรงจำของพวกเขา ซึ่งมาพร้อมอายุที่เพิ่มสูงขึ้น” ความทรงจำตามปกตินี้รวมถึงการลืมชื่อของผู้ที่คุ้นเคย (แต่ไม่ควรเป็นบุคคลอันเป็นที่รัก) และการลืมว่าทำไมคุณจึงเดินไปที่ตู้เย็น

พญ.เวอร์นา อาร์. พอร์เตอร์ นักประสาทวิทยาประจำสถาบันประสาทวิทยาศาสตร์แปซิฟิก เมืองซานตา โมนิก้า รัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า แต่เมื่อความทรงจำที่เลอะเลือนถูกทำให้กระจัดกระจายหรือเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ย่อมนำไปสู่สัญญาณเริ่มแรกของโรคสมองเสื่อมได้ ซึ่งหมายความว่า มันอาจส่งผลกระทบต่อการทำงาน งานอดิเรก กิจกรรมทางสังคม ความสัมพันธ์ในครอบครัว และการชำระเงิน

พญ.พอร์เตอร์แนะนำให้ไปพบแพทย์ถ้าคุณหรือสมาชิกในครอบครัวมีพฤติกรรมข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
• ถามคำถามเดียวกันซ้ำๆ
• ลืมคำพูด/ประโยค หรือความคิดขณะกำลังพูด
• ใช้คำพูดผิดกาลเทศะแทรกขึ้นในการสนทนา เช่น ใช้คำว่า “เก้าอี้” แทนคำว่า “โซฟา”
• ใช้เวลานานขึ้นกว่าจะทำงานในชีวิตประจำวันเสร็จ (เช่น การชำระเงิน หรือการจัดการอีเมล)
• วางวัตถุ/สิ่งของในบ้านผิดที่บ่อยๆ
• หลงทางขณะกำลังเดินหรือขับรถในสถานที่ที่ค่อนข้างคุ้นเคย
• อารมณ์ บุคลิกภาพ หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงฉับพลัน หรืออธิบายสาเหตุที่ชัดเจนไม่ได้ป้องกันโรคสมองเสื่อมได้ไหม

พญ.พอร์เตอร์กล่าวว่า ยังมีผู้เชี่ยวชาญอีกมากมายที่ไม่รู้จักโรคสมองเสื่อมและสาเหตุของโรค แต่โดยทั่วไปจะคิดว่า คุณสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อมได้ ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาสถานะทางสังคม และบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารต้านสมองเสื่อม (ซึ่งเน้นการกินผักใบเขียว ธัญพืชเต็มเมล็ด และปลา) กระตุ้นสมองอยู่เสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และจัดการกับความเครียดให้ได้

นพ.เมอร์ริลล์สรุปว่า สิ่งสำคัญคือ ต้องรีบพบแพทย์ถ้าตัวคุณหรือคนที่คุณรักเริ่มส่งสัญญาณโรคสมองเสื่อม “ไม่มีคำว่าเร็วเกินไป และไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการเข้ารับการตรวจและรีบรับการรักษา”

ใส่ความเห็น