ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าโลกที่กำลังชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง การก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานธนาคารโลก (World Bank) ของ David Malpass เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดูจะเป็นจังหวะก้าวที่มีผู้คนให้ความสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นว่าด้วยบทบาทและทิศทางขององค์กรโลกบาลแห่งนี้จะดำเนินไปอย่างไร ในสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่ยังยืดเยื้อยาวนานเช่นนี้
David Malpass ได้รับการเสนอชื่อจากรัฐบาลของ Donald Trump ให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารโลกคนที่ 13 หลังจากที่ Jim Yong Kim ประธานธนาคารโลกคนก่อนหน้า ตัดสินใจก้าวลงจากตำแหน่งก่อนครบวาระ 5 ปีในปี 2022 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งติดตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อกังวลใจในบทบาทของ David Malpass บนตำแหน่งประธานธนาคารโลกว่าจะทำให้องค์กรแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือของรัฐบาล Donald Trump ในการเปิดแนวรุกเพื่อกดดันจีน และลดทอนบทบาทการนำของธนาคารโลกว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) และกรอบความร่วมมือเพื่อหนุนนำการพัฒนาพหุภาคีหรือไม่
ประเด็นแห่งข้อกังวลใจดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นบนสุญญากาศ หากแต่เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา David Malpass ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ด้านกิจการระหว่างประเทศ (Under Secretary of the Treasury for International Affairs) นับเป็นผู้ที่วิพากษ์ธนาคารโลกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการออกเงินกู้ของธนาคารโลก ที่ Malpass กล่าวหาว่ามีการทุจริต หรือแม้กระทั่งการไม่เห็นด้วยกับการออกเงินกู้ให้กับจีนและชาติร่ำรวยอื่นๆ โดยเขามองว่าประเทศเหล่านี้ควรเลิกขอเงินกู้และหันมาเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับธนาคารโลกได้แล้ว
นอกจากนี้ David Malpass ยังนับเป็นผู้มีส่วนอย่างสำคัญในการเป็นกระบอกเสียงสำหรับการส่งผ่านแนวความคิดว่าด้วยการกีดกันทางการค้า ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ Donald Trump อีกทั้งยังเป็นผู้ที่วิจารณ์นโยบายต่างประเทศของจีน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) อย่างเผ็ดร้อนต่อเนื่อง ซึ่งทำให้หลายฝ่ายระบุว่า David Malpass เป็นตัวเลือกที่ไม่แตกต่างจากสารพิษสำหรับตำแหน่งประธานธนาคารโลกเลยทีเดียว
ในการแถลงข่าวครั้งแรก ภาพหลังการก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานธนาคารโลกเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา David Malpass ระบุว่า โลกกำลังเผชิญกับปัญหาหนี้ครั้งใหญ่ และชี้ว่า จีนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาดังกล่าว ด้วยการปล่อยเงินกู้จำนวนหลายล้านล้านเหรียญสหรัฐแก่ประเทศต่างๆ เพื่อสนับสนุนโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ซึ่งการปล่อยเงินกู้ดังกล่าวทำให้ประเทศที่มีความอ่อนแอประสบปัญหาหนี้มากเกินไป ขณะที่โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคเหล่านี้ก็ดำเนินไปอย่างมีคุณภาพต่ำ ยังไม่นับรวมถึงกรณีที่จีนเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จำนวน 1.12 ล้านล้านเหรียญอีกด้วย
ข้อกล่าวหาของ David Malpass ยังพุ่งเป้าไปที่จีนด้วยการระบุว่า จีนได้แย่งชิงการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารโลก แม้ว่าจีนจะยอมรับและพร้อมที่จะปรับลดการปล่อยกู้ลงแล้ว โดยจีนต้องการที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับประเทศต่างๆ และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลก พร้อมกับระบุว่า จีนตระหนักดีว่าจำเป็นต้องลดบทบาทในการปล่อยเงินกู้ให้น้อยลง ขณะที่ธนาคารโลกก็ลดการปล่อยเงินกู้ให้แก่จีนเช่นกัน ซึ่งคาดว่าแนวโน้มแบบนี้จะยังคงดำเนินต่อไปในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ถ้อยแถลงของ David Malpass ในฐานะประธานธนาคารโลกในด้านหนึ่งสอดรับกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกสร้างกันชนด้านการคลัง และเร่งลดปริมาณหนี้สาธารณะท่ามกลางภาวะขาลงของเศรษฐกิจโลก โดยไอเอ็มเอฟระบุว่า ในช่วงเวลาที่การขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลง และความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น การดำเนินนโยบายการคลังควรจะเตรียมพร้อมรับมือกับความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะซบเซาลง สร้างสมดุลระหว่างเป้าหมายการขยายตัวและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ข้อเรียกร้องของไอเอ็มเอฟอยู่ที่การเสนอให้ผู้ตัดสินใจด้านนโยบายการคลังของแต่ละประเทศทั่วโลก ควรคำนึงถึงอัตราหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ความผันผวนทางการเงิน และความเสี่ยงขาลงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ปรับเงินเฟ้อ โดยระบุว่าปัจจุบันระดับหนี้สาธารณะในทุกกลุ่มประเทศ เพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนเกิดวิกฤตการเงินโลก
กระนั้นก็ดี David Malpass พยายามที่จะดำรงท่าทีประนีประนอมกับจีนในฐานะที่เป็นประธานธนาคารโลกเช่นกัน ด้วยการระบุว่าธนาคารโลกหวังที่จะพัฒนาความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับจีน เพราะในขณะที่ธนาคารโลกมีหน้าที่ชัดเจนและสำคัญในการขจัดความยากจน และช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนารับมือกับการท้าทาย ประสบการณ์การขจัดความยากจนของจีนควรได้รับการถ่ายทอดสู่นานาประเทศทั่วโลก โดยประชาคมโลกควรให้ความสำคัญต่อปัญหาที่ประชากรยากจนจำนวนมากรวมตัวอยู่ในเขตแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) ด้วย
ผู้สังเกตการณ์บางส่วนประเมินถ้อยแถลงของ David Malpass บนตำแหน่งประธานธนาคารโลกในการแถลงข่าวครั้งแรกนี้ว่า Malpass พยายามรักษาระยะห่างออกจากแนวนโยบายของ Donald Trump พอสมควร โดยเฉพาะในประเด็นว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ Malpass ระบุว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ธนาคารโลกจะต้องมีบทบาทในการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกรณีดังกล่าวสามารถส่งผลกระทบกับความยากจนในประเทศกำลังพัฒนา พร้อมกับระบุว่าโลกที่มีผู้ยากจนอย่างมากจำนวน 700 ล้านคนเช่นที่เป็นอยู่นี้นับว่ามากเกินไป และเป็นบทบาทหน้าที่ของธนาคารโลกในการแก้ไขและขจัดปัญหานี้
บทบาทของ David Malpass บนตำแหน่งประธานธนาคารโลก ในท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเช่นที่เป็นอยู่นี้ จะดำเนินไปในฐานะที่เป็นประหนึ่งสะพานเชื่อมให้ความแตกต่างระหว่างจีน-สหรัฐฯ ในข้อพิพาททางการค้าที่ยังหาบทสรุปไม่ได้จบลงด้วยดี หรือจะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่เพิ่มเติมแนวปะทะระหว่างกัน คงมีบทพิสูจน์ที่รอการสรุปอยู่ไม่ไกลนับจากนี้