วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ภาระหนี้ครัวเรือน ภัยร้ายเศรษฐกิจไทย

ภาระหนี้ครัวเรือน ภัยร้ายเศรษฐกิจไทย

ความเป็นไปว่าด้วยภาระหนี้ครัวเรือนของไทยที่กำลังไต่ระดับเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) กำลังสะท้อนความเปราะบางทางเศรษฐกิจโดยรวมของชาติอย่างยากจะปฏิเสธ และเป็นเหตุให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแสดงความกังวลต่อสัญญาณลบที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้

ข้อมูลตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเห็นได้จากแนวโน้มหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ปรับตัวขึ้นจากร้อยละ 77.7 ในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2561 มาสู่ที่ระดับร้อยละ 77.8 เมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่ 3 โดยอัตราหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยปรับสูงขึ้นเป็นร้อยละ 78.6 เมื่อสิ้นปี 2561 และมียอดคงค้าง 12.8 ล้านล้านบาท ขณะที่สถานการณ์ในปี 2562 คาดว่าหนี้ครัวเรือนมีโอกาสที่จะปรับสูงขึ้นไปสู่ระดับร้อยละ 79.5 อีกด้วย

ภาระหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวขึ้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากภาระหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิตและการขยายธุรกิจ ซึ่งในระยะนับจากนี้หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก เมื่อพิจารณาจากสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากกรณีที่ภาครัฐส่งเสริมให้การกู้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น ซึ่งถือเป็นกรณีที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและต้องมีการศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนเป็นหนี้ที่สร้างมูลค่า มีสินทรัพย์ หรือใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น เพราะอาจมีผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้

ประเด็นที่น่าสนใจของการเปลี่ยนหนี้จากนอกระบบเข้ามาในระบบอยู่ที่แม้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นผลมาจากการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินเพื่อรับบริการทางการเงินและสินเชื่อซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากสามารถลดภาระดอกเบี้ยจากสินเชื่อนอกระบบที่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าในระบบมาก โดยในปัจจุบันสินเชื่อในระบบคิดอัตราดอกเบี้ยในระดับร้อยละ 28 ต่อปีสำหรับการบริการสินเชื่อบุคคล และร้อยละ 36 ต่อปีสำหรับนาโนไฟแนนซ์ ขณะเดียวกันการเข้าถึงสินเชื่อในระบบที่สามารถทำได้สะดวกขึ้น จากการใช้ข้อมูลต่างๆ เข้ามาร่วมในการวิเคราะห์ให้สินเชื่อ นอกเหนือจากการใช้เพียงรายการเดินบัญชีของธนาคารเท่านั้น ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ผู้ขับจักรยานยนต์รับจ้าง และผู้ประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ภายใต้สถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในอัตราที่ต่ำมาเป็นเวลานาน ได้กลายเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการก่อหนี้ที่สูงขึ้น เพราะต้นทุนการกู้ต่ำ ขณะที่การออมก็ได้รับผลตอบแทนต่ำจึงไม่จูงใจให้เกิดการออม รวมทั้งในจังหวะที่อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้นก็จะเพิ่มมาก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ครัวเรือนอาจจะไม่ได้คำนึงไว้ในช่วงที่ก่อหนี้ ที่อาจย้อนกลับมาเป็นกับดักและเป็นภาระในอนาคต

ทิศทางหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2562 ได้รับการประเมินว่าจะอยู่ในภาวะทรงตัว จากการที่สถาบันการเงินและผู้ประกอบการอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ยังคงมุ่งเป้าการปล่อยสินเชื่อรายย่อยอย่างต่อเนื่องในปีนี้ อาจทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปี 2562 ยังคงทรงตัวใกล้เคียงระดับปลายปี 2561 โดยปีนี้ (2562) ภาระหนี้ครัวเรือนไทยน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณร้อยละ 77.5-79.5 ต่อจีดีพี จากระดับร้อยละ 78.6 ต่อจีดีพีในปี 2561

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงในปีนี้ (2562) เมื่อผนวกกับภาระหนี้ของครัวเรือนที่น่าจะเพิ่มขึ้นจากผลของการก่อหนี้ก้อนใหญ่ (หนี้บ้านและหนี้รถ) ที่มีผลผูกพันหลายปีนับจากวันที่ก่อหนี้ อาจมีผลทำให้ครัวเรือนหลายส่วนใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้นในการก่อหนี้ก้อนใหม่ ควบคู่กับการประเมินว่า สัญญาณอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีโอกาสทรงตัวที่ระดับร้อยละ 1.75 ตลอดช่วงที่เหลือของปี 2562 ซึ่งอาจช่วยลดทอนแรงกดดันจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นต่อครัวเรือนที่มีภาระหนี้ลงมาบางส่วน แต่ทั้งนี้ ยังต้องติดตามมาตรการด้านเศรษฐกิจภายใต้การดำเนินการของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งคาดว่า น่าจะเข้ามาช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ และดูแลแก้ไขปัญหาด้านรายได้-ภาระหนี้ ของครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้น้อย

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งของความเป็นไปว่าด้วยภาระหนี้ครัวเรือนในปี 2561 ที่ผ่านมาก็คือ ยอดหนี้ครัวเรือนคงค้างมีอัตราเติบโตขึ้นสูงมากในระดับร้อยละ 6 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ขยับขึ้นไปที่ร้อยละ 78.6% ในปี 2561 จากร้อยละ 78.3 ในปี 2560 โดยยอดคงหนี้ครัวเรือนของไทยเติบโตขึ้นร้อยละ 6.0 สูงกว่าอัตราการเติบโตของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ (Nominal GDP) ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.6

กระนั้นก็ดี มีตัวเลขบ่งชี้ว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนี้ กว่าร้อยละ 50 ของหนี้ที่ครัวเรือนรับภาระเพิ่มขึ้นนั้น ก่อให้เกิดสิทธิความเป็นเจ้าของในทรัพย์สิน ทั้งสินเชื่อเพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ และขยายธุรกิจ ขณะที่สัดส่วนการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค (ที่ไม่มีหลักประกัน) ทั้งในส่วนหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับภาพรวมของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

ความสำคัญของประเด็นปัญหาว่าด้วยหนี้ครัวเรือนไทย ในด้านหนึ่งเกิดขึ้นจากฐานข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศไทยมีภาระหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศที่มีศักยภาพใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย ซึ่งการที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงอาจทำให้เกิดความกังวลว่าอาจจะกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน และถือเป็นกลไกทางเศรษฐกิจสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ผนวกผสานกับการขยายตัวด้านการลงทุน

นอกจากนี้ แรงกดดันระยะยาวอาจจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตชะลอลงในระยะยาว รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากรายได้เกษตรกรที่มีแนวโน้มชะลอลงตามทิศทางราคาสินค้าเกษตร และรายได้ของแรงงานบางส่วนที่มีแนวโน้มชะลอลงตามทิศทางการส่งออกสินค้าและบริการ จากแนวโน้มการใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานในกระบวนการผลิต (ออโตเมชั่น) และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำทำให้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องเพิ่มค่าจ้างมากนัก ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของแรงงานไทยยังอยู่ในระดับต่ำและเป็นปัจจัยกระทบกับกำลังซื้อ

แม้ว่าการก่อหนี้ในบางกรณีอาจช่วยให้ครัวเรือนสามารถเพิ่มการใช้จ่ายได้ในระยะสั้น และเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ครัวเรือนสามารถรักษาระดับการบริโภคได้ในกรณีที่เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ ซึ่งมักมีการนำมาตรการกระตุ้นการบริโภคมาใช้ แต่ในขณะเดียวกัน การก่อหนี้จะส่งผลให้ภาระหนี้เพิ่มซึ่งอาจมีผลให้ความสามารถในการใช้จ่ายในอนาคตของครัวเรือนลดน้อยลงได้ และความสามารถในการรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจของครัวเรือนอาจจะลดลง และดำเนินไปท่ามกลางความเปราะบางต่อฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือน

ขณะเดียวกัน หากครัวเรือนที่มีภาระหนี้ต้องเผชิญกับปัญหารายได้ลดลงจากสาเหตุต่างๆ ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หรือจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังดำเนินไปอย่างคลุมเครือ ภัยธรรมชาติ อาจทำให้ครัวเรือนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ส่งผลให้เกิดเป็นหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลของสถาบันการเงินสูงขึ้นและอาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมได้ในที่สุด

ความน่าสนใจว่าด้วยภาระหนี้ครัวเรือนของไทยอีกประการหนึ่งเกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่าคนไทยเริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อยและเป็นหนี้ยาวนาน แม้ว่าจะมีอายุเข้าสู่วัยเกษียณแล้วก็ยังมีหนี้ที่สูงอยู่ ขณะที่ความสามารถในการหารายได้เพื่อชำระหนี้กลับลดลงซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาหนี้เสีย ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหลังเกษียณด้วย

กรณีภาระหนี้ครัวเรือนเช่นว่านี้ ไม่เพียงแต่สะท้อนความล้มเหลวของกลไกรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากเท่านั้น หากในอีกด้านหนึ่งยังเป็นภาพสะท้อนของโครงสร้างเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยวและต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนด้วยมาตรการและแผนเศรษฐกิจในระยะยาว ที่มีมิติมากกว่าเรื่องของการสร้างวินัยทางการเงิน หรือการวางแผนทางการเงินของประชาชน ในลักษณะที่ไม่ก่อหนี้เกินตัว หากแต่ต้องดำเนินไป ท่ามกลางนโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถมีรายได้เพิ่มอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การออม และสะสมความมั่งคั่ง รวมทั้งการปรับแก้ลดหนี้

ถึงที่สุดแล้วการทำให้ประชาชนสามารถมีเศรษฐภาวะที่ดี ในลักษณะที่สามารถเรียกได้อย่างเต็มปากว่า “กินดีอยู่ดี” ก็คือการทำให้ประชาชนสามารถสร้างความมั่งคั่งและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดภาระในมิติของมาตรการในเชิงสวัสดิการของรัฐลงได้ ซึ่งจะเป็นการลดทอนภาระของรัฐไปโดยปริยาย

ปัญหาอยู่ที่ว่า กรณีเช่นว่านี้ กลไกภาครัฐประเมินด้วยสายตาอย่างไร และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่นอกจากจะหมายถึงการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำในโอกาสแล้ว ยังอาจหมายถึงการกระจายและลดอำนาจบทบาทของกลไกรัฐด้วยหรือไม่

ใส่ความเห็น