แม้ว่าการเลือกตั้งทั่วไป 2562 จะผ่านพ้นไปแล้ว และได้เห็นเค้าลางของผู้ชนะผู้แพ้ในสนามเลือกตั้งกันไปพอสมควร หากแต่ทิศทางการเมืองไทยและโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศกลับตกอยู่ในภาวะคลุมเครือ และยากที่จะสรุปอย่างชัดเจนว่าจะดำเนินไปอย่างไร ซึ่งอาจเนิ่นนานไปตามกำหนดเวลาของการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่คาดว่าจะมีขึ้นอย่างเร็วที่สุดในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมไปแล้ว
ความคาดหวังของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจเอกชนว่าด้วยความเชื่อมั่นและแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นความคาดหวังที่ผูกโยงอยู่กับทัศนะเชิงบวกและการกระตุ้นปลอบเร้า ด้วยหวังว่ารัฐบาลใหม่จะสามารถเร่งระดมปลุกปั้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาฟื้นคืนและแข็งแกร่งอีกครั้ง ดูจะอ่อนแรงลงไปอย่างช้าๆ เมื่อประเมินจากข้อเท็จจริงที่ว่า ความชัดเจนและระยะเวลาของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ทอดยาวออกไปกำลังก่อให้เกิด “ภาวะเสียโอกาสซ้ำซาก” ที่อาจฉุดให้เศรษฐกิจไทยต้องตกอยู่ในภาวะชะงักงันไปจนถึงสิ้นสุดไตรมาสที่ 2 และอาจต่อเนื่องไปสู่ไตรมาสที่ 3 ของปีเลยทีเดียว
บรรยากาศแห่งความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ปกคลุมอยู่ในห้วงเวลาปัจจุบัน กลายเป็นปัจจัยที่พร้อมจะแช่แข็งเศรษฐกิจไทยไปโดยปริยาย แม้ว่าในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนไทยก่อนหน้านี้จะพบว่าประชาชนในสัดส่วนมากถึงร้อยละ 63.64 แสดงความมั่นใจว่าภายหลังการเลือกตั้ง เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 32.27 ระบุว่าเศรษฐกิจไทยจะยังดำเนินอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่เหมือนเดิม โดยมีอีกร้อยละ 4.09 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะแย่ลงกว่าที่เคยเป็นอยู่ในช่วงก่อนมีการเลือกตั้ง
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนก่อนการเลือกตั้งดังกล่าวอยู่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 45.73 ประเมินว่าไม่มีพรรคการเมืองใดเลยที่มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนได้อย่างจริงจัง แม้ว่าจะมีประชาชนบางส่วนชื่นชอบแนวนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละพรรคการเมืองในสัดส่วนที่ลดหลั่นกันไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยตระหนักว่าปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน ไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ไขได้โดยง่าย
ขณะเดียวกันภายใต้สถานการณ์ที่ผลักให้รัฐบาลชุดใหม่มีแนวโน้มที่จะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค การนำนโยบายเศรษฐกิจที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคนำเสนอในช่วงหาเสียงเลือกตั้งมาผนวกผสานเพื่อสร้างให้เป็นกรอบโครงนโยบายสาธารณะของรัฐบาล ดูจะเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากข้อเท็จจริงที่ประชาชนจะคาดหวังได้
ความเป็นไปทางการเมืองที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าว่าด้วยการช่วงชิงบทบาทนำในการเป็นแกนกลางในการจัดตั้งรัฐบาลที่กำลังดำเนินอยู่อย่างเข้มข้น ท่ามกลางการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ทั้งในมิติของอำนาจและตำแหน่งแห่งที่ในคณะรัฐบาลที่กำลังจะเกิดมีขึ้นในอนาคต ยังเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความเปราะบางทางการเมืองของไทยที่ทำให้การผลักดันมาตรการทางเศรษฐกิจสังคมนับจากนี้ ถูกผูกโยงเข้ากับวิถีของการแบ่งปันผลประโยชน์ของผู้มีบทบาททางการเมืองแต่ละส่วน มากกว่าที่จะเกิดขึ้นจากการประสานข้อเด่น-ด้อยของนโยบายที่แต่ละฝ่ายมี มาสกัดและสังเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ในทางสาธารณะสำหรับประชาชนซึ่งเป็นผู้ออกเสียงลงคะแนนและเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของสังคมไทยอย่างแท้จริง
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลไกภาครัฐพยายามที่จะบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้น โดยล่าสุดได้นำเสนอตัวเลขทางเศรษฐกิจไทยรวมทั้งปี 2561 ว่าขยายตัวร้อยละ 4.1 มากกว่าปี 2560 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.0 และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี แต่ตัวเลขเศรษฐกิจดังกล่าวอาจไม่มีความหมายใดๆ เลยในห้วงเวลานับจากนี้ เมื่อสถานการณ์ที่รอคอยอยู่เบื้องหน้าในปี 2562 กำลังดำเนินไปท่ามกลางความท้าทายและเหตุปัจจัยที่แปรเปลี่ยนไป
ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าด้วยการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2562 ที่ระบุว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.0 โดยให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้าและให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งติดตามการเปลี่ยนแปลงของสินค้านำเข้าที่สำคัญๆ ด้วย สะท้อนให้เห็นความอ่อนไหวในตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคของไทยที่ยึดโยงอยู่กับการส่งออกและมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ในระดับนานาชาติไม่น้อย
ขณะเดียวกันการคาดการณ์รายได้จากการท่องเที่ยวที่เชื่อว่าจะมีอยู่ในระดับที่สูงถึง 2.2-2.3 ล้านล้านบาท จากผลของการหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศในระดับที่มากถึงประมาณ 41-42 ล้านคน กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าภาพรวมเศรษฐกิจของไทยภายหลังการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะดีขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 ดูจะเป็นการฝากความหวังไว้กับปัจจัยภายนอก จนอาจละเลยการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจจากพื้นฐานภายใน
ความท้าทายที่รอคอยอยู่เบื้องหน้าว่าด้วยภาวะขาดแคลนแรงงานของสังคมไทย จากผลของการเคลื่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) ที่คาดว่าจะมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 10 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนประชากร ในขณะเดียวกันจำนวนเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี คิดเป็นเพียงร้อยละ 18 ของประชากรทั้งหมด และอัตรานี้ยังคงลดลงต่อเนื่องด้วยอัตราเร่งร้อยละ 2 ในแต่ละปี
รวมถึงการเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (aged society) ในปี พ.ศ. 2574 โดยมีจำนวนผู้สูงอายุร้อยละ 20 ของประชากร และจะเป็นสังคมอุดมไปด้วยผู้สูงอายุ (super-aged society) ในปี พ.ศ. 2593 โดยมีจำนวนผู้สูงอายุร้อยละ 30 ของประชากร ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะประเด็นว่าด้วยศักยภาพและขัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเท่านั้น หากยังเป็นกรณีที่เกี่ยวเนื่องถึงภาระในการดูแลสุขภาพในการรองรับประชากร โดยเฉพาะผู้สูงอายุอีกด้วย
จริงอยู่ที่ว่าการเปลี่ยนแปลงทางประชากรเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้นเป็นประเทศที่มีรายได้สูง หากแต่ในกรณีของประเทศไทยดูจะเป็นประเด็นที่แปลกแตกต่างออกไป เพราะประเทศไทยยังจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง และกำลังพัฒนา แต่กลับเป็นประเทศแรกๆ ที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งลักษณะทางเศรษฐกิจเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายเกี่ยวกับการจ้างงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง และการดูแลและรองรับผู้สูงอายุอย่างไม่อาจเลี่ยง
รูปการณ์จิตสำนึกในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยที่จะได้รับการออกแบบโดยรัฐบาลชุดใหม่นับจากนี้ จึงไม่ได้มีความสำคัญต่อการผลักดันตัวเลขทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคเท่านั้น หากแต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องประกอบส่วนด้วยการสร้างจินตภาพการพัฒนาใหม่ที่พร้อมจะรองรับกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนไป แม้ว่ากลไกทางการเมืองจะดำเนินอยู่ในวังวนเดิมๆ ก็ตาม