วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > เศรษฐกิจไทย จากโครงสร้างสู่ฐานราก ยิ่งอัดฉีดยิ่งเหลื่อมล้ำ?

เศรษฐกิจไทย จากโครงสร้างสู่ฐานราก ยิ่งอัดฉีดยิ่งเหลื่อมล้ำ?

ความเป็นไปของเศรษฐกิจไทยในช่วงใกล้วันเลือกตั้ง ดูเหมือนจะกลายเป็นกรณีที่ฟากฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐไม่ค่อยอยากจะกล่าวถึง เพราะตลอดระยะเวลาที่มีโอกาสคุมกลไกและออกมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจมากว่า 5 ปี กลับไม่ปรากฏผลสัมฤทธิ์ให้ประจักษ์อย่างน่าพึงพอใจ และในความรับรู้ของผู้คนทั่วไปดูจะยิ่งทรุดหนักไปกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ

แม้ว่าในช่วงระยะเวลา 1 ทศวรรษที่ผ่านมาภาพรวมของเศรษฐกิจไทยที่ประเมินจากตัวเลขสถิติต่างๆ จะมีพัฒนาการไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัวจากระดับ 1.4 แสนบาทต่อปีในปี 2551 มาสู่ระดับ 2.2 แสนบาทในปี 2560 หรือเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 55 ขณะที่เสถียรภาพของประเทศก็ดูจะมีความเข้มแข็งมากขึ้น ทั้งในมิติของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องกันถึง 5 ปี

หากแต่ความท้าทายหลักที่กำลังสั่นคลอนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ที่การพัฒนาด้านผลิตภาพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดที่จะกำหนดศักยภาพของเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผลิตภาพของเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ซึ่งมีสาเหตุมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าแรงงานจำนวนมากมีผลิตภาพต่ำ ขาดการพัฒนาและไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปสู่ภาคที่มีผลิตภาพที่สูงขึ้นได้ โดยแรงงานถึง 1 ใน 3 ของประเทศอยู่ในภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นภาคที่มีผลิตภาพต่ำที่สุด

ขณะที่นโยบายภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือ โดยเน้นการดูแลราคา การประกันรายได้ และการให้เงินอุดหนุน หรือการพักหนี้เกษตรกร ซึ่งช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในระยะสั้น แต่ไม่ช่วยพัฒนาผลิตภาพในระยะยาว ขณะเดียวกัน แรงงานไทยยังมีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาด โดยที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการจำนวนมากประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ถือว่าปัญหาดังกล่าวเป็นอุปสรรคลำดับต้นๆ ของการดำเนินธุรกิจและเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับธุรกิจต่างชาติในการตัดสินใจมาลงทุนในประเทศไทย

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ การลงทุนของเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ระดับการลงทุนที่แท้จริงของทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกันยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ส่วนแบ่งเงินลงทุนสุทธิจากต่างประเทศจากเงินลงทุนทั้งโลกลดลง เมื่อเทียบใน 10 ปีที่ผ่านมา และยังพบว่าการลงทุนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อทดแทนเครื่องจักรเก่าที่เสื่อมลงไป ซึ่งไม่ได้สร้างผลิตภาพให้เพิ่มขึ้นมากนัก

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจจากกฎระเบียบข้อบังคับของทางการที่มีจำนวนมากและล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับบริบทของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันและโลกในอนาคต โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจเชิงแบ่งปัน (Sharing economy) และระบบเศรษฐกิจดิจิทัลอีกด้วย

ประเด็นแห่งความท้าทายในสังคมไทย ยังประกอบด้วยความเหลื่อมล้ำของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งสังคมไทยมีปัญหาการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบไม่ทั่วถึง ผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนที่มีรายได้สูง ส่วนหนึ่งมาจากภาครัฐขาดประสิทธิภาพและความสามารถทำหน้าที่จัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม อีกส่วนหนึ่งเกิดจากความเหลื่อมล้ำทางโอกาสที่ฝังตัวอยู่ในทุกระดับ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ได้เปรียบธุรกิจขนาดเล็ก โดยเฉพาะในช่วงที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจอย่างรุนแรง ยิ่งทำให้ธุรกิจขนาดเล็กสู้ได้ยากขึ้น

กรณีเช่นว่านี้ ทำให้ภูมิต้านทานของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะระดับครัวเรือนที่ยังเปราะบางมาก โดยระดับหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 77.8 ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน ขณะที่พบว่าคนไทยในสัดส่วนมากถึง 3 ใน 4 ไม่สามารถออมเงินได้ในระดับที่ตั้งใจไว้สำหรับการเกษียณอายุ โดยปัญหาเหล่านี้จะก่อให้เกิดภาระการคลังในระยะต่อไป นอกจากภาระค่าใช้จ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุที่จะเพิ่มมากขึ้น และแนวโน้มการดำเนินนโยบายประชานิยมที่หวังผลทางการเมืองในช่วงสั้นๆ ประมาณการฐานะการคลังระยะปานกลางแสดงว่า รัฐบาลจะต้องทำงบขาดดุลต่อเนื่องไปอีก 12 ปี จึงจะเริ่มมีงบสมดุลได้

ความท้าทายเชิงโครงสร้างที่ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการก้าวสู่อนาคตจึงอยู่ที่การส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าด้วยคุณภาพและผลิตภาพเป็นหลัก ขณะเดียวกันต้องเร่งเพิ่มคุณภาพของแรงงานไทย ซึ่งมีสัดส่วน 60% ของคนไทยทั้งประเทศให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และที่สำคัญไปกว่านั้นคือการแสวงหาหนทางในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะภาครัฐไทยที่มีประสิทธิภาพที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

สภาวการณ์ที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าเศรษฐกิจไทยดำเนินไปท่ามกลาง “เหลื่อมล้ำสูง ผลิตภาพต่ำ ลงทุนน้อย ด้อยภูมิต้านทาน” ดูจะให้ภาพสังคมเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจน และเป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวในการนำพาเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างยากจะปฏิเสธ

มาตรการของรัฐที่ดำเนินอยู่ในห้วงปัจจุบันโดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีก 3 หมื่นล้านบาท ให้แก่กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ภายในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อนำไปใช้สำหรับโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อใส่เงินเข้าไปในกองทุนแล้ว คาดว่าจะทำให้มีเงินเพียงพอใช้ถึงดูแลผู้ถือบัตรคนจนทั้ง 14.5 ล้านคน จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2562 นี้ เป็นข้อบ่งชี้อีกด้านหนึ่งว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังดำเนินอยู่ และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ สาเหตุที่สำนักงบประมาณต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้แก่กองทุนฯ ดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัดทำโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมหลายโครงการ จนทำให้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากงบประจำปีไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นโครงการให้เงินสวัสดิการช่วงปีใหม่คนละ 500 บาท การช่วยเหลือค่าเดินทางไปรักษาพยาบาลแก่ผู้สูงอายุคนละ 1,000 บาท การช่วยเหลือค่าเช่าบ้านแก่ผู้สูงอายุคนละ 400 บาท การช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟฟ้า รวมถึงการขยายโครงการบัตรสวัสดิการ ภายใต้ไทยนิยมยั่งยืนให้กับประชาชนอีก 3.1 ล้านราย และการขยายมาตรการพัฒนาคุณภาพแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการ ระยะสองอีก 6 เดือนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมีการตั้งกองทุนประชารัฐฯ ขึ้นรวมระยะเวลา 2 ปี กระทรวงการคลังได้ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท ในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 14.5 ล้านคน นอกจากนี้ในปีงบประมาณ 63 กรมบัญชีกลางได้เสนอขอจัดทำงบประมาณปี 2563 วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในอนาคตแล้ว

จริงอยู่ที่ว่าการจัดสรรงบเพิ่มเติมดังกล่าวอาจไม่ได้เป็นปัญหาต่อการใช้งบประมาณในปี 2562 เนื่องจากได้มีการประเมินกันไว้ก่อนแล้ว ขณะเดียวกันที่ผ่านมาได้มีการจัดทำกฎหมาย พ.ร.บ. การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. 2562 เพื่อรองรับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม โดยผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปเมื่อปลายปี 2561 และขณะนี้กฎหมายฉบับดังกล่าวก็มีผลบังคับใช้แล้ว จึงทำให้สำนักงบประมาณสามารถจัดสรรงบประมาณที่เหลือค้างจ่ายจากส่วนต่างๆ มาใส่ในกองทุนฯ ดังกล่าวแทนได้

หากแต่กระบวนการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในระยะยาวนับจากนี้ต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในการบริหารจัดการและการหนุนเสริมให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจด้วยคุณภาพและผลิตภาพมากกว่าการอัดฉีดหรือเยียวยาประคองตัวอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยไม่ได้เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

ใส่ความเห็น