แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงต้นปี 2562 จะมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น จากเหตุปัจจัยว่าด้วยกำหนดการเลือกตั้งที่คาดว่าได้สร้างความตื่นตัวทางเศรษฐกิจกว่า 5 หมื่นล้านบาทมาช่วยหนุน ควบคู่กับปริมาณนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เริ่มทยอยกลับมาสร้างสีสันให้กับการท่องเที่ยวไทยอีกครั้ง
หากแต่ภายใต้สถานการณ์ความชะลอตัวทางเศรษฐกิจระดับนานาชาติที่ดำเนินต่อเนื่องจากเหตุของข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา รวมถึงกรณีว่าด้วยการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ BREXIT ที่ยังคงยืดเยื้อหาข้อสรุปที่พึงประสงค์ระหว่างกันไม่ได้ ได้กลายเป็นปัจจัยกดทับให้เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะชะงักงันต่อเนื่องออกไปอีก
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ข้อพิพาทระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกามีความผ่อนคลายลงจากการประกาศขยายเวลาการเก็บภาษีสินค้าจากจีนจากอัตราเดิมร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 ออกไปอีก 90 วันนับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2562 ซึ่งถือเป็นการประวิงเวลาให้ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมเจรจาเพื่อแสวงหาทางออกกันอีกครั้ง ซึ่งทำให้สงครามการค้าที่หลายฝ่ายกังวลใจยังไม่ขยายวงและบานปลายมากไปกว่าที่ผ่านมา
แต่ความเคลื่อนไหวจากฝั่งฟากยุโรปกลับส่งสัญญาณเตือนถึงปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น โดยการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้ระบุถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ปรับลดอัตราเร่งลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนที่ยังคงดำเนินต่อไปจากเหตุปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ ภัยคุกคามจากนโยบายกีดกันทางการค้า และความเปราะบางในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ล้วนส่งแรงกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน
ถ้อยแถลงของธนาคารกลางยุโรป ดำเนินไปท่ามกลางการอ่อนค่าลงของเงินยูโรจนมาสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 21 เดือนในช่วงต้นเดือนมีนาคม ในขณะที่สมาชิก 19 ประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกันในกลุ่มประเทศยูโรโซน เผชิญแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 เมื่อเศรษฐกิจของอิตาลีประสบปัญหาจากประเด็นทางการเมืองภายใน และการเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ โดยอัตราขยายตัวของจีดีพีลดลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส
ขณะที่การถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (BREXIT) ของสหราชอาณาจักร ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในหลายๆ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกันกับอียูโดยตรง โดยความวิตกกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่แน่นอนและไม่อาจคาดการณ์ได้ ส่งแรงกดดันค่าเงินยูโรมาโดยตลอด นอกจากนี้ ตัวเลขจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตยังสะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมที่ถดถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยอรมนี ซึ่งถือเป็นกลไกขับเคลื่อนขนาดใหญ่ในการหนุนนำการเติบโตของเศรษฐกิจยุโรป ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ จากภายนอกภูมิภาค โดยเฉพาะแนวโน้มภาวะชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ที่เป็นตลาดใหญ่รองรับสินค้าส่งออกของอียู
สถานการณ์ที่แวดล้อมด้วยปัจจัยเสี่ยงและกดทับสหภาพยุโรปเช่นนี้ ทำให้มีการประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีในปีนี้ (2562) ของกลุ่มประเทศยูโรโซน จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวในระดับร้อยละ 1.7 ลงมาเหลือเพียงร้อยละ 1.1% เท่านั้น
ผลกระทบจากหลายปัจจัยลบที่สหภาพยุโรปกำลังเผชิญอยู่นี้ มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อเนื่องยาวนานกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ซึ่งทำให้แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนในระยะสั้นจะอยู่ในอัตราที่น้อยลงจากระดับที่เคยคาดการณ์มาก่อนหน้า และเมื่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มอ่อนแรงลง อีซีบียังได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์เกี่ยวกับเงินเฟ้อในปี 2562 ของกลุ่มยูโรโซนลงด้วย
ธนาคารกลางยุโรปคาดว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีของปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ซึ่งเป็นการปรับลดจากระดับร้อยละ 1.6 ที่เป็นตัวเลขคาดหมายไว้เดิมในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา กระนั้นก็ดี อีซีบี ยังมั่นใจว่า ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ๆ ที่กำลังจะนำมาใช้นั้น จะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อของกลุ่มยูโรโซนขยับขึ้นมาใกล้เป้าหมายร้อยละ 2 มากขึ้นในอนาคต
มาตรการของธนาคารกลางยุโรป นอกจากจะประกอบด้วยการประกาศนโยบายตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำที่คาดว่าจะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีแล้ว ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน ด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องให้กับบรรดาธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ธนาคารสามารถปล่อยกู้ได้มากขึ้น ในรูปของโครงการปล่อยเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ (TLTRO) ให้แก่ธนาคารต่างๆ เพื่อให้ธนาคารเหล่านี้ปล่อยสินเชื่อแก่ผู้บริโภคและนักลงทุน ด้วยหวังว่าจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่กระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะเริ่มต้นโครงการดังกล่าวในเดือนกันยายนนี้
ปัจจัยลบในระดับนานาชาติที่แวดล้อมอยู่นี้ ในด้านหนึ่งได้กลายเป็นสิ่งกดทับต่อภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไปอย่างไม่อาจเลี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกที่อาจจะเติบโตในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 3-4 ในปีนี้ ซึ่งทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปีเติบโตไม่ถึงร้อยละ 4 อีกด้วย
ประเด็นที่น่าสนใจติดตามในภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจของไทยอีกประการหนึ่งก็คือ ภายหลังผลการเลือกตั้งและในระหว่างที่รอการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งความชัดเจนทางการเมืองดังกล่าวอาจใช้เวลาเนิ่นนานไปถึงไตรมาส 3 ทำให้มีแนวโน้มว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่มีโครงการทางเศรษฐกิจหรือเม็ดเงินใหม่ๆ เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลให้การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจในระยะถัดจากนี้ดำเนินไปท่ามกลางปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก
ความเป็นไปทางเศรษฐกิจไทยที่ดำเนินอยู่นี้ แม้ว่าจะได้รับการโหมประโคมว่ากำลังกระเตื้องขึ้น โดยอ้างอิงถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวต่อเนื่อง หากแต่ในความเป็นจริงกำลังซื้อในส่วนของเศรษฐกิจฐานรากยังไม่ฟื้นคืนกลับมา ทั้งจากผลของราคาสินค้าเกษตรที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และโอกาสในการกระจายรายได้ ซึ่งทำให้สังคมเศรษฐกิจไทยมีกำลังซื้อจากกลุ่มคนรายได้ปานกลาง ที่อาจได้รับผลบวกจากการท่องเที่ยวและภาคบริการเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น
ภาระหนักของรัฐบาลชุดใหม่ในมิติทางเศรษฐกิจจึงไม่ได้อยู่ที่การรื้อสร้างหรือสานต่อโครงการขนาดใหญ่ว่าด้วยโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเท่านั้น หากแต่ยังต้องเร่งนำเสนอนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้พลิกฟื้นขึ้นมาเติบโตให้ได้มากกว่าระดับที่ร้อยละ 5 เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้กับนักลงทุนต่างชาติ ควบคู่กับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยให้เพิ่มขึ้น
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยได้รับการเน้นย้ำว่าต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต และนำนวัตกรรมมาใช้ให้เพิ่มขึ้น ทั้งเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศให้เพิ่มมากขึ้น หากแต่ในทางปฏิบัติ กรณีเช่นว่านี้กลับไม่ได้รับการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมชัดเจนให้ได้จับต้อง
โอกาสของสังคมไทยสูญหายไปกับเวลาที่เปล่าเปลืองมามากพอแล้ว บางทีนี่อาจเป็นเวลาที่ต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และทำให้ประเทศไทยกลับมามีที่อยู่ที่ยืนในสังคมของอารยประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคต