สกว.เปิดเวทีเสวนาโชว์ผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยสมุนไพรตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงอุตสาหกรรม หวังสืบสานภูมิปัญญาไทยและผลักดันทุกภาคส่วนให้ร่วมกันต่อยอดใช้ประโยชน์เพื่อสร้างมูลค่า และสอดคล้องกับแผนแม่บทแห่งชาติ
ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดงานเสวนาและนิทรรศการ “สืบสานภูมิปัญญาไทย ด้วยสมุนไพรท้องถิ่น” ณ ห้องประชุม สกว. ซึ่งจัดโดยงานจัดการความรู้และสื่อสารสังคม สกว. เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และผลิตภัณฑ์ที่มีสมุนไพรเป็นองค์ประกอบจากงานวิจัย ตลอดจนสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรไทยสู่การจำหน่ายในเชิงพาณิชย์และการรักษาทางการแพทย์ อีกทั้งยกระดับมาตรฐานการทำวิจัยและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรตามยุทธศาสตร์ของประเทศ
ดร. ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล ผู้อำนวยการกองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวระหว่างการเสวนาว่า แผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2560–2564) กำหนดเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียนในอีก 5 ปีข้างหน้า และมีมูลค่าของวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมนี้ยังไม่สามารถเติบโตได้เพราะขาดโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี จึงต้องมีนวัตกรรมที่จะช่วยให้ประเทศก้าวหน้าและมีศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ต้องทำการตลาดให้คนทั่วโลกเห็นประเทศไทยในอีกมุมหนึ่งว่าเรามีสมุนไพรที่มีคุณภาพและหลากหลาย รวมถึงมีระบบสนับสนุนที่ดี หัวใจของการขับเคลื่อนจึงต้องมีแผนแม่บทและการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย แม้ สกว.จะให้ทุนพัฒนายาเป็นจำนวนมากแต่ยังขายไม่ได้เพราะกฎระเบียบยังไม่เปิด คณะกรรมการนโยบายระดับชาติจะต้องกำหนดกฎหมายใหม่เพื่อรองรับกติกาที่เหมาะสมกับประเทศมากขึ้น
ขณะที่นางสุนันทา โรจน์เรืองไร หัวหน้าโครงการฟื้นฟูศรัทธาต่อการรักษาโรคหวัด โรคกระเพาะด้วยสมุนไพรพื้นบ้านของ ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ระบุว่าเพื่อแก้ปัญหาคนในชุมชนไม่รู้จักการใช้ยาสมุนไพรในการลดรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยเล็กน้อย จึงร่วมกันยกระดับสมุนไพรพื้นบ้านเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรอินทรีย์ที่สามารถสร้างรายได้แก่ชุมชน ทำให้เศรษฐกิจในชุมชนฐานรากขับเคลื่อนได้ นอกจากทำอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้าง แต่จุดอ่อนของท้องถิ่น คือ ข้อควรระวังในการใช้ยาในระดับชาวบ้าน เช่น กลุ่มยาที่มีผลออกฤทธิ์ข้างเคียงกับโรคสำคัญอย่างโรคหัวใจ รวมถึงการสนับสนุนใช้สมุนไพรในครัวเรือนที่มีงานวิจัยรองรับเพื่อให้เกิดความมั่นใจ
นายชุติพงศ์ กอร์ปอริยจิต ประธานกรรมการบริหารกลุ่ม บริษัท กุยลิ้มฮึ้ง-ปราชญา จำกัด ซึ่งได้รับการส่งต่อตำรับยาจากรุ่นสู่รุ่นที่เน้นการรักษาความสมดุลของการเจ็บป่วยและอวัยวะในร่างกาย และนำเข้าสมุนไพรจากหลายประเทศ กล่าวว่า การคัดเลือกตำรับยาเพื่อทำงานวิจัยเกิดจากความต้องการทางการตลาด โดยพบว่าคนอยู่ในสภาวะเครียดกันมาก ส่งผลต่อการหมุนเวียนโลหิตในสมอง รวมถึงตำรับเกี่ยวกับการขับสารพิษซึ่งจะช่วยให้ลำไส้ใหญ่ทำงานดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังมีปัญหาด้านการสื่อสารเพราะตำรับยาค่อนข้างเข้าใจยาก หากคนไข้มีความซับซ้อนของอาการเจ็บป่วยก็จะมีทีมแพทย์แผนจีนให้การวินิจฉัยและให้คำปรึกษา ปัจจุบันคนนิยมหันมาใช้แพทย์ตะวันออกและแพทย์ทางเลือกมากขึ้น เพราะเข้าใจง่าย ราคาถูกกว่า และมีมาตรฐานรองรับ ซึ่งการพิสูจน์เพื่อกำหนดหลักฐานทำได้ค่อนข้างยากแต่โชคดีที่ได้นักวิจัยด้านการแพทย์มาช่วยเรื่องการขึ้นทะเบียน ซึ่งตนมองว่าทุกคนต่างก็มีหน้าที่ของตัวเอง การยกระดับสมุนไพรจึงต้องช่วยกันทุกภาคส่วน
ดร.สมพลนาท สัมปัตตะวนิช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ยังไม่มีกลไกใดที่เน้นเรื่องข้อบ่งชี้ในการใช้ยา ซึ่งการพัฒนายาของตะวันตกค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่มต้น ศูนย์ SISP ของศิริราชมีพันธกิจในการคิดค้นนวัตกรรมการผลิตเพื่อพัฒนายาใหม่และการแพทย์แม่นยำ รวมถึงพัฒนาบุคลากรเพื่อตอบปัญหาดังกล่าว หลักสำคัญของการแพทย์แม่นยำ คือ การใช้ยาตรงเป้าหมายได้ผลสัมฤทธิ์ ผลการศึกษาพบว่าสิบอันดับยาขายดีที่สุดในโลกเป็นยาแผนปัจจุบันของตะวันตก แต่น่าแปลกใจว่าแม้จะมีข้อบ่งชี้ชัดเจนแต่การนำไปใช้กลับไม่ได้ผลทั้งหมด จึงเกิดคำถามว่าใครจะใช้ยาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ปัญหาการขึ้นทะเบียนยามักติดปัญหาเชิงคลินิก แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการคือ ประสิทธิภาพของข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน ตนจึงมุ่งศึกษาฤทธิ์ของยาแบบมุ่งเป้าในระดับโมเลกุล ซึ่งน่าจะขยายผลใช้กับสมุนไพรเชิงเดี่ยวของไทยได้จำนวนมาก ตลอดจนพัฒนาไบโอเซนเซอร์การตัดต่อพันธุกรรมให้กับเซลล์เพาะเลี้ยง เพื่อดูฤทธิ์ทางชีวภาพได้อย่างจำเพาะ โดยนำภาพถ่ายการออกฤทธิ์เป็นรายวินาทีมาเปรียบเทียบหน้าตายาได้หลายตำรับเพื่อหาความแตกต่าง ซึ่งสามารถต่อยอดในภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ในระดับแชมเปี้ยนได้ ทั้งนี้ ไทยเป็นฐานผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากมายรวมทั้งเวชภัณฑ์ที่มีโอกาสค่อนข้างมากในตลาด จึงต้องผลักดันนวัตกรรมตั้งแต่ฐานข้อมูล การกำหนดตลาด มองร่วมกันจากหลายภาคส่วน
ด้านนายศุภสิทธิ์ ปราชญาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซลล์ดีเอ็กซ์ จำกัด กล่าวว่าจากประสบการณ์ในการทำสตาร์ทอัพไบโอเทคที่สหรัฐอเมริกา จึงสนใจเทคโนโลยีของศิริราชด้านโอมิกส์เชิงระบบและเซลล์ไลน์ไบโอเซ็นเซอร์ เพราะเห็นช่องทางในการต่อยอดงานด้านสมุนไพรที่จะเดินหน้าไปทั้งด้านการวิจัยและพัฒนา การทดสอบฤทธิ์ การควบคุมการผลิต รวมถึงการคัดเลือกวัตถุดิบ จึงได้ก่อตั้งบริษัท เซลล์ดีเอ็กซ์ เพื่อทดสอบสารออกฤทธิ์ด้วยเทคโนโลยีของนักวิจัย ซึ่งตนมองว่าไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพมาก ถ้านำความรู้ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่และเภสัชวิทยาเชิงระบบที่มีการวางแผนงานและข้อมูลที่ชัดเจนก็จะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อผู้ประกอบการ ซึ่งสอดคล้องกับการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศ
ในโอกาสนี้ สกว.ได้จัดแสดงผลงานจากการวิจัย ประกอบด้วย สมุนไพรและผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสมุนไพรอินทรีย์ ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ รวมถึงฟ้าทะลายโจรแห้งอินทรีย์และเพชรสังฆาตอินทรีย์ ซึ่งผ่านมาตรฐาน IFOAM และนำส่งแก่มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, ผลิตภัณฑ์จากเมืองสปาน้ำพุร้อน อ.คลองท่อม จ.กระบี่ โดยคณะวิจัยจากสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประกอบด้วย สบู่กาแฟเขียว มาส์กกาแฟแบบลอกออกได้ ที่มีส่วนผสมของกาแฟเชอร์รี่ สารกลุ่มโพลีฟีนอล ได้แก่ คาเฟอีนและฟลาโวนอยด์ ตลอดจนสารสกัดมะหาด ชะเอมและกรดโคจิก รวมถึงครีมนวดน้ำพุร้อนเค็ม ครีมนวดน้ำพุร้อนและโลชั่นน้ำตกร้อน ด้วยคุณสมบัติของน้ำตกร้อนด้านความงามมาผสมผสานกับกาแฟเชอร์รี่ สารสกัดจากมะหาด ชะเอม กรดโคจิก และแก่นฝาง, เซรั่มเสริมการงอกของเส้นผมจากสารสกัดจากแสมทะเล โดย ศ. ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ น.ส.วรอนงค์ พฤกษากิจ ที่ช่วยชะลอการหลุดร่วงและกระตุ้นการงอกของเส้นผม โดยผลการทดสอบในอาสาสมัครที่มีภาวะผมร่วงแบบพันธุกรรมในเพศชายเป็นเวลา 4 เดือน พบว่าบริเวณที่ตอบสนองต่อสารสกัดส่วนใหญ่ คือ บริเวณกลางศีรษะซึ่งเกิดการหลุดร่วงต่อจากด้านหน้าเหนือหน้าผาก
เวทีเสวนา
สมุนไพรอินทรีย์ ท่ามะไฟหวาน
เซรั่มลดผมร่วงจากแสมทะเล
นักวิจัยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่ามะไฟหวาน
ผลิตภัณฑ์แปรรูปวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสมุนไพ
ผู้บริหารปราชญาและผลิตภัณฑ์