ข่าวความเป็นไปของฝุ่นพิษ PM2.5 ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ในด้านหนึ่งได้สร้างความตื่นตัวในประเด็นว่าด้วยสุขภาพให้กับสังคมไทยอย่างเอิกเกริก และส่งผลให้กลไกภาครัฐต้องขยับตัวเร่งแก้ไขสถานการณ์ฝุ่นพิษอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีการหลากหลาย ซึ่งสะท้อนวิถีความคิดและศักยภาพในการบริหารจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเป็นไปของสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 ในด้านหนึ่งอยู่ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา สังคมไทยเผชิญกับภาวะมลพิษทางอากาศ และคุณภาพอากาศเลวร้ายมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นขนาดใหญ่ PM10 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝุ่นจากผลของการก่อสร้าง
ขณะที่ฝุ่นพิษ PM2.5 ก็เคยปรากฏให้เห็นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หากแต่ได้รับการประเมินว่าเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในลักษณะ “ตามฤดูกาล” และจะบรรเทาเบาบางลงเมื่อเวลาเปลี่ยนผ่านไป
กระบวนทัศน์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควบคู่กับสำนึกตระหนักทางสังคมในมิติดังกล่าวทำให้สถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 เกิดขึ้นซ้ำซากในแต่ละปี และพร้อมที่จะทวีความหนักหน่วงรุนแรงเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ตามปริมาณฝุ่นที่สะสมอยู่ในสภาพแวดล้อม ขณะที่แหล่งที่มาหรือต้นทางแห่งการเกิดฝุ่นพิษ PM2.5 ยังดำเนินไปอย่างเป็นปกติ โดยไม่ได้มีมาตรการระยะยาวในการจัดการที่เป็นรูปธรรมมากนัก
ประเด็นที่น่าสนใจจากความพยายามของกลไกภาครัฐในการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 ในด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นมิติของการขับเคลื่อนองคาพยพของหน่วยงานราชการ เมื่อการประชุมในระดับคณะรัฐมนตรีมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวรวมมากถึง 11 หน่วยงาน
ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ สำนักนายกรัฐมนตรี
แนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในเขตกรุงเทพมหานครปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ภายใต้กลไกรัฐที่กำกับดูแลเหล่านี้ พยายามระบุว่า กรอบแนวคิด แนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่เกิดขึ้นนี้ จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้องพิจารณาผลกระทบในทุกมิติ โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน โดยวางเป้าหมายไว้ที่การ “สร้างอากาศดี เพื่อคนไทย และผู้มาเยือน”
ภายใต้กรอบแนวคิดดังกล่าว มาตรการและแนวทางการดำเนินงาน เป็นการเตรียมการป้องกันและลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จึงถูกกำหนดไว้เป็น 3 ระยะ ทั้งระยะเร่งด่วน ซึ่งเป็นช่วงที่ปริมาณฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและพบค่าเกินมาตรฐาน ระยะปานกลาง มาตรการระยะกลาง (พ.ศ.2562-2564) เป็นการลดการระบายมลพิษและลดจำนวนแหล่งกำเนิด และมาตรการระยะยาว (พ.ศ.2565-2567) ที่ต่อเนื่องจากมาตรการระยะกลาง
หรือหากกล่าวอย่างถึงที่สุด มาตรการที่กลไกภาครัฐกำลังวางไว้เป็นแนวทางในการจัดการต่อปัญหาคุณภาพอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 นี้ ดำเนินไปด้วยวิสัยทัศน์ที่มีกรอบระยะเวลาไม่ถึง 5 ปี นับจากปี 2562-2567 ซึ่งไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการวางยุทธศาสตร์ในการจัดการต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องหน้านี้ได้เลย
ประเด็นที่น่าสังเกตจากมาตรการและแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 ของกลไกภาครัฐในลักษณะดังกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นความพร่องไปในมิติของวิสัยทัศน์ และการวางกรอบโครงในเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หากแต่ยังดำเนินไปภายใต้มาตรการเฉพาะหน้าที่ย่อมสามารถประสบผลได้ในระดับพยุงสถานการณ์ มากกว่าการพัฒนาเพื่อคุณภาพที่ดีขึ้นจากที่เป็นอยู่
วิถีความคิดในลักษณะดังกล่าวนี้ปรากฏชัดในถ้อยแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งดูจะมีจุดเน้นอยู่ที่การให้ทุกส่วนราชการต้องดำเนินการเพิ่มและยกระดับมาตรการต่างๆ ให้เข้มงวดขึ้น เมื่อระดับปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ปรับตัวสูงขึ้น หรือแม้กระทั่งการให้อำนาจและหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีปัญหาฝุ่นละออง ใช้กฎหมายที่มีอยู่เข้าไปควบคุมพื้นที่หรือควบคุมแหล่งกำเนิดที่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญหรือมีผลกระทบต่อประชาชนเพื่อระงับยับยั้งสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและกำลังดำเนินไปสู่ภาวะวิกฤต
หากแต่มาตรการขั้นสูงสุดเมื่อสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 ไม่ลดลงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในยุคสมัยแห่ง คสช. นี้สามารถคำนึงถึงได้กลับอยู่ที่การกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ และพิจารณากลั่นกรองแนวทางในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กโดยจะต้องนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาในการสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นแนวทางหรือมาตรการในการลดมลพิษ
มาตรการในลักษณะของการเพิ่มจุดตรวจจับควันดำ การเข้มงวดตรวจสอบตรวจจับรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพก่อนออกให้บริการ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้มีรถควันดำวิ่งโดยเด็ดขาด หรือการปรับเปลี่ยนและส่งเสริมการใช้น้ำมัน B20 ในรถโดยสารดีเซล และการเร่งรัดนำน้ำมันดีเซลเทียบเท่ามาตรฐาน EURO 5 (กำมะถันไม่เกิน 10ppm) มาจำหน่ายในพื้นที่ในกรุงเทพมหานครปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ในช่วงเวลาวิกฤต ควรเป็นมาตรการขั้นพื้นฐานในการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่มาตรการเพื่อแก้ปัญหาอย่างที่เป็นอยู่
ขณะที่การตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมป้องกันและควบคุมการระบายฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ด้วยอุปกรณ์และเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการกำหนดมาตรฐานระบายอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่า EU และ USA ก็ควรเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ประเทศไทยซึ่งกำลังมุ่งหน้าพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก EEC เชื่อว่าจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมไทยในอนาคต ควรพิจารณาและดำเนินการอย่างรัดกุม ใช่โดยละเลยอย่างที่ผ่านมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการใช้ ม.44 ระงับการใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อประโยชน์ให้มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในเขต EEC โดยไม่ต้องผ่านการศึกษาผลกระทบด้านชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมทั้ง EIA (Environmental Impact Assessment) และ EHIA (Environmental Health Impact Assessment) เพียงเพราะรัฐ คสช. ต้องการโหมประโคมการลงทุนในพื้นที่เพื่อให้เป็นผลงานหลักของรัฐบาลแต่เพียงลำพัง โดยไม่สำนึกตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาวจากนั้น
หากการเผาในพื้นที่โล่งแจ้ง ทั้งโดยเกษตรกรหรือผู้ประกอบการอื่นๆ จะได้รับการกล่าวถึงในฐานะที่เป็นมูลเหตุหลักในการสร้างให้เกิดมลภาวะทางอากาศและฝุ่นพิษในช่วงที่ผ่านมา “ไฟไหม้ฟาง” ที่เกิดจากมาตรการระยะสั้นของกลไกในหน่วยงานภาครัฐ ที่ขาดแนวทางที่ชัดเจนในการวางกรอบโครงเชิงนโยบายเพื่อการก้าวไปสู่อนาคตที่มั่งคั่งยั่งยืนอย่างมีคุณภาพและสุขภาพทางเศรษฐกิจสังคม ก็คงเป็นยิ่งกว่ามลภาวะที่เป็นพิษ ที่พร้อมจะบั่นทอนและฉุดรั้งรากฐานของสังคมไทยให้ถดถอยลงไปอีก
ภาวะสุกเอาเผากิน อย่างขาดความเข้าใจและความสามารถในการจัดการต่อสถานการณ์เบื้องหน้าที่ปรากฏผ่านฝุ่นพิษ PM2.5 อยู่นี้ กำลังสะท้อนข้อเท็จจริงของความคาดหวังของสังคมไทยที่มุ่งหมายจะก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างน่ากังขาถึงผลสัมฤทธิ์อย่างยิ่ง