ประเด็นปัญหาว่าด้วยเศรษฐกิจไทยรอบล่าสุด นอกจากจะผูกพันอยู่กับภาวะถดถอยที่แผ่กว้างออกไปและยังไม่มีวี่แววว่าจะไปสิ้นสุดที่จุดต่ำสุดเมื่อใด กำลังถูกถาโถมจากข้อเท็จจริงอีกด้านว่าด้วยความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ผลักให้ประเทศไทยก้าวสู่อันดับโลก และสะท้อนความเป็นไปของวาทกรรมว่าด้วย รวยกระจุก จนกระจาย ที่เด่นชัดที่สุดอีกครั้ง
รายงานของ CS Global Wealth Report 2018 ที่นำเสนอออกมาเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาระบุว่าความมั่งคั่งของไทยในช่วงปี 2018 จำนวนกว่าร้อยละ 66.9 ถูกครอบครองโดยกลุ่มประชากรเพียงร้อยละ 1 ขณะที่ในปี 2016 ประมาณการกลุ่มนี้มีทรัพย์สินเพียงร้อยละ 58.0 หรือหากกล่าวอีกนัยหนึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประชากรกลุ่มชนผู้มั่งคั่งนี้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอีกถึงร้อยละ 8.9 เลยทีเดียว
ขณะเดียวกัน รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุว่า ประชากรคนไทยกลุ่มที่ยากจนที่สุดร้อยละ10 กลับไม่มีทรัพย์สินถือครองเลย หรือถือครองทรัพย์สินรวมในอัตราร้อยละ 0 ซึ่งในกรณีเช่นว่านี้ยังไม่ได้นับรวมถึงภาระหนี้ ซึ่งอาจทำให้ตัวเลขในส่วนนี้ อยู่ในระดับที่ต้องติดลบ ขณะที่คนไทยร้อยละ 50 มีทรัพย์สินรวมประมาณร้อยละ 1.7 หรือหากนับประชากรร้อยละ 70 ก็มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็นเพียงร้อยละ 5 ของทรัพย์สินรวมของประเทศเท่านั้น ซึ่งเป็นภาพสะท้อนว่า คนครึ่งประเทศเป็นกลุ่มคนไม่มีเงินเหลือเก็บออม
ข้อเท็จจริงจากรายงานว่าด้วยความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจฉบับดังกล่าวได้รับการตอบกลับจากหน่วยงานภาครัฐว่าเป็นการนำเสนอข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เพราะเป็นการนำข้อมูลทรัพย์สิน ที่ดิน และบัญชีเงินฝาก มาใช้เป็นฐานในการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นการใช้ข้อมูลด้านเดียว ขาดทั้งข้อมูลเรื่องรายรับ รายจ่าย และหนี้สินครัวเรือนของคนทั้งประเทศมาประกอบส่วน
แต่ที่น่าสนใจกลับเป็นการระบุจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภาครัฐบางราย ที่ชี้ว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นการใช้ฐานข้อมูลเดิม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยไม่มีความเหลื่อมล้ำเช่นนั้นแล้วอีกด้วย
ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ความตระหนักรู้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เพราะแม้ในขณะที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทางการเงิน ทางการเมือง แต่กรณีความเหลื่อมล้ำเช่นว่านี้ หากไม่ได้รับการแก้ไขก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นประหนึ่งระเบิดเวลาทางสังคม ที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพทางสังคมในระยะถัดไป
กลไกภาครัฐพยายามแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ด้วยการจัดทำมาตรการที่เชื่อว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ ไม่ว่าจะเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยต่ำในสถานธนานุเคราะห์ หรือโรงรับจำนำของรัฐ การนำเสนอบ้านปันสุขเพื่อผู้สูงอายุ การให้สิทธิคนพิการทุกประเภท ผ่านบัตรประชาชนใบเดียว หรือแม้กระทั่งการขยายเงินอุดหนุนเดือนละ 400 บาท นับตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ขวบในปัจจุบัน ให้ขยายไปถึง 6 ขวบในอนาคต
ข้อสังเกตจากแนวความคิดในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในมิติของภาครัฐส่วนใหญ่ดำเนินไปภายใต้กรอบวิธีคิดแบบประชาสงเคราะห์และรัฐสวัสดิการ ที่นำไปสู่ประเด็นปัญหาว่าด้วยแหล่งที่มาของเงินในการนำมากระจาย เพราะผู้คนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ก็ไม่ได้อยู่ในฐานะที่ถือครองทรัพย์สินมากมายอยู่แล้ว
ความเป็นไปอีกด้านหนึ่งของเศรษฐกิจไทย ที่สะท้อนความหนักหน่วงของสถานการณ์ระดับครัวเรือนไทยอยู่ที่รายงานการกู้ยืมเงินภาคครัวเรือนของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า หนี้ครัวเรือนของประเทศไทย ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2561 มีจำนวนมากถึง 12,343,569 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ถึง 281,870 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่สูงมากในระยะเวลาเพียงสองไตรมาสเท่านั้น
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาล คสช. พยายามนำเสนอข้อมูลเศรษฐกิจไทยว่ากำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว หากแต่เมื่อเปรียบเทียบภาระหนี้ครัวเรือนย้อนหลังไปเมื่อครั้งที่ คสช. เริ่มเข้าสู่กลไกการบริหารประเทศด้วยการยึดอำนาจในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2557 แล้วกลับพบว่า หนี้ครัวเรือนในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 มีจำนวน 10,139,384 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าในช่วงระยะเวลาที่รัฐบาล คสช. อยู่บนอำนาจกว่า 4 ปีนี้ ประชาชนชาวไทยมีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นมากกว่า 2.2 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว
ประเด็นที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ จำนวนหนี้สินตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามที่รายงานนี้ เป็นเพียงตัวเลขหนี้ในระบบของภาคครัวเรือนที่มีต่อธนาคารและสถาบันการเงิน ไม่ได้รวมถึงหนี้นอกระบบแต่อย่างใด ซึ่งอาจจะมีปริมาณรวมสูงเกินกว่าที่เยียวยาและแก้ไขในระยะเวลานับจากนี้ไม่น้อย
ความเป็นไปของหนี้ครัวเรือนไทย ดูจะเป็นภาพสะท้อนความตกต่ำและกำลังซื้อที่ถดถอยไปของสังคมไทยไม่น้อย โดยในการสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทย ปี 2561 พบว่า ประชาชนมากถึงร้อยละ 87.4 มีหนี้สิน ซึ่งเป็นหนี้เพื่อการจ่ายทั่วไป หนี้ซื้อพาหนะ หนี้เพื่อประกอบธุรกิจ โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 316,623 บาทต่อครัวเรือน มีอัตราการขยายตัวของหนี้อยู่ที่ร้อยละ 5.8 มียอดผ่อนชำระเฉลี่ยอยู่ที่ 15,925 บาทต่อเดือน
ขณะที่สถิติการขยายตัวของหนี้นอกระบบนั้นมากถึงร้อยละ 18.7 ซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทรุดต่ำลง ไม่ว่าจะเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมากเช่นนี้ นับเป็นเครื่องชี้วัดที่ชัดเจนต่อเสถียรภาพทางการเงินของประชาชนไทย ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นหนี้ และมีภาระในการชำระหนี้เฉลี่ยต่อเดือนสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งก็มีทิศทางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ต่างจากหนี้สาธารณะอันเป็นหนี้สินของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ
ภาพสะท้อนแห่งความเป็นจริงและเป็นไปของเศรษฐกิจไทยที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้านี้ นอกจากจะเป็นการตอกย้ำข้อเท็จจริงถึงสถานการณ์เศรษฐกิจว่าดำเนินไปในทิศทางอย่างไรแล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังเป็นบทพิสูจน์ว่าตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่รัฐบาล คสช. กุมอำนาจการบริหารประเทศ สามารถขับเคลื่อนและนำพาเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นจริงหรือไม่
มาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ได้รับการระดม โหมประโคมให้กับผู้ยากจนตามนิยามของรัฐดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากจะได้รับการประเมินในฐานะที่เป็นเพียงการนำภาษีของประชาชนมาใช้ และสุ่มเสี่ยงต่อข้อครหาว่าดำเนินไปเพื่อการหวังผลทางการเมืองอย่างน่ารังเกียจแล้ว
กรณีดังกล่าวยังสะท้อนระบบวิธีคิดของกลไกรัฐในการแก้ปัญหาภาพรวมทางเศรษฐกิจและหนี้สินของประชาชนที่เป็นปัญหาหลักที่สั่งสมมากขึ้นในห้วงเวลาปัจจุบันไม่น้อยเลย