วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ลุ้นวิกฤต “เทสโก้โลตัส” แผนซีพียึดตลาดค้าปลีก

ลุ้นวิกฤต “เทสโก้โลตัส” แผนซีพียึดตลาดค้าปลีก

 
แม้ล่าสุด เดฟ ลูอีส ซีอีโอคนใหม่ของเทสโก้ออกมาประกาศแผนฟื้นฟูระยะแรก เพื่อกอบกู้วิกฤตครั้งใหญ่ แต่นั่นเป็นเพียงก้าวแรกและจนถึงล่าสุด บริษัทแม่ยังไม่ยืนยันชัดเจนว่า นโยบายของเทสโก้ในสหราชอาณาจักรจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของเทสโก้โลตัสในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร “ขาย” หรือ “ไม่ขาย”
 
ตามแผนกอบกู้สถานการณ์ทางการเงิน ผลพวงจากปัญหาภายในเกี่ยวกับการรายงานผลประกอบการผิดพลาด ความเชื่อมั่นดิ่งเหวจนฉุดรายได้ยอดขายตกต่ำ ประกอบด้วยการปิดสำนักงานใหญ่และสาขาในประเทศอังกฤษที่ไม่ทำกำไร 43 สาขา พับแผนเปิดสาขาขนาดใหญ่อีก 49 สาขา ยกเลิกการจ่ายปันผล ยกเลิกเงินบำนาญพนักงาน ขายธุรกิจบรอดแบนด์และธุรกิจสื่อบันเทิงออนไลน์ Blinkbox รวมถึงขายธุรกิจวิเคราะห์ข้อมูล “Dunnhumby”
 
เดฟ ลูอีส ระบุด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อบรรดาผู้เกี่ยวข้องกับบริษัท แต่ต้องเผชิญกับความเป็นจริงของสถานการณ์ ซึ่งนี่เป็นเพียงก้าวแรกและยังมีอีกหลายเรื่องต้องทำ
 
ก่อนหน้านี้ เกิดกระแสข่าวเกี่ยวกับหนทางหนีตายของเทสโก้ 3 แนวทาง ทางเลือกแรก คือ การขายสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงสุด ได้แก่ ธุรกิจเทสโก้โลตัสในภูมิภาคเอเชีย 3 ประเทศ คือ ไทย เกาหลี และมาเลเซีย เนื่องจากบริษัทสามารถระดมทุนได้จำนวนมาก
 
ทางเลือกที่ 2 ขายหุ้นทั้งหมด หรือบางส่วนของธนาคารเทสโก้ แบงก์ หลังจากเมื่อปี 2551 เทสโก้ต้องจ่ายเงินเกือบ 1 พันล้านปอนด์ เพื่อซื้อธนาคาร รอยัล แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์ โดยธนาคารมีลูกค้าราว 6 ล้านคน และมีพนักงานมากกว่า 4,000 คน ส่วนทางเลือกที่ 3 ขายบริษัท Dunnhumby เพราะมีบริษัทเอกชนสนใจจำนวนมาก 
 
ผลก็คือ เทสโก้ตัดสินใจขายบริษัท Dunnhumby ตามกระแสข่าว ซึ่งนั่นทำให้เทสโก้โลตัสในประเทศไทยยังไม่สามารถยืนยันอนาคตชัดเจนได้ โดยเฉพาะหากผลลัพธ์จากแผนกู้วิกฤตรอบแรกไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายและฟื้นฟูความเชื่อมั่นจนพลิกรายได้ยอดขายกลับมาเติบโต 
 
ขณะที่กิจการเทสโก้โลตัสในประเทศไทยได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะยักษ์ค้าปลีกทั้ง 3 ค่าย ไม่ว่าจะเป็นเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เซ็นทรัลกรุ๊ป และเครือทีซีซีของเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งทั้งสามกลุ่มเคยเปิดศึกชิงชัยตั้งแต่ดีลการซื้อ “แม็คโคร” เมื่อปี 2556 แต่ถูกซีพีตัดหน้าไปได้ก่อน
 
ทั้งนี้ เมื่อปลายปี 2557 ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือซีพี เปิดห้องแถลงจุดยืนชัดเจนว่า “ถ้าเขาขาย ผมก็สนใจซื้อ เพราะโลตัสเหมือนลูกที่เราเลี้ยง เราก็รัก แต่เมื่อเกิดวิกฤตปี 2540 จึงจำเป็นต้องขายของดีให้คนอื่นเพื่อรักษาธุรกิจหลัก”
 
ต้องถือว่าเครือซีพีเป็นพันธมิตรแนบแน่นกับเทสโก้โลตัสอย่างยาวนาน หากย้อนรอยเส้นทางเริ่มต้นเมื่อบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่นซิสเทม จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) บุกเข้าสู่สมรภูมิค้าปลีกกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต เปิดตัว “โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์” สาขาแรกที่ศูนย์สรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ในปี 2537 โดยเน้นจุดขายการจำหน่ายสินค้าราคาถูก
 
กระทั่งปี 2541 ผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจลามทั่วเอเชีย เครือซีพีประกาศขายหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่นซิสเทม จำกัด ให้ “เทสโก้” กลุ่มค้าปลีกข้ามชาติจากสหราชอาณาจักร และควบรวมชื่อเป็น “เทสโก้โลตัส” แต่ด้วยความเป็นบริษัทค้าปลีกต่างชาติ จึงดึง “สุนทร อรุณานนท์ชัย” ในฐานะผู้บริหารธุรกิจโลตัสซูเปอร์เซ็นเตอร์เดิมและผู้บริหารระดับสูงของเครือซีพี รั้งตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (เทสโก้ โลตัส) จนถึงปัจจุบัน 
 
ธนินท์จึงกล้าแจ้งจุดยืนที่จะดึง “เทสโก้โลตัส” เข้ามาผนึกในอาณาจักรธุรกิจค้าปลีก เพราะเสมือน “จิ๊กซอว์” ตัวสุดท้ายที่จะเติมความสมบูรณ์และความแข็งแกร่งแบบเบ็ดเสร็จ หลังทุ่มเม็ดเงินกว่า 180,000 ล้านบาท ซื้อกิจการค้าส่ง “แม็คโคร” และเพิ่งร่วมทุนกับกลุ่มสยามพิวรรธน์ผุดอภิมหาโปรเจ็กต์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา “ไอคอนสยาม” มูลค่ารวม 50,000 ล้านบาท  เรียกว่า ซีพีสยายปีกครอบคลุมทุกตลาด ทุกเซกเมนต์ ทุกกลุ่มลูกค้า ทุกกลุ่มผู้บริโภค
 
หากดูโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกของซีพีที่ปรับเปลี่ยนและเติบโตอย่างรวดเร็ว แบ่งเป็น 5 กลุ่มหลัก เริ่มจาก “บิ๊กคอมเพล็กซ์” ไอคอนสยาม ซึ่งถือเป็นโครงการเชิงพาณิชย์รวมความหลากหลายและเน้นกลุ่มกำลังซื้อระดับสูง ระดับเศรษฐีและชาวต่างชาติ 
 
กลุ่มค้าส่งค้าปลีก ได้แก่ ห้างแม็คโคร ซึ่งเน้นกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ ร้านอาหารและโรงแรม มีฐานลูกค้ามากกว่า 7 แสนราย ล่าสุดขยายสาขาทั่วประเทศ 74 แห่ง โดยมีการพัฒนารูปแบบมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะศูนย์ค้าส่งขนาดใหญ่ แต่สร้างอีก 2 โมเดล คือ โฟรเซ่นช็อป เน้นเจาะลูกค้าย่านตลาดสดและฟู้ดเซอร์วิส เจาะทำเลเมืองท่องเที่ยวที่มีร้านอาหารและโรงแรมจำนวนมาก 
 
นอกจากนี้ มีซูเปอร์เซ็นเตอร์ที่เครือซีพีไปลงทุนสร้างฐานในประเทศจีนอย่างยาวนาน ได้แก่ ห้างโลตัสและศูนย์การค้าซูเปอร์แบรนด์มอลล์ 
 
กลุ่มร้านสะดวกซื้อ หรือคอนวีเนียนสโตร์ ได้แก่ ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ล่าสุดมีสาขาทั่วประเทศไทยมากกว่า 8,000 แห่งและตั้งเป้าขยายครบ 10,000 สาขาภายในปี 2562 โดยมีกลุ่มสเปเชียลสโตร์ที่บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) พยายามทดลองและขยายไปพร้อมๆ กับร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ได้แก่ ร้านขายยาเอ็กซ์ต้า ร้านหนังสือบุ๊คสมาย
 
กลุ่มร้านอาหาร  ได้แก่ เชสเตอร์กริลล์ ธุรกิจห้าดาว ร้านอาหารจานด่วน “ซีพีคิทเช่น” ร้านเดอะกริลล์ ร้านสเต๊กหมูคูโรบูตะ สเต๊กปลา ร้านสแน็กทูโก และฟู้ดคอร์ทโมเดลใหม่ “ซีพีฟู้ดเวิล์ด” ซึ่งขยายสาขาจำนวนมากตามการเติบโตของศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ มีทั้งการลงทุนของบริษัทและการขายแฟรนไชส์ ล่าสุดเพิ่มประเภทร้านข้าวมันไก่ห้าดาวและบะหมี่ห้าดาว  
 
กลุ่มมินิซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านขายอาหารพร้อมปรุงพร้อมทาน  ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปรับเปลี่ยนโมเดลอย่างเข้มข้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากจำหน่ายสินค้ากลุ่มอาหารแช่แข็งและอาหารพร้อมปรุงในเครือซีพีแล้ว ยังเพิ่มสินค้ากลุ่มวัตถุดิบเพื่อประกอบอาหาร ทั้งเครื่องปรุง เครื่องครัว เครื่องดื่มต่างๆ รวมถึงเสริมบริการรับชำระเงิน “ทรูมั่นนี่” ไม่ต่างจากร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น 
 
ตามเป้าหมายปี 2562 ซีพีจะขยายร้านซีพีเฟรชมาร์ทครบ 1,500 แห่ง ซีพีเฟรชมาร์ทพลัส 100 แห่ง และตู้เย็นชุมชนทั่วประเทศไทยรวม 50,000 จุด 
 
จาก “ต้นน้ำ” ขยายสู่ปลายน้ำ ณ เวลานี้ อาณาจักรธุรกิจค้าปลีกของซีพีเหลือเพียงจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่เคยทิ้งไปเมื่อหลายปีก่อน จุดเปลี่ยนของ “เทสโก้โลตัส” จึงจุดประกายความหวังให้ธนินท์อีกครั้ง เพราะไม่ใช่แค่การฮุบช่องทางไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มากที่สุด แต่ยังหมายถึงการยึดตลาดค้าปลีกอย่างสมบูรณ์แบบด้วย