ท่ามกลางความอึมครึมของสงครามการค้าระหว่าง 2 มหาอำนาจระดับนำทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน ที่กำลังส่งผ่านคลื่นแห่งความกังวลใจและพร้อมจะฉุดรั้งให้เศรษฐกิจของโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ดูเหมือนว่าดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจไทยในช่วงตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปีได้แสดงอาการอ่อนไหวและตอบรับ “ภาวะซึมไข้” แล้วอย่างช้าๆ
แนวโน้มแห่งอาการซึมไข้ทางเศรษฐกิจของไทยไม่ได้ปรากฏให้เห็นเฉพาะจากตัวเลขในไตรมาสที่ 3 เท่านั้นหากนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยต่างระบุว่าห้วงเวลานับจากนี้ เศรษฐกิจของไทยกำลังดำเนินไปในทิศทางชะลอตัวต่อเนื่องทั้งในช่วงไตรมาสที่ 4 ส่งท้ายปี และส่งผลซบเซาเลยไปสู่ภาวะเศรษฐกิจในช่วงปี 2562 อีกด้วย
ข้อมูลที่นำไปสู่การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในเชิงลบส่วนหนึ่งตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า ตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนกันยายนที่ผ่านมาปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 5.2 ซึ่งนับเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 19 เดือน โดยมีประเด็นว่าด้วยข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาเป็นปัจจัยหลักในการกดทับภาวการณ์เช่นนี้
นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยประเมินว่าข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในสินค้าหลายประเภท โดยเฉพาะสินค้าส่งออกที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของจีน ขณะเดียวกันก็อาจได้รับผลจากทิศทางการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนอีกด้วย
ความเป็นไปในอีกด้านหนึ่งอยู่ที่ตัวเลขเศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2561 ขยายตัวในทิศทางที่ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.5 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2552 แม้ว่าผลของการเร่งการผลิตของภาคอุตสาหกรรมนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2561 มาช่วยประคองภาพรวมของการส่งออกในไตรมาสที่ 3/2561 ให้ยังคงขยายตัวร้อยละ 11.2 โดยเฉพาะการเร่งส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ ซึ่งช่วยประคับประคองเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 3/2561 ให้ยังเติบโตได้ร้อยละ 6.5
หากแต่ท่ามกลางประเด็นข้อพิพาททางการค้าที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับการบริโภคภาคครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2/2561 ส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรม (Industrial production) ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องและทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 4/2561 อาจจะชะลอตัวลงจากไตรมาส 3/2561 หนักหน่วงขึ้นอีก
ผลจากมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ที่เข้มข้นขึ้น ส่งผลให้สัญญาณเศรษฐกิจไม่สดใสและมีแนวโน้มจะชะลอลงต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีมาตรการและการประคองจากการลงทุนของภาครัฐ ตลอดจนมาตรการสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งอาจจะมีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 4/2561 เติบโตได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.2 และทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนทั้งปี 2561 ยังคงยืนหยัดอยู่ได้ที่ร้อยละ 6.6 ก็ตาม
กระนั้นก็ดี การอัดฉีดสภาพคล่องในระบบการเงินจีนท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ประกอบกับค่าเงินหยวนที่ใกล้แตะ 7 หยวนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นแนวรับทางจิตวิทยาที่สำคัญอาจทำให้การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของทางการจีนในระยะข้างหน้ามีข้อจำกัดมากขึ้น และไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งจีนและภูมิภาค
พัฒนาการทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงนับจากนี้ จึงขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจจะทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินของจีนที่มีข้อจำกัดมากขึ้น ซึ่งทำให้เศรษฐกิจจีนในปี 2562 ดำเนินไปในทิศทางที่ชะลอลง และอาจทำให้ปัญหาหนี้ของภาคธุรกิจกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ซึ่งนับเป็นความท้าทายในเชิงนโยบายสำหรับอนาคตที่ทางการจีนต้องเผชิญไม่น้อยเลย
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้นักวิเคราะห์จำนวนมากประเมินว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่เคยขยายตัวในระดับ 6.7-6.8 มาอย่างต่อเนื่องในแต่ละไตรมาสกำลังจะเป็นเพียงภาพอดีตที่ยากจะหวนคืน เพราะท่ามกลางบริบทของการปฏิรูปและปรับสมดุลทางเศรษฐกิจภายในประเทศของจีนผนวกกับแรงกดดัน ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดศึกทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา โดยต่างฝ่ายต่างตั้งกำแพงภาษีสินค้าโต้ตอบกันและยังไม่มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายนี้
ภาวะวูบไหวของเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 10 ปีดังกล่าวนี้ กำลังส่งสัญญาณลบให้กับนานาประเทศรวมถึงไทยอย่างไม่อาจเลี่ยง เพราะในขณะที่ทางการจีนต้องประคับประคองและปรับสมดุลเศรษฐกิจภายในประเทศ อาจติดตามมาด้วยมาตรการผ่อนปรนและกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งย่อมส่งผลในเชิงแข่งขันกับประเทศคู่ค้าของจีนด้วย
ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ข้อเท็จจริงที่ว่าเศรษฐกิจเอเชียซึ่งเคยเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตอย่างโดดเด่น เริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ตามทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และการส่งออกที่ชะลอตัวลง ซึ่งกำลังสร้างความวิตกกังวลว่าจะนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคในอนาคตได้อย่างไม่ยากเลย
ขณะที่ข้อเท็จจริงในกรณีของไทย ต้องยอมรับว่าการเติบโตในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกเป็นด้านหลัก ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ที่ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวค่อนข้างดีในช่วงก่อนหน้า และการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากจีนที่หลั่งไหลเข้ามา ทั้งที่ปัจจัยภายในประเทศของไทยตลอดช่วงเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ต้องนับว่ายังไม่มีอะไรใหม่ให้สามารถหยิบยกขึ้นมาเป็นประจักษ์พยานของการพัฒนาได้อย่างโดดเด่น
ปัญหาใหญ่ที่กำลังท้าทายสังคมไทยนับจากนี้อยู่ที่ว่า ปัจจัยบวกจากภายนอกที่เคยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนหน้านี้กำลังหดหายไป ในด้านหนึ่งเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะเติบโตเต็มศักยภาพและกำลังอยู่ในช่วงชะลอตัวลง ซึ่งนำไปสู่คำถามที่ท้าทายว่าปัจจัยภายในประเทศของไทยพร้อมรองรับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้หรือไม่และอย่างไร
เพราะตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้สูญเสียโอกาสในการพัฒนาไปอย่างน่าเสียดายและทำให้นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งรวมทั้งธนาคารโลกถึงกับประเมินพัฒนาการในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาของไทยในฐานะที่เป็น “ทศวรรษแห่งความสาบสูญ” หรือ lost decade ที่ผ่านเลยไปอย่างไร้ประโยชน์ บางทีทศวรรษใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นท่ามกลางคำขวัญและนโยบายสวยหรูว่าด้วย “ไทยแลนด์ 4.0” และ “เศรษฐกิจดิจิทัล” หรือ “ไทยนิยม มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่จะเห็นได้เพิ่มขึ้น
นับจากนี้ จากผลของยุทธศาสตร์ชาติ 20 อาจเป็นทศวรรษที่นำพาความจำเริญรุดหน้าไปในอนาคต หรืออาจกลายเป็นเพียงหลักยึดที่ผูกโยงสังคมไทยไว้ไม่ให้เคลื่อนที่ไปไหนได้ไกลจากสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ในขณะนี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการของทั้งกลไกภาครัฐและสังคมไทยที่ต้องพิสูจน์