วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > แจ็ค หม่า อำลา Alibaba สะท้อนพัฒนาการเอกชนจีน?

แจ็ค หม่า อำลา Alibaba สะท้อนพัฒนาการเอกชนจีน?

การประกาศของ Jack Ma เพื่อก้าวลงจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท Alibaba เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในด้านหนึ่งอาจเป็นข่าวที่สร้างความตื่นตาตื่นใจและดึงความสนใจต่อสาธารณชนวงกว้างว่า การเปลี่ยนผ่านของอาณาจักรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่า 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 13 ล้านล้านบาทแห่งนี้จะดำเนินไปอย่างไร

ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญนี้ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมาย เพราะก่อนหน้านี้ Jack Ma ได้ขยับบทบาทด้วยการส่งมอบตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ Alibaba ให้กับ Jonathan Lu เมื่อปี 2013-2015 ในช่วงขณะที่ Alibaba กำลังยื่นขอเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) และเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) ซึ่งทำให้ Alibaba สามารถระดมทุนได้มากถึง 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และกลายเป็นการระดมทุนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กอีกด้วย

แต่ความสำเร็จของการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ไม่ใช่หลักประกันในความสำเร็จและความท้าทายของ Alibaba ในอนาคต และเป็นเหตุให้ Jack Ma ผลักดัน Daniel Zhang ให้ขึ้นมาเป็น CEO แทน Jonathan Lu ในปี 2015 ก่อนที่ Jack Ma จะประกาศส่งมอบตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทให้กับ Daniel Zhang ในห้วงระยะหนึ่งปีนับจากนี้ โดยจะมีผลในเดือนกันยายนปี 2019 ซึ่งสอดรับกับโอกาสครบรอบ 20 ปีของการก่อตั้ง Alibaba

ในจดหมายของ Jack Ma ที่มีถึงลูกค้า พนักงาน และผู้ถือหุ้นของ Alibaba เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า เขาครุ่นคิดและเตรียมการสำหรับการส่งมอบภารกิจนี้มานานถึง 10 ปี และยินดีที่จะประกาศแผนพร้อมขอบคุณการสนับสนุนจาก Alibaba Partnership และคณะกรรมการบริหารทุกคน ที่ได้ให้ความไว้วางใจ การสนับสนุน และการร่วมมือในกิจการมานานกว่า 19 ปี จึงทำให้ Alibaba เติบโตขึ้นมาอย่างมั่นคงและแข็งแกร่งเช่นในวันนี้

สิ่งที่น่าสนใจในจดหมายของ Jack Ma ประการหนึ่งอยู่ที่การเน้นย้ำว่าการเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้ทำให้ Alibaba ก้าวไปอีกขั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนจากบริษัทที่ยึดติดกับตัวบุคคล ไปสู่บริษัทที่มีธรรมาภิบาลในการจัดการองค์กร และส่งเสริมวัฒนธรรมที่พัฒนาคนเก่งให้เป็นทรัพยากรขององค์กร รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

“บริษัทที่ยั่งยืนจะต้องตั้งอยู่บนการบริหารที่ดี มีปรัชญาที่ยึดถือวัฒนธรรมเป็นศูนย์กลางไม่มีบริษัทใดที่จะพึ่งพิงกับผู้ก่อตั้งบริษัทแต่เพียงผู้เดียว เพราะภายใต้ข้อจำกัดทางกายภาพ ทั้งในมิติของศักยภาพและพละกำลัง ย่อมไม่มีใครสามารถแบกหน้าที่ของการเป็นประธานและซีอีโอไปได้ตลอด” Jack Ma ระบุในช่วงหนึ่งของจดหมาย

ข้อเท็จจริงแห่งความเป็นไปของ Alibaba ในช่วงที่ผ่านมาก็คือ ภาพลักษณ์ของ Jack Ma มีความโดดเด่นอย่างมากและอาจเรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ ไม่ใช่เฉพาะต่อ Alibaba เท่านั้น หากยังเป็นประหนึ่งตัวแทนของพัฒนาการทางเศรษฐกิจ-การค้าจีนยุคใหม่ที่ดำเนินต่อเนื่องมาในช่วง 2 ทศวรรษนี้

พัฒนาการทางธุรกิจของ Alibaba และจังหวะก้าวของ Jack Ma ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ในด้านหนึ่งอาจเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของทั้งในจีนและทั่วโลก ไม่แตกต่างจากกรณีของผู้ประกอบการอย่าง Jeff Bezos แห่ง Amazon หรือการเกิดขึ้นของ Facebook จากความคิดของ Mark Zuckerberg และผองเพื่อน

หากแต่บริบทภายในของจีนในห้วงเวลานับจากนี้ ดูจะทำให้โอกาสในการผลิตซ้ำหรือสร้างนักธุรกิจแบบ Jack Ma และ Alibaba ให้เกิดขึ้นมาเป็นตำนานบทใหม่ไม่ได้ดำเนินไปอย่างสะดวกง่ายดายอีกแล้ว

ในช่วงปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการค้าการลงทุน โดยพยายามกดดันให้บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งของจีนยุติการลงทุนซื้อทรัพย์สินในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา และให้ทยอยขายทรัพย์สินที่ซื้อมาแล้วนำเงินหยวนกลับประเทศ ภายใต้เหตุที่เกรงว่า บรรษัทเอกชนเหล่านี้จะสร้างภาระหนี้เกินตัว เพื่อนำเงินมาซื้อ-ขยายกิจการ และเป็นการอำพรางนำเงินทุนออกไปนอกประเทศ

ขณะที่ บรรยากาศทางธุรกิจในประเทศจีนก็กำลังดำเนินไปท่ามกลางการปรับเปลี่ยนทั้งในมิติของนโยบายและการกระชับอำนาจในการควบคุมธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีที่เข้มงวดมากขึ้น ผ่านการออกกฎหมายความมั่นคงในโลกไซเบอร์ที่มีผลบังคับตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา

กรณีดังกล่าวได้ส่งผลให้ผลประกอบการของ เทนเซนต์ จำกัด (Tencent) ผู้ผลิตเกมออนไลน์ ยักษ์ใหญ่ของจีน ต้องเผชิญกับภาวะกำไรตกต่ำมากที่สุดในรอบทศวรรษ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้ Tencent วางจำหน่ายเกมดัง Monster Hunter (MonHun) และไม่ให้เก็บรายได้จากเกม PlayerUnknown’s Battlegrounds (PUBG) ที่ล้วนเป็นผลมาจากความเข้มงวดของนโยบายคุมเข้มเนื้อหาในโลกไซเบอร์

การควบคุมที่เพิ่มมากขึ้นจากกลไกรัฐยังกดทับไปยังบริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล ซึ่งทำธุรกิจแอปพลิเคชั่น การเงิน เจ้าของ Alipay และเป็นบริษัทลูกของอาลีบาบา ก็ถูกคุมเข้มจากเงื่อนไขใหม่ๆ ของทางการจีนเช่นเดียวกัน

แม้ Jack Ma จะอธิบายเหตุผลการส่งมอบตำแหน่งใน Alibaba เพื่อปูทางไปสู่การวางมือทางธุรกิจว่า ต้องการทุ่มเทเวลาไปไล่ตามความฝันที่จะทำสิ่งต่างๆ มากมายหลายอย่าง รวมทั้งเรื่องการศึกษา และการทำประโยชน์ให้สังคม หากแต่กรณีเช่นว่านี้ก็ยังทำให้หลายฝ่ายคลางแคลงใจและพยายามหาสาเหตุแท้จริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง

ข้อมูลที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ Jack Ma ได้รายงานแจ้งกับคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา ในฐานะที่ Alibaba จดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก พบว่า Jack Ma ได้ทยอยขายหุ้น Alibaba ไปแล้ว 26.6 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยแจ้งวัตถุประสงค์ว่าเป็นแผนการบริหารจัดการทรัพย์สิน และเพื่อนำเงินไปใช้ในการสังคมสงเคราะห์

หากแต่ในมุมมองของการลงทุน การขายหุ้นของ Jack Ma เป็นประหนึ่งการส่งสัญญาณถึงอนาคตของบริษัท ในขณะที่ผู้ร่วมก่อตั้งกำลังนับถอยหลัง เพื่อวางมือภายใต้กรอบเวลา 12 เดือนข้างหน้า แม้ว่า Jack Ma จะยังคงเป็นคณะกรรมการบริหารไปจนถึงการประชุมผู้ถือหุ้นในปี 2020 เพื่อเป็นหลักประกันว่าการเปลี่ยนผ่านจะราบรื่นและสำเร็จไปได้ด้วยดี

ข้อสังเกตที่น่าสนใจจากความเป็นไปของทั้ง Jack Ma และ Alibaba ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1999 ซึ่งระบุว่ามีเป้าหมายที่จะสร้างบริษัทที่ทำให้ทั้งประเทศจีนและทั่วโลกได้ภูมิใจและกล่าวขวัญถึง ซึ่งดูเหมือนว่าจะประสบผลสำเร็จอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา และดูจะเป็นโมเดลธุรกิจที่ทางการจีนพร้อมให้การสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

แต่ภายใต้การเป็นทุนนิยมที่รัฐเป็นผู้กำหนดและควบคุม การเป็นธุรกิจขนาดใหญ่มีแนวโน้มที่จะถูกกลไกรัฐประเมินทั้งในมิติของโอกาสและปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพราะนั่นย่อมหมายถึงความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างไม่อาจเลี่ยง และนั่นเป็นเหตุให้รัฐจีนพร้อมที่จะเข้าแทรกแซงหรือแม้กระทั่งเข้ากำหนดควบคุมเพื่อให้อยู่ในกรอบที่รัฐบาลจัดวางไว้ในทันที

ถ้อยความบางส่วนในจดหมายของ Jack Ma ที่ว่า Alibaba ตั้งคำถามมาตลอด 10 ปีว่า จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ในยุคหลังที่ Jack Ma พ้นจากตำแหน่งออกไป ซึ่งหนทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหานี้ ก็คือการส่งต่อการบริหารไปยังผู้นำรุ่นต่อไป โดยพัฒนาระบบที่มีธรรมาภิบาลบนฐานวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ดูจะเป็นการย้อนแย้งต่อข้อเท็จจริงและความเป็นไปของสังคมจีน ที่มี สีจิ้นผิง ดำรงตำแหน่งสูงสุดอยู่บนภูเขาน้ำแข็งและไม่มีทีท่าว่าจะมีผู้นำรุ่นใหม่คนใด จะรับช่วงการส่งไม้ต่อในอนาคตอันใกล้

บางทีจังหวะก้าวของ Jack Ma และความเป็นไปของ Alibaba อาจเป็นมากกว่าพัฒนาการทางธุรกิจของบรรษัทเอกชนจากจีน หากแต่กำลังสะท้อนภาพการต่อกรกันระหว่างยักษ์ที่พยายามแสวงหาที่อยู่ที่ยืนบนเงื่อนไขและพื้นที่ตลาดเสรีกับกลไกรัฐ ที่เป็นประหนึ่งกรงที่คอยหน่วงเหนี่ยวกักขังอิทธิฤทธิ์ของอสูรร้ายไว้ในความควบคุม

ปัญหาสำคัญอยู่ที่ว่าทั้งภาคเอกชนและกลไกรัฐของจีนจะสามารถแสวงหาจุดสมดุลในการกำกับดูแล และควบคุมให้พัฒนาการทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่กำลังรุดหน้าไปนี้รังสรรค์ประโยชน์ให้แก่สาธารณชนอย่างเป็นธรรมได้อย่างไร

ใส่ความเห็น