นับเป็นปีที่ 3 ต่อเนื่องกันแล้ว ที่มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา ร่วมกับกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS จัดโครงการค่ายเยาวชน ASEAN EXCELLENT CAMP (AEC) ขึ้น โดยในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด “เติบโตอย่างมั่นคง เป็นเยาวชนอาเซียนยุค 4.0” ซึ่งมีเด็กๆ จาก 4 ชาติ ได้แก่ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา จำนวน 80 คนเข้าร่วมกิจกรรมที่ทรัพย์ไพรวัลย์ แกรนด์ โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดพิษณุโลก
ดร.ดารัตน์ ศิริวิริยะกุล วิภาตะกลัศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม KTIS ระบุว่า ค่ายเยาวชน AEC มีวัตถุประสงค์สำคัญ ในการมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายสถาบันการศึกษาในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษาก้าวสู่การแข่งขันในตลาดแรงงานอาเซียน โดยในปีนี้มีเด็กๆ จากเวียดนามเข้าร่วมโครงการ 41 คน จากกัมพูชา 10 คน จากมาเลเซีย 10 คน และเยาวชนไทย ซึ่งเป็นนักศึกษาจาก มหาวิทยาลัยเจ้าพระยาและวิทยาลัยอาชีวศึกษาวิริยาลัยนครสวรรค์ จำนวน 19 คน
กิจกรรมของโครงการประกอบด้วยกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์เปิดตัวตนเยาวชนอาเซียน ทำความรู้จักกับกลุ่ม KTIS การเรียนรู้เรื่อง “บุฟเฟต์ช้าง” (Elephant Buffet) การเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์เพื่อกระชับมิตรภาพ การเรียนรู้เรื่องภาวะผู้นำ การเรียนรู้เรื่องเยาวชนรุ่นใหม่ห่างไกลยาเสพติด การเสริมพลังคนรุ่นใหม่รู้รักสามัคคีด้วยกิจกรรม Sportainment การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและ Party Night และปิดท้ายด้วยการเรียนรู้เรื่องเยาวชนอาเซียนกับการสร้างนวัตกรรม
แต่เนื่องจากในปีนี้ มีเหตุการณ์ที่โด่งดังไปทั่วโลกที่เกิดขึ้นกับเยาวชน 13 คน ซึ่งเป็นสมาชิกทีมฟุตบอล “หมูป่า อะคาเดมี” ที่ประสบภัยติดอยู่ในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นเวลาถึง 17 วัน จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่เยาวชนจาก 4 ชาติที่เข้าร่วมกิจกรรมค่าย AEC จะได้สะท้อนมุมมองของพวกเขา ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว
Nguyen Nhat Thuy Tien สาวน้อยวัย 15 ปีจากเวียดนาม บอกว่า เธอติดตามข่าวนี้จากหลายช่องทาง โดยสิ่งที่เธอเรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ก็คือ ต้องใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง และเมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์คับขัน ต้องมีสติและสงบ
“สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้หนูคิดว่า เราจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่เราจะออกเดินทางไปที่ต่างๆ เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ส่วนที่หนูประทับใจมาก คือ การที่คนไทยออกมาช่วยเหลือกันและกัน มีความรักให้แก่กัน มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมากๆ”
ส่วนความประทับใจในการร่วมกิจกรรมค่าย AEC ของมหาวิทยาลัยเจ้าพระยาในครั้งนี้ ตัวแทนจากเวียดนาม บอกว่า เธอไม่เคยเข้าค่ายมาก่อน การเข้าค่ายครั้งนี้ทำให้เห็นและสัมผัสได้ถึงความกระตือรือร้นและการมีความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนในประเทศต่างๆ และเธอเรียนรู้ว่า แต่ละประเทศก็มีลักษณะเฉพาะตัว โดยเฉพาะมาเลเซียและกัมพูชา พวกเขาน่ารักมาก มีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมและก็ทำออกมาได้ดี มีความกล้าแสดงออก ซึ่งทั้งหมดถือเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากสำหรับเธอ นอกจากนี้ เธอยังได้มีโอกาสพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ทั้งความเป็นผู้นำ การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และการได้เรียนรู้การใช้ชีวิตที่ห่างจากคุณพ่อคุณแม่ โดยเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยตัวเอง
ขณะที่ Lay Chan Xiang วัย 20 ปี ตัวแทนจากกัมพูชา บอกว่า เธอติดตามข่าวถ้ำหลวงจากอินสตาแกรม อย่างแรกเลย คือ เธอรู้สึกประทับใจเด็กๆ ทั้ง 12 คนและโค้ช เพราะพวกเขาแข็งแรงมาก
“หนูคิดว่าถ้าหนูเป็นพวกเขา หนูคงไม่สามารถจัดการได้ และคิดว่าพวกเขาจะหนีจากน้ำในถ้ำไม่ได้ ตอนแรกเพื่อนๆ ของหนูคิดว่าพวกเขาจะตาย แต่คุณครูบอกว่าพวกเขาจะรอด เพราะเขาเป็นนักกีฬาที่ฝึกฝนทุกวัน จากนั้นในวันที่ 10 หลังเกิดเหตุการณ์ พวกเราก็ได้ทราบข่าวดีว่าพบพวกเขาแล้วและพวกเขาปลอดภัยดี หนูบอกแม่ว่า มันน่าตื่นเต้นมาก และแม่ก็บอกว่า เป็นเพราะคนไทยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน”
ส่วนการเข้าค่ายเยาวชนในครั้งนี้ สาวน้อยจากกัมพูชา บอกว่า นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เธอเข้าค่าย และปกติเธอเป็นคนขี้อายเวลาพบเพื่อนใหม่ๆ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า เธอมีแผลเป็นบนใบหน้า ทำให้เธอมักจะรู้สึกไม่ดี แต่หลังจากได้เข้าค่ายนี้ เธอเริ่มบอกตัวเองว่า “ไม่เป็นไรเลย เราก็เป็นคนเหมือนกัน” และเพื่อนใหม่ชาวเวียดนามกับมาเลเซียยังให้กำลังใจว่า เธอเป็นคนน่ารัก
“นี่เป็นคำพูดที่ทำให้หนูรู้สึกดีกับพวกเขามาก และยิ่งไปกว่านั้นคือการได้เห็นช้างเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นคนที่อนุรักษ์ช้างและสัตว์ป่าที่ทรัพย์ไพรวัลย์หนูรู้สึกว่าคนไทยรักสัตว์เหมือนกับพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว”
Atirah Binti Mohd Azuarizahuddin เยาวชนวัย 17 ปี จากมาเลเซีย ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ติดตามข่าวถ้ำหลวงอย่างใกล้ชิด เธอบอกว่า เธอรู้สึกเสียใจกับการเสียชีวิตของนาวาตรีสมาน กุนัน อดีตหน่วยซีลที่เข้าไปช่วยชีวิตเด็กๆ
“มันอันตรายมาก แต่หนูคิดว่าพวกเขาเป็นเด็กผู้ชาย และอยู่ในวัยอยากรู้อยากลอง และหนูก็รู้สึกเสียใจจริงๆ ที่ต้องมีคนเสียชีวิต แต่ก็รู้สึกประหลาดใจมากที่เด็กๆ ทั้งหมดรอดชีวิตมาได้ ถึงแม้จะติดอยู่ในถ้ำนานถึงสองอาทิตย์ แสดงให้เห็นว่าพวกเขาแข็งแรงมาก สิ่งที่หนูเรียนรู้จากพวกเขาคือ เราต้องมีความเข้มแข็ง ต้องเรียนรู้ว่าจะทำอย่างไรเพื่อที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดขึ้น ต้องคิดอย่างฉลาดและรอบคอบในการใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำ และทีมช่วยเหลือก็มีความกล้าหาญมาก”
ส่วนการเข้าค่าย AEC ในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้เธอได้เจอผู้คนที่เป็นมิตร มีน้ำใจและได้รู้จักเพื่อนใหม่หลายๆ ชาติแล้ว เธอยังได้เรียนรู้วิถีแบบไทย ที่ยึดหลักอาวุโส เรียกคนที่อายุมากกว่าว่า “พี่” และคนที่อายุน้อยกว่าว่า “น้อง” ได้เรียนรู้วิธีทำความเคารพแบบไทยเวลาเจอหน้ากัน คือเอามือขึ้นมาประกบกันแบบนี้ (ทำท่าไหว้)
“หนูชอบที่คนไทยให้ความเคารพกับคนที่อายุเยอะกว่า” สาวน้อยจากมาเลเซียกล่าว
ปิดท้ายที่ตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทย “น้องติ๊ก-กันตา ศรีไชยวาล” วัย 25 ปี เธอพูดถึงเหตุการณ์ที่ถ้ำหลวงว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้อันดับแรกก็คือ การอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม อยู่กันแบบสามัคคี ถึงจะรู้ว่า เข้าไปแล้วจะมีวิธีการเอาตัวรอดยังไง แต่เวลาปกติถ้าติดอยู่ในนั้นหลายวันก็จะต้องหิว พอหิวแล้วอาจจะเห็นภาพหลอน อาจจะทะเลาะกัน เพราะว่า เราไม่รู้ว่าเราจะได้ออกหรือไม่ แต่พอข่าวออกมากลายเป็นกลับกัน พวกเขานั่งสมาธิ แล้วก็สามัคคีกัน ที่สำคัญก็คือ ได้เห็นความสามัคคีของคนไทยที่เข้าไปช่วยกัน ไม่มีใครคิดเรื่องค่าตอบแทนที่เอาเครื่องไม้เครื่องมือไปช่วย คิดแค่ว่า จะช่วย 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในนั้น มันเป็นอะไรที่บรรยายความรู้สึกไม่ถูกจริงๆ
“ส่วนการทำกิจกรรมในค่าย สนุกและตื่นเต้นมากค่ะ เราใช้ภาษา ได้แลกเปลี่ยนภาษากับเพื่อนชาวต่างชาติ ทำให้ตัวเองพูดภาษาได้ดีขึ้น ได้เรียนและจดจำคำศัพท์ที่ไม่เคยรู้มาก่อน เรียนรู้การปรับตัวในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งหนูประทับใจมาก”
เสียงสะท้อนเหล่านี้เป็นเพียงเสียงเล็กๆ ของเยาวชนที่เป็นตัวแทนจาก 4 ชาติ แต่เป็นเสียงที่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่ามาก เมื่อเทียบกับสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้จากทั้งวิกฤติ และจากการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในค่าย AEC