วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ห้ามไขมันทรานส์ สุขภาพบนบริโภคนิยม

ห้ามไขมันทรานส์ สุขภาพบนบริโภคนิยม

ประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าด้วยการให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนเป็นส่วนประกอบหรือ “ไขมันทรานส์” เป็นอาหารที่ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า และห้ามจำหน่าย ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (8) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ได้สร้างความตื่นตัวให้กับสังคมไทยไม่น้อยเลย

แม้ว่าในการวิจัยและศึกษาทางวิทยาศาสตร์ จะเป็นที่รู้กันในวงกว้างและสากลว่า “ไขมันทรานส์” หรือที่เรียกกันว่า “Trans Fat” เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ และมีความพยายามเรียกร้องให้รัฐควบคุมไขมันทรานส์มาโดยตลอด

เพราะปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acid) จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน “Partially Hydrogenated Oils” ส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ก่อนที่จะนำไปสู่การออกคำสั่งให้เลิกใช้ “ไขมันทรานส์” ในอาหารเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับในอีก 180 วันนับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งหมายความว่าภายในเดือนมกราคม 2562 ไขมันทรานส์จะเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับสังคมไทย

ผลของการประกาศห้ามผลิต ห้ามนำเข้า และห้ามจำหน่าย “ไขมันทรานส์” ก่อให้เกิดคำถามและกระแสความใฝ่รู้เกี่ยวกับไขมันทรานส์ ว่าแท้จริงแล้วคืออะไรและมีอันตรายร้ายแรงอย่างไร จนเป็นเหตุให้ต้องมีคำสั่งในลักษณะดังกล่าวออกมา

ขณะเดียวกัน ความตื่นตัวใฝ่รู้ในเรื่องไขมันทรานส์ในอาหารซึ่งมีวางจำหน่ายอยู่ตามท้องตลาด ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลในมิติของความปลอดภัยในอาหารขึ้นมาแบบเฉียบพลัน และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาของหลักทรัพย์บริษัทผู้ประกอบการอาหารในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้รับผลกระทบในเชิงลบไปโดยปริยาย

อาหารในกลุ่ม “เบเกอรี” ซึ่งมีส่วนประกอบของไขมันทรานส์ จาก “shortening” หรือ “เนยขาว” และมาการีน หรือเนยเทียม ดูจะได้รับการกล่าวถึงเป็นด้านหลัก ขณะที่อาหารประเภททอด ทั้งไก่ทอด โดนัท และเฟรนช์ฟราย รวมถึง ขนมขบเคี้ยว และขนมปังกรอบที่ขายตามร้านสะดวกซื้อ ก็อยู่ในข่ายที่กำลังจะได้ผลกระทบจากประกาศครั้งสำคัญนี้

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยการเติม “ไฮโดรเจน” เข้าไปในน้ำมันพืช เพื่อเปลี่ยนสภาพจากการเป็นไขมันไม่อิ่มตัวให้กลายเป็นไขมันอิ่มตัวและมีคุณสมบัติและรสชาติใกล้เคียงกับไขมันอิ่มตัวที่ได้จากสัตว์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1901-1910 ก่อนที่จะได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในช่วงปี 1950 ซึ่งมีผลในการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมอาหารโลกตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

แม้ว่าไขมันทรานส์จะช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารลดต้นทุนในการผลิต และเคยได้รับการประเมินว่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าไขมันธรรมชาติ หากแต่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมายืนยันแล้วว่า ไขมันทรานส์เป็นภัยต่อสุขภาพ เพราะเมื่อเข้าสู่ร่างกายไขมันทรานส์จะเพิ่มระดับไขมันเลว (LDL) และลดไขมันดี (HDL) ในเส้นเลือด ซึ่งนำไปสู่โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ รวมถึงโรคเบาหวานอีกด้วย

ความเสี่ยงของไขมันทรานส์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค ทำให้องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization: WHO พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกประกาศห้ามการใช้ไขมันทรานส์ ซึ่งพบว่ามีความเชื่อมโยงต่ออัตราการเสียชีวิตก่อนวัยแล้วหลายล้านราย โดยองค์การอนามัยโลกเชื่อว่า หากสามารถกำจัดไขมันทรานส์ให้หมดไปจากอุตสาหกรรมอาหารโลกภายในปี 2023 จะช่วยลดความเสี่ยงและรักษาชีวิตของประชากรโลกได้กว่า 10 ล้านคนเลยทีเดียว

มูลฐานของความคิดความเชื่อของ WHO ดังกล่าว ในด้านหนึ่งเกิดขึ้นจากกรณีศึกษาในอินเดียและปากีสถาน ที่นิยมใช้น้ำมันเนยใส (vanaspati) ซึ่งทำจากน้ำมันปาล์ม นำมาผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (hydrogenated vegetable oil) และมีส่วนทำให้อัตราผู้ป่วยโรคหัวใจในหมู่ประชากรเอเชียใต้อยู่ในอัตราที่สูงผิดปกติ

ขณะที่ผลการศึกษาในประเทศปากีสถานพบว่า ผู้ชายปากีสถานมีโอกาสเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายมากกว่า ชาวอังกฤษและเวลส์ถึงร้อยละ 62 นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้ระบุว่าการนำน้ำมันที่ใช้แล้วมาอุ่นใช้ซ้ำ ยังจะเพิ่มอันตรายต่อร่างกายอีกด้วย

กรอบเวลาของ WHO ที่จะกำจัดไขมันทรานส์ให้หมดไปจากอุตสาหกรรมอาหารโลกภายในปี 2023 ควบคู่กับความตื่นตัวเรื่องไขมันทรานส์ในระยะปัจจุบัน อาจให้ภาพว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญและสนใจต่อผู้บริโภค หากแต่ในความเป็นจริงประเทศในภูมิภาคยุโรปและอเมริกาจำนวนไม่น้อยต่างประกาศห้ามหรือจำกัดปริมาณการใช้ไขมันทรานส์มานานกว่าทศวรรษแล้ว

เดนมาร์ก เป็นประเทศแรกที่บุกเบิกการห้ามใช้ไขมันทรานส์อย่างสิ้นเชิงตั้งแต่ปี 2003 ควบคู่กับการจำกัดการใช้ไขมันและน้ำมันเป็นส่วนผสมในอาหารในอัตราที่ไม่เกินร้อย 2 ซึ่งความพยายามของรัฐบาลเดนมาร์กดังกล่าวส่งผลให้ในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเดนมาร์กสามารถลดอัตราความเสี่ยงของการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือดได้มากถึงร้อยละ 50

ขณะเดียวกันประเทศในภูมิภาคยุโรปอีกไม่น้อยกว่า 7 ประเทศต่างมีกฎหมายห้ามหรือจำกัดการใช้ไขมันทรานส์ในอาหาร ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือ Food and Drug Administration (FDA) ประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์ในเดือนมิถุนายนปี 2015 โดยให้เวลาผู้ประกอบการ 3 ปีในการเลิกใช้ทั้งหมด

กระนั้นก็ดี ในเดือนพฤษภาคม 2018 ที่ผ่านมา หรือก่อนครบกำหนดตามประกาศที่มีมาก่อนหน้านี้ FDA จะผ่อนปรนเวลาให้ผู้ประกอบการเพิ่มอีก 1 ปี สำหรับการหาส่วนผสมอื่นๆ เข้ามาทดแทนไขมันทรานส์ที่ประกาศห้ามไป

ความเป็นไปเรื่องไขมันทรานส์ในด้านหนึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการควบคุมกระบวนการของผู้ผลิตเท่านั้น หากแต่ยังเกี่ยวเนื่องกับการให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อผู้บริโภคผ่านฉลากและข้อมูลโภชนาการบนบรรจุภัณฑ์ของสินค้าด้วย

ก่อนหน้านี้ FDA ของสหรัฐอเมริกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อาหารในสหรัฐฯ ต้องติดฉลากระบุปริมาณไขมันทรานส์มาตั้งแต่ปี 2006 ซึ่ง FDA เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ชาวอเมริกันได้ตระหนักและลดการบริโภคไขมันทรานส์ไปได้กว่า 3 ใน 4

ส่วนในสิงคโปร์ การออกกฎหมายจำกัดปริมาณไขมันทรานส์ในอาหารให้ไม่เกิน 2 กรัมต่อปริมาณไขมัน 100 กรัม และต้องระบุปริมาณไขมันทรานส์บนห่อบรรจุภัณฑ์ของอาหารประเภทไขมัน ก็ดำเนินมาตั้งแต่เมื่อปี 2012 แล้ว

ประเด็นที่น่าสนใจจากกรณีของไขมันทรานส์ และข้อมูลโภชนาการบนบรรจุภัณฑ์อาหารอยู่ที่ คำว่า “ปราศจากไขมันทรานส์” หรือ “Trans fat free” ที่องค์การอาหารและยาของไทยกำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้ อาจทำให้ผู้ที่ไม่เข้าใจเชื่อได้ว่าเป็นอาหารไขมันต่ำ ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่เป็นไปได้ในอนาคต อาจอยู่ที่การกำหนดเกณฑ์ปริมาณไขมันอิ่มตัวสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการติดฉลากนี้ เช่นเดียวกับในหลายประเทศ

ประเด็นปัญหาจากกรณีประกาศห้ามผลิต ห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่าย ในด้านหนึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารไม่น้อย หากแต่สิ่งที่ต้องคำนึงมากไปกว่านั้นอยู่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะดำเนินการควบคุมการนำเข้าวัตถุดิบที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการสต๊อกสินค้าสำหรับจำหน่ายหลังระยะเวลา 6 เดือนก่อนที่ประกาศนี้จะมีผลบังคับในทางปฏิบัติได้อย่างไร เพราะปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้ประกอบการต้องส่งผลิตภัณฑ์มาตรวจ หากดำเนินไปท่ามกลางการระบุถึงกระบวนการผลิตแล้วจึงมีการสุ่มตรวจอาหารที่มีความเสี่ยง

ขณะเดียวกัน การตรวจสอบโรงงานหรือสถานประกอบการของผู้ผลิตอาหารให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับอาหารที่ส่งออกนอกประเทศที่ปราศจากไขมันทรานส์สิ้นเชิงสำหรับประเทศที่ห้ามนำเข้าจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

เพราะเมื่อประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้มีผลบังคับใช้ สิ่งที่สังคมไทยคาดหวังย่อมไม่ได้จำกัดอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ หากแต่ยังครอบคลุมถึงสุขภาวะจากการบริโภคอาหารที่ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ หลังจากที่กรณีเหล่านี้ถูกปล่อยปละละเลยมาเป็นเวลานานแล้ว

ใส่ความเห็น