ข่าวการถึงแก่กรรมของชาตรี โสภณพนิช หรือ “เจ้าสัวชาตรี” อดีตหัวเรือใหญ่ของอาณาจักรธนาคารกรุงเทพ ที่ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันการเงินอันดับหนึ่งของไทย และในระดับภูมิภาค รวมถึงโครงข่ายธุรกิจในเครือโสภณพนิชอีกหลากหลาย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจติดตามมาด้วยถ้อยความสรรเสริญและสดุดีผลงานที่ผ่านมาของผู้วายชนม์ ซึ่งเป็นปกติธรรมดาของสังคมไทย
หากแต่บนรอยทางแห่งชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง สิ่งที่ชาตรี โสภณพนิชได้ฝากไว้ให้ผู้คนในยุคหลังได้ย้อนพินิจ และศึกษาเก็บรับประสบการณ์ ล้วนมีมิติ สีสัน และข้อควรพิจารณาที่สะท้อนยุคสมัยและบริบทสังคมการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี
ชาตรี โสภณพนิช เกิดในครอบครัวชาวจีน เป็นบุตรของชิน โสภณพนิช กับชาง ไว เลาอิง เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2476 โดยระบุสถานที่เกิดว่าเป็นที่โรงพยาบาลจุฬาฯ มีอีกชื่อหนึ่งว่า อังเดร ส่วนชื่อจีนดั้งเดิมนั้นชื่อ อู้เข่ง แซ่ตั้ง ในวัย 6 ปีได้เดินทางติดตามแม่กลับประเทศจีน ก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ชาตรีต้องพำนักอยู่ในต่างแดนจนโต พร้อมกับศึกษาด้านบัญชีและการธนาคาร โดยสำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษาชั้นสูงสาขาบัญชี จากวิทยาลัย Kwang Tai High Accountancy College ที่ Hong Kong
ในปี 2495 เมื่อชาตรี อายุ 19 ปี จึงเดินทางกลับประเทศไทยตามคำสั่งของชิน โสภณพนิช ซึ่งขณะนั้นมีกิจการก่อตั้งขึ้นแล้วจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะป็นบริษัทฮ่วยชวนที่ชินร่วมทุนกับตระกูล “ซอโสตถิกุล” และเสริม คู่อรุณ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2491 เพื่อค้ายางพารา, ข้าวและพืชเกษตร
รวมถึงบริษัทเอเซียประกันภัยที่ร่วมทุนกับกำธร วิสุทธิผล ก่อตั้งเมื่อปี 2492 บริษัทวิธสินประกันภัย บริษัทเอเซียคลังสินค้า และบริษัทสุขสวัสดิ์ประกันชีวิตในปี 2493 และ 94 ตามลำดับ แต่หัวใจหลักของโครงสร้างธุรกิจที่ชิน โสภณพนิชกำหนดวางไว้อยู่ที่ธนาคารกรุงเทพ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2487 โดย ชินได้เข้าเป็นกรรมการชุดแรกและก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพสืบแทนหลวงรอบรู้กิจ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ปี 2495 ปีเดียวกับที่เขามีคำสั่งเรียกลูกชายกลับจากฮ่องกงนั่นเอง
ชาตรี โสภณพนิช ซึ่งมีชีวิตช่วงต้นถือเป็น HONG KONG-TRAINED อยู่เมืองไทยได้ไม่นานก็ไปศึกษาวิชาการธนาคารระดับอุดมศึกษาที่ London Regent Street Poly-Technic ประเทศอังกฤษ และได้รับประกาศนียบัตรวิชาการธนาคารจาก Institute of Bankers ประเทศอังกฤษ
ก่อนจะกลับมาเมืองไทยและเริ่มชีวิตการทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการบัญชีที่บริษัท เอเชียทรัสต์ จำกัด ในปี 2501 ก่อนจะมาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบัญชีของธนาคารกรุงเทพในเดือนตุลาคม 2502 เป็นผู้จัดการฝ่ายการบัญชีในเดือนมกราคม 2505
บริบทของสังคมเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้น ก็คือช่วงเวลาที่คนหนุ่มต่างแสวงหาความร่ำรวยจากการเสี่ยงโชคทางธุรกิจ ท่ามกลางการเจริญเติบโตอย่างเด่นชัดของย่านแปซิฟิกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนทำให้ฮ่องกงกลายเป็นศูนย์กลางแห่งความสนใจขึ้นมา ชาวจีนโพ้นทะเลหลายคนร่ำรวยขึ้นในช่วงนี้ เป็นความร่ำรวยจากการฉกฉวยโอกาสจากสถานการณ์อย่างแท้จริง
ความร่ำรวยมั่งคั่งดังกล่าวไม่ใช่การพัฒนาทางอุตสาหกรรมการผลิต หากเป็นการซื้อมาขายไปแบบเก็งกำไร ซึ่ง ชาตรี โสภณพนิชก็เติบโตขึ้นท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ในเวลาเดียวกับชิน โสภณพนิช ผู้พ่อกำลังสร้างอาณาจักรธุรกิจ จากสถานการณ์เช่นเดียวกับชาวจีนโพ้นทะเลคนอื่นๆ ซึ่งไม่ได้จำกัดตัวอยู่ประเทศใดประเทศหนึ่ง
ธุรกิจการค้าเงินตรา กลายเป็นธุรกิจที่สร้างความร่ำรวยให้กับผู้คนจำนวนหนึ่ง และผู้ยิ่งใหญ่ระดับนำรายหนึ่งของธุรกิจดังกล่าวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลานั้นก็คือ ชิน โสภณพนิช นี่เอง จึงมิใช่เรื่องแปลกอะไรที่ปฐมบทในชีวิตการทำงานของชาตรีจะเริ่มต้นเมื่อเขาเข้าฝึกงานด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับจอห์นนี่ มา (วัลลภ ธารวณิชกุล) ที่บริษัทเอเชียทรัสต์
ในรายงานของนิตยสาร “ผู้จัดการ” เมื่อปี 2530 เคยให้ภาพที่แจ่มชัดต่อสถานการณ์ความเป็นไปของทั้งชินและชาตรี ในช่วงปี 2500-2505 ไว้อย่างน่าสนใจ และกลายเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนภาพบริบทสังคมเศรษฐกิจการเมืองไทยในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจน และเป็นบทเรียนที่ควรค่าแก่การจดจำ
ชิน โสภณพนิช สร้างเนื้อสร้างตัวจากมือเปล่า ขยับขยายธุรกิจภายใต้ระบบความสัมพันธ์แบบจีนโพ้นทะเลยุคบุกเบิก ผ่านธุรกิจ “โพยก๊วน” หรือการส่งเงินจากประเทศไทยกลับไปประเทศจีน และการเก็งกำไร “ทองคำ” ซึ่งกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และห้วงเวลาหลังจากนั้น ภายใต้บรรยากาศเศรษฐกิจโดยรอบที่ยังซบเซา ทำให้ราคาทองคำเคลื่อนไหวรุนแรง ซึ่งชินได้อาศัยเอเชียทรัสต์เป็นกลไกในดำเนินกิจกรรมการค้าและเก็งกำไรทองคำได้อย่างลงตัว
บริบทสังคมเศรษฐกิจในยุคนั้นอาจส่งเสริมให้นักธุรกิจแบบชิน โสภณพนิช ประสบความสำเร็จได้ง่าย เพราะยุคสมัยดังกล่าวยังไม่มีคู่แข่งขันในธุรกิจเหล่านี้มากนัก หากแต่ในอีกด้านหนึ่ง ความเป็นไปของเอเชียทรัสต์และจังหวะก้าวของชิน โสภณพนิช ยังช่วยสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจของชินเป็นธุรกิจที่แอบอิงกับผู้มีอำนาจในยุคสมัยนั้น ทั้งกลุ่มจอมพลผิน ชุณหะวัณ-พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ปฐมบทแห่งต้นตำรับกลุ่มอำนาจสาย “ซอยราชครู”
พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการเอเชียทรัสต์เมื่อปี 2495 และเส้นสายของพลตำรวจเอกเผ่า อย่างเช่น พลตรีศิริ สิริโยธิน พันธ์ศักดิ์ วิเศษภักดี พลตรีประมาณ อดิเรกสาร ล้วนเดินหน้าเข้าแถวไปเป็นกรรมการในกิจการอื่นๆ ของชินกันอย่างเอิกเกริก โดยเฉพาะที่ธนาคารกรุงเทพภายหลังการขึ้นรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของชิน โสภณพนิชแล้ว
สายสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองผู้มีอำนาจอาจให้ภาพของความสำเร็จ แต่ขณะเดียวกันเหรียญย่อมมี 2 ด้าน ไม่ต่างจากกระบี่ที่มีทั้ง 2 คม เพราะหลังจากที่กลุ่มจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นปรปักษ์ทางการเมือง โค่นอำนาจกลุ่มของจอมพลผิน-พลตำรวจเอกเผ่า ในปี 2500 มรสุมก็เข้าโถมซัดอาณาจักรธุรกิจของชิน และทำให้ชินต้องเดินทางออกนอกประเทศในช่วงเวลาต่อมาด้วย
ความจำเป็นที่ทำให้ต้องเดินทางออกจากประเทศไทยของชิน โสภณพนิชในปี 2502 ครั้งนั้น มีนัยความหมายทางประวัติศาสตร์ธุรกิจสังคมไทยพอสมควร เพราะในด้านหนึ่งแม้ว่าการเดินทางบนสายแห่งอำนาจมีความจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ แต่บทเรียนสำคัญในครั้งนั้นเป็นบทเรียนคลาสสิกที่คนรุ่นหลังต้องพึงระวัง และดูเหมือนว่าชาตรี โสภณพนิช จะเข้าใจและเก็บรับไว้อย่างดี
ชาตรีมีเวลาไม่มากนักในการเรียนรู้งานก่อนมรสุมครั้งนั้น เพราะหลังจากเดินทางจากฮ่องกงกลับไทยในปี 2495 ซึ่งเป็นปีที่ชินกำลังจัดโครงสร้างกองทัพธุรกิจของเขาครั้งใหญ่ภายหลังขึ้นรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ ด้วยการดึงกลุ่มการเมืองกลุ่มจอมพลผิน-พลตำรวจเอกเผ่า มาเป็นพวก พร้อมกับดึงประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ บุญชู โรจนเสถียร เข้ามาด้วยนั้น สำหรับชาตรีเป็นเพียงการกลับมาอยู่เมืองไทยเพียงช่วงสั้นๆ แค่เวลาเพียงปีเศษที่หมดไปกับการฝึกงานที่ธนาคารกรุงเทพกับเอเชียทรัสต์
จากนั้นก็ถูกส่งไปฝึกงานและเรียนหนังสือเพิ่มเติมที่อังกฤษ ก่อนจะเดินทางจากอังกฤษกลับไทยอีกครั้งในราวปี 2501 โดยชินส่งเขาเข้าเรียนรู้งานกับจอห์นนี่ มา ที่เอเชียทรัสต์เป็นแห่งแรก เมื่อถึงปี 2502 ที่ชินต้องออกไปพำนักที่ฮ่องกง บุญชู โรจนเสถียร ก็ไปดึงตัวชาตรีให้มาอยู่ธนาคารกรุงเทพ และมอบตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบัญชีให้
ถัดมาในปี 2510 ชาตรีก้าวขึ้นเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชี และปีรุ่งขึ้นต้องรักษาการตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการค้าด้วยอีกตำแหน่ง ปี 2514 ขยับขึ้นเป็นกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่และเป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ในปี 2517
นอกเหนือจากนี้เขายังต้องดูแลกิจการในเครือของครอบครัวอีกหลายแห่งโดยเฉพาะบริษัทสินเอเซีย จำกัด (ก่อตั้งปี 2512) ที่ต่อมากลายเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเซีย บริษัทกรุงเทพเคหะพัฒนา (2512) ที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินและที่อยู่อาศัย บริษัทกรุงเทพสหมิตรเอ็นเตอร์ไพรซ์หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เอเซีย (2515) และอีกมาก
หากคำกล่าวของ George Orwell ผู้ประพันธ์ Animal Farm และ 1984 ที่ว่า “Each generation imagines itself to be more intelligent than the one that went before it, and wiser than the one that comes after it.” จะมีส่วนจริงหรือใช้ได้อยู่บ้างสำหรับชาตรี โสภณพนิช ก็คงเป็นส่วนที่ทำให้เขาต้องเรียนรู้และเก็บรับประสบการณ์จากคนรุ่นก่อน พร้อมทั้งส่งผ่านบทเรียนทางธุรกิจให้กับคนรุ่นลูก ในฐานะที่เป็นข้อต่อชิ้นสำคัญในการส่งผ่านมรดกทางความคิดจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป
บริบทของสังคมเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ชาตรีกำลังเติบโตและสั่งสมบทบาทบารมีก่อนหน้าการก้าวขึ้นรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพของชาตรีในปี 2523 มีความสำคัญต่อพัฒนาการของทั้งธนาคารกรุงเทพในฐานะองค์กรธุรกิจและต่อชาตรีในฐานะนักธุรกิจและมนุษย์คนหนึ่งไม่น้อยเลย
โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศไทยเริ่มประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพร้อมกับออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรมในปี 2505 โดยก่อนหน้านั้นก็ได้เปิดประเทศเพื่อรับการลงทุนจากข้างนอกและเร่งส่งเสริมสินค้าออก ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวกลายเป็นยุคทองของการค้าข้าวและพืชผลการเกษตรที่เป็นรายได้หลักของประเทศพร้อมๆ กับเบนเข็มเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม
สถานการณ์ใหม่เช่นนี้ค่อนข้างจะเอื้ออำนวยให้ชาตรี โสภณพนิช ที่ผ่านการศึกษาและผ่านประสบการณ์จากประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษพอสมควร และทำให้ชาตรีขยับจากธุรกิจธนาคารไปสู่อุตสาหกรรมการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งบริษัทยูไนเต็ดฟลาวมิลล์ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอาหาร ในปี 2507 ตั้งโรงงานพลาสติกไทยจำกัด และบริษัทนานาอุตสาหกรรม (โรงงานผลิตน้ำมันพืช) ในปี 2508 และบริษัทยูเนียนพลาสติกแมนูแฟคเจอริ่งในปี 2511
กิจการเหล่านี้นอกจากจะได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากธนาคารกรุงเทพแล้ว “โสภณพนิช” ก็ยังมีส่วนร่วมลงทุนอยู่ด้วย โดยเฉพาะนับแต่ปี 2511 เรื่อยมาอุตสาหกรรมสิ่งทอนับได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ “โสภณพนิช” และธนาคารกรุงเทพให้ความสนใจมาก ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังก็คือ ชาตรี โสภณพนิช
กระนั้นก็ดี วิกฤตการณ์น้ำมันในปี 2517 ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่กำลังอยู่ในช่วงตั้งไข่ กลายเป็นประสบการณ์และบทเรียนที่ดีที่ช่วยบอกบางสิ่งบางอย่างกับชาตรีถึงความผันผวนไม่แน่นอนที่มาพร้อมกับการแข่งขันอันเข้มข้นของธุรกิจเพื่อเอาตัวรอด
ยุคสมัยก่อนหน้าในรุ่นพ่อ ชิน โสภณพนิชอาจเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการธนาคารได้ไม่ยาก แต่ในบริบทที่ต่างไปในยุคสมัยของชาตรี แนวโน้มที่มองเห็นได้ชัดว่าการจะมาเป็นเจ้าของกิจการธนาคารกรุงเทพตลอดไปนั้น คงจะไม่ง่ายนัก เพราะฐานของทุนเริ่มกว้างขึ้น ยังไม่นับรวมถึงการเกิดขึ้นของตลาดหลักทรัพย์ไทยในปี 2518 ที่พร้อมทำให้กลุ่มตระกูลที่เคยเป็นเจ้าของกิจการต้องพร้อมรักษาสัดส่วนการถือครองหุ้นในกิจการแต่ละแห่งไว้ให้ดี
กระนั้นก็ดี การเกิดขึ้นของตลาดหลักทรัพย์ไทยได้เปิดโอกาสและบริบทใหม่ให้กับชาตรี โสภณพนิช ในการโลดแล่นอยู่ในธุรกิจอย่างแข็งแรง เพราะในขณะที่ชิน โสภณพนิชเริ่มสร้างอาณาจักรธุรกิจผ่านการเก็งกำไรค่าเงินและทองคำ ชาตรี โสภณพนิชใช้ประโยชน์จากตลาดหลักทรัพย์สร้างความมั่นคงให้กับอาณาจักรที่แผ่กว้างออกไป ชาตรีกับพวกจัดตั้งบริษัทลงทุน ชื่อบริษัท หลักทรัพย์เอเชียในปี 2517 หลังจากทราบว่าจะมีการสถาปนาตลาดหุ้นขึ้น โดยก่อนหน้านี้ในปี 2515 ชาตรีมีบริษัทส่วนตัวอีกบริษัทหนึ่งในลักษณะเป็น holding company เข้าถือหุ้นในกิจการต่างๆ นอกตลาดหุ้น ในนาม บริษัทเอเชียเสริมกิจ
การลงทุนในตลาดหุ้นไทยกลายเป็นจักรกลในการสร้างรายได้และความมั่งคั่งให้กับชาตรีและพวกในช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์กำลังเฟื่องฟูในช่วงปี 2518-2520 อย่างไม่ต้องสงสัย และทำให้ชื่อของชาตรี โสภณพนิชและผองเพื่อนกลายเป็นนักลงทุนในหุ้นแถวหน้าของสังคมไทย และสะท้อนภาพสายเลือด “นักเก็งกำไร” ที่เขามีไม่ต่างจากในยุคพ่อของเขา แต่ชาตรีแตกต่างจากชินพ่อของเขาไม่น้อยเลย เพราะในยุคสมัยของชินกิจการธุรกิจยังไม่เติบโตมากนัก ชินอยู่กับพนักงานในฐานะที่ทุกคนเป็นเพื่อนร่วมงานที่พร้อมจะรับฟังและคอยทัดทาน แต่ในยุคสมัยของชาตรีที่กิจการก้าวหน้าไปจนกลายเป็นองค์กรขนาดใหญ่มีพนักงานรวมกว่า 2 หมื่นคน ชาตรีดำรงสถานะไม่ต่างปลายปราสาทสูงที่ตั้งอยู่บนฐานของหอคอยใหญ่ ที่มีพนักงานระดับสูงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่มีโอกาสได้พูดคุยหรือให้คำปรึกษาแนะนำได้
ยุคสมัยของชิน อาณาจักรธุรกิจอาจเริ่มต้นขึ้นด้วย “บุญคุณน้ำมิตร” ที่เป็นหลักวิถีความคิดของนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลยุคบุกเบิก หากแต่อาณาจักรธุรกิจบนเส้นทางของชาตรีตั้งอยู่บนฐานคติของ “การสร้างอาณาจักรแห่งอำนาจ” ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ ครั้งหนึ่งเคยกลายเป็นประเด็นถกแถลงในหมู่นักบริหารมืออาชีพว่าแบบฉบับการบริหารของชินและชาตรี โสภณพนิช แบบใดมีประสิทธิภาพมากกว่ากันด้วย
ก้าวย่างแห่งการสร้าง “อาณาจักรแห่งอำนาจ” ของชาตรีดำเนินไปอย่างมีจังหวะจะโคนเมื่อชาตรีใช้เอเชียเสริมกิจเข้าซื้อกิจการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจในปี 2522 ซึ่งกลายเป็นกิจการที่สะท้อนทิศทางและแสดงออกซึ่งวิถีแห่งอนาคตของชาตรี โสภณพนิชอย่างเด่นชัดในเวลาต่อมา ควบคู่กับการใช้บริษัทหลักทรัพย์เอเชียเข้าลงทุนในการซื้อหุ้นธนาคารกรุงเทพอย่างขนานใหญ่ และเป็นหัวหอกประสานกับกลุ่มเพื่อนพ้องเพื่อการนี้ในฐานะเป็นซับโบรกเกอร์
ชาตรีดำเนินการเร่งเครื่องหนักขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2520 ผลักดันให้การซื้อขายหุ้นธนาคารกรุงเทพทะยานขึ้นไปมีมูลค่าการซื้อขายระดับ 1,000 ล้านบาท พร้อมกับดันราคาซื้อขายพุ่งขึ้นเกิน 300 บาท/หุ้น และขึ้นไปสูงลิ่วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในระดับ 500 บาท/หุ้น ในกลางปี 2521
ความเคลื่อนไหวของชาตรีในครั้งนั้น นอกจากจะได้รับคำอธิบายในลักษณะที่ว่าในฐานะกรรมการและเป็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร การมีหุ้นในธนาคารย่อมมีความหมายว่ามีส่วนร่วมในกิจการอย่างแท้จริง และในทางกลับกัน อำนาจหุ้นมากก็คือการยั่งยืนของอำนาจบริหารกิจการ ขณะเดียวกันการค้าที่มีดอกผลดี ย่อมไม่มีสิ่งใดเกินหรือเท่ากับกิจการที่ตนเองรู้เรื่องอย่างถึงแก่น และในสมัยนั้นคงไม่มีใครพูดถึง insider trade เป็นแน่
กระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งการถือครองหุ้นธนาคารกรุงเทพของชาตรีและผองเพื่อน ทำให้ชาตรีมีพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาเสริมเครือข่ายอีกหลายบริษัท ก่อนที่ในวันที่ 13 มีนาคม 2523 ชาตรี โสภณพนิชก็ได้รับเลือกตั้งจากคณะกรรมการขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ไปตามประสงค์ที่ดำเนินการมา
บทสังเคราะห์ที่เกิดติดตามมาหลังการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของชาตรี โสภณพนิช ในครั้งนั้น ส่วนหนึ่งนอกจากจะมีแรงสนับสนุนจากบุญชู โรจนเสถียร ผู้จัดการใหญ่คนเดิมผู้ลงจากเวทีเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจแล้ว ในส่วนของชิน โสภณพนิช ก็ดูเหมือนจะไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ ในขณะที่ชาตรีนอกจากจะครอบครองหุ้นจำนวนมากของธนาคารกรุงเทพไว้ในมือแล้ว เขายังสร้างอาณาจักรธุรกิจส่วนตัวขึ้นแวดล้อมธุรกิจธนาคาร ซึ่งหนุนและเกื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันอีกทอดหนึ่ง
ชาตรีอาจจะพยายามเดินตามรอยเท้าผู้เป็นพ่อ ชิน โสภณพนิช แต่ก็มีหลายอย่างที่เขาทำไม่ได้หรือถึงที่สุดไม่ได้ทำ เพราะในด้านหนึ่ง ชาตรีอาจรู้สึกว่าเป้าหมายของเขาคือ “ความยิ่งใหญ่” ที่เป็นภาพชัดเจนนั่นคือเงินที่ได้รับและเก็บไปฝากไว้ ณ ธนาคารแห่งหนึ่งแห่งใด มากกว่าการสร้างอนุสรณ์สถานอย่างเช่นที่ชาวจีนโพ้นทะเลผู้พลัดพรากจากถิ่นรุ่นก่อนหน้าถือปฏิบัติกัน ขณะเดียวกันสิ่งที่วงการธุรกิจสัมผัสได้จากกลยุทธ์ของชาตรีก็คือ กลุ่มธุรกิจของเพื่อนเขาโตขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับการทุบคนอื่นล้มคว่ำลง
ในยุคเริ่มต้น ธนาคารกรุงเทพเติบโตอย่างก้าวกระโดดรุดหน้า เพราะเข้ารับช่วงภารกิจของธนาคารอาณานิคม ซึ่งต้องถอยร่นในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อเนื่องมา ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของพ่อค้าขณะนั้นกว่าร้อยละ 80 ใช้บริการของธนาคารกรุงเทพ กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านั้นกับชิน หรือที่ผู้คนทั่วไปเรียกว่า นายห้าง มีความสัมพันธ์ฉันเพื่อน
หากแต่ในยุคสมัยของชาตรีธุรกิจการค้าระหว่างประเทศเปลี่ยนไปมาก การค้าพืชไร่หดตัว และลดบทบาทความสำคัญตามลำดับ ในขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังไม่มีอุณหภูมิเพียงพอจะให้เติบโต ธุรกิจรายย่อยเกิดขึ้นช้าๆ พร้อมกับธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นเปิดฉากแข่งขันแย่งชิงลูกค้าอย่างหนักหน่วงขึ้น
สายสัมพันธ์เก่าแบบ “บุญคุณน้ำมิตร” ที่เคยเป็นบรรยากาศครอบคลุมธนาคารกรุงเทพ ค่อยๆ จางไปมนุษยสัมพันธ์แบบเดิมซึ่งกำลังจะหมดไปถูกแทนที่ด้วย deal ตามแบบฉบับของนักธุรกิจสมัยใหม่ที่มาพร้อมกับหลักวิธีการทำธุรกิจที่ถูกถอดออกมาจากคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์แห่งการเงินการตลาดยุค MBA เฟื่องฟู ขณะที่หลักการที่ยึดถือ “คุณธรรมน้ำมิตร” ของคนรุ่นพ่อเลือนหายไปโดยมี “ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ” กลายเป็นสิ่งที่เข้ามาทดแทน
บทเรียนจากยุคพ่อ ทำให้ชาตรีวางระดับความสัมพันธ์กับขั้วอำนาจต่างๆ ที่ผลัดเปลี่ยนขึ้นมามีอำนาจในสังคมการเมืองไทยบนพื้นฐานที่ไม่มากและไม่น้อย ในขณะเดียวกันก็สัมผัสได้กับทุกขั้วที่ก้าวขึ้นมา และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ชาตรีใช้ความสัมพันธ์ผ่านคนกลางโดยไม่พยายามนำตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงหรือโจ่งแจ้ง คนกลางนี้มีทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงเทพและมีทั้งนักธุรกิจใหญ่ที่สัมพันธ์กับเขาอย่างใกล้ชิด
แม้ในวันที่ชาตรีก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ตามมติคะแนนเสียงเอกฉันท์ของกรรมการธนาคารเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2523 เป็นการดำรงตำแหน่งสืบต่อจากบุญชู โรจนเสถียร ที่ก้าวไปดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ในรัฐบาลเปรม 1 ของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ชื่อของชาตรีค่อนข้างจะไม่เป็นที่คุ้นเคยสำหรับสาธารณชนมากนัก ในขณะที่สำนักข่าวต่างประเทศหลายแหล่งรวมทั้งหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ต่างพยายามสืบเสาะประวัติความเป็นมาของเขากันจ้าละหวั่น หากแต่ในแวดวงธุรกิจด้านลึก กิตติศัพท์ของชาตรีเป็นที่กล่าวขานและมีมานานแล้ว
และเพราะด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้ชาตรีรู้สึกว่าเขาจำเป็นต้องให้เวลากับทายาทของเขาในการเริ่มต้นก้าวเดินในบริบทธุรกิจ พร้อมกับภาระในการสร้างอาณาจักรส่วนตัวและการจัดวางบทบาทเพื่ออนาคตซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ชาตรีพยายามใช้ประสบการณ์ของเขาสมทบกับของชิน โสภณพนิช-ผู้พ่อ ในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปแล้ว พยายามปรับตัวตามสถานการณ์สมกับเป็น “พ่อค้า” ของเขา ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหนัก ทุ่มเทตลอดชีวิตเพื่องานการมองหาช่องทางจะได้ประโยชน์ (EQUITY) และพร้อมจะเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา และการเน้นผลตอบแทน (RESULT ORIENTED) ซึ่งด้วยลักษณะดังกล่าวนี้ ชาตรีจึงเป็นนักธุรกิจการธนาคารที่ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการภายในธนาคารกรุงเทพเมื่อปี 2531-2532 เป็นภาพสะท้อนความพยายามส่งไม้ต่อไปยังโสภณพนิช รุ่นที่ 3 ที่มีการจัดวาง ชาติศิริ ให้เป็นผู้รับช่วงต่อที่ชัดเจน
ชาติศิริ โสภณพนิช (เกิด 12 พฤษภาคม 2502) ได้รับการจัดวางบทบาทหลักอยู่ที่ธนาคารกรุงเทพอย่างเด่นชัด ชาติศิริเริ่มงานที่สำนักค้าเงินตราระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเดียวกันกับที่ชาตรีพ่อของเขาเริ่มเรียนรู้งาน ที่สำคัญคือ ชาติศิริอยู่ภายใต้การดูแลของ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้ซึ่งกล่าวขวัญกันว่าไต่บันไดความสำเร็จเร็วที่สุดเนื่องจากได้รับแรงส่งจากชาตรีคอยเป็นพี่เลี้ยง
ภายใต้โครงสร้างใหม่ในปี 2532 ชาติศิริ โสภณพนิช หรือ โทนี่ ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการฝ่ายการตลาด ซึ่งสายการตลาดเป็นสายงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ของธนาคารกรุงเทพ และได้รับการระบุว่ามีความสำคัญต่ออนาคตของธนาคารอย่างมาก เพราะเป็นงานที่จะต้องวิ่งหาลูกค้ารายใหม่ๆ เข้ามาในธนาคาร โดยไม่จำกัดประเภท ตลอดทั้งทำหน้าที่ในการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ
ชาติศิริในวันนั้นเพิ่งเข้ามาร่วมงานกับธนาคารกรุงเทพได้เพียง 2 ปี โดยเขามีโอกาสเรียนรู้งานไปแล้ว 2 สาย กล่าวคือเขาเริ่มงานที่สำนักจัดสรรเงิน โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่บริหารชั้นผู้ช่วยผู้จัดการ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการสำนักค้าเงินตราต่างประเทศ และข้ามสายไปกินตำแหน่งรองผู้จัดการฝ่ายการตลาด ซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารชั้นรองผู้จัดการในเวลาเพียงปีเดียวต่อมา
แน่นอนว่าในห้วงเวลาดังกล่าว ผู้คนทั้งในและนอกธนาคารกรุงเทพคงมองว่า ชาติศิริได้รับการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งเร็วเกินไปเพราะมีพ่อเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคาร หากแต่ในเวลาต่อมา เมื่อชาติศิริก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ในปี 2535 สืบแทนชาตรี โสภณพนิช ที่ขยับขึ้นไปเป็นประธานกรรมการบริหารเพียงตำแหน่งเดียวเขาก็กลายเป็นนายธนาคารที่หนุ่มที่สุด และบริหารองค์กรที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุคนั้น
แม้ว่าการส่งผ่านอาณาจักรธุรกิจขนาดมหึมาให้กับโสภณพนิชรุ่นที่ 3 จะผ่านพ้นไปนานกว่า 26 ปี และการบริหารของชาติศิริในช่วงที่ผ่านมาก็ต้องถือว่าผ่านทั้งวิกฤตและโอกาสมากมาย หากแต่การประเมินผลสำเร็จแห่งชีวิตของผู้คนแต่ละคนคงตั้งอยู่บนพื้นฐานของเงื่อนไขและประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ บริบทของธุรกิจและยุคสมัยที่ดำเนินอยู่นี้ ดูเหมือนว่าจะทำให้มาตรวัดที่มีอยู่เป็นไปภายใต้หน่วยนับที่ไม่เท่ากันเสียแล้ว
รอยทางบนบาทวิถีของสังคมเศรษฐกิจการเมืองไทยที่ยาวนานมากว่า 6 ทศวรรษของชาตรี โสภณพนิช
2476 เกิด 28 กุมภาพันธ์
มีอีกชื่อว่า อังเดร ชื่อจีนคือ อู้เข่ง แซ่ตั้ง
อายุ 6 ขวบ ติดตามแม่กลับประเทศจีน (ซัวเถา) สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงต้องพำนักอยู่ที่จีนจนโต หลังสงครามยุติ
ชาตรีและพี่ชายชื่อโรบิน ถูกส่งไปเรียนที่ฮ่องกง จนสำเร็จวิชาด้านบัญชีจากวิทยาลัย KWANG TAI HIGH ACCOUNTANCY COLLEGE
2495 เดินทางกลับประเทศไทยตามคำสั่งของชิน โสภณพนิช ซึ่งเป็นปีที่ ชินขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงเทพ สืบแทนหลวงรอบรู้กิจ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2495
ฝึกงานที่ธนาคารกรุงเทพ กับเอเชียทรัสต์ จากนั้นถูกส่งไปฝึกงานและเรียนหนังสือที่ประเทศอังกฤษ
2501 เดินทางกลับไทยอีกครั้ง
2502 ชิน โสภณพนิช ต้องเดินทางไปพำนักที่ฮ่องกง
รับตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบัญชี
2510 ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบัญชี และรักษาการตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการค้า
2514 ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่
2517 ดำรงตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่
13 มีนาคม 2523 ขึ้นรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ สืบต่อจาก บุญชู โรจนเสถียร
8 ตุลาคม 2535 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่
1 พฤศจิกายน 2535 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
หลังจากที่ชาตรีถอยห่างจากการบริหารงานที่ธนาคารกรุงเทพให้ชาติศิริดูแล เขายังคงมีบทบาทในวงสังคมการเมือง และองค์กรการกุศลอย่างต่อเนื่อง
24 มิถุนายน 2561 ถึงแก่กรรม สิริรวมอายุได้ 85 ปี