ขณะที่การแข่งขันฟุตบอลโลกในสังเวียนฟาดแข้งกำลังดำเนินไปอย่างออกรสชาติ และท่ามกลางผลการแข่งขันที่ส่งความสมหวังผิดหวังให้แก่เหล่ากองเชียร์ของทีมโปรดแต่ละทีมไปแบบระคนกัน
ความเป็นไปนอกสนามแข่งขัน และความคาดหวังจากผลของการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันก็ดำเนินไปด้วยความเข้มข้นและลุ้นระทึกไม่แตกต่างกัน
ผลประโยชน์จำนวนมหาศาลที่แต่ละประเทศคาดหวังไว้จากการเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาระดับโลก ทำให้หลายประเทศพยายามอย่างยิ่งยวดในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ด้วยหวังว่ากรณีดังกล่าวจะเป็นจักรกลในการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจการลงทุนภายในประเทศ นอกเหนือจากการสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ
การแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซียก็ดำเนินไปในวิถีที่ไม่แตกต่างกันมากนักโดยรัฐบาลรัสเซียตั้งความหวังไว้ว่า ฟุตบอลโลกครั้งนี้จะช่วยหนุนนำให้เศรษฐกิจของรัสเซียเติบโตขึ้น ก่อนที่คณะกรรมการของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) จะลงมติตัดสินใจมอบสิทธิการเป็นเจ้าภาพให้กับรัสเซีย ชนะคู่แข่งขันทั้งโปรตุเกส/สเปน และ เบลเยียม/เนเธอร์แลนด์ ที่เสนอตัวเข้ามาในฐานะเจ้าภาพร่วม ในช่วงปลายปี 2010
ตลอดระยะเวลากว่า 8 ปี ของการเตรียมการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์ว่ารัสเซียได้ใช้งบประมาณไปเป็นจำนวนมากถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยหวังว่ากรณีดังกล่าวจะเป็นการเปิดศักราชแห่งความรุ่งเรืองและการพัฒนาครั้งใหม่ให้กับ 11 เมืองที่จะใช้เป็นสังเวียนของการแข่งขัน และจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของเมืองเหล่านี้เติบโตขึ้นร้อยละ 15 ในช่วงเวลานับจากนี้
การลงทุนเพื่อก่อสร้างและปรับปรุงสนามกีฬาให้ได้มาตรฐานรองรับการแข่งขันระดับโลกดำเนินควบคู่ไปพร้อมกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ที่มีงบประมาณรวมกว่า 3.53 แสนล้านรูเบิล โดยงบประมาณส่วนใหญ่ได้รับการจัดสรรไปสำหรับการลงทุนในระบบการบินและการพัฒนาสนามบิน ขณะที่การสร้างโรงแรมใหม่ในเมืองที่เป็นสถานที่แข่งขันก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่มีการลงทุนเพื่อรองรับกับทั้งนักกีฬาและนักท่องเที่ยวที่จะเข้าชมการแข่งขันด้วย
การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของรัสเซียได้รับการประเมินว่าจะส่งผลให้ GDP ของรัสเซียเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และมีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.2-1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยในช่วงเวลาระหว่างที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกที่มีกำหนดนานนับเดือนนี้ ภาคโรงแรมของรัสเซียจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ
ประเด็นที่สำคัญมากกว่าตัวเลขรายได้และการลงทุนดังกล่าวอยู่ที่ตลอดระยะเวลาของการเตรียมตัวเพื่อเป็นเจ้าภาพการแข่งขันครั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้เกิดการจ้างงานในภูมิภาคต่างๆ ของรัสเซียรวมไม่ต่ำกว่า 2 แสนตำแหน่งงาน ซึ่งเป็นการกระจายรายได้และโอกาสทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ และทำให้รัฐบาลรัสเซียมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น 1.6-2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐเป็นการตอบแทนการลงทุน
ความสำเร็จของการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของสหรัฐอเมริกา ในปี 1994 อาจเป็นตัวอย่างของการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประเทศเจ้าภาพ เพราะแม้สหรัฐอเมริกาจะใช้เงินลงทุนมากถึง 5.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ก็สามารถสร้างผลกำไรทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นผลกำไรทางเศรษฐกิจที่ลอสแองเจลิส มูลค่ากว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐ การจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 2,000 อัตรา ในแคลิฟอร์เนีย ขณะที่ในนิวยอร์กและซานฟรานซิสโกรวมถึงบอสตันมีรายได้รวมกันกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ความน่าสนใจของฟุตบอลโลก 1994 นอกจากจะอยู่ที่ผลกำไรที่มีมูลค่ามากกว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐแล้ว ยังเป็นการนำไปสู่การต่อยอดสร้างฟุตบอลอาชีพ “เมเจอร์ลีก ซอคเกอร์” ที่พัฒนาขึ้นเป็นลำดับและดำเนินการแข่งขันมาจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่ความเป็นไปของฟุตบอลโลก 1998 ที่ฝรั่งเศส นอกจากฝรั่งเศสจะได้ครองความชนะเลิศในการแข่งขันบนแผ่นดินมาตุภูมิแล้ว รายได้ที่เกิดจากการถ่ายทอดสดและจากช่องทางการตลาดอื่นที่มีมูลค่ารวมกันมากกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังส่งผลให้เกิดการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นถึงกว่าร้อยละ 2 ในปีของการแข่งขันนั้นด้วย
ตัวอย่างของการบริหารจัดการของประเทศเจ้าภาพอีกรายที่เด่นชัดมากก็คือกรณีของเยอรมนีกับฟุตบอลโลก 2006 ที่แม้จะไม่มีงบประมาณหรือค่าใช้จ่ายในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเยอรมนีมีความพรั่งพร้อมอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีการใช้งบประมาณลงทุนในการดำเนินงานทั้งสิ้นถึง 430 ล้านยูโร ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจเยอรมนีหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ที่มีรายได้สูงถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ยอดมูลค่าของธุรกิจค้าปลีกพุ่งทะยานสู่ระดับ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ และการจ้างงานในประเทศอีก 5 แสนตำแหน่ง
แต่การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกไม่ได้มีแต่ด้านความสำเร็จที่งดงามและหอมหวานเท่านั้น ยังมีความล้มเหลว ความขมขื่นและบาดแผลที่รอคอยการเยียวยา ไม่แตกต่างจากผลการแข่งขันที่พร้อมจะสร้างรอยยิ้มและคราบน้ำตาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่พร้อมจะติดตามมาเช่นกัน
การแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2002 ซึ่งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีเจ้าภาพร่วมและเป็นครั้งแรกที่ฟุตบอลโลกจัดขึ้นบนผืนแผ่นดินทวีปเอเชีย โดย FIFA มอบเงินสนับสนุนให้เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ชาติละ 110 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นต่างใช้เงินปรับปรุงและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในส่วนของสนามแข่งขันและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมเป็นเงินชาติละมากกว่า 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
แม้หลายฝ่ายจะพยายามระบุว่าการแข่งขันฟุตบอลโลกที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นจะประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะในมิติของภาพลักษณ์ ที่แสดงให้เห็นศักยภาพด้านกีฬาของทวีปเอเชีย และการเปิดโอกาสใหม่ให้นักฟุตบอลจากทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ไปค้าแข้งในต่างประเทศมากขึ้น แต่ข้อเท็จจริงด้านการจัดการรายได้ก็คือ ฟุตบอลโลก 2002 ขาดทุนด้านตัวเลขการลงทุนไปพอสมควร เพื่อแลกกับภาพลักษณ์และโอกาสใหม่ๆ ที่ได้มา
ความล้มเหลวด้านตัวเลขรายได้และความเสี่ยงในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปรากฏชัดเจนขึ้นในการจัดการแข่งขันสองครั้งหลังสุดที่ผ่านมา โดยฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้ ประสบปัญหาขาดทุนสูงถึง 600 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่าจะมีรายได้จากการแข่งขันจำนวนมหาศาลถึง 3.36 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่เมื่อย้อนกลับไปพิจารณางบประมาณที่ลงทุนไปสูงถึง 3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ก็เท่ากับว่าฟุตบอลโลกครั้งนั้นต้องขาดทุนไปโดยปริยาย
สาเหตุหลักของความล้มเหลวอยู่ที่แอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นเจ้าภาพต้องใช้เงินลงทุนมากถึง 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่แทบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬา ถนน ทางรถไฟ และสนามบิน การลงทุนดังกล่าวทำให้ค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวแต่ละรายขยับปรับตัวสูงไปด้วย โดยมีการประเมินค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวแต่ละรายว่าจะเฉลี่ยอยู่ในระดับที่สูงถึง 1.3 หมื่นเหรียญสหรัฐต่อรายสำหรับการเข้าชมการแข่งขันครั้งนี้ซึ่งส่งผลให้ที่นั่งในสนามจำนวนมากถูกปล่อยว่างไม่มีผู้เข้าชม ขณะที่ชาวพื้นเมืองก็มีกำลังในการจ่ายในอัตราที่ต่ำประกอบส่วนเข้าไปอีก
ฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้ ยังติดตามมาด้วยปัญหาการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม การลงทุนที่เกินตัวของภาครัฐทำให้อัตราการว่างงานของประเทศสูงขึ้นสู่ระดับร้อยละ 46 ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศชะลอการเติบโตจากที่อยู่ในระดับร้อยละ 4.6 ลงมาเหลือในระดับร้อยละ 2.6 เท่านั้น
ฝันร้ายของการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2014 อย่างบราซิล ซึ่งเป็นผู้ครองความชนะเลิศในการแข่งขันรายการนี้สูงสุดถึง 5 สมัย ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผลการแข่งขันในสนามที่ต้องพ่ายแพ้ให้แก่เยอรมนีอย่างย่อยยับด้วยสกอร์ 7:1 ในรอบรองชนะเลิศเท่านั้น หากแต่ยังเกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่า บราซิลขาดทุนจากการจัดการแข่งขันครั้งนี้มากถึง 5.3 พันล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
บราซิลลงทุนเงินงบประมาณ 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกแต่สามารถสร้างรายได้จากการแข่งขันดังกล่าวได้เพียง 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ท่ามกลางกระแสต่อต้านของประชาชนชาวบราซิล เนื่องจากเชื่อว่าการจัดการแข่งขันครั้งนี้มีการใช้งบประมาณเกินความเป็นจริงและอาจมีการทุจริตคอร์รัปชัน
ยังไม่รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่า บราซิลต้องเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก 2016 ในอีกสองปีถัดมา ซึ่งทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามไปด้วย หลังจากผ่านการจัดมหกรรมกีฬาขนาดใหญ่สองรายการ บราซิลก็เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จีดีพี ก่อนปี 2014 ที่เคยสูงถึงร้อยละ 6-7 กลับหดตัวลงเหลือเพียงร้อยละ 4 และนำมาซึ่งปัญหาการว่างงานที่เพิ่มขึ้นและปัญหาด้านสังคมเมื่อคนในประเทศมีรายได้น้อยลง
ฟุตบอลโลก 2018 เริ่มเปิดฉากไปแล้ว ผลสำเร็จ-ล้มเหลวของการจัดการแข่งขัน นอกจากจะอยู่ที่ผลการแข่งขันที่ยังดำเนินไปอีกนับเดือนจากนี้ ยังต้องติดตามต่อไปด้วยว่า ความหวังของเจ้าภาพรัสเซีย ที่จะอาศัยมหกรรมกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงสุดของโลกรายกาารนี้ผลักดันพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศ จะบรรลุผลดังที่วางเป้าหมายไว้หรือไม่ หรือถึงที่สุดจะต้องเผชิญกับด้านกลับของความฝันความหวัง กลายเป็นฝันร้ายที่พร้อมจะติดตามหลอกหลอนเจ้าภาพรายนี้ไปอีกคำรบหนึ่ง