วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > มลภาวะในออฟฟิศ มลพิษทำร้ายคนทำงาน

มลภาวะในออฟฟิศ มลพิษทำร้ายคนทำงาน

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สังคมไทยถูกกระตุ้นเตือนว่าด้วยกระแสรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันอย่างเอิกเกริก ในด้านหนึ่งจากผลของวันสิ่งแวดล้อมโลกเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ต่อเนื่องด้วย วันทะเลโลก 8 มิถุนายน ซึ่งในปีนี้เรื่องราวของวันทั้งสองดังกล่าวดูจะเกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงถึงกัน เมื่อปรากฏว่าขยะพลาสติกไม่เพียงแต่ทำลายสภาพแวดล้อมทางทะเล หากยังเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลอย่างหนักอีกด้วย

ความเป็นไปของสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมา อาจส่งผลให้เกิดความตื่นตัวและจุดประกายความสนใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและการบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้พอสมควร หน่วยงานและองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน ต่างแสดงออกถึงความห่วงกังวลในเรื่องดังกล่าวควบคู่กับกิจกรรมทางสังคมภายใต้ความมุ่งหวังที่ว่ากิจกรรมดังกล่าวจะช่วยปลุกจิตสำนึกให้กับผู้คนได้พอสมควร

หากแต่การรักษาสิ่งแวดล้อมย่อมไม่ใช่การเดินทางไกลไปปลูกป่าหรือเก็บขยะริมทะเล โดยที่สภาพแวดล้อมในสถานประกอบการหรือสำนักงานของแต่ละหน่วยงาน ยังมีสภาพไม่ต่างจากการนั่งทำงานอยู่บนกองปฏิกูลที่ขาดระเบียบและการบริหารจัดการที่เหมาะสม

ภาพสำนักงานของหน่วยงานในสังกัดของระบบราชการไทยทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ที่อัดแน่นด้วยกองเอกสารจำนวนมหาศาล และวัสดุเหลือใช้จำนวนมากที่ถูกขึ้นบัญชีให้เป็นครุภัณฑ์ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายหรือขจัดออกไปเพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับการใช้สอยอย่างมีประสิทธิภาพ กลายเป็นประเด็นที่สะท้อนระบบวิธีคิดของหน่วยราชการไทยมาช้านาน แม้ว่าขณะปัจจุบันจะมีการพูดถึงการก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 และเศรษฐกิจดิจิทัลก็ตาม

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 โดยระบุคำกำหนดนิยามไว้ในมาตรา 4 ความว่า “ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน” หมายความว่า การกระทำหรือสภาพการทำงานซึ่งปลอดจากเหตุอันจะทำให้เกิดการประสบอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย อันเนื่องจากการทำงานหรือเกี่ยวกับการทำงาน

โดยที่ “นายจ้าง” หมายความว่า นายจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและให้หมายความรวมถึง ผู้ประกอบกิจการซึ่งยอมให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดมาทำงานหรือทำผลประโยชน์ให้แก่หรือในสถานประกอบกิจการ ไม่ว่าการทำงานหรือการทำผลประโยชน์นั้นจะเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการนั้นหรือไม่ก็ตาม

ขณะที่ “ลูกจ้าง” หมายความว่า ลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับความยินยอมให้ทำงานหรือทำผลประโยชน์ให้แก่หรือในสถานประกอบกิจการของนายจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม

และ “สถานประกอบกิจการ” หมายความว่า หน่วยงานแต่ละแห่งของนายจ้างที่มีลูกจ้างทำงานอยู่ในหน่วยงาน

บทบัญญัติในมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ให้นายจ้างมีหน้าที่จัดและดูแลสถานประกอบกิจการและลูกจ้างให้มีสภาพการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนการปฏิบัติงานของลูกจ้างมิให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ และสุขภาพอนามัย ให้ลูกจ้างมีหน้าที่ให้ความร่วมมือกับนายจ้างในการดำเนินการและส่งเสริมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ลูกจ้างและสถานประกอบกิจการ

แม้กรณีดังกล่าวจะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ผู้ทำงานแต่ละคนจะต้องเผชิญในแต่ละวัน และมีพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ระบุถึงวิธีปฏิบัติอย่างชัดเจน หากแต่ในความเป็นจริงกรณีที่ว่านี้กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสำนักงานและสถานประกอบการแต่ละแห่งอย่างจริงจังมากนัก และทำให้วลีที่ว่า “Charity begins at home” กลายเป็นภาพสะท้อนสำนึกสิ่งแวดล้อมที่กำลังดำเนินไปในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

นอกเหนือจากสภาพแวดล้อมทางด้านกายภาพแล้ว ภายในสำนักงานยังมีสภาพแวดล้อมด้านเคมี ซึ่งปริมาณสารเคมีที่ใช้หรือมีอยู่ในสำนักงานจะมากน้อยเพียงใด ผู้ปฏิบัติงานมักจะมิได้ให้ความสนใจเท่าไรนัก เนื่องเพราะสารเคมีต่างๆ อยู่ในลักษณะแฝงร่วมกับวัสดุและครุภัณฑ์สำนักงาน และมักมีปริมาณน้อยมากบางครั้งก็ตรวจวัดในบรรยากาศไม่พบ โดยปริมาณของสารเคมีที่มีอยู่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้งานและระบบระบายอากาศภายในห้องของสำนักงานเหล่านั้น

กรณีที่ว่านี้ ดูเหมือนว่าเครื่องถ่ายเอกสารจะเป็นอุปกรณ์สำนักงานสำคัญที่ทุกสำนักงานขาดไม่ได้ ซึ่งแม้จะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็มีอันตรายต่อทั้งผู้ใช้งานและการกำจัดกากของเหลือใช้ไม่น้อยเช่นกัน

เพราะองค์ประกอบของเครื่องถ่ายเอกสาร นอกจากจะมีแม่พิมพ์ที่เป็นโลหะ ลูกกลิ้งที่เคลือบด้วยโลหะ ประเภทซิลิเนียม หรือแคดเมียม แล้วในหมึกพิมพ์ยังมีสารคาร์ซิโนเจน ซึ่งเป็นสารก่อเกิดมะเร็ง ผงคาร์บอน เมื่อผงคาร์บอนทำปฏิกิริยากัน สารไนโตรไพริน สารอะโรเมติกโพลี ไซคลิคไฮโดคาร์บอน สารเทอโม-พลาสติกเรซิน ขณะที่เครื่องทำงานจะมีกลิ่นฉุน จากปฏิกิริยาของสารเคมีดังกล่าวนี้ทำให้ผู้ใช้ที่ต้องสัมผัสนานๆ จะมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ง่วงซึม รู้สึกมึนชาด้วย

ในเอกสารเผยแพร่ของสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ยังระบุถึงอันตรายและโรคที่เกิดจากการทำงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์

โดยระบุว่า ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์จำนวนไม่น้อยต้องใช้สายตาในการเพ่งมองจอภาพจนเกิดอาการตาล้า และการกดแป้นพิมพ์หรือนั่งทำงานกับเครื่องเป็นเวลานานโดยไม่ได้มีการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายส่งผลต่อปัญหาความปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ข้อมือ หัวไหล่ หลังหรือเอว และมีความเครียดซึ่งทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีอาการหงุดหงิด ขาดสมาธิ เกิดความล้า

ประเด็นที่น่าสนใจมากประการหนึ่งอยู่ที่ การพบว่าผู้ที่ทำงานในสำนักงานจำนวนไม่น้อย มีอาการของโรคที่เรียกว่า Regionair Disease หรือ Sick Building Syndrome ซึ่งหมายถึงโรคอันเกิดขึ้นจากการทำงานในอาคารสำนักงาน โดยจากการศึกษาวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างอาการของโรคเหล่านี้กับระบบการระบายอากาศ หรือแหล่งมลภาวะที่เกิดขึ้นจากภายในและภายนอกอาคาร พบว่านอกจากจะเกิดจากการออกแบบอาคารที่ไม่ดี ยังมีประเด็นว่าด้วยปัญหาจากผู้อยู่อาศัยหรือผู้ร่วมงานก่อให้เกิดมลภาวะร่วมเป็นปัจจัยเสี่ยงด้วย

ความพยายามที่จะจัดการแก้ไขสภาพแวดล้อมให้เป็นไปอย่างพึงประสงค์ทั้งในระดับสำนักงานและสังคมวงกว้างนอกจากจะดำเนินไปภายใต้บริบทของการจำกัดปัจจัยเสี่ยง การกำจัดสิ่งไม่พึงประสงค์ และการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ผ่านมาตรการและอุปกรณ์ที่บ่อยครั้งมีข้อจำกัดในการใช้ให้เกิดผลขึ้นจริงแล้ว การให้การฝึกอบรมและการสื่อสารระหว่างบุคคลก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง และดูจะเป็นปัจจัยบ่งชี้ว่าด้วยมลภาวะภายในสถานประกอบการที่เด่นชัด

เพราะทัศนคติที่เลวร้ายย่อมเปรียบประหนึ่งได้ไม่ต่างจากปฏิกูล ที่นอกจากไม่สามารถนำพาความจำเริญมาสู่องค์กร ยังพร้อมจะฉุดรั้งพัฒนาการและส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานโดยรวมของผู้ปฏิบัติงานอื่นๆ ในองค์กรด้วย

ใส่ความเห็น