วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024

Mai 68

Column: From Paris

การเปลี่ยนแปลงใหญ่ในแต่ละครั้ง ย่อมมีการสูญเสีย ฝรั่งเศสมีสถาบันกษัตริย์จนถึงปี 1789 ราษฎรที่กรุงปารีสแร้นแค้น ในขณะที่ราชสำนักที่แวร์ซายส์ (Versailles) ไม่ตระหนัก ชาวปารีเซียงจึงลุกฮือเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 1789 สถาบันกษัตริย์ถูกล้มล้าง กษัตริย์หลุยส์ที่ 16 และ มารีอองตัวแนต (Marie-Antoinette) รวมทั้งขุนนางผู้ภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ถูกประหารด้วยเครื่องกีโยตีน (guillotine) ถือเป็นการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศส หากการปฏิวัติครั้งนั้นใช่ว่าจะจบสิ้นลงในเร็ววัน แต่ยืดเยื้ออยู่หลายปี ผู้นำการปฏิวัติเข่นฆ่ากันเอง ฝรั่งเศสเพิ่งกลับมาเป็นหนึ่งเดียวในยุคนโปเลอง (Napoléon) เป็นยุคจักรวรรดิ (Empire) และแม้จะมีความพยายามรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่ได้ใช้ว่า กษัตริย์ของฝรั่งเศส – roi de France แต่เป็นกษัตริย์ของชาวฝรั่งเศส – roi des Français แล้วก็มาถึงยุคสาธารณรัฐ (République) ที่ล้มลุกคลุกคลาน จนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 1958 การเมืองฝรั่งเศสจึงค่อยมั่นคง

ฝรั่งเศสมีการ “ปฏิวัติ” ใหญ่อีกครั้งหนึ่งในปี 1968 เป็นการปฏิวัติสังคม วัฒนธรรม และการเมือง ในเดือนพฤษภาคม 1968 ฝรั่งเศสเรียกสั้นๆว่า `Mai 68 ต่อต้านลัทธิทุนนิยมและจักรวรรดิอเมริกัน รวมทั้งต่อต้านประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอ โกล (Charles de Gaulle) ซึ่งปกครองประเทศตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ทศวรรษ 1960 เป็นทศวรรษของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ในปี 1968 นักศึกษามหาวิทยาลัยมีถึง 500,000 คน ในขณะที่ปี 1954 มีเพียง 140,000 คนเท่านั้น ในปี 1964 มีการเปิดวิทยาเขตที่นองแตร์ (Nanterre) ชานกรุงปารีส เพื่อรองรับจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทว่า ระบบมหาวิทยาลัยไม่มีการปรับเปลี่ยน เป็นยุคที่อุดมการณ์การเมืองการปกครองมีมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย คอมมิวนิสต์ มาร์กซิสต์ เมาอิสต์ ทร็อตส์กิสต์ นักศึกษาตื่นตัวทางการเมืองและกล้าแสดงออกมากขึ้น ในสหรัฐอเมริกาเองมีการเดินขบวนต่อต้านสงครามเวียดนาม

ที่ปารีส ผู้นำของชมรมเวียดนามแห่งชาติถูกจับกุม นักศึกษากลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาต่อต้านการจับกุมนี้ โดยมีดาเนียล โกห์นเบนดิต (Daniel Cohn-Bendit) เป็นผู้นำ และไปยึดสำนักงานผู้บริหารของวิทยาเขตนองแตร์ อธิการบดีสั่งปิดมหาวิทยาลัย ผู้นำนักศึกษาถูกจับ ขบวนการนักศึกษาจึงย้ายมาชุมนุมที่มหาวิทยาลัยซอร์บอน (Sorbonne) ที่ปารีส โดยไม่มีดาเนียล โกห์นเบนดิต เพราะถูกจับเสียก่อน อธิการบดีขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแทรกแซงเพื่อขับนักศึกษาออกจากมหาวิทยาลัย ผลก็คือ มีนักศึกษาถูกจับประมาณ 600 คนเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ต่อมาวันที่ 6 พฤษภาคม เกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและนักศึกษาในย่านการ์ทีเอร์ละแตง (Quartier latin) มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 945 คน เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 345 คน มีผู้ถูกจับประมาณ 400 คน สหพันธ์นักศึกษาจึงเรียกร้องให้มีการผละงานทั่วประเทศ ในวันที่ 7 พฤษภาคม นักศึกษา 30,000 คนเดินขบวนในปารีส และไปร้องเพลง l’Internationale หน้าหลุมฝังศพทหารนิรนามใต้ประตูชัย (Arc de triomphe) หลังจากนั้นการเดินขบวนแพร่ไปเมืองต่างๆ เช่น สตราสบูรก์ (Strasbourg) นองต์ (Nantes) แรนส์ (Rennes) ดิฌง (Dijon) ลิอง (Lyon) ตูลูซ (Toulouse)

นักศึกษาตั้งสิ่งกีดขวางในย่าน Quartier latin เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตา นักศึกษาตอบโต้ด้วยระเบิดขวด มีผู้ได้รับบาดเจ็บนับพันคน สหภาพแรงงานทุกสหภาพเรียกร้องให้มีการผละงานในวันที่ 13 พฤษภาคม นายกรัฐมนตรีจอร์จส์ ปงปิดู (Georges Pompidou) กลับจากอัฟกานิสถาน ประกาศให้มหาวิทยาลัยซอร์บอนเปิดวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม และปล่อยนักศึกษาที่ถูกจับ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 13 พฤษภาคม มีการผละงานในหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน 800,000 คนลงถนน พร้อมกับสโลแกนว่า “เดอ โกล 10 ปี พอเสียที” ผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายร่วมเดินขบวนด้วย

ในขณะเดียวกัน นักศึกษาก็เดินขบวน นำโดยดาเนียล โกห์นเบนดิต ฌาคส์ โซวาโจต์ (Jacques Sauvageot) อแลง เจสมาร์ (Alain Geismar) การประท้วงมีในจังหวัดต่างๆ นักศึกษาประกาศให้ซอร์บอนเป็นอิสระ จัดการถกอุดมการณ์ และเห็นว่าควรสร้างโลกใหม่ในแบบของมาร์กซ์ เหมา เลนิน โฮจิมินห์ ฟิเดล คัสโตร และเช เกบารา

ประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอ โกล (Charles d Gaulle) เดินทางไปเยือนโรมาเนียในวันที่ 16 พฤษภาคม แม้จะยังมีการเดินขบวน นักสร้างภาพยนตร์รุ่นใหม่อย่างฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์ (François Truffaut) โคล้ด เลอลูช (Claude Lelouch) ฌองลุก โกดารด์ (Jean-Luc Godard) ขัดขวางไม่ให้มีการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองกานส์ (Cannes)

ผู้ร่วมผละงาน 20 ล้านคนทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นอัมพาต รถไฟและรถใต้ดินไม่เดิน ขยะเต็มเมืองเพราะผู้เก็บขยะร่วมประท้วงด้วย แม้ประธานาธิบดีเดอ โกลจะประกาศให้มีการปฏิรูป หรือการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ยังมีการชุมนุมประท้วงในปารีสและเมืองต่างๆ เดอ โกลประกาศว่าจะไปพักผ่อนที่โกลงเบย์ (Colombey) แต่แอบไปพบกับนายพลมาสซู (Massu)ในเยอรมนี ราวกับต้องการความมั่นใจว่ากองทัพยังหนุนเขาอยู่ ต่อมาในวันที่ 30 พฤษภาคม ประธานาธิบดีเดอ โกลประกาศไม่ลาออก ยังคงให้จอร์จส์ ปงปิดูเป็นนายกรัฐมนตรี และประกาศยุบสภา ในวันเดียวกันนั้น ผู้สนับสนุนเดอ โกลเดินขบวนไปตามถนนชองป์เซลีเซส์ (Champs-Elysées) มีอองเดร มัลโรซ์ (André Malraux) ร่วมด้วย ในวันที่ 31 พฤษภาคม สถานการณ์จึงคืนสู่ปกติ

รัฐบาลยอมขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำเป็น 600 ฟรังก์ อนุมัติให้บริษัทเอกชนมีสหภาพแรงงานอนุมัติให้ลาพักได้ 4 สัปดาห์โดยได้รับเงินเดือน ในด้านการเมือง รัฐให้มีการเลือกตั้งหลังการยุบสภา ให้มีการจัด referendum เกี่ยวกับการเลือกตั้งวุฒิสภาและบทบาทของวุฒิสมาชิก ปรากฏว่ารัฐบาลแพ้ ประธานาธิบดีเดอ โกลจึงต้องลาออก

ทางด้านสังคม เกิดเสรีภาพทางเพศ และการทำแท้ง เป็นยุคของฮิปปี้ที่มีสโลแกนว่า Peace and love

Le boulevard du temps qui passe ของจอร์จส์ บราสแซงส์ (Georges Brassens) Le temps de vivre ของจอร์จส์ มูสตากี (Georges Moustaki) Au printemps à quoi rêvais-tu ของฌอง แฟราต์ (Jean Ferrat) La révolution ของเลโอ แฟเร (Léo Ferré) เป็นต้น เป็นเพลงที่เกี่ยวเนื่องกับ Mai 68

เดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเมืองนีซ (Nice) ในเดือนตุลาคม 1970 เพียง 2 ปีหลังจากการลุกฮือของนักศึกษา บรรยากาศของการ “ปฏิวัติ” ยังกรุ่นอยู่ ตามอาคารเรียน มีมือดีเขียน Maoïste, Marxiste, Communiste, Gauchiste ….

Mai 68 เวียนมาบรรจบ 50 ปีในปี 2018 นี้ เมื่อปลายปี 2017 ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ได้พูดถึงการจัดงานเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น สื่อถามกันว่าจะจัดจริงหรือ อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวาระสำคัญอย่างนี้ คงจะมีการออกหนังสือเกี่ยวกับ Mai 68 ปาฐกถา และนิทรรศการ

ใส่ความเห็น