วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > On Globalization > วันสตรีสากล 2018

วันสตรีสากล 2018

Column: Women in wonderland 

วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสตรีสากล (International Women’s Day) ซึ่งในแต่ละปีแต่ละประเทศก็จะมีการเดินขบวนขององค์กรและกลุ่มต่างๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้กับผู้หญิงและลดความไม่เท่าเทียมกันในสังคมลง

ปี 2018 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศที่จะใช้กรอบแนวคิดที่ “Time is now: Rural and urban activists transforming women’s lives” โดยมุ่งเน้นไปที่สิทธิของผู้หญิง ความเท่าเทียมกันในสังคม และความยุติธรรม โดยเฉพาะเรื่องการลวนลามทางเพศ การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง และความไม่เท่าเทียมกันในที่ทำงาน

ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2017 เป็นต้นมา จะเห็นปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคมจากเกือบทุกประเทศทั่วโลกจากเหตุการณ์ของ Harvey Weinstein ซึ่งเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ในวงการฮอลลีวูด และเป็นเจ้าของบริษัท Weinstein ถูกเปิดเผยจากนักแสดงหญิงในวงการฮอลลีวูดจำนวนมากเรื่องการลวนลามทางเพศในที่ทำงาน นักแสดงเหล่านี้ต้องยอมมีเพศสัมพันธ์กับเขาเพื่อให้ได้งานและมีอนาคตที่ดีในวงการ

หลังจากเรื่องนี้ถูกเปิดเผยออกไป ผู้หญิงจากทั่วทุกมุมโลกได้ออกมาเปิดเผยและเล่าประสบการณ์ของตนเองในโลกโซเชียล ที่พวกเธอถูกลวนลามทางเพศในที่ต่างๆ และถูกข่มขืนทั้งจากคนใกล้ชิดและคนที่ไม่รู้จัก ซึ่งหลังจากที่เล่าประสบการณ์ของตัวเองแล้วก็จะใส่แฮชแท็ก (Hashtag) คำว่า MeToo เอาไว้ด้วย นอกจากนี้คำว่า MeToo ยังได้ถูกเปลี่ยนเป็นภาษาต่างๆ ทำให้เกิดปรากฏการณ์แฮชแท็กคำ MeToo ไปทุกประเทศแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

ไม่ได้มีเพียงแฮชแท็กคำว่า MeToo เท่านั้นที่เกิดเป็นปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคม แต่เมื่อต้นเดือนมกราคม ปี 2018 ซึ่งปกติแล้วในเดือนมกราคมของทุกปี ฮอลลีวูดจะจัดงาน “ลูกโลกทองคำ” (Golden Globe Awards) เพื่อมอบรางวัลให้กับภาพยนตร์และซีรีส์ต่างๆ ในปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะถึงวันงานลูกโลกทองคำ นักแสดงผู้หญิง คนเขียนบทที่เป็นผู้หญิง ผู้กำกับหญิง ผู้ผลิตรายการหญิง และผู้บริหารหญิงระดับสูงของบริษัทต่างๆ ในวงการฮอลลีวูดได้รวมตัวกันมากกว่า 300 คน และร่วมลงชื่อการให้ความร่วมมือและให้การช่วยเหลือเพื่อยุติการลวนลามทางเพศในที่ทำงาน โดยเฉพาะที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับวงการฮอลลีวูดและที่ทำงานทุกที่ในประเทศสหรัฐอเมริกา

โครงการนี้ใช้ชื่อว่า “Time’s Up” ได้ถูกประกาศเป็นโฆษณาเชิญชวนจำนวน 1 หน้ากระดาษในหนังสือพิมพ์ New York Times เพื่อให้ทุกคนเข้าร่วมโครงการและช่วยกันยุติการลวนลามทางเพศในที่ทำงาน นอกจากนี้โครงการยังประกาศอีกว่า มีเงินให้อีก 13 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาเพื่อใช้ในการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศในที่ทำงาน โดยเฉพาะผู้หญิงที่ทำงานใช้แรงงานเป็นหลัก โดยจะให้เงินช่วยเหลือบางส่วนเพื่อให้ผู้หญิงเหล่านี้สามารถต่อสู้ทางกฎหมายในการปกป้องสิทธิของพวกเธอ ลงโทษนายจ้างที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากการแจ้งบริษัทเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของหัวหน้างาน

ในโครงการ Time’s Up นี้ได้มีนักแสดงและผู้ผลิตรายการที่มีชื่อเสียงหลายคนเข้าร่วมด้วย ยกตัวอย่างเช่น Natalie Portman, Viola Davis, Ashley Judd, Eva Longoria, America Ferrera, Rashida Jones, Kerry Washington, Reese Witherspoon และ Shonda Rhimes โดย Rhimes ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ New York Times ว่าถ้าหากผู้หญิงในวงการฮอลลีวูดไม่สามารถต่อสู้กับเรื่องการลวนลามทางเพศในที่ทำงานเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับผู้หญิงคนอื่นๆ ได้แล้ว เธอก็ไม่รู้ว่าใครจะสามารถต่อสู้กับเรื่องพวกนี้ได้ในเมื่อผู้หญิงในวงการฮอลลีวูดต่างก็มีคนรู้จักมากมายและมีสื่ออยู่ในมือ

1 วันก่อนเริ่มงาน นักแสดงและผู้ที่เกี่ยวข้องเริ่มใช้แฮชแท็กคำว่า TimesUp เพื่อเรียกร้องให้ยุติการลวนลามทางเพศ ซึ่งนี่นับเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น เพราะผู้คนในโลกโซเชียลทั้ง Instagram และ Twitter ได้ร่วมกันใส่แฮชแท็กคำว่า TimesUp แทนที่จะเป็นการใส่แฮชแท็กชื่อดารานักแสดงที่ได้รับรางวัลหรือชื่อภาพยนตร์หรือชื่อซีรีส์ที่ได้รับรางวัล

จากปรากฏการณ์แฮชแท็กคำว่า MeToo และ TimesUp ทำให้องค์การสหประชาชาติเลือกที่จะใช้ปรากฏการณ์ทางสังคมในครั้งนี้ส่งเสริมสิทธิของผู้หญิง ความเท่าเทียมกัน และความยุติธรรมในสังคม โดยเฉพาะเรื่องการลวนลามทางเพศ การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง และความไม่เท่าเทียมกันในที่ทำงาน องค์การสหประชาชาติยังคงเล็งเห็นด้วยว่าจากปรากฏการณ์แฮชแท็กครั้งนี้ วันสตรีสากลปี 2018 น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสนับสนุนให้ผู้หญิงทุกคนทั้งที่อาศัยอยู่ในเมืองและชนบทได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกันในสังคมและรับรู้ถึงสิทธิต่างๆ ของตัวเอง โดยเฉพาะผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในชนบทและทำงานใช้แรงงานเป็นหลัก เนื่องจากมีประชากรผู้หญิงถึง 43% ในโลกที่ยังคงทำงานใช้แรงงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม และผู้หญิงเหล่านี้ยังคงไม่ได้รับความเท่าเทียมกัน

เมื่อเปรียบเทียบผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในชนบทกับในเมืองจะยิ่งเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในชนบทนั้นไม่ได้ความเท่าเทียมกันและถูกเลือกปฏิบัติในสังคมมากกว่าผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในเมือง ยกตัวอย่างเช่น จากทั่วโลกมีผู้หญิงน้อยกว่า 20% ที่เป็นเจ้าของที่ดิน และโดยเฉลี่ยแล้วความไม่เทียมกันของรายได้ระหว่างผู้หญิงและผู้ชายจากทั่วโลกจะอยู่ที่ประมาณ 23% แต่ถ้าหากเป็นในชนบท ความแตกต่างของรายได้จะต่างกันอยู่ที่ประมาณ 40% ดังนั้นองค์การสหประชาชาติจึงต้องการสนับสนุนให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้หญิงในชนบทดีขึ้น ไม่ถูกทำร้ายร่างกาย มีสิทธิในการครอบครองที่ดิน และมีสิทธิในด้านการศึกษา สุขภาพ และการคุมกำเนิด เพื่อให้สอดคล้องกับคำมั่นสัญญาของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ว่า “leave no one behind”

หลังจากที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศกรอบแนวคิดของวันสตรีสากลในปีนี้ หลายหน่วยงานจึงได้เริ่มวางแผนจัดงานในวันดังกล่าวให้สอดคล้องกับกรอบแนวคิดที่ได้วางไว้ หนึ่งในองค์กรที่ได้รับความสนใจในปีนี้คือ องค์กรด้านมนุษยธรรมที่ไม่หวังผลกำไร องค์กร CARE ที่มีสาขาอยู่ในประเทศต่างๆ เพื่อช่วยขจัดความยากจน และส่งเสริมให้ทุกคนได้รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกันในสังคม ได้จับมือกับ The Harris Poll ซึ่งเป็นบริษัทที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเทศสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลานาน ร่วมกันสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากทั่วโลกเรื่องการลวนลามทางเพศในที่ทำงาน

องค์กร CARE และ The Harris Poll ได้ทำการสำรวจผู้ใหญ่ 9,400 คนในประเทศออสเตรเลีย เอกวาดอร์ อียิปต์ อินเดีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเวียดนาม จากการสำรวจพบว่า 23% ของผู้ชายจากทั่วโลกเชื่อว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติหรืออาจจะเกิดขึ้นในบางกรณีที่นายจ้างหรือคนเป็นหัวหน้างานจะมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับลูกจ้างหรือลูกน้อง ซึ่งความเชื่อนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผู้บริหารระดับสูงขององค์กร CARE กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า การที่หัวหน้างาน เจ้าของบริษัท หรือลูกจ้าง คาดหวังว่าจะมีความสัมพันธ์ทางเพศกันนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะการมีเพศสัมพันธ์กันไม่ได้ถูกระบุไว้ในรายละเอียดของงาน ไม่ว่าจะทำงานตำแหน่งใดก็ตาม และการมีเพศสัมพันธ์กันในที่ทำงานก็ถือเป็นการใช้ความรุนแรงทางเพศในที่ทำงาน

นอกจากนี้ 33% ของคนในประเทศอินเดียเชื่อว่า การเข้าไปใกล้ตัวแล้วกระซิบข้างหูเพื่อนร่วมงานสามารถทำได้ ไม่ถือว่าเป็นการลวนลามทางเพศในที่ทำงาน ที่ประเทศสหราชอาณาจักร 35% ของคนที่อายุระหว่าง 25 ถึง 35 ปี เชื่อว่า พวกเขาสามารถหยิก หรือโดนเนื้อตัวนิดหน่อยด้านหลังได้ เพราะพวกเขามองว่าการกระทำเหล่านี้ถือเป็นการหยอกล้อกันมากกว่าจะเป็นการลวนลามทางเพศในที่ทำงาน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วการกระทำเหล่านี้ล้วนแต่เป็นการลวนลามทางเพศ

การสำรวจในครั้งนี้ยังพบว่า 32% ของผู้หญิง และ 21% ของผู้ชายต้องทนทุกข์ทรมานจากการตกเป็นเหยื่อการลวนลามทางเพศในที่ทำงาน และมีผู้หญิงถึง 65% ที่เชื่อว่า จากปรากฏการณ์ทางสังคมของแฮชแท็ก MeToo จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องการลวนลามทางเพศในที่ทำงานในแต่ละประเทศ

การสำรวจครั้งนี้ยังพบด้วยว่า ในปัจจุบันยังคงมีอีกหลายประเทศที่การลวนลามทางเพศในที่ทำงานไม่เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย เรื่องนี้ทำให้องค์กร CARE ออกมาเรียกร้องให้องค์กรแรงงานระหว่างประเทศควรจะมีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่เป็นหลักสากลในการทำงานว่า “ไม่มีการใช้ความรุนแรงในที่ทำงาน” (freedom from violence in the workplace)

สำหรับประเทศไทย เมื่อวันสตรีสากลที่ผ่านมา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้จัดงานวันสตรีสากล ภายใต้กรอบแนวคิดว่า “พลังสตรีชนบท พลังขับเคลื่อนสังคมไทย” เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบแนวคิดขององค์การสหประชาชาติ

ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นทั้งแฮชแท็ก MeToo และ TimesUp น่าจะทำให้ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในเมืองเริ่มตื่นตัว และเรียกร้องให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มความรู้ในเรื่องสิทธิของผู้หญิงให้กับผู้หญิงในชนบทได้รับรู้ และเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ตัวเองได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกันกับคนอื่นๆ หากยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ และผู้คนยังให้ความสนใจเรื่องสิทธิต่างๆ ของผู้หญิงเหมือนอย่างเรื่องการลวนลามทางเพศในที่ทำงาน เรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศในสังคมก็คงไม่ใช่เรื่องที่ดูห่างไกลความเป็นจริงอีกต่อไป
Photo Credit: https://www.freeimages.com/photo/tea-recolectors-1379965

ใส่ความเห็น