วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > รัฐไทยพึ่งคาถา Alibaba หวังเสก “ดิจิทัลฮับ” ปลุก EEC

รัฐไทยพึ่งคาถา Alibaba หวังเสก “ดิจิทัลฮับ” ปลุก EEC

การเดินทางเยือนไทยของ Angel Zhao Ying ประธานกลุ่มความเป็นผู้นำด้านโลกาภิวัตน์ อาลีบาบา (Alibaba Globalization Leadership Group) เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดูจะได้รับความสนใจและพยายามประเมินค่าในฐานะที่เป็นประหนึ่งการปลุกประกายความหวังของรัฐบาลในการผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคจะวันออก หรือ EEC ไม่น้อยเลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาจากถ้อยแถลงของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หลังจากที่คณะผู้บริหารบริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป จำกัด เข้าเยี่ยมคารวะ ซึ่งระบุว่า อาลีบาบายืนยันจะเข้ามาลงทุนในไทย เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค และจะตัดสินใจเลือกพื้นที่เพื่อทำเป็น Startup Digital Hub CLMVT ในเร็ววันนี้

ก่อนที่สมคิดจะระบุว่า การที่อาลีบาบาตัดสินใจจะเข้ามาลงทุนในไทยจะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทย และเชื่อว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ ก็จะเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ถ้อยแถลงดังกล่าว หากพิจารณาอย่างผิวเผินก็คงไม่มีประเด็นใดๆ น่าเสียหาย แต่เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดและลึกลงไปในข้อเท็จจริง อาลีบาบาซึ่งเป็นเพียงผู้ประกอบการธุรกิจรายหนึ่ง กลับมีความเคลื่อนไหวหรือการตัดสินใจที่มีบทบาทอิทธิพลและสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับรัฐไทยมากเสียยิ่งกว่าความพยายามของรัฐไทยในการสื่อสารและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาคมโลกไปเสียแล้ว

ประเด็นดังกล่าว ทำให้อาลีบาบาอยู่ในสถานะประหนึ่ง change agent ที่รัฐไทยกำลังต้องพึ่งพา หลังจากที่ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมายังไม่สามารถกอบกู้ภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นจากนักลงทุนได้มากนัก แม้จะพยายามระดมมาตรการส่งเสริม และขายฝันโครงการ EEC เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกแล้วก็ตาม

มิติความคิดที่สะท้อนผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อของสมคิด รองนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ครั้งล่าสุด ยังเป็นการตอกย้ำภาพการพัฒนาและอนาคตที่น่ากังวลของไทย

เพราะบทบาทและสถานะของอาลีบาบาในอีกด้านหนึ่งก็คือการเป็นเพียงผู้ประกอบการที่มีฐานะเป็นคนกลางขนาดใหญ่ ที่ไม่เพียงแต่จะไม่มีวัตถุดิบหรือระบบการผลิตสินค้าใดๆ หากแต่สิ่งที่อาลีบาบามีและสื่อแสดงอย่างเด่นชัด ก็คือแนวความคิดที่สอดรับกับการแบ่งงานกันทำ (division of labour) ที่มีอาลีบาบาสถาปนาตัวเองให้อยู่บนส่วนยอดปลายสุดของโครงสร้างการผลิตและการค้าที่กำลังจะเกิดขึ้น พร้อมกับการได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างสูงสุดจากกระบวนการห่วงโซ่ที่ว่านี้อีกด้วย

นิยามความหมายว่าด้วย Digital Hub ในทัศนะของรัฐไทยและอาลีบาบา เป็นอีกส่วนหนึ่งที่อาจนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะในขณะที่รัฐไทยหวังว่าดิจิทัลฮับที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจะนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง

แต่ในมุมมองของอาลีบาบา ซึ่งเป็นผู้ประกอบการดิจิทัลฮับ ที่มุ่งหมายจะสร้างให้เกิดขึ้น ดูจะไม่แตกต่างอะไรกับการสร้างคลังหรือศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าประจำถิ่น เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจระดับโลกที่กำลังจะรุดไปข้างหน้าเท่านั้น

กรณีดังกล่าวสอดรับกับประเด็นหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรีไทยกับคณะผู้บริหารของอาลีบาบา ซึ่งมีเนื้อหาหลักอยู่ที่การเสนอความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทย 4.0 ให้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และ Startup รวมถึงการพัฒนาด้านการเกษตร ไปสู่การทำอีคอมเมิร์ช ที่จะนำรูปแบบที่เคยใช้กับรัฐบาลจีน มาเป็นต้นแบบในการพัฒนาเกษตรของไทย

รวมถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวผ่านดิจิทัลเทคโนโลยีที่เป็นแพลตฟอร์มของอาลีบาบา ในการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาประเทศไทย โดยรัฐบาลไทยหวังว่าอาลีบาบาจะมีส่วนช่วยหนุนเสริมและผลักดันให้มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดใหม่ๆ ของไทย เป็นไปได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือ ในช่วงปีที่ผ่านมา อาลีบาบาได้ประกาศความร่วมมือกับรัฐบาลมาเลเซีย ในการพัฒนา “เขตการค้าเสรีดิจิทัล” (Digital Free Trade Zone: DFTZ) ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสนามบินกัวลาลัมเปอร์ พร้อมจัดสร้างระบบเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางอีคอมเมิร์ซของภูมิภาค รวมทั้งเป็นการยกระดับอีคอมเมิร์ซของมาเลเซียให้ก้าวไปสู่ระดับนานาชาติ

ภายใต้โครงการความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งอาลีบาบาเรียกว่า “อิเล็กทรอนิกส์เวิลด์เทรดแพลตฟอร์ม” หรือ eWTP เป็นการนำรูปแบบการพัฒนาซึ่งได้ริเริ่มแล้วที่เมืองหางโจว ประเทศจีน มาปรับใช้ และถือเป็น “ฮับอีคอมเมิร์ซ” แห่งแรกนอกประเทศจีนของอาลีบาบา โดยอาลีบาบาคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างและเตรียมพร้อมระบบต่างๆ แล้วเสร็จและพร้อมเปิดทำการอย่างเป็นทางการในปี 2019

ฐานความคิดของอาลีบาบาในการปักธงธุรกิจภูมิภาคอาเซียนนี้ อยู่กับปัจจัยบวกที่ว่า อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีการขยายตัวของชนชั้นกลาง ซึ่งจะเป็นฐานลูกค้าสำคัญและเป็นกำลังซื้อที่มีคุณภาพสำหรับธุรกิจของอาลีบาบาในอนาคต ยังไม่นับรวมประเด็นทางยุทธศาสตร์ระดับนานาชาติที่อาเซียนเป็นประหนึ่งสนามหลังบ้านและเขตอิทธิพลที่จีนจะต้องแพร่ขยายบทบาทและปักฐานไว้อย่างมั่นคงด้วย

อย่างไรก็ดี ข่าวการมาเยือนไทยของคณะผู้บริหารจากอาลีบาบา เกิดขึ้นในช่วงใกล้เคียงกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวว่าด้วยการกว้านซื้อที่ดินจำนวนมากในเขตจังหวัดภาคตะวันออกของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ของไทย และมีแผนที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรมจีน เพื่อรองรับนักลงทุนจากจีนที่คาดว่าจะหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่ EEC ในอนาคต

ความเคลื่อนไหวของอาลีบาบาและการเตรียมความพร้อมของกลุ่ม CP ในพื้นที่ อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความหวังของรัฐบาลว่าด้วยการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ขยับเข้าใกล้กับเค้าลางแห่งความเป็นจริง อย่างน้อยก็ช่วยให้รัฐบาลไทยสามารถนำไปใช้ในการประชาสัมพันธ์ผลงาน แม้ว่าจะเป็นเพียงความหวังที่สังคมไทยยังต้องรอคอยดอกผลอีกนานก็ตาม

ใส่ความเห็น