การแถลงผลประกอบการของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากจะมีจุดเด่นอยู่ที่ตัวเลขผลประกอบการที่มีกำไรในระดับหลายพันล้านบาทแล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังปรากฏภาพของการกำหนดทิศทางของธุรกิจในอนาคตด้วยการลดสัดส่วนพลังงานถ่านหิน ซึ่งสะท้อนภาพภูมิทัศน์ที่ปรับเปลี่ยนไปของการใช้พลังงานในภูมิภาคอาเซียน ที่กำลังปรับเข้าหาพลังงานทดแทนมากขึ้น
กรณีดังกล่าวสอดรับกับความเคลื่อนไหวของบี. กริม พาวเวอร์ ที่ร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB: Asian Development Bank) ประกาศความร่วมมือในการขยายธุรกิจพลังงานทดแทนในอาเซียน ผ่านการลงนามในสัญญาสนับสนุนเงินกู้ มูลค่า 235 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.3 พันล้านบาท
นัยความหมายของการลงนามสนับสนุนเงินกู้ระหว่างบี. กริม พาวเวอร์กับเอดีบี ครั้งนี้ นอกจากจะนับเป็นการสนับสนุนวงเงินกู้ที่มีมูลค่าสูงสุดที่เอดีบีเคยให้การสนับสนุนกับบริษัทในประเทศไทยแล้ว ในอีกมิติหนึ่งยังสะท้อนแนวทางการพัฒนาด้านพลังงานที่เอดีบีพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นและสนองตอบต่อความต้องการใช้พลังงานของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ซึ่งพลังงานได้รับการประเมินในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
พลังงานทางเลือกที่บี. กริมจะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อรุกเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ภายใต้สัญญาสนับสนุนเงินกู้จากเอดีบี ประกอบด้วยการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล พลังงานจากขยะ พลังงานก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการกักเก็บพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
“เงินทุนของเอดีบีจะสนับสนุนการดำเนินงานของบี.กริม เพาเวอร์ ในการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าตามพื้นที่ต่างๆ ในรูปแบบ Distributed Power Generation และโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Utility-scale) ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งเป็นการขยายการผลิตพลังงานทดแทนไปยังตลาดใหม่ๆ ในอาเซียน ซึ่งได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และพม่า” ปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ระบุ
บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทย่อยในเครือบี.กริม ที่ได้จัดตั้งในประเทศไทยมานานกว่า 140 ปี และได้เริ่มเข้าสู่ธุรกิจพลังงานในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2536 ปัจจุบันบริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD: Commercial Operation Date) แล้วทั้งสิ้น 31 โครงการ มีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 1,779 เมกะวัตต์ และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA: Power Purchase Agreement) จำนวน 52 โครงการ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 2,516.9 เมกะวัตต์
การปรับตัวเข้าสู่ตลาดอาเซียนด้วยพลังงานทดแทนของบี.กริม จะส่งผลให้ศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าของบี.กริม เพาเวอร์ เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 หรือมีกำลังการผลิตมากกว่า 2,500 เมกะวัตต์ ภายในปี พ.ศ. 2565 พร้อมกับมีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตทั้งหมด
ประเด็นที่น่าสนใจจากความเคลื่อนไหวของเอดีบี ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนระบบเศรษฐกิจ และการพัฒนาของประเทศภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ผ่านการให้ความสนับสนุนด้านเทคนิค และกลไกโครงการเงินกู้ ADB ซึ่งนอกจากจะเป็นเงินกู้เพื่อใช้ในการปรับโครงสร้างด้านการเงินแล้ว ยังเน้นหนักไปที่โครงการด้านสาธารณูปโภคและโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ที่กำลังดำเนินการผ่านบี. กริม พาวเวอร์ อยู่ที่ความพยายามเข้ามามีส่วนผลักดันการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานจากถ่านหินไปสู่พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกอื่นๆ ในอาเซียนมากขึ้น
โดยในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา เอดีบีได้ลงทุนในหุ้นของบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด ที่เสนอขายใหม่ให้แก่ประชาชนทั่วไป (IPO: Initial Public Offerring) รวมเป็นเงินลงทุนมูลค่าประมาณ 1,968 ล้านบาทหรือ 57.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ก่อนหน้านั้นเอดีบีได้สนับสนุนเงินกู้ให้กับบี. กริม พาวเวอร์ จำนวน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ผ่านการสนับสนุนจาก Canadian Climate Fund ภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่อจัดหาเงินทุนสนับสนุนการพัฒนาพลังงานสะอาด (Clean Energy Financing Partnership Facility) อีกด้วย
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจว่าด้วยสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าสำหรับประเทศในอาเซียนก็คือ ปัจจุบันอาเซียนใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักมากถึงร้อยละ 32 มีกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินรวมกันกว่า 47,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ไออีเอ (IEA- International Energy Agency) คาดการณ์ว่าในปี 2578 สัดส่วนการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าของอาเซียนจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 หรือมีกำลังผลิต 261,000 เมกะวัตต์
แม้ว่าถ่านหินดูจะยังมีบทบาทนำในการเป็นแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของอาเซียน โดยอาเซียนยังต้องพึ่งพาการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้ามากถึงกว่าร้อยละ 50 และใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าที่สัดส่วนร้อยละ 26 แต่ใน วิสัยทัศน์อาเซียน 2583 หรือ Vision 2040 ที่มุ่งสู่ความมั่นคงและยั่งยืนด้านพลังงาน ระบุว่าอาเซียนจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนทุกประเภทรวมกันในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับร้อยละ 22
พลังงานหมุนเวียนที่อาเซียนกำหนดวิสัยทัศน์ไว้นี้ ยังวางน้ำหนักไว้ที่พลังน้ำ ซึ่งยังมีบทบาทนำในระดับร้อยละ 12 โดยพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมจะอยู่ในระดับร้อยละ 4 ขณะที่อาเซียนจะใช้พลังงานจากชีวมวลและพลังความร้อนใต้พื้นพิภพในระดับใกล้เคียงกันที่ร้อยละ 3
ประเทศที่ให้น้ำหนักกับการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นด้านหลักอยู่ที่อินโดนีเซีย ที่ใช้ถ่านหินในสัดส่วนมากถึงร้อยละ 53 ของเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าทั้งระบบ ขณะที่ฟิลิปปินส์ใช้ถ่านหินในสัดส่วนร้อยละ 46 และใช้ก๊าซธรรมชาติร้อยละ 24 ส่วนมาเลเซียใช้ถ่านหินร้อยละ 41 และก๊าซธรรมชาติร้อยละ 46.3
ตัวเลขที่น่าสนใจมากอยู่ที่กลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งประกอบด้วยกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพราะแม้ตัวเลขการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าของกัมพูชาจะมากถึงร้อยละ 47.4 แต่ในอีกมิติหนึ่ง กัมพูชาก็ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำมากถึงร้อยละ 48.11 ขณะที่เวียดนามใช้ถ่านหินในระดับร้อยละ 37.1 และพลังน้ำร้อยละ 35.5 และก๊าซธรรมชาติในสัดส่วนร้อยละ 26
ขณะที่ในส่วนของ สปป.ลาว ซึ่งกำหนดบทบาทและแนวทางการพัฒนาประเทศไว้ที่การเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” ผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำมากถึงร้อยละ 79 และใช้ถ่านหินอีกร้อยละ 20 โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนใหญ่ส่งออกจำหน่ายให้กับประเทศไทย ส่วนเมียนมาใช้พลังน้ำในการผลิตไฟฟ้ามากถึงร้อยละ 67 โดยมีก๊าซธรรมชาติอีกร้อยละ 30 และใช้ถ่านหินเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น
สำหรับสิงคโปร์และบรูไน ผลิตไฟฟ้าโดยอาศัยก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในระดับร้อยละ 95 และร้อยละ 99 ตามลำดับ ขณะที่ไทยใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ารวมร้อยละ 66.9 และพึ่งพาถ่านหินร้อยละ 18 ของไฟฟ้าทั้งระบบ
หากประเมินจากตัวเลขสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของแต่ละประเทศในอาเซียนแล้ว ดูเหมือนว่า อนาคตของถ่านหินในภาพรวมดูจะหดสั้น และเป็นประหนึ่งโอกาสสำคัญสำหรับพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่จะก้าวขึ้นมามีบทบาทนำในอนาคต
โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริงที่ว่า ภายใต้บริบทของ CLMV ที่กำลังพัฒนาด้วยอัตราเร่งและมีโอกาสที่จะเก็บรับประสบการณ์ความสำเร็จ-ล้มเหลว และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้เชื้อเพลิงแต่ละชนิดในการผลิตไฟฟ้า จังหวะก้าวของผู้ประกอบการและพลังงานทดแทนที่กำลังจะเบียดแทรกและผลิบานในภูมิภาคแห่งนี้ อาจให้ภาพภูมิทัศน์ของความมั่นคงและยั่งยืนที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย อาจต้องย้อนพินิจและทบทวนยุทธศาสตร์-วิสัยทัศน์ด้านพลังงานกันอีกครั้งก็เป็นได้