บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศแผนการขยายโครงการ #YouthSpark ด้วยเงินทุนสนับสนุนมูลค่า 3 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมความมุ่งมั่นของบริษัทในการเตรียมความพร้อมเพื่ออนาคตให้กับเยาวชนทุกคนจากทุกภูมิหลัง ด้วยทักษะและความรู้เชิงดิจิทัลที่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย
#YouthSpark โครงการระดับโลกของไมโครซอฟท์ที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนทุกคนเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ดำเนินการในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยผนึกกำลังกับภาครัฐและภาคสังคมเพื่อสนับสนุนให้เยาวชนไทยมีทักษะที่จำเป็นและเตรียมพร้อมสำหรับศตวรรษที่ 21 ดังเช่นความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น และมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อพัฒนาคนพิการในวันนี้ ซึ่งได้ขยายความร่วมมือกันนับเป็นปีที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเข้าถึงทักษะดิจิทัลแก่เยาวชนทั่วประเทศและเยาวชนผู้พิการที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและขาดโอกาส ด้วยการจัดอบรมทักษะด้านคอมพิวเตอร์และการโค้ดดิ้งเบื้องต้นผ่านศูนย์ดิจิทัลชุมชน ทั้งนี้ การจัดอบรมดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น (ChangeFusion) เป็นเพียงหนึ่งในกิจกรรมที่ไมโครซอฟท์ได้วางแผนไว้ในปี 2561 ในการมอบโอกาสการเรียนรู้อย่างหลากหลายให้กับเยาวชนด้อยโอกาสและเยาวชนพิการ
“ไมโครซอฟท์เชื่อว่าเยาวชนไทยทุกคน รวมถึงเยาวชนพิการและเยาวชนด้อยโอกาส ควรได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์อย่างเท่าเทียมกัน จากการสำรวจบน LinkedIn พบว่าทักษะเพื่อการประกอบอาชีพที่บริษัทต่างๆ ต้องการมากที่สุดในปี 2561 จำนวน 24 จาก 25 ประเภท เป็นทักษะด้านความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เช่น คลาวด์และคอมพิวติ้ง ดังนั้น การได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์อย่างเท่าเทียมเป็นเพียงหนทางเดียวที่เยาวชนไทยจะได้เรียนรู้ทักษะและความรู้เชิงดิจิทัลที่สำคัญเพื่อประสบความสำเร็จในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โครงการ ไมโครซอฟท์ ยูธสปาร์ค (Microsoft YouthSpark) ยังคงมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องที่จะสร้างแรงบันดาลใจและสนับสนุนผู้คนในทุกระดับความสามารถเพื่อสร้างความก้าวหน้าในอนาคต ด้วยการใช้ประโยชน์และโอกาสจากการใช้เทคโนโลยีให้เข้าถึงกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือได้มากที่สุด” นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
“ประเทศไทย 4.0’ ให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่เพียงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และบริการด้วยเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมผ่านการกระจายรายได้และการเข้าถึงโอกาสต่างๆ นโยบายนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการช่วยให้ประชาชนก้าวไปข้างหน้าด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไปพร้อมๆ กัน โครงการไมโครซอฟท์ ยูธสปาร์ค ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างโครงการที่สนับสนุนนโยบายนี้อย่างเป็นรูปธรรม และจะช่วยให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายได้รวดเร็วขึ้น” นางสมใจ ประเสริฐจีรังกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าว
แนวทางโครงการ #YouthSpark
พันธกิจ: “เตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนทุกคนเพื่ออนาคต”
โครงการนี้มีความมุ่งมั่นเพื่อให้เยาวชนทุกคนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมในการเตรียมความพร้อมสู่อนาคต ด้วยการได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และทักษะเชิงดิจิทัลที่มีความจำเป็นต่อหนทางแห่งความสำเร็จในประเทศไทยยุค 4.0 อนาคตเศรษฐกิจดิจิทัล โดยในปี 2561 นี้ ไมโครซอฟท์มีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มจำนวนครูและองค์กรเพื่อเยาวชนที่สามารถนำทักษะเชิงดิจิทัลที่จำเป็นไปเผยแพร่ให้กับเยาวชน ทั้งในและนอกห้องเรียน ด้วยการพัฒนาความสามารถขององค์กรที่ทำงานร่วมกับเยาวชนพิการและเยาวชนที่มาจากชุมชนผู้ด้อยโอกาส รวมถึงขยายโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาด้านดิจิทัลให้กับเยาวชนทุกคน จากการเปลี่ยนแปลงที่เป็นระบบในระยะยาว โดยแบ่งเป็น 2 โครงการภายใต้โครงการ #YouthSpark
1. ไมโครซอฟท์ #YouthSpark – มอบโอกาสในการเข้าถึงทักษะเชิงดิจิทัลสำหรับเยาวชนพิการและชุมชนผู้ด้อยโอกาสในประเทศไทยอย่างเท่าเทียม
มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ได้ฝึกอบรบทักษะเชิงดิจิทัลให้กับคนพิการมาแล้วกว่า 1,000 คนในประเทศไทยในปี 2560 ทั้งนี้ จากการดำเนินงานของโครงการ #YouthSpark ทำให้มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการสามารถนำการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์มารวมอยู่ในหลักสูตรได้สำเร็จ ใน 8 โรงเรียนครอบคลุม 6 จังหวัด
สำหรับโครงการ ไมโครซอฟท์ #YouthSpark ในปี 2561 มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการจะขยายโอกาสให้กับคนพิการชาวไทยด้วยการเพิ่มการเข้าถึงวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ผ่าน “การฝึกอบรม ทักษะด้านเทคโนโลยีให้กับบุคคลากรทางการศึกษา” (train-the-trainer) โดยผู้ฝึกอบรมที่เป็นเยาวชนจำนวน 75 คน โดยทั้งพนักงานและนักเรียนจากมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการนั้น จะไม่เพียงแค่พัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลให้กับเยาวชนเท่านั้น แต่รวมถึงสนับสนุนให้พวกเขาเกิดความภาคภูมิใจและมั่นใจในตนเองมากยิ่งขึ้น ภายในระยะเวลา 1 ปี ผู้ฝึกอบรมซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 25 กลุ่มตามภูมิลำเนา จะได้จัดฝึกอบรมด้วย ไมโครซอฟท์ เซอร์เฟส (Microsoft Surface) จำนวน 250 เครื่อง ให้กับคนในท้องถิ่นจำนวน 750 คน และเยาวชนจากบ้านเด็กกำพร้าในพื้นที่ห่างไกลอีกจำนวน 75 คน
“การพัฒนาคนพิการในประเทศไทยก้าวหน้าอย่างมากในปัจจุบัน สืบเนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายใหม่ต่างๆ ทั้งนี้ การสนับสนุนจากไมโครซอฟท์และรัฐบาล ทำให้ในปัจจุบันเราสามารถเข้าถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้ และสามารถมอบโอกาสให้กับคนพิการจำนวนมหาศาลในการเพิ่มทักษะด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญเป็นอันดับต้นในตลาดงานปัจจุบัน พวกเขาสามารถใช้ทักษะเหล่านี้ในการค้นหาโอกาสในการประกอบอาชีพที่ดียิ่งขึ้น ปลูกฝังความสามารถในการพึ่งพาตนเอง และบรรลุเป้าหมายชีวิตในยุคแห่งสภาพแวดล้อมเชิงเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างที่เป็นอยู่นี้” บาทหลวงภัทรพงศ์ ศรีวรกุล รองประธานมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อพัฒนาคนพิการ กล่าว
2. ไมโครซอฟท์ #YouthSpark – พัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
จากการวางแผนสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” ทำให้ในขณะนี้ ประเทศกำลังผ่านการปฏิรูปในหลากหลายมิติ ทั้งในด้านภาวะเศรษฐกิจสังคม ซึ่งประกอบด้วยการสนับสนุนเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ดังนั้น การก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเป็นหลักจะประสบความสำเร็จได้ด้วยการเตรียมความพร้อมให้กับคนไทยด้วยทักษะที่จำเป็น เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงและใช้งานข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยโครงการ #YouthSpark ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ไมโครซอฟท์มีเป้าหมายที่จะจัดอบรมครูผู้ฝึกจำนวน 1,200 คนภายในเดือนตุลาคม ปี 2561 ทั้งนี้ ทีมครูผู้ฝึก ซึ่งประกอบด้วยผู้คนที่มีภูมิหลังอย่างหลากหลาย เช่น ผู้นำศูนย์ดิจิทัลชุมชน องค์กรไม่แสวงผลกำไรระดับท้องถิ่น และครูจากโรงเรียนต่างๆ จะสอนหลักสูตรเกี่ยวกับทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ให้กับเยาวชนผู้ด้อยโอกาสที่ว่างงานและอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเป็นจำนวน 18,000 คนทั่วประเทศ