Column: Well – Being
เพราะวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้การค้นพบใหม่ๆ ในโลกของความเป็นอยู่ที่ดีและการแพทย์เกิดขึ้นมากมาย และถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็วจนยากที่จะรู้ได้ว่า การค้นพบอย่างทะลุทะลวงเหล่านี้จะทำให้มีความหวังขึ้นมาใหม่หรือไม่
นิตยสาร GoodHealth รายงานว่า นักวิจัยจากคิงส์ คอลเลจ ในกรุงลอนดอน ค้นพบวิทยาการที่อาจเรียกได้ว่า เป็นวิธีรักษาฟันผุแบบใหม่ก็เป็นได้
พวกเขาพบว่ายา Tideglusib (ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทดลองใช้กับคนไข้อัลไซเมอร์ในความพยายามกระตุ้นให้เซลล์สมองงอกใหม่) ช่วยกระตุ้นสเต็มเซลล์ในเนื้อเยื่อของฟันได้ จึงเป็นตัวสร้างเนื้อฟันขึ้นมาใหม่
นักวิจัยนำฟองน้ำที่ย่อยสลายได้ไปชุบตัวยา Tideglusib แล้วอุดลงไปในรูฟันเพื่อกระตุ้นให้สร้างเนื้อฟัน และภายใน 6 สัปดาห์ จะช่วยซ่อมแซมฟันที่ผุเป็นรูได้
การอุดฟันจะถึงจุดจบหรือไม่
“ถ้าตัวยานี้สามารถทำให้การสร้างเนื้อฟันเพิ่มขึ้น ด้วยการกระตุ้นการเติบโตของสเต็มเซลล์ นั่นอาจเป็นทางเลือกแทนการอุดฟันที่ไม่เจ็บปวด มีความเป็นธรรมชาติ และคงอยู่อย่างถาวรได้อย่างแท้จริง” คาเรน โคทส์ ที่ปรึกษาด้านทันตกรรมเพื่อมูลนิธิสุขภาพในช่องปากอธิบาย
“ขณะที่การอุดฟันยังคงมีประสิทธิภาพในการรักษาอาการฟันผุที่เป็นรูขนาดใหญ่ แต่อาจมีปัญหาเรื่องวัสดุอุดเสื่อมและแตกออกได้ ทำให้ต้องซ่อมแซมและอุดใหม่ ทันตแพทย์มักกรอวัสดุอุดฟันออกก่อนแล้วอุดใหม่ โดยรูฟันจะใหญ่ขึ้นในทุกครั้ง จนกระทั่งท้ายที่สุด อาจต้องครอบฟันหรือถึงขั้นถอนทิ้งก็เป็นได้”
“การคิดค้นวิธีที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น เพื่อให้ฟันได้ซ่อมแซมตัวของมันเอง ไม่เพียงกำจัดปัญหาที่กล่าวถึงข้างต้น แต่ยังเป็นทางเลือกในการรักษาที่เยี่ยมมากสำหรับคนไข้ที่กลัวการทำฟัน”
“อย่างไรก็ตาม การวิจัยยังอยู่ในขั้นต้นเท่านั้น และต้องมีการทดลองทางคลินิกอย่างเข้มงวดมากขึ้น ก่อนที่เราจะสามารถวัดประสิทธิภาพของการรักษาอาการฟันผุได้เต็มที่ ที่สำคัญคือ ต้องตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการวิจัยนี้ยังอยู่ในขั้นทำกับหนู เมื่อการทดลองกับหนูทำให้เกิดความเข้าใจว่าประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาตัวใหม่ จะให้หลักประกันความสำเร็จในการรักษามนุษย์ได้นั้น ไม่จริงแต่อย่างใด”
“มันเป็นวิธีที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้นมาก ซึ่งอาจเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญของการรักษาฟันผุ”
โคทส์ยังเพิ่มเติมด้วยว่า มาตรการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา และเรายังต้องเน้นการทำความสะอาดฟันของเรา เพราะไม่เพียงคราบหินปูนที่เกาะตามคอฟันจะเป็นสาเหตุของฟันผุ มันยังนำไปสู่อาการของโรคปริทันต์ซึ่งเชื่อมโยงกับโรคหัวใจและโรคข้ออักเสบด้วย
มะเร็งจะถามหาถ้ากินขนมปังปิ้งไหม้เกรียม
ปีที่แล้วสำนักงานมาตรฐานอาหารในสหราชอาณาจักรเปิดตัวโครงการรณรงค์ Go for Gold ที่เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของความเสี่ยงจากสาร acrylamide ที่เกิดขึ้นเมื่อปรุงอาหาร โดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้งอย่างมันฝรั่งและขนมปังเป็นเวลานานด้วยอุณหภูมิสูง เช่น การอบ ทอด ปิ้ง ย่าง
Go for Gold แนะนำให้เราปรุงอาหารโดยมุ่งให้เป็นสีเหลืองทองหรืออ่อนกว่านั้น เพราะยิ่งมันฝรั่งทอดเป็นสีน้ำตาลเข้มมากขึ้นเท่าไร หรือขนมปังปิ้งไหม้ดำมากเท่าไร ก็ยิ่งเกิดสาร acrylamide มากขึ้นเท่านั้น
จากการทดลองในสัตว์ ได้แสดงให้เห็นว่า acrylamide เป็นสารคาร์ซิโนเจน และปี 1994 สำนักงานเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งระหว่างประเทศ ระบุว่า acrylamide อาจเป็นคาร์ซิโนเจนในมนุษย์ด้วยก็ได้
อาเยลา สไปโร นักวิทยาศาสตร์การอาหารระดับอาวุโสอธิบายว่า “เมื่อมองในแง่การศึกษาในมนุษย์ มีหลักฐานการเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งที่มาพร้อมกับการที่อาหารสัมผัสกับสาร acrylamide สำนักงานมาตรฐานอาหารเชื่อว่า ต้องรักษาการสัมผัสกับ acrylamide ให้อยู่ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ สิ่งสำคัญที่ต้องจำคือ โครงการ Go for Gold ไม่ได้บอกให้คุณหยุดกินอาหารประเภทแป้ง แต่เน้นให้คำแนะนำวิธีปรุงอาหารประเภทนี้มากกว่า เพราะเป็นส่วนสำคัญของการบริโภคอาหารสมดุลเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารประเภทแป้งที่ทำจากธัญพืชเต็มเมล็ด ซึ่งเป็นแหล่งเส้นใยที่สำคัญในอาหาร และมีหลักฐานที่หนักแน่นว่า การบริโภคเส้นใยในปริมาณสูงขึ้นช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งในช่องท้องได้”