วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > อาณาจักรแสนล้าน ITD บนบรรษัทภิบาลที่สั่นคลอน

อาณาจักรแสนล้าน ITD บนบรรษัทภิบาลที่สั่นคลอน

หากเปรมชัย กรรณสูต ซึ่งจะมีอายุครบ 64 ปี ในวันที่ 9 มีนาคม 2561 หรือในช่วงเวลาไม่กี่วันข้างหน้านี้ มีโอกาสได้นั่งย้อนเวลาพินิจความเป็นมาและเป็นไปทั้งในส่วนของเขาและอาณาจักรธุรกิจที่ครอบครัวกรรณสูตได้สืบต่อเนื่องมาจากยุคของชัยยุทธ กรรณสูต พ่อของเขาและจิโอจิโอ แบร์ลิงเจียรี หุ้นส่วนวิศวกร ชาวอิตาลี

ที่ได้ร่วมก่อตั้งบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (ไอทีดี) เมื่อ 64 ปีก่อน

ภาพที่ปรากฏขึ้นในวาบความคิดของเขาคงมีความน่าสนใจไม่น้อย แต่จะมีใครหรือผู้ใดสามารถล่วงรู้ได้บ้างว่าภายในจิตใจของเปรมชัย กรรณสูต จะคิดถึงหรือจัดลำดับความสำคัญให้กับสิ่งใดอย่างเป็นด้านหลัก

จากจุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จในการได้รับสัมปทานการกู้เรือเดินทะเล เมื่อปี พ.ศ. 2497 ที่นำไปสู่การก่อตั้งเป็นบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (ITD) ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2501 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้นจากเงินจำนวน 2 ล้านบาท ก่อนจะเติบใหญ่และขยายบริบททางธุรกิจออกไปอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งในปัจจุบัน ITD ได้รับการกล่าวถึงในฐานะอาณาจักรธุรกิจที่มีมูลค่านับแสนล้าน และมีโครงข่ายธุรกิจครอบคลุมหลากหลายไม่เฉพาะในบริบทของสังคมไทยเท่านั้น หากยังขยายไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน อาเซียน และในประเทศที่อยู่ห่างไกลออกไป ทั้งอินเดีย บังกลาเทศ หรือแม้กระทั่งในออสเตรเลีย และไต้หวันอีกด้วย

เรื่องราวความเป็นไปของ ITD ที่ดำเนินผ่านเส้นแบ่งแห่งเวลามานานกว่า 6 ทศวรรษ เต็มไปด้วยสีสันของชีวิตผู้คนที่แวดล้อมอยู่ในตระกูลกรรณสูต ที่มีทั้งความสูญเสีย ผิดหวัง ขัดแย้ง และมิติทางธุรกิจที่เป็นประหนึ่งจังหวะก้าวและการเปลี่ยนผ่านจากการเป็นผู้รับเหมาระดับประเทศไปสู่การเป็นผู้ดำเนินงานโครงการก่อสร้าง และเป็นหนึ่งในบริษัทผู้รับเหมางานด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และวิศวกรรมโยธา ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2537 อาจให้ภาพของหลักไมล์ในการเป็นบริษัทชั้นนำและมีมาตรฐาน หากแต่ในอีกด้านหนึ่งมรสุมแห่งวิกฤตเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้าใส่ในปี 2540 อาจเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญที่ทำให้ ITD ต้องมองย้อนพินิจการบริหารทั้งระบบ หลังจากที่ ITD ต้องเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ก่อนที่จะสิ้นสุดกระบวนการดังกล่าวในช่วงปลายปี 2545

บทเรียนจากวิกฤตการณ์ในครั้งนั้นได้รับการบันทึกในเว็บไซต์ของ ITD ในฐานะที่เป็นโอกาสในการสร้างรากฐานให้กับ ITD สำหรับการเติบโตไปในอนาคตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง โดยผลประกอบการประจำปี ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2546 ได้รับการบันทึกว่า ITD มีรายได้ 18,330 ล้านบาท และตลอดปี 2546 ยังได้รับงานใหม่หลายโครงการ ซึ่งมีมูลค่างาน 7,896 ล้านบาท ทำให้มูลค่างานในมือ ณ เวลานั้นของ ITD มีมากกว่า 39,971 ล้านบาท

ภายใต้โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินไปด้วยอัตราเร่งในยุคของทักษิณ ชินวัตร (กุมภาพันธ์ 2544-กันยายน 2549) ซึ่งรวมถึงโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ดูเหมือนว่าจะเป็นช่วงเวลาที่บรรษัทรับเหมาก่อสร้างน้อยใหญ่ต่างได้รับอานิสงส์แห่งการฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง ซึ่งรวมถึง ITD แม้ว่าในกาลต่อมาสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองจะส่งผลให้โครงการพัฒนาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ กลับต้องถูกชะลอโครงการออกไปบ้างก็ตาม

กระนั้นก็ดี ITD ยังสามารถชนะการประมูลโครงการ Mega Project เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ด้านสาธารณูปโภค ของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ โครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส โครงการรถไฟใต้ดิน โครงการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหมาก และบ้านภาชี-ลพบุรี ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โครงการก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินของสถานีย่อย ลาดพร้าว-วิภาวดี ของการไฟฟ้านครหลวง โครงการเหมืองแม่เมาะโครงการสะพานพระราม 5

ข้อมูลในปี 2560 ที่ผ่านมาระบุว่า ITD สามารถได้งานใหม่รวมเป็นมูลค่ามากถึง 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งนับเป็นมูลค่างานที่สูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา และทำให้ปัจจุบัน ITD มีมูลค่างานในมือรวม 5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล

มูลค่างานจำนวน 5 แสนล้านบาทที่ ITD มีอยู่ดังกล่าวนี้ แบ่งเป็นสัดส่วนงานภายในประเทศและต่างประเทศในอัตรา 50:50 ซึ่งสะท้อนภาพความพยายามก้าวออกไปเป็นผู้ประกอบการระดับนานาชาติของ ITD โดยจะสามารถรับรู้รายได้ 4 ปี เฉลี่ยปีละ 125,000 ล้านบาท และยังมีงานที่รอการประมูลอีกหลายโครงการ โดย ITD ประเมินว่าจะสามารถชนะการประมูลและได้งานเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท จากโครงการพัฒนาของรัฐที่มีมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านบาท และจะเปิดการประมูลในช่วงปี 2561 นี้

ตัวเลขงานประมูลที่ ITD คาดหมายจะได้รับในอนาคตข้างหน้านี้ มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความพยายามผลักดันให้เกิดของ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในเมียนมา โครงการที่สะท้อนความทะเยอทะยานของ ITD ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เมื่อปี 2551 โดย ITD ได้รับสัมปทาน 50 ปี และสิทธิในการขยายระยะเวลาอีก 25 ปี ที่นอกจากจะไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควรแล้ว บทบาทของ ITD ยังมีแนวโน้มที่จะถูกปรับลดลงไปอีก

ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ ITD ดำเนินการมานานกว่า 6 ทศวรรษในด้านหนึ่งอาจผูกพันอยู่กับโครงข่ายสายสัมพันธ์ที่ดำเนินควบคู่ไปทั้งกับกลไกรัฐและผู้กว้างขวางในแวดวงการเมือง ซึ่งเป็นเหมือนบริบททางธุรกิจแบบเดิมที่บริษัทผู้ดำเนินการรับเหมาในสยามประเทศแห่งนี้มักถูกกล่าวถึงในมิตินี้เป็นด้านหลัก และคงไม่ได้ผิดแปลกจากปทัสถานที่สังคมแห่งนี้พร้อมจะยอมรับได้

หากแต่ภายใต้จังหวะก้าวของการขยายตัวไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านของ ITD และ “บรรษัทภิบาลอิตาเลียนไทย 2561” ที่พยายามยกระดับมาตรฐานไปสู่สากล ความสามารถในการบริหารจัดการสรรพกำลังทางเศรษฐกิจ เพื่อการแข่งขันอาจเป็นเรื่องหนึ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากมาตรฐานทางจริยธรรมที่ ITD และผู้คนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีและสื่อแสดงต่อส่วนรวมและสาธารณะให้เห็นเป็นประจักษ์

โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริงที่ว่า ITD ได้รับสัมปทานจากหน่วยงานภาครัฐให้เป็นผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างอุโมงค์-ทางข้ามให้สัตว์ป่าในพื้นที่ป่าหลายแห่ง รวมถึงยังมีการก่อสร้างเส้นทางเพื่อเชื่อมทวายมายังบ้านพุน้ำร้อน ซึ่งต้องกระทบกับผืนป่าและความรู้สึกของสาธารณะจากปรากฏการณ์ล่าสุดในรอบสัปดาห์นี้ด้วย

ข้อพึงปฏิบัติว่าด้วยมาตรฐานจริยธรรมทางธุรกิจและจรรยาบรรณของผู้บริหาร ที่ระบุในข้อ 1.6 ผู้บริหารต่อสังคมส่วนรวม ซึ่งระบุว่า “ไม่กระทำการใดๆ ที่จะมีผลเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม” กำลังจะเป็นคำถามข้อใหญ่ต่อทั้งเปรมชัยและ ITD ในระยะต่อจากนี้ ว่าอดีตที่ผ่านมาและในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นจากนี้ ITD และผู้บริหารองค์กรแห่งนี้ยึดถือถ้อยความเหล่านี้มากน้อยเพียงใด

หรือทั้งหมดเป็นเพียงถ้อยความสวยหรูที่เชื่อถือไม่ได้ เพราะไม่เคยได้รับการตอบสนองให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ และอาจมีค่าเป็นเพียงหนึ่งใน false statement ที่ชวนเชื่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญสำหรับนักลงทุนและสาธารณชนเท่านั้น

แม้เปรมชัย กรรณสูต ในฐานะหัวเรือใหญ่ของ ITD จะผ่านร้อนหนาวและมรสุมในการกอบกู้สถานการณ์วิกฤต และนำพา ITD ให้ผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบากจนมีสถานะเป็นองค์กรธุรกิจชั้นนำมานานกว่า 2 ทศวรรษ หากแต่ท่วงทำนองที่ดำเนินไปของเขาในวันนี้กลับอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงและล่อแหลมอย่างยิ่ง

64 ปีที่แล้ว ITD เริ่มต้นปฐมบทแห่งความสำเร็จด้วยการกู้ซากเรือที่อับปางอยู่ในทะเล เมื่อปี 2497 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่เปรมชัย กรรณสูต เกิดขึ้นมาเป็นลูกชายคนเล็ก และความหวังให้กับชัยยุทธ กรรณสูต หากแต่หนทางและสถานะของเปรมชัย กรรณสูต บนอาณาจักร ITD ที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาทนี้ จะมีใครกู้ขึ้นมาได้นอกจากตัวของเขาเอง

ใส่ความเห็น