วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > อนาคตของสื่อไทย หมดเวลาของนักวิชาชีพ??

อนาคตของสื่อไทย หมดเวลาของนักวิชาชีพ??

ข่าวการปิดตัวลงของสื่อสิ่งพิมพ์หลายสำนักในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการรุกคืบเข้ามาของกลุ่มทุนใหญ่เพื่อถือครองหุ้นและลงทุนในธุรกิจสื่อได้ก่อให้เกิดคำถามถึงทิศทางของสื่อสารมวลชนไม่จำกัดเฉพาะในมิติของสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น หากแต่หมายรวมครอบคลุมไปสู่สื่อวิทยุโทรทัศน์อย่างรอบด้านด้วย

สาเหตุหลักที่ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์หลายแห่งจำเป็นต้องยุติการพิมพ์ในด้านหลักมักดำเนินไปภายใต้คำอธิบายที่ยึดโยงกับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่รายได้จากค่าโฆษณาที่ทยอยปรับตัวลงตามแนวโน้มดังกล่าว ขณะที่ต้นทุนการผลิตไม่ได้ปรับตัวลดลง มิหนำซ้ำยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น ความไม่สมดุลที่ว่านี้ได้กลายเป็นกับดักให้ผู้ประกอบการสื่อสิ่งพิมพ์จำนวนไม่น้อยเริ่มขาดทุนสะสมและกลายเป็นภาระหนี้ ที่นำไปสู่การล่มสลายและปิดตัวลงไปในที่สุด

กระนั้นก็ดี ประเด็นที่มีความแหลมคมยิ่งไปกว่านั้นก็คือการปรับเปลี่ยนประพฤติกรรมของผู้บริโภค และการมาถึงของสื่อดิจิทัล ออนไลน์ ที่ดูจะตอบสนองและสอดรับกับวิถีชีวิตของผู้คนร่วมสมัย ซึ่งแม้ว่าผู้ประกอบการหลายรายจะพยายามดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดด้วยการปรับเนื้อหา รวมถึงช่องทางในการเข้าถึงไปสู่การนำเสนอในรูปแบบของ e-magazine e-contents อย่างขะมักเขม้น หากแต่พัฒนาการของเทคโนโลยีที่เลื่อนไหลอย่างรวดเร็วนี้ ทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับความท้าทายในการพัฒนาที่เกี่ยวเนื่องกับทั้งมิติของเงินทุนและกรอบเวลาใหม่ของการนำเสนอ ขณะที่กลไกการแสวงหารายได้จากสื่อที่ว่านี้วิ่งตามไปไม่ทันและบ่อยครั้งดำเนินไปด้วยความเฉื่อยจากความคุ้นชินของทีมงานฝ่ายขายที่ยังจ่อมจมอยู่กับภาพความรุ่งเรืองในอดีตของธุรกิจสิ่งพิมพ์

ก่อนหน้านี้มีการประเมินว่า มูลค่าเงินโฆษณาที่กระจายเข้าสู่สื่อสิ่งพิมพ์เฉพาะในกลุ่มนิตยสารมีอยู่ในระดับประมาณ 6 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งการปิดตัวลงของนิตยสารหลายฉบับในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งยังเชื่อว่าหากสามารถรักษาตัวรอดต่อไปได้ก็ยังมีโอกาสในทางธุรกิจอยู่บ้างจากข้อเท็จจริงที่ว่าจำนวนหัวหนังสือที่จะมาแย่งชิงส่วนแบ่งเงินค่าโฆษณานี้มีลดลง แม้ว่าในอีกด้านหนึ่งเม็ดเงินโฆษณาในตลาดอาจลดลงไปก็ตาม

ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงความพยายามของผู้ประกอบการสื่อหลายแห่ง ที่พยายามต่อยอดและมีส่วนร่วมอยู่ในกระบวนการพัฒนาของโทรทัศน์ดิจิทัล ด้วยหวังว่าเนื้อหาสาระและคลังข้อมูลที่มีอยู่จะสามารถนำไปปรับใช้ และเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อชนิดใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นไปเพื่อรักษาสถานภาพของการเป็นสื่อควบคู่กับการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ กรณีดังกล่าวได้กลายเป็นทั้งความพยายามและความเสี่ยงที่ทำให้สภาพและสถานการณ์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการแต่ละแห่งดำเนินไปอย่างไร้ทางออกยิ่งขึ้นอีก

ปรากฏการณ์แห่งการล่มสลายของผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในบริบทของสังคมไทยแต่โดยลำพังหากแต่เป็นกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ Time Inc. บริษัทสื่อที่มีอายุยืนยาวนับร้อยปี และเป็นเจ้าของนิตยสาร Time และสื่อแบรนด์ดังในเครือทั้ง Sport Illustrated, People, Moneyและ Fortune ที่ประกาศปิดดีลขายกิจการให้กับ Meredith Corporation ยักษ์ใหญ่วงการสื่อของสหรัฐอเมริกาด้วยมูลค่า 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเตรียมแผนลดจำนวนพนักงานเพื่อลดต้นทุนโดยเร็วที่สุดหลังจากที่ก่อนหน้านี้ Time Inc. ขาดทุนหนักอย่างต่อเนื่อง และไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของวงการสื่อที่คนอ่านน้อยลง

แม้ที่ผ่านมา Time Inc. จะพยายามปรับตัวโดยขายสินทรัพย์และกิจการสำคัญออกไปบ้าง แต่ก็ไม่สามารถอุดรูรั่วได้ และทำให้ขาดทุนและมีหนี้สินนับพันล้านเหรียญสหรัฐ ท่ามกลางปรากฏการณ์ที่เม็ดเงินโฆษณาไหลเข้าสู่สื่อดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ

ข้อเท็จจริงที่โหดร้ายของผู้ประกอบการธุรกิจสื่อ รวมถึงนักวิชาชีพสื่อ ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญนี้ ได้รับการวิพากษ์อย่างหนักถึงบทบาทหน้าที่ ถึงขนาดที่มีการระบุว่าข้อมูลข่าวสารที่สื่อนำเสนอมีสถานะเป็นเพียงการโฆษณาและส่งเสริมการขายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ในเชิงธุรกิจ มากกว่าที่จะเป็นการนำเสนอและบริการข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาของสาธารณะ

ภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปของธุรกิจสื่อ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมการรับข่าวสารของผู้บริโภค ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ของผู้ประกอบการในธุรกิจสื่อที่สะท้อนออกมาเป็นรูปธรรมผ่านการปิดตัวลงหรือยุติบทบาทของสำนักพิมพ์หลายสำนักเท่านั้น หากกรณีที่ว่านี้ยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มทุนอื่นๆ ที่มีศักยภาพทางการเงินได้เข้ามาเบียดแทรกและยึดกุมช่องทางสำหรับดำเนินกิจกรรมด้านการสื่อสารสาธารณะไปด้วยสนนราคาที่สามารถเล็งเห็นผลตอบแทนและความคุ้มค่าการลงทุนได้ในระยะเวลาอันใกล้หรือหากจะกล่าวให้ถูกต้อง ควรจะระบุว่า คุ้มค่าทันทีที่เริ่มลงทุนเสียด้วยซ้ำ

จังหวะก้าวและความเป็นไปที่เด่นชัดมากในกรณีดังกล่าวดูได้จากการเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาทของ บมจ. อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง โดยบริษัท วัฒนภักดี จำกัด ที่มีฐาปน สิริวัฒนภักดี และปณต สิริวัฒนภักดี เป็นผู้บริหาร ในราคาหุ้นละ 4.25 บาท รวมเป็นมูลค่า 850 ล้านบาท ซึ่งทำให้วัฒนภักดี ในฐานะผู้ซื้อกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในสัดส่วนร้อยละ 47.62 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง เมื่อขวบปีที่ผ่านมา (25 พฤศจิกายน 2559) ก่อนที่ฐาปนจะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารแทนเมตตา อุทกะพันธุ์ ที่ลาออกจากตำแหน่งไปเมื่อไม่นานมานี้

ด้วยปริมาณเงินลงทุนขนาด 850 ล้านบาทดังกล่าวนี้ต้องถือว่าเป็นปริมาณเม็ดเงินลงทุนที่มีสัดส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับการลงทุนในโครงการหรือธุรกิจอื่นๆ ที่กลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดีได้ดำเนินการอยู่ หากแต่อมรินทร์กำลังเป็นกลไกที่จะหนุนนำภาพลักษณ์และในอีกมิติหนึ่งลดทอนต้นทุนในการสื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมของเครือไปโดยปริยาย ขณะเดียวกันภายใต้โครงข่ายทางธุรกิจของอมรินทร์ที่ครอบคลุมทั้งสำนักพิมพ์ และนิตยสารหลากหลาย รวมถึงทีวีดิจิทัล ซึ่งพร้อมจะเป็นอีกช่องทางในการแสวงหารายได้ตอบแทนการลงทุนได้ไม่ยาก

ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาอาจจะยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมมากนักในอมรินทร์ หากแต่หลังจากการเข้ามาอย่างเต็มตัวของฐาปน นโยบายและทิศทางของอมรินทร์นับจากนี้เป็นกรณีที่น่าสนใจติดตามอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่จะเป็นกลไกที่ต่อยอดให้กับธุรกิจในเครือของมหาอาณาจักรทางธุรกิจกลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดี ว่าจะมีสีสันและมีรูปแบบอย่างไร

ความน่าสนใจของอมรินทร์ภายใต้จังหวะก้าวและบทบาทของฐาปน และปณต สิริวัฒนภักดี อาจได้รับการเทียบเคียงกับกรณีของการเข้าซื้อกิจการ Time Inc. ที่ปรากฏชื่อ Charles G. Koch และ David H. Koch สองพี่น้องจากตระกูลอภิมหาเศรษฐี Koch ของสหรัฐอเมริกา ในฐานะที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการปิดดีลและร่วมลงทุนจำนวน 650 ล้านเหรียญสหรัฐ ร่วมกับ Meredith Corporation และก่อให้เกิดคำถามว่าความน่าเชื่อถือและอิสรภาพในการรายงานข่าวของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อในองค์กรสื่อแห่งนี้จะสามารถดำเนินต่อไปได้หรือไม่

เนื่องเพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาครอบครัว Koch ในนาม Koch Industries, Inc. ซึ่งถือเป็นบรรษัทเอกชนรายใหญ่อันดับสองของอเมริกา และธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่น้ำมัน พลังงาน และเคมีภัณฑ์ พยายามกดดันรัฐให้ปรับแก้กฎระเบียบว่าด้วยสิ่งแวดล้อม ซึ่งกิจการของ Koch Industries กลายเป็นผู้ฝ่าฝืนระเบียบและโดนปรับเป็นจำนวนเงินมหาศาลมาก่อนแล้ว

แม้จะมีการยืนยันในเวลาต่อมาว่า สองพี่น้องมหาเศรษฐีไม่มีความประสงค์ที่จะเข้าไปก้าวก่ายและครอบงำบทบรรณาธิการและการนำเสนอข่าวสารขององค์กรสื่อแห่งนี้ก็ตาม พร้อมกับระบุว่าการร่วมลงทุนซื้อกิจการของ Time Inc. ดำเนินไปภายใต้บริบทและเหตุผลของการบริหารเงินลงทุนทางธุรกิจเท่านั้น

ข้อเท็จจริงที่อาจทำให้อมรินทร์แตกต่างจาก Time Inc. ในด้านหนึ่งอาจจะอยู่ที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อมรินทร์มีภาพลักษณ์ของการนำเสนอเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการดำเนินชีวิต สุขภาพ และไลฟ์สไตล์ โดยไม่มีข่าวสารทางการเมืองเศรษฐกิจมากนัก

หากแต่ภายใต้บริบทของช่องทางและเนื้อหาของข้อมูลในปัจจุบัน อนาคตของอมรินทร์และผู้คนที่แวดล้อมอาจเป็นภาพจำลองสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อในองค์กรอื่นๆ ให้ได้ตระหนักถึงทางแพร่งที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าว่าจะดำเนินไปบนหนทางใดต่อไป

ใส่ความเห็น