วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > 50 ปี ASEAN การเดินทางข้ามฝั่งฝัน

50 ปี ASEAN การเดินทางข้ามฝั่งฝัน

นับถอยหลังไปอีกไม่กี่ชั่วโมงในวันที่ 8 สิงหาคม 2560 ต้องถือเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) หรือ อาเซียน (ASEAN) ที่จะครบรอบวาระการก่อตั้งเป็นปีที่ 50 ซึ่งหากพิจารณาองค์กรระดับภูมิภาคแห่งนี้ในฐานะที่เป็นบุคคลที่มีชีวิต ก็ต้องถือว่าองค์กรแห่งนี้กำลังก้าวสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบสูงมากขึ้นตามวัย

ภายใต้คำขวัญ “One Vision One Identity One Community” ที่พยายามรักษาจุดร่วมสงวนจุดต่าง เพื่อสร้างประชาคมที่มีความร่วมมือทั้งในมิติการเมืองความมั่นคง (Political-Security Community) ความร่วมมือทางด้านสังคม-วัฒนธรรม (Socio-Cultural Community) และประชาคมเศรษฐกิจ (Economic Community) ความเป็นไปขององค์กรภูมิภาคแห่งนี้ก็ดูจะก้าวหน้าไปจากวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และปฏิญญากรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นปฐมบทของการเริ่มต้นอาเซียนไปมากพอสมควร

หากแต่ด้วยสภาพข้อเท็จจริงของสังคม การเมือง เศรษฐกิจในระดับนานาชาติในปัจจุบัน การดำรงอยู่ขององค์กรระดับภูมิภาคแห่งนี้ดูจะเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ที่พร้อมจะสั่นคลอน ประชาคมอาเซียน ที่มีประชากรรวมกว่า 630 ล้านคน และมี GDP รวมกันสูงกว่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ไม่น้อยเลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกังวลใจจากการขยายบทบาทของจีนเข้ามาในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการประเมินจากประเทศสมาชิกบางประเทศว่าเป็นภัยคุกคามและพยายามที่จะจัดทำร่างกรอบการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Framework on the Code of Conduct in the South China Sea) ระหว่างอาเซียนกับจีน เพื่อที่จะส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันและลดแรงเสียดทานที่อาจนำไปสู่ความตึงเครียดที่สั่นคลอนเสถียรภาพในภูมิภาค

ขณะเดียวกัน ความพยายามที่จะประโคมและชูภาพลักษณ์ของอาเซียนในฐานะที่เป็นประชาคมแห่งโอกาส “A Community of Opportunities” ได้กลายเป็นอีกแรงกระตุ้นที่ทำให้อาเซียนเร่งวางรากฐานที่จะสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคผ่านแผนแม่บทความเชื่อมโยงอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity: MPAC) ที่ดำเนินต่อเนื่องผ่านแผนแม่บท Master Plan on ASEAN Connectivity 2010 และกำลังมุ่งหน้าสู่แผนแม่บทฉบับใหม่ Master Plan on ASEAN Connectivity 2025 ซึ่งผู้นำอาเซียนได้ร่วมลงนามกันเมื่อการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ สปป.ลาว เมื่อเดือนกันยายน 2016 ที่ผ่านมา

การเชื่อมโยงอาเซียนผ่าน Master Plan on ASEAN Connectivity 2025 มุ่งเน้นที่ยุทธศาสตร์หลัก 5 ประการ ทั้งการเชื่อมโยงด้วยการสร้างโครงข่ายสาธารณูปโภคอย่างยั่งยืน (sustainable infrastructure) การสร้างนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Innovation) การขนส่งสินค้าโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ (Seamless Logistics) การลดขั้นตอนและข้อกำหนดที่เป็นอุปสรรคทางการค้า (Regulatory Excellence) และการส่งเสริมการเดินทางของประชาชนในภูมิภาค (People Mobility)

แม้ว่าผู้นำอาเซียนจะตระหนักว่าแผนแม่บท MPAC 2025 มีเป้าหมายและลักษณาการที่ค่อนข้างทะเยอทะยาน หากแต่พวกเขาก็เชื่อว่าแผนแม่บทฉบับนี้มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ด้วยการออกแบบกลไกในการดำเนินงานที่เอื้อให้เกิดการประสานร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพและพร้อมที่จะเห็นและรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงได้ภายในระยะเวลา 10 ปีหลังจากที่นำเสนอแผนแม่บท MPAC 2025 นี้

กรอบโครงแนวความคิด MPAC 2025 ในด้านหนึ่งผูกโยงเข้ากับข้อเท็จจริงที่ว่า ประชาคมอาเซียนอุดมไปด้วยกลุ่มประชากรในวัยทำงาน มีทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่พร้อมจะเชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นๆ และมีลำดับของเทคโนโลยีหลากหลาย ซึ่งหากแผนแม่บท MPAC 2025 สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะนำพาความจำเริญทางเศรษฐกิจและพัฒนาโอกาสทางการศึกษาให้กับประชาชนในอาเซียนได้อย่างมีองค์รวม

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งในส่วนการลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานตามแผนของ MPAC 2025 อยู่ที่ ASEAN ต้องการเงินลงทุนอย่างน้อยปีละ 11 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในการพัฒนาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ และนับเป็นโอกาสดีของผู้ลงทุนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการลงทุนตามแผนแม่บท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าไปมีส่วนช่วยผลักดันพัฒนาการของประเทศสมาชิกให้มีผลิตภาพในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทั้งในมิติของเวลาและมูลค่าโครงการ

ขณะที่การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลดูจะเป็นประหนึ่งประเด็นที่มีความแหลมคมและจะเป็นกลไกของการพัฒนาอาเซียนไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในมิติของการผลิตสินค้าและการให้บริการ โดยอาเซียนประเมินว่าพัฒนาการของเทคโนโลยีนี้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจนับรวมมูลค่าได้กว่า 62.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2030 และจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม เล็กและกลาง (Micro, Small and Medium Enterprises: MSMEs) ให้สามารถก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในการนำพาเศรษฐกิจของอาเซียนอีกทางหนึ่งด้วย

ในส่วนของไทย นอกเหนือจากการปฏิบัติตามพันธกรณีและแนวทางของอาเซียนที่จะนำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปสู่สังคมที่มี “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” และ “ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง” แล้ว ไทยยังได้เสนอแนวคิดที่จะจัดตั้งศูนย์ไซเบอร์ของอาเซียน เพื่อความมั่นคงทางด้านไซเบอร์ และแนวคิดการจัดตั้ง ASEAN Centre for Active Aging and Innovation เพื่อช่วยเหลือและบริการสังคมผู้สูงอายุในอาเซียน ซึ่งได้รับการขานรับจากประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศและประเทศคู่เจรจาอื่นๆ พอสมควร

ความมุ่งหมายของอาเซียนว่าด้วยการมี “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” หรือการพัฒนาศักยภาพในอนาคตที่มี “ประชาชนนำ” (people-oriented) นอกจากจะสะท้อนออกมาผ่านความพยายามในการหนุนนำการท่องเที่ยวซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากนอกภูมิภาคอาเซียนเข้ามาท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้รวมกว่า 150 ล้านคนในปี 2025 แล้วMPAC 2025 ยังพยายามลดขั้นตอนการตรวจลงตรา (visa) และนำเสนอข้อมูลการเดินทางที่ครอบคลุมรอบด้านให้กับประชากรในอาเซียนให้มากขึ้น

แต่ประเด็นหลักในการพัฒนาในบริบทของ People Mobility อยู่ที่การส่งเสริมวิชาชีพให้กับประชาชนอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน รวมถึงการส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานการศึกษาของวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศสมาชิก เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทาง ศึกษา และพัฒนาองค์ความรู้ในหมู่ประชาชนอาเซียนผ่านหลักสูตรที่มีคุณภาพของแต่ละประเทศด้วย

ความน่าสนใจในวาระครบรอบ 50 ปี อาเซียนอีกประการหนึ่งก็คือ การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 50 ( 50th ASEAN Foreign Ministers’ Meeting – AMM) และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (Post Ministerial Conference – PMC) และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 2–8 สิงหาคม 2560

การประชุมดังกล่าวถือเป็นเวทีในการหารือประเด็นความร่วมมืออาเซียนในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเจ้าหน้าที่อาวุโส ภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียนในด้านต่างๆ โดยวาระประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน การประมงที่ยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหาร สันติภาพ เสถียรภาพและความมั่นคงทางทะเล โดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะเจรจาหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ด้วย

เนื่องเพราะภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองโลกในปัจจุบัน จังหวะก้าวของอาเซียนที่จะสะท้อนผ่านออกมาเป็นแถลงการณ์เนื่องในวาระครบรอบการก่อตั้งปีที่ 50 ย่อมได้รับการคาดหวังว่าจะสื่อแสดงนัยความหมายซึ่งอาจเป็นเข็มมุ่งในการพัฒนาองค์กรระดับภูมิภาคให้สามารถแสดงบทบาทนำและพร้อมที่จะเป็นจักรกลในการหนุนนำความจำเริญทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางการเมือง สังคม มากกว่าที่จะเป็นเพียงถ้อยความสดุดีเนื่องในวันคล้ายวันเกิดทั่วไป

50 ปี ของอาเซียนควรเป็นเวลาที่ประเทศสมาชิกจะได้ร่วมสื่อแสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะและความสามารถในการเป็นหลักประกันความเป็นไปของภูมิภาค มากกว่าที่จะต้องรอฟังอาณัติสัญญาณจากประเทศมหาอำนาจนอกภูมิภาคดังที่ปรากฏมาในช่วงประวัติการณ์ก่อนหน้านี้

จากจุดเริ่มต้นที่อาเซียนมาจาก Bangkok Declaration และไทยมีสถานะเป็นสมาชิกเริ่มก่อตั้ง ขณะนี้บทบาทและศักยภาพในการรักษา leading role ดูจะต้องปรับโครงสร้างเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้อีกมาก เพราะการเตรียมความพร้อมในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว speed เป็นเรื่องที่ต้องปรับสูงมาก และการขับเสภาเพื่อขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 และการผนวกตัวเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ CLMVT ย่อมไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยจะพึงใจยอมรับได้

ว่าแต่เรามีศักยภาพในการแสดงบทบาทนำนี้จริงๆ หรือไม่เท่านั้น

ใส่ความเห็น