วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > ขยะ: ปัญหาที่รอการจัดการ

ขยะ: ปัญหาที่รอการจัดการ

ทุกครั้งที่สังคมไทยดำเนินผ่านช่วงเวลาพิเศษไม่ว่าจะเป็นเทศกาลตามประเพณีนิยม หรือแม้กระทั่งช่วงวันหยุดยาวที่ทำให้ผู้คนในสังคมไทยหลั่งไหลและสัญจรเดินทางไปในถิ่นต่างๆ ดูเหมือนว่าข่าวคราวว่าด้วยสถิติจำนวนผู้ประสบภัยหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจะเป็นข่าวสารที่ตอกย้ำความน่าสะพรึงกลัวของถนนหลวงเมืองไทยได้ดีไม่น้อย

และทำให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต้องรณรงค์ป้องกันอุบัติภัยกันเป็นระยะประหนึ่งเป็นสิ่งที่ควบคู่กันในทุกช่วงเทศกาลเลยทีเดียว

นอกเหนือจากปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากการสัญจรเดินทางในช่วงเทศกาลนี้แล้ว ดูเหมือนว่าประเด็นว่าด้วยความสะอาด ที่มีปัญหาขยะและสิ่งปฏิกูลตกค้างจำนวนมากจากเทศกาลต่างๆ ที่ทั้งรอคอยการจัดเก็บและจัดการจะเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ไม่เพียงแต่จะเป็นปัญหาในระดับจิตสำนึกทั่วไป หากยังเป็นประเด็นที่ต้องการการถกแถลงในระดับชาติว่าจะดำเนินการหรือมีนโยบายอย่างไรด้วย

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มาตรวัดว่าด้วยเรื่องขยะในแต่ละท้องที่ดูจะมีนัยความหมายที่แตกต่างกันออกไปไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นในเขตพื้นที่ถนนข้าวสารที่ถือเป็นไฮไลต์ในการเล่นสงกรานต์ของ กทม. ที่มีปริมาณขยะลดลงจากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณขยะมากถึง 73.5 ตันเหลือเพียง 34 ตัน ขณะที่ถนนสีลมมีปริมาณขยะลดลง 40.06 ตัน จากที่ปีที่ผ่านมามีขยะรวม 73.19 ตันเหลือเพียง 33.13 ตันในปีนี้

หากประเมินจากเพียงสองจุดที่ว่านี้ อาจให้ภาพที่ดูประหนึ่งสมือนว่าสถานการณ์ขยะในช่วงเทศกาลสงกรานต์มีแนวโน้มดีขึ้น แต่หากประเมินจากมิติของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงหรือบรรยากาศโดยรวมที่ค่อนข้างซบเซาจากปีก่อน ปริมาณขยะที่ว่านี้อาจสะท้อนภาพมุมกลับของภาวะเศรษฐกิจ มากกว่าที่จะเป็นดัชนีชี้วัดจิตสำนึกหรือความสามารถในการบริหารจัดการขยะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

เพราะในขณะที่ข้าวสารและสีลมมีปริมาณขยะลดลง ข้อเท็จจริงอีกด้านกลับพบว่าปริมาณขยะที่ย่าน RCA ได้พุ่งทะยานขึ้นจากที่มีขยะ 34.1 ตันในปีที่ผ่านมา มาเป็น 120 ตันในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้น 85.9 ตัน ส่วนที่สยามสแควร์ ก็มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้น 3.6 ตันจาก 4.8 ตันในปีที่ผ่านมา เป็น 8.4 ตันในปีนี้

ตัวเลขปริมาณขยะโดยรวมจึงไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด หากแต่ในความเป็นจริงกลับมีปริมาณและตัวเลขเพิ่มขึ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบริหารจัดการอีกด้วย

อย่างไรก็ดี กรณีของขยะไม่เพียงแต่จะเป็นประเด็นปัญหาให้สังคมไทยบริหารจัดการเท่านั้น หากแต่หลายประเทศต่างเผชิญกับความยากลำบากในการบริหารจัดการเรื่องที่ว่านี้มาในระดับที่แตกต่างกันตามความสามารถและทรัพยากรภายในจะเอื้อประโยชน์ให้ดำเนินการได้

เพราะในขณะที่สังคมไทย ได้รับการกระตุ้นจากปริมาณขยะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งถือเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริงเถลิงศกใหม่ ประชาชนชาวศรีลังกาโดยเฉพาะชาวกรุงโคลัมโบต้องเผชิญกับข่าวเศร้ารับเทศกาล Avurudu หรือเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ของทั้งชาวสิงหลและทมิฬ เมื่อภูเขาขยะชานกรุงโคลัมโบถล่มลงมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันที 26 ราย และถูกทับสูญหายอยู่ใต้ซากขยะรอการขุดกู้ชีวิตอีกมากกว่า 20 ราย ซึ่งทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้พร้อมจะขยับเพิ่มสูงขึ้น โดยประชาชนกว่า 180 หลังคาเรือนได้รับผลกระทบ และปราศจากที่พักอาศัยไปโดยปริยาย

เหตุภูเขาขยะถล่มนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ เพราะพวกเขาไม่ใช่ผู้ที่ก่อให้เกิดขยะจำนวนมหาศาลเหล่านี้ หากแต่เป็นความไม่สามารถในการจัดการของเทศบาลกรุงโคลัมโบ และรัฐบาลศรีลังกา ซึ่งเหตุดังกล่าวนำไปสู่การเผาทำลายทรัพย์สินและจลาจลขนาดย่อมก่อนที่เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐและหน่วยกู้ภัยจะเข้าไปรักษาสถานการณ์และดำเนินการช่วยเหลือต่อมาได้

การถล่มโค่นลงของภูเขาขยะดังกล่าวนี้ แม้จะได้รับคำอธิบายว่าเป็นเหตุสุดวิสัย จากผลของการที่มีฝนตกอย่างหนักต่อเนื่องกันสองวันในเขตกรุงโคลัมโบจนทำให้มีปริมาณน้ำสะสมในภูเขาขยะ ก่อนที่ทุกอย่างจะพังครืนกลายเป็นขยะถล่มลงมา แต่ในอีกด้านหนึ่งเป็นภาพสะท้อนความด้อยประสิทธิภาพของการบริหารจัดการและประเด็นทางการเมืองภายในของศรีลังกาอย่างเลี่ยงไม่ได้

โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลศรีลังกาในสมัยของ Mihinda Rajapaksa ได้จัดการและดูแลพื้นที่โดยรอบภูเขาขยะอยู่เป็นระยะ แต่เมื่อเขาพ้นจากตำแหน่งและหน้าที่การจัดการภูเขาขยะถูกถ่ายโอนให้อยู่ในความดูแลของ Colombo Municipal Council หรือเทศบาลกรุงโคลัมโบเมื่อสองปีที่ผ่านมา สถานการณ์ของภูเขาขยะแห่งนี้ก็มีแนวโน้มย่ำแย่ลงเป็นระยะ

ยังไม่นับรวมประเด็นที่ว่าตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงโคลัมโบ ซึ่งควรเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบพื้นที่นี้โดยตรง ถูกปล่อยให้ว่างลงโดยปราศจากการเลือกตั้งมานานกว่า 2 ปี อีกด้วย

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือพื้นที่รับถมขยะในโคลัมโบแห่งนี้มีสภาพเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ที่ครั้งหนึ่งเคยหวังว่าจะอาศัยขยะจำนวนหนึ่งมาถมหรือทำ land fill ให้สูงขึ้นก่อนปรับสภาพพื้นที่รองรับการพัฒนาในอนาคต โดยมีแผนที่จะย้ายจุดการถมขยะให้ห่างออกไปจากกรุงโคลัมโบประมาณ 100 กิโลเมตร ไปสู่เมือง Puttalam ทางทิศเหนือ แต่ทุกอย่างกลับหยุดชะงักเมื่อ Mihinda Rajapaksa พ้นจากอำนาจ และทำให้โครงการย้ายภูเขาขยะรวมถึงโครงการที่เขาดำริอีกหลากหลายต้องชะลอตัว เพียงเพราะเหตุทางการเมือง

ความเป็นการเมืองของขยะในมิติที่ว่านี้ไม่เพียงแต่จะสะท้อนออกมาในเชิงของมิติทางนโยบายสาธารณะว่าด้วยการบริหารจัดการและการดูแลความสะอาดของเขตเมือง หากยังรวมถึงงบประมาณในการจัดจ้างบุคลากรที่ต้องอาศัยเงินของภาครัฐ หรือแม้แต่การดึงและมอบให้เอกชนบางแห่งได้มีส่วนร่วมในการปรับปรุงภูมิทัศน์ ยังไม่นับรวมถึงการกระจายและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในการจัดหาที่ดินสำหรับการสร้างบ่อขยะ หรือแม้กระทั่งการจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างเตาเผาขยะและการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นกรณีคลาสสิกที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั่วไป

ปัญหาขยะล้นเมืองที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับประเทศที่กำลังวางหมุดหมายของการพัฒนาไปสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่ที่มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น มักได้รับการเปรียบเทียบกับการบริหารจัดการขยะกับประเทศที่ดำเนินการจัดการในเรื่องเหล่านี้ไปไกลมากๆ อย่างสวีเดนที่สามารถนำขยะมาพัฒนาให้เป็นพลังงานและกลายเป็นประเทศที่นำเข้าขยะเพื่อการนี้อยู่เป็นระยะ ควบคู่กับความคิดฝันว่าหากมีเทคโนโลยีที่ว่า ประเทศเหล่านี้จะสามารถหลุดพ้นจากขยะ หรือแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง ได้ไม่ยาก

หากแต่ในความเป็นจริง ลำพังเทคโนโลยีย่อมไม่อาจเป็นคำตอบของปัญหา ขยะที่มีลักษณะหมักหมมและสะท้อนพื้นฐานในเชิงโครงสร้างและนโยบายของรัฐที่นำไปสู่การปลูกสร้างจิตสำนึกสาธารณะของประชาชนทั่วไปในสังคมได้

ข้อเท็จจริงของความสำเร็จในการบริหารจัดการขยะของสวีเดน อยู่ที่การวางรากฐานว่าด้วยการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ (recycle) มาตั้งแต่ปี 1940 ที่ดำเนินควบคู่กับการคัดแยกขยะ และการนำขยะกลับมาใช้เป็นพลังงาน ที่นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยี จนปัจจุบันสวีเดนสามารถนำขยะกลับมาใช้เป็นพลังงานในโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยแทบไม่ก่อให้เกิดมลพิษใดๆ ขณะที่พลังงานที่ได้จากขยะสามารถนำมาใช้ให้ความอบอุ่นและป้อนพลังงานไฟฟ้าให้กับบ้านเรือนได้มากถึง 20% หรือ 810,000 หลัง และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

ความสำเร็จในการบริหารจัดการขยะของสวีเดนไม่ใช่เพียงเพราะการมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยแต่เกิดจาก “ฉันทานุมัติสาธารณะ” ที่นำไปสู่ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน รวมถึงกฎหมายที่เข้มงวด ความร่วมมือในการจัดเก็บและคัดแยกขยะ ที่ช่วยแก้ปัญหาและร่วมกันบริหารจัดการกันอย่างเป็นระบบ จนทำให้ขยะเกือบทั้งหมดถูกนำกลับไปใช้ใหม่ได้ เหลือเพียง 4% เท่านั้นที่ไม่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่และต้องนำไปถมที่

ประเด็นที่น่าสนใจในการบริหารจัดการขยะประการหนึ่ง อยู่ที่การออกกฎหมาย ทั้งระเบียบข้อบังคับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการห้ามเผาขยะ การจำกัดการปล่อยสารเคมีที่เป็นอันตราย การกำหนดให้นำขยะกลับมาใช้ใหม่แทนการฝังกลบ ภายใต้หลักการจัดการขยะตามลำดับขั้น (Waste Hierachy) ที่เริ่มจากการลดจำนวนขยะ (reduce) การนำกลับไปใช้ใหม่ (reuse) การแปลงสภาพ (recycle) และการนำไปผลิตเป็นพลังงานเมื่อไม่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้อีก (recover energy) เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์สาธารณะร่วมกันของสังคมนั้นได้

หากแต่สำหรับสังคมที่พร้อมจะซุกขยะไว้ใต้พรม บนมายาคติของหลักการแห่งลำดับขั้นของอำนาจ ที่พร้อมจะก่อร่างสร้างภูเขาขยะขนาดมหึมาไว้เป็นประหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันน่ารังเกียจที่ไม่สามารถแตะต้องได้ บางทีการแสวงหาหมุดหมายของการก้าวเดินไปข้างหน้าอาจกลายเป็นการเร่งปฏิกิริยาให้ภูเขาขยะต้องถล่มพังครืน

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เพียงว่าใครจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ หากแต่อยู่ที่ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลเหล่านี้ต่างหาก

ใส่ความเห็น