ชุดชั้นในสำหรับเล่นกีฬา
โยนทิ้งทุก 6-12 เดือนถ้าสวมสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
ชุดชั้นในสำหรับเล่นกีฬามีเนื้อผ้าและโครงสร้างที่ทำให้เสียคุณสมบัติการพยุงตัวเร็วกว่าชุดชั้นในทั่วไป เพราะรองรับการใช้งานอย่างหนักนั่นเอง เมื่อรู้สึกว่าชุดชั้นในเริ่มยืด สวมไม่กระชับ หรือป้ายแนะนำวิธีดูแลรักษาซีดจนอ่านไม่ออกแล้ว นั่นคือ การส่งสัญญาณให้ซื้อตัวใหม่ได้แล้ว
คำแนะนำ–การซักชุดชั้นในสำหรับเล่นกีฬาด้วยมือ ช่วยยืดอายุการใช้งานได้ แต่ถ้าต้องซักด้วยเครื่องซักผ้า ให้ติดตะขอให้เรียบร้อย และใส่ถุงสำหรับซักชุดชั้นใน เลือกโปรแกรม gentle cycle อาจใช้น้ำเย็นหรือน้ำอุ่นก็ได้ หลีกเลี่ยงการปั่นแห้งและน้ำยาปรับผ้านุ่ม
ข้อเท็จจริงคือ แบคทีเรียที่ทำให้เกิดกลิ่น เจริญเติบโตได้ดีในเสื้อผ้าที่ผลิตจากโพลีเอสเตอร์ เช่น ชุดชั้นในสำหรับเล่นกีฬา ดังนั้น หลังเสร็จจากการเล่นกีฬา ให้ซักทำความสะอาดทันที
ฟองน้ำในครัว
โยนทิ้งอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
ฟองน้ำทุก 9 ใน 10 ชิ้น มีจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของอาการเจ็บป่วยร้ายแรง แม้ในครัวที่เปลี่ยนฟองน้ำทุกสัปดาห์ ฟองน้ำก็ยังมีปริมาณแบคทีเรียที่เป็นเชื้อร้ายอยู่ถึงร้อยละ 80
คำแนะนำ–วางฟองน้ำในที่แห้ง และนำเข้าเตาอบไมโครเวฟนานหนึ่งนาทีทุกวัน เพราะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ร้อยละ 99.9 ยกเว้นฟองน้ำที่มีส่วนผสมของโลหะ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการไหม้ไฟ ให้นำฟองน้ำไปชุบน้ำให้เปียกชุ่มเสียก่อน
ข้อเท็จจริงคือ ผลการศึกษาของสภาอาชีวอนามัยปี 2012 ระบุว่า ฟองน้ำในครัวได้ชื่อว่าเป็นเครื่องใช้ในบ้านที่ “สกปรกที่สุด”
หมอน
โยนทิ้งหลัง 2 ปี
หมอนที่ผ่านการใช้งานนานขึ้น ย่อมเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อราและไรฝุ่นที่วิเศษสุด โดยเฉลี่ยแล้วหมอนเป็นแหล่งสะสมสปอร์ของเชื้อรามากกว่า 1 ล้านสปอร์ ซึ่งทั้งไรฝุ่นและเชื้อรา นอกจากผิดสุขลักษณะแล้ว ยังเป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้และหอบหืดด้วย
คำแนะนำ–ต้องใช้ปลอกหมอนหุ้มตัวหมอน รวมทั้งต้องซักปลอกหมอนและหมอน แล้วนำไปตากแดดอย่างสม่ำเสมอ โดยน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส สามารถกำจัดไรฝุ่นได้ แต่น้ำที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส กำจัดไรฝุ่นได้เพียงร้อยละ 6.5
ข้อเท็จจริงคือ ชาวออสเตรเลียร้อยละ 80 ไม่เปลี่ยนหมอนใหม่ตามระยะเวลา และมากกว่าครึ่งไม่ซักทำความสะอาดด้วยซ้ำ
มีดโกนชนิดใช้แล้วทิ้ง
โยนทิ้งหลังใช้งานแล้ว 5 ครั้ง
มีดโกนชนิดใช้แล้วทิ้งมีจุดประสงค์ในการผลิตตามนั้นจริงๆ เพราะเมื่อใบมีดทื่อ ย่อมก่อให้เกิดบาดแผลได้ โดยคุณต้องออกแรงกดใบมีดมากขึ้นนั่นเอง
คำแนะนำ–เมื่อใช้งานมีดโกนชนิดใช้แล้วทิ้งเสร็จแต่ละครั้ง ต้องผึ่งจนแห้งสนิทก่อนใช้งานครั้งต่อไป เพราะเมื่ออยู่ในสภาพเปียก ย่อมเป็นแหล่งรวมของเชื้อแบคทีเรียที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดแผลติดเชื้อได้ในกรณีที่เกิดบาดแผลจากใบมีดโกน ดังนั้น เมื่อใช้งานเสร็จ ให้นำมีดโกนออกจากห้องน้ำทุกครั้ง
ข้อเท็จจริงคือ มีดโกนที่เปียกมีเชื้อแบคทีเรียร่วม 5 ล้านตัว
แปรงสีฟัน
โยนทิ้งหลัง 12 สัปดาห์หรือเร็วกว่า
ปลายขนแปรงที่บานออกทำให้ประสิทธิภาพการทำความสะอาดลดลง นอกจากนี้ แปรงสีฟัน
เก่ายังเป็นแหล่งเพราะเชื้อโรคและแบคทีเรีย ตั้งแต่เชื้อ staphylococci ที่เป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษ ไปจนถึงเชื้อแบคทีเรียในลำไส้
คำแนะนำ–หลังแปรงฟัน ให้ล้างแปรงให้สะอาด วางให้ยืนขึ้น และไม่ต้องใส่กล่องหรือมีอะไรครอบปิด เพราะความชื้นจากการนำแปรงไปเก็บในกล่องทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี และถ้าต้องเก็บรวมกับแปรงของคนอื่น ต้องระวังอย่าให้หัวแปรงสัมผัสกัน
ข้อเท็จจริงคือ มีผู้ใช้เพียงหนึ่งในสามคนที่เปลี่ยนแปรงสีฟันทุก 12 สัปดาห์
ที่มา: นิตยสาร GoodHealth
Column: Well – Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว