ภาพบรรยากาศแห่งความสำเร็จเกินความคาดหมายของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 45 เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดูเหมือนจะได้รับการขับเน้นต่อเนื่องด้วยการเปิดตัว “หอสมุดเมือง กรุงเทพมหานคร” ในช่วงปลายเดือนเมษายน และทำให้ผู้ประกอบการและผู้คนที่แวดล้อมในอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะสำนักพิมพ์เริ่มเห็นประกายแห่งความหวังครั้งใหม่ที่พร้อมจะรอโอกาสให้กลับมาเจิดจรัสอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ได้รับการปรามาสว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่กำลังอัสดง ด้วยเหตุของการมาถึงของเทคโนโลยี และประพฤติกรรมในการรับข่าวสารข้อมูลที่เปลี่ยนไป ที่อาจทำให้สื่อสิ่งพิมพ์และหนังสือเล่มกระดาษ อาจต้องล้มหายไปจากสารบบ และถูกแทนที่ด้วยสื่อดิจิทัลที่ดูจะเอื้อให้กับการเสพรับแบบฉาบฉวยไม่เกิน 8 บรรทัด ที่เป็นประหนึ่งภาพสะท้อนวิถีแห่งการอ่านของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
ภายใต้แนวความคิด “อ่าน อ่าน และอ่าน” ที่สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) พยายามกระตุ้นเร้าผู้บริโภคให้เห็นความสำคัญของการอ่าน ที่เป็นธีมหลักของงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 45 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 15” (45th National Book Fair and 15th Bangkok International Book Fair 2017) ดูเหมือนจะเป็นการสื่อสารที่ตรงประเด็นสำหรับสภาพทั่วไปของการอ่านในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
นอกจากกิจกรรมประจำปีครั้งสำคัญในปีนี้ จะมีสำนักพิมพ์ไทยเข้าร่วมงานกว่า 430 แห่ง และได้รับเกียรติจาก “ประเทศฟินแลนด์” เข้าร่วมงานในฐานะ ประเทศรับเชิญเกียรติยศ (Guest of Honor) เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีการประกาศเอกราชประเทศฟินแลนด์แล้ว
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจจาก งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งล่าสุด อยู่ที่การมีผู้เข้าร่วมเข้าชมกิจกรรมครั้งนี้มากว่า 1.8 ล้านคนในช่วงเวลาที่จัดงาน โดยมีกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มผู้เข้าร่วมชมงานกลุ่มใหญ่ที่สุด ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายที่ดี ไม่เฉพาะกับผู้ประกอบการสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น หากยังเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับอนาคตของประเทศที่กำลังแสวงหาแนวทางของการพัฒนาแห่งนี้ด้วย
เนื่องเพราะภายใต้ความพยายามของภาครัฐที่จะนำเสนอแนวทางการพัฒนาประเทศไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ที่โดยเนื้อหาสาระก็ยังไม่ปรากฏชัดว่ากลไกของรัฐจะมีรูปธรรมทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติให้ข้ามพ้นจากภาวะก่อนสมัยใหม่ไปสู่สมัยใหม่และหลังสมัยใหม่ (primitive: modernism: post-modernism) เพื่อก้าวสู่วิถีความคิดที่เอื้อประโยชน์ต่อทั้งการเรียนรู้และกระบวนการผลิตแบบ 4.0 ไปได้อย่างไร
“อ่าน อ่าน และอ่าน” อาจสะท้อนภาพความพยายามด้านเดียวของการสื่อสาร ที่อาจละเลยมิติทาง “ความคิด” ที่นำไปสู่การตั้งคำถามอย่าง “วิเคราะห์” ที่จะนำไปสู่การสร้างภูมิปัญญาและองค์ความรู้ใหม่ ที่ย่อมเป็นส่วนหนึ่งและปัจจัยสำคัญมากในการอ่านอย่างเข้าใจ มากกว่าที่จะพร่ำอ่านให้ผ่านพ้นไปเพื่อความบันเทิงสุขสันต์โดยปราศจากการตั้งคำถามหรือข้อสงสัย
ประเด็นที่ว่านี้ดูจะเป็นการกระตุ้นเตือนที่ยังไม่ก้าวข้ามไปสู่หลักธรรมของคำสอนในพุทธศาสนา ที่ว่าด้วย “สุจิปุลิ” ที่แม้จะมีความหมายว่า “ฟัง-คิด-ถาม-เขียน” แต่การอ่านและการฟัง อาจมีความหมายเกี่ยวเนื่องถึงกันในฐานะที่เป็นการรับรู้ซึ่งข้อมูล ที่ควรจะต้องผ่านกระบวนของความคิด ที่นำไปสู่การตั้งคำถาม และพร้อมจะย้อนแย้ง แม้จะไม่ผ่านการเขียน หากแต่อยู่ในรูปของวิวาทะ และการถกแถลง แม้กระทั่งกับตัวเองก็ตาม
หนังสือที่ได้รับความนิยมและสนใจในงานสัปดาห์หนังสืออย่างหนาแน่นกลับเป็น หนังสือความรู้เชิงประวัติศาสตร์ ควบคู่กับหนังสือแนวไลท์โนเวล ขณะที่หนังสือในแนวฮาวทูและโค้ชชิ่ง ดูจะเป็นหนังสือแนวยอดนิยมที่ดำเนินต่อเนื่องมาเนิ่นนาน สำหรับสังคมบริโภคนิยมจานด่วน ที่ให้ความสนใจกับทางลัดสู่ความสำเร็จมากกว่าที่จะสนใจข้อเท็จจริงและอัตลักษณ์ของความสำเร็จที่ดูจะเป็นเรื่องราวเฉพาะและสภาพเงื่อนไขของแต่ละปัจเจกบุคคล
“นอกจากหนังสือนวนิยายที่เป็นตลาดใหญ่สุดในธุรกิจหนังสือแล้ว หนังสือประเภทไลท์โนเวลซึ่งเป็นนิยายวัยรุ่นพร้อมภาพประกอบที่แปลมาจากประเทศญี่ปุ่นก็ได้รับความสนใจจากเด็กและเยาวชนอย่างมากเช่นกัน” จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ระบุ และเป็นภาพสะท้อนรสนิยมการอ่านของเยาวชนไทยได้ในระดับหนึ่ง
แม้ว่าสภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมจะอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างชะลอตัว แต่ในช่วงงานสัปดาห์หนังสือฯ แต่ละสำนักพิมพ์ต่างมีหนังสือออกใหม่รวมประมาณ 350 ปก โดยสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่พอใจกับยอดขายหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งนี้ และคาดว่าในอนาคตการทำหนังสือจะเป็นธุรกิจที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ
จรัญ หอมเทียนทอง พยายามชี้ว่า สภาวะการอ่านที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลง ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจ ทำให้นี่คือยุคสมัยที่คนทำหนังสือหรือสำนักพิมพ์จะต้องทำการบ้านมากขึ้น ต้องรู้ว่าผู้บริโภคต้องการหนังสือประเภทใดหรือมีพฤติกรรมการเลือกซื้ออย่างไร และเลือกทำในสิ่งที่ถนัดเพื่อสร้างจุดแข็งให้แก่สำนักพิมพ์
ในฐานะนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เขายังเชื่อว่า หนังสือที่เป็นกระดาษจะยังคงมีสถานะในตลาดต่อไปได้ โดยมีเงื่อนไขที่จะต้องมีการพัฒนาคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ปัจจัยว่าด้วยราคาไม่ได้เป็นเงื่อนไขหลักในการตัดสินใจเลือกซื้ออีก เพราะกลุ่มคนอ่านหนังสือถือว่าเป็นกลุ่มที่เหนียวแน่นและซื่อตรงต่อสินค้ามาก ซึ่งถือว่าเป็นผลดีสำหรับคนทำธุรกิจสำนักพิมพ์อีกด้วย
ทัศนะของจรัญสอดรับกับรายงานว่าด้วยแนวโน้มและอนาคตของหนังสือกระดาษที่ได้รับการเผยแพร่ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยในรายงานดังกล่าวระบุว่า หนังสือเล่มกระดาษกำลังกลับมาเป็นที่นิยมสวนทางกับการที่โลกหมุนเข้าหาดิจิทัล โดยยอดจำหน่ายหนังสือเล่มกระดาษมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น ในขณะที่ E-Book ที่มียอดจำหน่ายลดลงอย่างต่อเนื่อง
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือแม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปมากและอุปกรณ์การอ่าน E-Book ก็ได้รับการพัฒนาให้สามารถเก็บบันทึกหนังสือจำนวนมากไว้ในอุปกรณ์ดังกล่าว แต่สิ่งที่ E-Book ซึ่งมีลักษณะเป็นอุปกรณ์เฉพาะส่วนบุคคลไม่สามารถมีและทำได้เหมือนหนังสือเล่มกระดาษก็คือ ความสามารถในการแบ่งปัน ที่พร้อมจะหยิบยื่นและแลกเปลี่ยนการอ่านให้หลากหลายในสังคมและชุมชนได้
การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านในระบบโรงเรียนของสังคมที่มีวัฒนธรรมการอ่านแข็งแรงหลายแห่ง นอกจากจะส่งเสริมให้เยาวชน “อ่าน” ในฐานะที่เป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรม Book Week ที่ส่งเสริมให้เยาวชนได้ขยายหน้าสัมผัสไปสู่การรับรู้ใหม่ๆ และมีการแลกเปลี่ยนหนังสือกันอ่าน ที่ข้ามพ้นมิติของการอ่านแต่โดยลำพัง ไปสู่การหล่อหลอมรูปการณ์จิตสำนึกในเชิงสังคม ไม่ว่าจะเป็นในมิติของการแบ่งปัน รวมถึงการสร้างอัตลักษณ์และรสนิยมในการอ่านของแต่ละปัจเจกด้วย
กรณีดังกล่าวดูจะได้รับการตอกย้ำเมื่อ Publishers Association ของสหราชอาณาจักร เปิดเผยตัวเลขยอดการขายหนังสือเล่มในสหราชอาณาจักร โดยระบุว่าในปี 2559 ที่ผ่านมา หนังสือเล่มมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 7 โดยเฉพาะหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชนมียอดขายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16 ในขณะที่ยอดจำหน่าย e-Book ลดลงถึงร้อยละ 17
ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่อีกฟากฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ก็กำลังเกิดแนวโน้มที่ว่านี้เช่นกัน โดย Association of American Publishers ระบุว่า ยอดจำหน่าย E-Book ในสหรัฐอเมริกาลดลงถึงร้อยละ18.7 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 ส่วนหนังสือเล่มมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 โดยที่ชาวอเมริกันยังคงอ่านผ่านหนังสือเล่มมากถึงร้อยละ 65 และอ่านผ่าน E-Book เพียงร้อยละ 28 เท่านั้น
ปรากฏการณ์ที่ว่านี้ มีความพยายามที่จะอธิบายว่าเป็นผลมาจากกระแสห่วงใยสุขภาพ และ digital detox หรือความพยายามงดใช้อุปกรณ์ดิจิทัล แต่ยอดจำหน่ายหนังสือเล่มคงไม่สามารถเติบโตเพิ่มขึ้นได้หากสำนักพิมพ์แต่ละแห่งไม่ตื่นตัวพัฒนาและแสวงหาเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์มานำเสนอสู่สังคมและผู้อ่าน
อนาคตและความเป็นไปของหนังสือเล่ม รวมถึงอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์นับจากนี้ ย่อมไม่ได้ดำเนินไปบนพื้นฐานของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอุปกรณ์เท่านั้น
หากแต่เป็นผลจากความสามารถในการปรับตัวของผู้ประกอบการสื่อที่จะนำเสนอเนื้อหาสาระและการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านอย่างจริงจังในระดับเยาวชน ที่จะเป็นการวางรากฐานในการพัฒนาและเป็นประหนึ่งเนื้อนาบุญที่จะทำให้อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ดำรงอยู่ได้ในระยะยาว